พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
เสวยราชย์ประมาณ
พ.ศ. 1822 ถึงประมาณ พ.ศ.
1841 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์พระร่วงกรุงสุโขทัย
พระองค์ทรงรวบรวมอาณาจักรไทยขึ้นเป็นปึกแผ่นกว้างขวาง ทั้งยังได้ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้น
ทำให้ชาวไทยได้สะสมความรู้ทางศิลปะ วัฒนธรรม และวิชาการต่าง ๆ สืบทอดกันมากว่า 700 ปี
|
พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช | ประดิษฐาน | ณ | อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย |
พ่อขุนรามคำแหงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3
ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับนางเสือง พระเชษฐาองค์แรกสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
พระเชษฐาองค์ที่ 2 ทรงพระนามตามศิลาจารึกว่า พระยาบานเมือง ได้เสวยราชย์ต่อจากพระราชบิดา
เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วพ่อขุนรามคำแหงจึงได้เสวยราชย์ต่อมา
ตามพงศาวดารโยนก พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งสุโขทัย
พระยามังรายมหาราช
(หรือพระยาเม็งราย) แห่งล้านนา และพระยางำเมืองแห่งพะเยา
เป็นศิษย์ร่วมพระอาจารย์เดียวกัน ณ สำนักพระสุกทันตฤๅษีที่เมืองละโว้ จึงน่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน
พระยามังรายประสูติเมื่อ พ.ศ. 1782 พ่อขุนรามคำแหงน่าจะประสูติในปีใกล้เคียงกันนี้
เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมีพระชนมายุ 19 พรรษา พระองค์ได้ทรงทำยุทธหัตถีมีชัยต่อขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด
(อยู่ริมแม่น้ำเมยใกล้จังหวัดตาก แต่อาจจะอยู่ในเขตประเทศพม่าในปัจจุบัน)
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงทรงขนานพระนามพ่อขุนรามคำแหงว่า “พระรามคำแหง” สันนิษฐานว่าพระนามเดิมของพระองค์คือ
“ราม” เพราะปรากฏพระนามเมื่อเสวยราชย์แล้วว่า
“พ่อขุนรามราช” อนึ่ง สมัยนั้น นิยมนำชื่อปู่มาตั้งเป็นชื่อหลาน
พระราชนัดดาของพระองค์มีพระนามว่า “พระยาพระราม” (จารึกหลักที่ 11) และในชั้นพระราชนัดดาของพระราชนัดดามีเจ้าเมืองพระนามว่า
“พระยาบาลเมือง” และ“พระยาราม”
(เหตุการณ์ พ.ศ. 1962)
ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
ตรี อมาตยกุล ได้เสนอว่า พ่อขุนรามคำแหงน่าจะเสวยราชย์
พ.ศ. 1822 เพราะเป็นปีที่ทรงปลูกต้นตาลที่สุโขทัย ประเสริฐ
ณ นคร จึงได้หาหลักฐานมาประกอบว่า กษัตริย์ไทอาหมทรงปลูกต้นไทรครั้งขึ้นเสวยราชย์ อย่างน้อย
7 รัชกาลด้วยกัน ทั้งนี้เพื่อสร้างโชคชัยว่ารัชกาลจะอยู่ยืนยงเหมือนต้นไม้ อนึ่งต้นตาลและต้นไทรเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของลังการัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงเป็นยุคที่กรุงสุโขทัยเฟื่องฟูและเจริญขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก
ระบบการปกครองภายในก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยอย่างมีประสิทธิภาพ มีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง
ไพร่ฟ้าประชาชนอยู่ดีกินดี สภาพบ้านเมืองก้าวหน้าทั้งทางเกษตร การชลประทาน การอุตสาหกรรม
และการศาสนา อาณาเขตของกรุงสุโขทัยได้ขยายออกไปกว้างใหญ่ไพศาล
พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เมื่อ
พ.ศ. 1826 ทำให้อนุชนสามารถศึกษาความรู้ต่าง ๆ ได้สืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน
ตัวหนังสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีลักษณะพิเศษกว่าตัวหนังสือของชาติอื่นซึ่งขอยืมตัวหนังสือของอินเดียมาใช้
คือพระองค์ได้ประดิษฐ์พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์เพิ่มขึ้นให้สามารถเขียนแทนเสียงพูดของคำภาษาไทยได้ทุกคำ
และได้นำสระและพยัญชนะมาอยู่ในบรรทัดเดียวกันโดยไม่ต้องใช้พยัญชนะซ้อนกัน ทำให้เขียนและอ่าน
หนังสือไทยได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้นมาก นับว่าพระองค์ทรงพระปรีชาล้ำเลิศ
และทรงเห็นการณ์ไกลอย่างหาผู้ใดเทียบเทียมได้ยาก
ในด้านการปกครอง เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงขจัดอิทธิพลของเขมรออกไปจากเมืองสุโขทัยได้ในปลายพุทธศตวรรษที่
18 การปกครองของกษัตริย์สุโขทัยเป็นแบบพ่อปกครองลูก ดังข้อความในจารึกหลักที่ 1 ว่า “เมื่อชั่วพ่อกู
กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน
อันใดกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่อบ้านท่อเมือง
ได้ช้างได้งวงได้ปั่วได้นาง ได้เงือนได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู” ข้อความดังกล่าวแสดงการนับถือพ่อแม่ และถือว่าความผูกพันในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ
ครอบครัวทั้งหลายรวมกันเข้าก็เป็นเมืองหรือรัฐ มีเจ้าเมืองหรือพระมหากษัตริย์เป็นหัวหน้าครอบครัว
พระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัวใหญ่ ปกครองพลเมืองเสมือนเป็นลูกหลาน ช่วยให้มีที่ทำกิน
คอยป้องกันมิให้คนถิ่นอื่นมาแย่งชิงถิ่น ถ้าลูกหลานทะเลาะวิวาทกัน ก็ตัดสินคดีด้วยความเป็นธรรม
พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจสิทธิ์ขาดที่จะบริหารราชการแผ่นดิน
ทำศึกสงครามตลอดจนพิพากษาอรรถคดี แต่ก็มิได้ใช้พระราชอำนาจเฉียบขาดอย่างกษัตริย์เขมร
ดังปรากฏข้อความในจารึกหลักที่ 1 ว่า ราษฎรสามารถค้าขายได้โดยเสรี เจ้าเมืองไม่เรียกเก็บจังกอบ
หรือภาษีผ่านทาง ผู้ใดล้มตายลง ทรัพย์สมบัติตกเป็นมรดกแก่ลูก หากผู้ใดไม่ได้รับความเป็นธรรมในกรณีพิพาท
ก็มีสิทธิ์ไปสั่นกระดิ่งถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ได้
ยิ่งกว่านั้น พ่อขุนรามคำแหงมหาราชยังทรงใช้พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องช่วยในการปกครองโดยได้ทรงสร้างพระแท่นมนังศิลาบาตรขึ้น
ให้พระเถรานุเถระแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันพระ ส่วนวันธรรมดาพระองค์เสด็จประทับเป็นประธานให้เจ้านายและข้าราชการปรึกษาราชการร่วมกัน
เมื่อประชาชนเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาและประพฤติปฏิบัติแต่ในทางที่ดีที่ชอบ การปกครองก็จะสะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น
ในด้านอาณาเขต พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง
คือทางทิศตะวันออกทรงปราบได้เมืองสระหลวง สองแคว (พิษณุโลก) ลุมบาจาย สะค้า (สองเมืองนี้อาจอยู่แถวลุ่มแม่น้ำน่านหรือแควป่าสักก็ได้)
ข้ามฝั่งแม่น้ำโขงไปถึงเวียงจันทน์ เวียงคำในประเทศลาวทางทิศใต้พระองค์ทรงปราบได้คนที
(บ้านโคน กำแพงเพชร) พระบาง (นครสวรรค์) แพรก (ชัยนาท) สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช มีฝั่งทะเลสมุทร (มหาสมุทร) เป็นเขตแดน ทางทิศตะวันตกพระองค์ทรงปราบได้เมืองฉอด
เมืองหงสาวดี และมีมหาสมุทรเป็นเขตแดน ทางทิศเหนือพระองค์ทรงปราบได้เมืองแพร่ เมืองน่าน
เมืองพลัว (อำเภอปัว จังหวัดน่าน) ข้ามฝั่งโขงไปถึงเมืองชวา(หลวงพระบาง) เป็นเขตแดน
ในด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงสร้างพระราชไมตรีกับพระยามังรายแห่งล้านนาและพระยางำเมืองแห่งพะเยาทางด้านเหนือ
และทรงยินยอมให้พระยามังรายขยายอาณาเขตล้านนาทางแม่น้ำกก แม่น้ำปิง และแม่น้ำวังได้อย่างสะดวก
เพื่อให้เป็นกันชนระหว่างจีนกับสุโขทัย และยังได้เสด็จไปทรงช่วยเหลือพระยามังรายหาชัยภูมิสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ
พ.ศ. 1839 ด้วย
ทางประเทศมอญ มีพ่อค้าไทยใหญ่ชื่อมะกะโทได้เข้ารับราชการอยู่ในราชสำนักของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
มะกะโทได้ผูกสมัครรักใคร่กับพระราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้วพากันหนีไปอยู่เมืองเมาะตะมะ
ต่อมาได้ฆ่าเจ้าเมืองเมาะตะมะแล้วเป็นเจ้าเมืองแทนเมื่อ พ.ศ. 1824 แล้วขอพระราชทานอภัยโทษต่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และได้รับพระราชทานนามเป็นพระเจ้าฟ้ารั่วและยินยอมเป็นประเทศราชของกรุงสุโขทัย
ทางทิศใต้พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงอัญเชิญพระมหาเถรสังฆราชผู้เรียนจบพระไตรปิฎกมาจากนครศรีธรรมราช
เพื่อให้เผยแผ่พระพุทธศาสนาในกรุงสุโขทัย
ส่วนเมืองละโว้ยังเป็นเอกราชอยู่ เพราะปรากฏว่าระหว่าง
พ.ศ. 1834 - พ.ศ. 1840 ยังส่งเครื่องบรรณาการไปเมืองจีนอยู่ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชคงจะได้ทรงผูกไมตรีเป็นมิตรกับเมืองละโว้พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงส่งราชทูตไปเมืองจีน
3 ครั้ง เพื่อแสดงความเป็นมิตรไมตรีกับประเทศจีน
วรรณกรรมสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชสูญหายไปหมดแล้ว
คงเหลือแต่จารึกหลักที่ 1
(พ.ศ. 1835) ซึ่งแม้จะมีข้อความเป็นร้อยแก้ว แต่ก็มีสัมผัสคล้องจองกันทำให้ไพเราะ เช่น
“ในน้ำมีปลาในนามีข้าว...ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้า
ขี่ม้าไปขาย...เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พีน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด” นับเป็นวรรณคดีเริ่มแรกของกรุงสุโขทัย ซึ่งตกทอดมาถึงปัจจุบันโดยมิได้มีผู้มาคัดลอกให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม
จดหมายเหตุจีนระบุว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชสวรรคตใน
พ.ศ. 1841 พระยาเลอไทยซึ่งเป็นพระราชโอรสเสวยราชย์ต่อมา
|
ศิลาจารึกหลักที่ 1 จารึกพ่อขุนรามคำแหง ด้านที่ 1 |
|
|
ศิลาจารึกหลักที่ 45 จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด |
|
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 18 แห่งกรุงศรีอยุธยา
เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชากับพระวิสุทธิกษัตรีย์ ประสูติที่เมืองพิษณุโลก
เมื่อ พ.ศ. 2098 มีพระพี่นาง 2 พระองค์คือสมเด็จพระสุพรรณกัลยาและพระเทพกษัตรีย์
มีพระอนุชาพระองค์หนึ่งคือสมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสืบเชื้อสายทั้งราชวงศ์สุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา
ทรงใช้ชีวิตในวัยเยาว์ที่เมืองพิษณุโลก ก่อนจะถูกนำพระองค์ไปพม่าเมื่อพระชนมายุได้
9 พรรษา และประทับที่พม่าจนพระชนมายุได้ 16 พรรษา ดังนั้นพระองค์จึงทรงเจริญวัยขึ้นท่ามกลางภาวะสงครามที่ไทยต้องเป็นฝ่ายตั้งรับจากการจู่โจมของพม่า
ท่ามกลางความขัดแย้งในพระราชวงศ์ของไทย ท่ามกลางความดูแคลนเหยียดหยามเมื่อไทยอยู่ในฐานะประเทศราชของพม่า
|
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประดิษฐาน ณ ทุ่งภูเขาทอง พระนครศรีอยุธยา |
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จกลับจากพม่า
ทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาเสื่อมโทรมอย่างเห็นได้ชัด ป้อมค่ายถูกทำลายรื้อถอน ผู้คนถูกกวาดต้อนไปพม่า
ความมั่งคั่งร่ำรวยที่สั่งสมกันมากว่าสองร้อยปีและความสมบูรณ์พูนสุขลดลงไปเพราะสงครามและขาดแคลนแรงงาน
ร่องรอยความเสียหายจากการสงครามยังปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป เพราะไม่มีการบูรณปฏิสังขรณ์
อีกทั้งยังมีกองทัพพม่าประจำอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้กรุงศรีอยุธยากระด้างกระเดื่อง ส่วนทางตะวันออก
เขมรก็ได้ส่งกองทัพมาซ้ำเติมโดยกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สมบัติในยามที่กรุงศรีอยุธยาเสื่อมอำนาจ
สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงมอบหมายให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงปกครองหัวเมืองเหนือโดยประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกหลังจากเสด็จกลับจากพม่าไม่นานนัก
คือใน พ.ศ. 2114 ในระยะเวลา 14 ปีที่ทรงปกครองหัวเมืองเหนืออยู่นั้น
ทรงดำเนินการหลายอย่างที่จะมีความสำคัญในอนาคต เช่น การฝึกหัดข้าราชการ การรวบรวมกำลังคนที่หลบหนีพม่า
การฝึกฝนยุทธวิธีการรบ การสร้างขวัญกำลังใจให้เกิดขึ้นมาใหม่ ดังนั้นหัวเมืองเหนือจึงเป็นฐานเริ่มต้นที่สำคัญในการกอบกู้เอกราชของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
การที่เขมรโจมตีถึงเมืองหลวงและชายแดนของกรุงศรีอยุธยาทำให้กรุงศรีอยุธยาสามารถอ้างเหตุผลเพื่อการเสริมสร้างกำลังขึ้นได้
เพราะเพียงระยะก่อนการประกาศอิสรภาพใน พ.ศ. 2127 เขมรส่งกองทัพเข้ามาถึง
5 ครั้ง คือใน พ.ศ. 2113 พ.ศ. 2118 พ.ศ. 2122 พ.ศ. 2124 และ พ.ศ. 2125 ทั้งใน พ.ศ. 2124 ยังเกิดกบฏญาณพิเชียรที่ลพบุรี การที่ต้องต่อสู้ป้องกันและขับไล่ศัตรูและต้องปราบปรามกบฏภายใน
ทำให้ต้องมีการเสริมสร้างกำลังไพร่พลและเตรียมการป้องกันให้เข้มแข็ง ดังใน พ.ศ. 2123 มีการขยายแนวกำแพงเมืองไปถึงแนวแม่น้ำ
การหาจังหวะประกาศอิสรภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชน่าจะเกิดขึ้นหลังจากการไปเฝ้าพระเจ้านันทบุเรงในโอกาสขึ้นครองราชย์ใหม่
และทรงได้แสดงฝีมือช่วยกษัตริย์พม่าปราบเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคังได้สำเร็จ การที่พม่าตัดถนนเข้ามากำแพงเพชร
ยิ่งต้องทำให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเร่งหาโอกาสให้เร็วขึ้น ดังนั้นในปลาย พ.ศ.
2126 เมื่อพระองค์ได้รับมอบหมายให้ไปช่วยพระเจ้านันทบุเรงปราบเมืองอังวะ
จึงทรงเดินทัพไปช้า ๆ เพื่อหาจังหวะโจมตีหงสาวดี ระหว่างที่พระเจ้านันทบุเรงไม่อยู่หรืออย่างน้อยเพื่อให้มีโอกาสนำคนไทยที่ถูกกวาดต้อนไปกลับคืนประเทศ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครงในเขตแดนพม่าตอนล่าง
อันเป็นถิ่นเดิมของมอญ ใน พ.ศ. 2127 หลังจากที่ทรงรับรู้ว่าพม่าวางแผนกำจัดพระองค์เหมือนกัน
พระองค์ประกาศว่า “ตั้งแต่วันนี้กรุงศรีอยุธยาขาดทางไมตรีกับกรุงหงสาวดี
มิได้เป็นมิตรกันดังแต่ก่อนไป” แล้วส่งคนไปชักชวนให้คนไทยที่ถูกกวาดต้อนกลับกรุงศรีอยุธยา
เป็นที่น่าสังเกตว่าการประกาศอิสรภาพในครั้งนี้ทรงกระทำในขณะที่ทรงเป็นรัชทายาท โดยที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชยังไม่ทรงทราบ
พระเจ้านันทบุเรงไม่เปิดโอกาสให้ไทยได้ตั้งตัวติด
ในทันทีที่ทราบว่าแผนการกำจัดสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของพระองค์ล้มเหลว และสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพ
จึงทรงส่งกองทัพติดตามโจมตีสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทันที อย่างไรก็ดี การโจมตีของกองทัพพม่าแต่ละครั้งมีแต่แสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นแม่ทัพที่ปรีชาสามารถและกล้าหาญ
ความเก่งกล้าของกองทัพพม่าที่เคยมีในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง (พ.ศ. 2094 – พ.ศ. 2124) ได้หมดไปเมื่อเผชิญกับกองทัพกรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระอนุชาธิราช
การที่ทรงใช้ “พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง” (พ.ศ. 2127) และ “พระแสงดาบคาบค่าย” (พ.ศ. 2128) ล้วนเป็นเรื่องเล่าขานให้เห็นถึงความกล้าหาญของแม่ทัพไทย
กองทัพพม่าขนาดใหญ่มีรี้พลมากมายถึง 250,000 คน และนำโดยพระเจ้านันทบุเรง ใน พ.ศ. 2129 – พ.ศ. 2130 ยังถูกกองทัพไทยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระอนุชาขับไล่ออกไปและประสบความเสียหายอย่างยับเยิน
ยังผลให้การโจมตีของกองทัพพม่าต้องว่างเว้นไปถึง 3 ปี การล่าถอยของกองทัพพม่าในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าอิสรภาพของเมืองไทยเป็นเรื่องที่ปลอดภัยและยั่งยืน
และในปีเดียวกันนี้ยังทรงทำให้กัมพูชาอยู่ใน
อำนาจกรุงศรีอยุธยาได้อีกครั้งด้วย
ก่อนที่จะถึงศึกใหญ่จากพม่าในรอบสอง มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา
นั่นคือในปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2133 สมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จสวรรคต
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ พร้อมกันนี้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นเสมือนกษัตริย์องค์ที่
2 “พระองค์ดำ” และ “พระองค์ขาว” จึงเป็นพระนามที่ชาวตะวันตกเรียกขานพระนามตามสีพระวรกายกษัตริย์ไทยทั้งสองพระองค์ตามลำดับ
กองทัพพม่าเริ่มโจมตีกรุงศรีอยุธยาเป็นระลอกสอง
ใน พ.ศ. 2133 หลังการผลัดแผ่นดินเพียง
4 เดือน โดยมีพระมหาอุปราชาเป็นแม่ทัพคุมพล 200,000 คน มาทางด่านพระเจดีย์สามองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงนำทัพออกไปรับมือกับข้าศึกที่เมืองสุพรรณบุรีและสามารถขับไล่กองทัพพม่าออกไปได้อย่างง่ายดาย
ทำให้ทัพพม่าเสียหายอย่างยับเยิน 2 ปีต่อมาพระมหาอุปราชาได้ทรงนำทัพพม่ามาอีกในสงครามที่มีความสำคัญและเป็นที่เลื่องลือในการสู้รบระหว่างประเทศทั้งสอง
นั่นคือแม่ทัพทั้งสองฝ่ายพร้อมด้วยแม่ทัพรองได้ทำยุทธหัตถีกันที่หนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี
เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135
ผลของการทำยุทธหัตถีคือพระมหาอุปราชาถูกฟันสิ้นพระชนม์บนคอช้าง
ส่วนอีกคู่สมเด็จพระเอกาทศรถก็ทรงได้ชัยชนะอีกเช่นกัน หลังสงครามครั้งนี้ โฉมหน้าของการสงครามได้เปลี่ยนไป
พม่าไม่กล้ายกกองทัพมาโจมตีไทยอีกและเว้นว่างไปนานกว่า 100 ปี และไทยกลับเป็นฝ่ายตอบโต้พม่าบ้าง
พม่าจึงต้องเป็นฝ่ายตั้งรับแทน
สงครามยุทธหัตถีไม่เพียงแต่พลิกสถานการณ์ใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าเท่านั้นแต่ยังรวมถึงเพื่อนบ้านอื่น
ๆ ด้วย เขมรถูกสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตอบโต้ โดยทรงยกกองทัพไปโจมตีถึงกรุงละแวกใน พ.ศ.
2136 สงครามดำเนินมาถึงต้นปีถัดมา แม้ว่ากองทัพไทยจะยึดกรุงละแวกจับพระยาศรีสุพรรณมาธิราชอนุชาพระยาละแวกได้
แต่พระยาละแวกคือนักพระสัฏฐาสามารถหลบหนีเข้าไปในเขตแดนลาวได้และสิ้นพระชนม์ที่นั่น
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกกองทัพไปตีเขมรอีกครั้งใน พ.ศ.
2146 คราวนี้ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด แต่การตอบโต้ส่วนใหญ่ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้นกระทำต่อพม่าซึ่งกำลังเสื่อมอำนาจและแตกแยก
อันเป็นผลจากความอ่อนแอที่ไม่สามารถปราบกรุงศรีอยุธยาได้ และแม้ว่าการยกกองทัพไปโจมตีพม่าจะเต็มไปด้วยความยากลำบากเพราะต้องขึ้นไปที่สูงที่เป็นภูเขา
แต่กองทัพไทยก็ยกไปถึง 5 ครั้ง คือใน พ.ศ. 2135 พ.ศ. 2137 พ.ศ. 2138 พ.ศ. 2142 และ พ.ศ. 2147 ซึ่งเป็นการยกทัพครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
เพราะเสด็จสวรรคตในระหว่างทางที่เมืองหาง เมื่อวันที่ 25 เมษายน
พ.ศ. 2148 การขยายอำนาจของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำให้เขตแดนกรุงศรีอยุธยาแผ่ออกไปได้กว้างไกลที่สุดนับแต่สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา
คือครอบคลุมทั้งเขตแดนมอญ พม่า ล้านนา ไทยใหญ่ ล้านช้าง และเขมร
แม้ว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะทรงอุทิศเวลาเกือบตลอดรัชสมัยให้กับสงครามเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความยิ่งใหญ่ให้กับกรุงศรีอยุธยา
แต่ความมั่นคงและยิ่งใหญ่มิได้อยู่เฉพาะเพียงชัยชนะของสงครามเท่านั้น หากขึ้นกับวินัยและขวัญของประชาชนด้วย
ดังที่พระองค์ขอคำมั่นจากบุคคลที่อัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์ การควบคุมกำลังคนอย่างมีประสิทธิภาพ
การสร้างวินัยที่ต้องเชื่อฟังพระองค์และเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัด การลดความละโมบของประชาชนถึงขนาดไม่สนใจทองที่ทิ้งอยู่กลางถนน
พระองค์ทรงกวดขันเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง ถึงกับปลอมพระองค์ออกตรวจตราบ้านเมืองและสอดส่องทุกข์สุขของประชาชนด้วยพระองค์เอง
นอกจากนี้ความมั่นคงยังขึ้นกับความมั่งคั่งร่ำรวยของอาณาจักรด้วย
ซึ่งสิ่งที่จะได้มาก็โดยการค้าระหว่างประเทศ โปรตุเกสในฐานะที่เป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาค้าขายและเผยแผ่ศาสนายังคงดำเนินกิจการอยู่
และอาวุธปืนของโปรตุเกสก็เป็นที่ต้องการของไทยมาก ต่อมาใน พ.ศ.
2147 ฮอลันดาซึ่งมาค้าขายที่ปัตตานีเมื่อ 3 ปีที่แล้วก็เข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยา
การติดต่อค้าขายเช่นนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความมั่งคั่งมั่นคง แต่ยังทำให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีโลกทัศน์กว้างไกลยิ่งขึ้น
ถึงกับมีการส่งทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับฮอลันดาก่อนที่จะสวรรคตเล็กน้อย ส่วนการค้ากับชาติเอเชียการค้ากับจีนมีความสำคัญมาก
เพียงหนึ่งปีหลังการประกาศอิสรภาพทรงส่งทูตไปยังราชสำนักหมิง (พ.ศ. 1911 - พ.ศ. 2187) ซึ่งปกครองจีนในเวลานั้น เพื่อขอพระราชทานตราแผ่นดินแทนของเก่าที่ถูกพม่ายึดไป
และจากนี้การค้ากับจีนก็ได้เริ่มขึ้นใหม่ แน่นอนว่าการค้าทางทะเลของไทยขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางในทะเลด้านตะวันออกอันรวมถึงญี่ปุ่นด้วย
เมื่อญี่ปุ่นในสมัยโตโยโตมิ ฮิเดโยชิ (พ.ศ. 2079 - พ.ศ. 2141) มีแผนการใหญ่ที่จะยึดครองจีนและเริ่มต้นโดยการส่งกองทัพเข้าไปเพื่อยึดครองเกาหลีซึ่งเป็นรัฐบรรณาการของจีนก่อนใน
พ.ศ. 2135 (ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับสงครามยุทธหัตถี)
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเสนอที่จะส่งกองทัพเรือไทยไปช่วยจีนปราบญี่ปุ่น
แต่จักรพรรดิจีนได้ปฏิเสธข้อเสนอของไทย
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคต พ.ศ.
2148 เมื่อพระชนมายุ 50 พรรษา ทรงครองราชสมบัติ 15 ปี ไม่ทรงมีพระราชโอรส
พระอนุชาคือสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงได้รับการยกย่องเชิดชูในประวัติศาสตร์ไทยที่ทรงกอบกู้เอกราชทำให้บ้านเมืองมีความมั่นคง
มีอำนาจที่ยิ่งใหญ่ และมีความเจริญรุ่งเรือง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญมากพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย
|
พระบรมราชานุสาวรีย์พระนเรศวร ทรงหลั่งน้ำลงสู่แผ่นดินด้วยสุวรรณภิงคาร ประดิษฐาน ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก |
พระราชประวัติเพิ่มเติม
ทรงเป็นสมเด็จพระมหาอุปราช
ปกครองเมืองพิษณุโลก
หลังจากที่พระเจ้าบุเรงนองตีกรุงศรีอยุธยาแตก
เมื่อ พ.ศ. 2112 มะเส็งศก วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 11 ค่ำ และได้สถาปนาสมเด็จพระมหาธรรมราชาครองกรุงศรีอยุธยาในฐานะประเทศราชของหงสาวดีต่อไป
หลังจากนั้น พระนเรศวรได้หนีกลับมาไทยโดยที่บุเรงนองยินยอมด้วยอันเนื่องมาจากพระสุพรรณกัลยาได้ขอไว้
หลังจากที่พระองค์ดำกลับมากรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ทรงพระราชทานนามให้ว่า
"พระนเรศวร" และโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระมหาอุปราชไปปกครองเมืองพิษณุโลก
ทรงปกครองเมืองอย่างดีและทรงเริ่มเตรียมการที่จะกอบกู้เอกราชของกรุงศรีอยุธยา
การที่ได้เสด็จไปประทับอยู่หงสาวดี 8 ปีนั้น
ก็เป็นประโยชน์ยิ่งเพราะทรงทราบทั้งภาษาและนิสัยใจคอ ตลอดจนล่วงรู้ความสามารถของพม่า
เป็นทุนสำหรับคิดอ่านต่อสู้ เมื่อพระเจ้าหงสาวดีตีกรุงศรีอยุธยาได้นั้น อ้างว่าข้าราชการในกรุงเกลียดชังสมเด็จพระมหาธรรมราชา
จึงต้องถอนข้าราชการเมืองเหนือที่เคยใช้สอยลงมารับราชการในกรุงมากด้วยกัน จำนวนข้าราชการทางเมืองเหนือจึงบกพร่อง
ต้องหาตัวตั้งขึ้นใหม่ พระนเรศวรทรงทรงขวนขวายหาคนสำหรับทรงใช้สอยโดยฝึกทหารที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันตามวิธียุทธ์ของพระองค์ทั้งสิ้น
จึงเป็นกำลังของพระนเรศวรในเวลาต่อมา และความคาดคิดของพระเจ้าบุเรงนองแห่งหงสาวดีก็กำลังจะกลายเป็นความจริงเมื่อ
พระนเรศวรทรงคิดที่จะกอบกู้อิสรภาพขึ้นในแผ่นดินอันเป็นเมืองที่พระองค์ทรงพระราชสมภพ
การตีกรุงศรีอยุธยาของเขมร
เมื่อปี
พ.ศ. 2113 พระยาละแวกหรือสมเด็จพระบรมราชา กษัตริย์เขมร
ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของไทยมาก่อน ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เห็นไทยบอบซ้ำจากการทำสงครามกับพม่า ได้ถือโอกาสยกกำลังเข้ามาซ้ำเติมกรุงศรีอยุธยา
โดยยกกองทัพมีกำลัง 20,000 คนเข้ามาทางเมืองนครนายก เมื่อเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วได้ตั้งทัพอยู่ที่ตำบลบ้านกระทุ่มแล้วเคลื่อนพลเข้าประชิดพระนคร
โดยได้เข้ามายืนช้างบัญชาการรบอยู่ในวัดสามพิหาร และวางกำลังพลรายเรียงเข้ามาถึงวัดโรงฆ้อง
ต่อไปถึงวัดกุฎีทอง และนำกำลังพล 5,000 คน ช้าง 30 เชือก เข้ายึดแนวหน้าวัดพระเมรุราชิการามพร้อมกับให้ทหารลงเรือ 50 ลำแล่นเข้ามาปล้นพระนครตรงมุมเจ้าสนุก สมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จออกบัญชาการรบป้องกันพระนครเป็นสามารถ
กองทัพเขมรพยายามยกพลเข้าปล้นพระนครอยู่ 3 วัน แต่ไม่สำเร็จจึงยกกองทัพกลับไปและได้กวาดต้อนผู้คนชาวบ้านนาและนครนายกไปยังประเทศเขมรเป็นจำนวนมาก
ต่อมาเมื่อปี
พ.ศ. 2117 ในขณะที่กองทัพไทยในบังคับบัญชาของสมเด็จพระธรรมราชาธิราชกับพระนเรศ
ยกกองทัพไปช่วยพระเจ้าหงสาวดี ไปตีเมืองศรีสัตนาคนหุต พระยาละแวก ถือโอกาสยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกโดยยกมาทางเรือ
การศึกครั้งนี้โชคดีเป็นของไทย กล่าวคือขณะที่กองทัพไทยยกไปถึงหนองบัวลำภู เมืองอุดรธานี
สมเด็จพระนเรศวรทรงประชวรเป็นไข้ทรพิษ พระเจ้าหงสาวดีโปรดให้กองทัพไทยยกกลับกรุงศรีอยุธยา
กองทัพไทยกลับมาได้ทันเวลาที่กรุงศรีอยุธยาถูกโจมตีจากกองทัพเรือเขมร
ซึ่งขึ้นมาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อเดือนอ้าย พ.ศ. 2118 และได้ตั้งทัพชุมนุมพลอยู่ที่ตำบลขนอนบางตะนาว
และลอบแฝงเข้ามาอยู่ในวัดพนัญเชิง และใช้เรือ 3 ลำเข้าทำการปล้นชาวเมืองที่ตำบลนายก่าย
ไทยใช้ปืนใหญ่ยิงไปยังป้อมค่ายนายก่าย ถูกข้าศึกล้มตายเป็นอันมาก
แล้วให้ทหารเรือเอาเรือไปท้าทายให้ข้าศึกออกมารบพุ่ง จากนั้นก็ล่อหลอกให้ข้าศึกรุกไล่เข้ามาในพื้นที่การยิงหวังผลของปืนใหญ่
เมื่อพร้อมแล้วก็ระดมยิงปืนใหญ่ถูกทหารเขมรแตกพ่ายกลับไป
รบกับเขมรที่ไชยบาดาล
ในปี
พ.ศ. 2121 พระยาจีนจันตุ ขุนนางจีนของกัมพูชา รับอาสาพระสัฎฐามาปล้นเมืองเพชรบุรี
แต่ต้องพ่ายแพ้ตีเข้าเมืองไม่ได้จะกลับกัมพูชาก็เกรงว่าจะต้องถูกลงโทษ จึงพาสมัครพรรคพวกมาสวามิภักดิ์อยู่กับคนไทย
โดยสมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงชุบเลี้ยงไว้ ต่อมาไม่นานก็ลงเรือสำเภาหนีออกไป เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีพระชนมายุได้
24 พรรษา ตระหนักในพระทัยดีว่า พระยาจีนจันตุเป็นผู้สืบข่าวไปให้เขมร
พระองค์จึงเสด็จลงเรือกราบกันยารับตามไป เสด็จไปด้วยอีกลำหนึ่งตามไปทันกันเมื่อใกล้จะออกปากน้ำ
พระยาจีนจันตุยิงปีนต่อสู้ สมเด็จพระนเรศวรจึงเร่งเรือพระที่นั่งขึ้นหน้าเรือลำอื่นประทับยืนทรงยิงพระแสงปืนนกสับที่หน้ากันยาไล่กระชั้นชิดเข้าไปจนข้าศึกยิงมา
ถูกรางพระแสงปืนแตกอยู่กับพระหัตถ์ก็ไม่ยอมหลบ พระเอกาทศรถเกรงจะเป็นอันตราย จึงตรัสสั่งให้เรือที่ทรงเข้าไปบังเรือสมเด็จพระเชษฐา
ก็พอดีกับเรือสำเภาของพระยาจีนจันตุได้ลมแล่นออกทะเลไป เนื่องจากเรือรบไทยเป็นเรือเล็กสู้คลื่นลมไม่ไหวจำต้องถอยขบวนกลับขึ้นมาตามลำน้ำพบกับสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่คุมกำลังทหารลงเรือหนุนตามมาที่เมืองพระประแดง
ทรงกราบทูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ทรงทราบ แล้วเคลื่อนขบวนกลับสู่พระนคร
|
ภาพวาดสมเด็จพระนเรศวรไล่จับพระยาจีนจันตุ |
พระปรีชาสามารถในการรบเป็นที่ประจักษ์หลายครั้งหลายคราว
ครั้นยิ่งนานวันความกล้าแกร่งของพระนเรศวรยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ความสามมารถในการเป็นผู้นำปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน
จนกระทั่งได้รับความนับถือยกย่องโดยทั่วไป
แต่การทำสงครามกับเขมรก็ยังไม่จบสิ้น
ทั้งนี้เพราะเขมรยังคงเชื่อว่าสยามยังอ่อนแอสามารถที่จะเข้ามาปล้นชิงได้อยู่ พ.ศ.
2123 กษัตริย์กัมพูชาได้ให้พระทศราชาและพระสุรินทร์ราชาคุมกำลังประมาณ
5,000 ประกอบไปด้วยช้าง ม้า ลาดตระเวนเข้ามาในหัวเมืองด้านตะวันออก แล้วเคลื่อนต่อเข้ามายังเมืองสระบุรีและเมืองอื่น
ๆ หมายจะปล้นทรัพย์จับผู้คนไปเป็นเชลย
ประจวบเหมาะกับพระนเรศวรเสด็จลงมาประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาพอดี
เมื่อทรงทราบข่าวศึกก็ทรงทูลขอกำลังทหารประจำพระนคร 3,000 คน ทั้งที่มีกำลังพลน้อยกว่าเขมรแต่สมเด็จพระนเรศวรก็สามารถวางกลศึกหลอกล่อ
กระทั่งสามารถโจมตีทัพของเขมรให้แตกหนีกลับไปได้ในที่สุด
ฝ่ายพระทศโยธา
และพระสุรินทราชาเห็นทัพหน้าแตกยับเยิน ไม่ทราบแน่ว่ากองทัพไทยมีกำลังมากน้อยเพียงใด
ก็รีบถอยหนีกลับไปทางนครราชสีมา ก็ได้ถูกทัพไทยที่ดักทางคอยอยู่ก่อนแล้ว เข้าโจมตีซ้ำเติมอีก
กองทัพเขมรทั้งหมดจึงรีบถอยหนีกลับไปกรุงกัมพูชา การรบครั้งนี้ทำให้สมเด็จพระนเรศวรเป็นที่เคารพยำเกรงแก่บรรดาแม่ทัพนายกอง
และบรรดาทหารทั้งปวงเป็นที่ยิ่ง กิตติศัพท์อันนี้เป็นที่เลื่องลือไปถึงกรุงหงสาวดี
และผลจากการรบครั้งนี้ทำให้เขมรไม่กล้าลอบมาโจมตีไทยถึงพระนครอีกเลย
การรบที่เมืองรุมเมืองคัง
เมื่อพระเจ้าบุเรงนองแห่งหงสาวดีสิ้นพระชนม์
ทางหงสาวดีจึงมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ โดยนันทบุเรงได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเจ้าบุเรงนอง
พระนเรศวรในขณะนั้นก็ได้คุมทัพและเครื่องราชบรรณาการไปถวายแก่หงสาวดีตามราชประเพณีที่มีมา
คือเมื่อหงสาวดีมีการผลัดเปลี่ยนกษัตริย์ ประเทศราชจะต้องปฏิบัติเช่นนี้ ทางด้านเจ้าฟ้าเมืองคัง ซึ่งเป็นเมืองออกของหงสาวดีแข็งเมือง
ไม่ยอมส่งราชบรรณาการไปถวายพระเจ้านันทบุเรง ดังนั้นทางหงสาวดีจึงจัดกองทัพขึ้น 3 กอง
มีพระมหาอุปราชราชโอรสของพระเจ้านันทบุเรง พระสังขทัตโอรสเจ้าเมืองตองอู ส่วนทัพที่
3 คือกองทัพของพระนเรศวร แห่งกรุงศรีอยุธยาให้ยกไปปราบปรามเมืองคัง กองทัพของพระมหาอุปราชบุกเข้าโจมตีเมืองคังก่อน
แต่ปรากฏว่าตีไม่สำเร็จ ต่อมาจึงเป็นหน้าที่ของกองทัพพระสังขฑัต แต่การโจมตีก็ต้องผิดหวังล่าถอยกลับมาอีกเช่นกัน
ดังนั้นจึงเป็นคราวที่พระนเรศวรจะเข้าโจมตีเมืองคังบ้าง
พระนเรศวรทรงพิจารณาเห็นว่าเมืองคังตั้งอยู่บนที่สูง
พระองค์จึงวางแผนการยุทธจัดทัพใหม่ แบ่งกำลังส่วนหนึ่งเข้าโจมตีด้านหน้า กำลังส่วนนี้มีไม่มากนัก
แต่กำลังส่วนใหญ่ของพระองค์เปลี่ยนทิศทางโอบเข้าตีด้านหลัง ประกอบกับพระองค์ทรงรู้ทางลับที่จะบุกเข้สู่เมืองคังอีกด้วย
จึงสามารถโจมตีเมืองคังแตกโดยไม่ยาก พระนเรศวรจับเจ้าฟ้าเมืองคังไปถวายพระเจ้านันทบุเรงที่หงสาวดีเป็นผลสำเร็จ
ชัยชนะในการตีเมืองคังครั้งนั้นทำให้ฝ่ายพม่าเริ่มรู้ว่าฝีมือทัพอยุธยา
มีความเก่งกล้าสามารถน่าเกรงขามยิ่งกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะพระสังขทัต และพระมหาอุปราชารู้สึกมีความละอายมากในการทำศึกครั้งนี้
นอกจากนี้แล้วต่อมาพวกเขมรยกทัพมากวาดต้อนผู้คนในเมืองนครราชสีมาและหัวเมืองชั้นใน
ก็ถูกกองทัพของพระนเรศวรโจมตีแตกกระเจิงและเลิกทัพถอยกลับไป
ความเก่งกล้าสามารถของพระนเรศวรมีมากขึ้นเพียงไร
ความหวาดระแวงของหงสาวดีก็เพิ่มทวีมากขึ้นเยี่ยงนั้น พระเจ้านันบุเรงเริ่มไม่ไว้วางพระทัยพระนเรศวร
คอยจับจ้องดูความเปลี่ยนแปลง และความสามารถของยอดนักรบพระองค์นี้อยู่ตลอดเวลา คิดว่าหากมีโอกาสเมื่อใดก็จะกำจัดตัดไฟแต่ต้นลม
ประกาศอิสรภาพ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงหลั่งทักษิโณทกตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดีและกวาดต้อนครัวไทยครัวมอญข้ามแม่น้ำสะโตงกลับคืนพระนคร
เมื่อปี พ.ศ. 2126 พระเจ้าอังวะเป็นกบฎ เนื่องจากไม่พอใจทางกรุงหงสาวดีอยู่หลายประการ
จึงแข็งเมืองพร้อมกับเกลี้ยกล่อมเจ้าไทยใหญ่อีกหลายเมืองให้แข็งเมืองด้วย พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจึงยกทัพหลวงไปปราบ
ในการณ์นี้ได้สั่งให้เจ้าเมืองแปรเจ้าเมืองตองอูและเจ้าเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งทางกรุงศรีอยุธยาด้วย
ให้ยกทัพไปช่วยทางไทย สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปแทน
สมเด็จพระนเรศวรยกทัพออกจากเมืองพิษณุโลก
เมื่อวันแรม
6 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแม พ.ศ.
2126 พระองค์ยกทัพไทยไปช้า ๆ เพื่อให้การปราบปรามเจ้าอังวะเสร็จสิ้นไปก่อน
ทำให้พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงแคลงใจว่า ทางไทยคงจะถูกพระเจ้าอังวะชักชวนให้เข้าด้วย
จึงสั่งให้พระมหาอุปราชาคุมทัพรักษากรุงหงสาวดีไว้ ถ้าทัพไทยยกมาถึงก็ให้ต้อนรับและหาทางกำจัดเสีย
และพระองค์ได้สั่งให้พระยามอญสองคน คือ พระยาเกียรติและพระยาราม ซึ่งมีสมัครพรรคพวกอยู่ที่เมืองแครงมาก
และทำนองจะเป็นผู้คุ้นเคยกับสมเด็จพระนเรศวรมาแต่ก่อน ลงมาคอยต้อนรับทัพไทยที่เมืองแครง
อันเป็นชายแดนติดต่อกับไทย พระมหาอุปราชาได้ตรัสสั่งเป็นความลับว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไป
ถ้าพระมหาอุปราชายกเข้าตีด้านหน้าเมื่อใด ให้พระยาเกียรติและพระยารามคุมกำลังเข้าตีกระหนาบทางด้านหลัง
ช่วยกันกำจัดสมเด็จพระนเรศวรเสียให้จงได้ พระยาเกียรติกับพระยารามเมื่อไปถึงเมืองแครงแล้วได้ขยายความลับนี้แก่พระมหาเถรคันฉ่องผู้เป็นอาจารย์ของตน
ทุกคนไม่มีใครเห็นดีด้วยกับแผนการของพระเจ้ากรุงหงสาวดี เพราะมหาเถรคันฉ่องกับสมเด็จพระนเรศวรเคยรู้จักชอบพอกันมาก่อน
กองทัพไทยยกมาถึงเมืองแครง
เมื่อวันขึ้น
1 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก พ.ศ.
2127 โดยใช้เวลาเดินทัพเกือบสองเดือน กองทัพไทยตั้งทัพอยู่นอกเมือง เจ้าเมืองแครงพร้อมทั้งพระยาเกียรติกับพระยารามได้มาเฝ้าฯ
สมเด็จพระนเรศวร จากนั้นสมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จไปเยี่ยมพระมหาเถรคันฉ่องซึ่งคุ้นเคยกันดีมาก่อน
พระมหาเถรคันฉ่องมีใจสงสารจึงกราบทูลถึงเรื่องการคิดร้ายของทางกรุงหงสาวดี แล้วให้พระยาเกียรติกับพระยารามกราบทูลให้ทราบตามความเป็นจริง
เมื่อพระองค์ได้ทราบความโดยตลอดแล้ว ก็ทรงมีพระราชดำริเห็นว่าการเป็นอริราชศัตรูกับกรุงหงสาวดีนั้น
ถึงกาลเวลาที่จะต้องเปิดเผยต่อไปแล้ว จึงได้มีรับสั่งให้เรียกประชุมแม่ทัพนายกอง กรมการเมือง
เจ้าเมืองแครงรวมทั้งพระยาเกียรติพระยารามและทหารมอญมาประชุมพร้อมกัน แล้วนิมนต์พระมหาเถรคันฉ่องและพระสงฆ์มาเป็นสักขีพยาน
ทรงแจ้งเรื่องให้คนทั้งปวงที่มาชุมนุม ณ ที่นั้นทราบว่า พระเจ้าหงสาวดีคิดประทุษร้ายต่อพระองค์
จากนั้นพระองค์ได้ทรงหลั่งน้ำลงสู่แผ่นดินด้วยสุวรรณภิงคาร (พระน้ำเต้าทองคำ)
ประกาศแก่เทพยดาฟ้าดินว่า "ด้วยพรัเจ้าหงสาวดี
มิได้อยู่ในครองสุจริตมิตรภาพขัตติยราชประเพณี เสียสามัคคีรสธรรม ประพฤติพาลทุจริต
คิดจะทำอันตรายแก่เรา ตั้้งแต่นี้ไป กรุงศรีอยุธยาขาดไมตรีกับกรุงหงสาวดีมิได้เป็นมิตรร่วมสุวรรณปฐพีเดียวกันดุจดังแต่ก่อนสืบไป"
จากนั้นพระองค์ได้ตรัสถามชาวเมืองแครงว่าจะเข้าข้างฝ่ายใด
พวกมอญทั้งปวงต่างเข้ากับฝ่ายไทย สมเด็จพระนเรศวรจึงให้จับเจ้าเมืองกรมการพม่าแล้วเอาเมืองแครงเป็นที่ตั้งประชุมทัพ
เมื่อจัดกองทัพเสร็จก็ทรงยกทัพจากเมืองแครงไปยังเมืองหงสาวดีเมื่อวันแรม 3 ค่ำ
เดือน 6
ฝ่ายพระมหาอุปราชาที่อยู่รักษาเมืองหงสาวดี
เมื่อทราบว่าพระยาเกียรติพระยารามกลับไปเข้ากับสมเด็จพระนเรศวร จึงได้แต่รักษาพระนครมั่นอยู่
สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพข้ามแม่น้ำสะโตงไปใกล้ถึงเมืองหงสาวดี ได้ทราบความว่า พระเจ้ากรุงหงสาวดีมีชัยชนะได้เมืองอังวะแล้ว
กำลังจะยกทัพกลับคืนพระนคร พระองค์เห็นว่าสถานการณ์ครั้งนี้ไม่สมคะเน เห็นว่าจะตีเอาเมืองหงสาวดีในครั้งนี้ยังไม่ได้
จึงให้กองทัพแยกย้ายกันเที่ยวบอกพวกครัวไทยที่พม่ากวาดต้อนไปแต่ก่อนให้อพยพกลับบ้านเมือง
ได้ผู้คนมาประมาณหมื่นเศษให้ยกล่วงหน้าไปก่อน พระองค์ทรงคุมกองทัพยกตามมาข้างหลัง
พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้าสะโตง
ฝ่ายพระมหาอุปราชาทราบข่าวว่า
สมเด็จพระนเรศวรกวาดต้อนคนไทยกลับจึงได้ให้สุรกรรมาเป็นกองหน้า พระมหาอุปราชาเป็นกองหลวงยกติดตามกองทัพไทยมา
กองหน้าของพม่าตามมาทันที่ริมฝั่งแม่น้ำสะโตง ในขณะที่ฝ่ายไทยได้ข้ามแม่น้ำไปแล้ว และคอยป้องกันมิให้ข้าศึกข้ามตามมาได้
ได้มีการต่อสู้กันที่ริมฝั่งแม่น้ำ สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระแสงปืนคาบชุดยาวเก้าคืบ
ยิงถูกสุรกรรมาแม่ทัพหน้าพม่าตายบนคอช้าง กองทัพของพม่าเห็นแม่ทัพตาย ก็พากันเลิกทัพกลับไป
เมื่อพระมหาอุปราชาแม่ทัพหลวงทรงทราบ จึงให้เลิกทัพกลับไปกรุงหงสาวดี พระแสงปืนที่ใช้ยิงสุรกรรมาตายบนคอช้างนี้ได้นามปรากฏต่อมาว่า "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง" นับเป็นพระแสงอัษฎาวุธ
อันเป็นเครื่องราชูปโภค ยังปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้
|
ทรงใช้พระแสงปืนยิงถูกสุรกรรมาตายบนคอช้าง |
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับถึงเมืองแครง
ทรงพระราชดำริว่าพระมหาเถรคันฉ่องกับพระยาเกียรติพระยารามได้มีอุปการะมาก สมควรได้รับการตอบแทนให้สมแก่ความชอบ
จึงทรงชักชวนให้มาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา พระมหาเถรคันฉ่องกับพระยามอญทั้งสองก็มีความยินดีพาพรรคพวกเสด็จเข้ามาด้วยเป็นอันมาก
ในการยกกำลังกลับครั้งนี้สมเด็จพระนเรศวรทรงเกรงว่า ข้าศึกอาจยกทัพตามมาอีกถ้าเสด็จกลับทางด่านแม่ละเมา มีกองทัพของนันทสูราชสังครำตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรจะเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง
พระองค์จึงรีบสั่งให้พระยาเกียรติ พระยาราม นำทัพเดินผ่านหัวเมืองมอญลงมาทางใต้ มาเข้าทางด่านเจดีย์สามองค์
เมื่อกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่พวกมอญที่สวามิภักดิ์
ทรงตั้งพระมาหาเถรคันฉ่องเป็นพระสังฆราชาที่สมเด็จอริยวงศ์ และให้พระยาเกียรติ พระยารามมีตำแหน่งยศได้พระราชทานพานทองควบคุมมอญที่เข้ามาด้วย
ให้ตั้งบ้านเรือนที่ริมวัดขมิ้นและวัดขุนแสนใกล้วังจันทร์ของสมเด็จพระนเรศวร แล้วทรงมอบการทั้งปวงที่จะตระเตรียมต่อสู้ข้าศึกให้สมเด็จพระนเรศวรทรงบังคับบัญชาสิทธิขาดแต่นั้นมา
รบกับพระยาพะสิม
ปี
พ.ศ. 2127 หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพได้
7 เดือน พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจึงจัดทัพสองทัพให้ยกมาตีไทย ทัพแรกมีพระยาพะสิม
(เป็นพระเจ้าอาของพระเจ้าหงสาวดี) คุมกำลัง
30,000 โดยยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ทัพที่สองมีเจ้าเมืองเชียงใหม่ชื่อมังนรธาช่อราชอนุชา
ยกทัพบกและเรือมา จากเชียงใหม่มีกำลังพล 100,000 กองทัพพระยาพะสิมยกเข้ามาถึงเมืองกาญจนบุรี (ถึงก่อนทัพเจ้าเมืองเชียงใหม่)
สมเด็จพระนเรศวรทรงให้พระยาจักรียกทัพเรือไปยิงปืนใหญ่ดักข้าศึกแถว ๆ
เมืองสุพรรณบุรี ทัพพม่าถูกปืนใหญ่แตกพ่ายหนีไปอยู่บนเขาพระยาแมน เจ้าพระยาสุโขทัยยกทัพไปเขาพระยาแมน
เข้าตีทัพพระยาพสิมแตกพ่ายหนีกระเจิง เจ้าพระยาสุโขทัยจึงสั่งให้ตามบดขยี้ข้าศึกจนถึงชายแดนเมืองกาญจนบุรี
หลังจากทัพพระยาพะสิมแตกพ่ายหนีกลับไปได้สองอาทิตย์ กองทัพพระยาเชียงใหม่ได้เดินทัพมาถึงชัยนาท
โดยที่ไม่ทราบข่าวการพ่ายแพ้ของพระยาพะสิมจึงส่งแม่ทัพและทหารจำนวนหนึ่งมาตั้งค่ายที่ปากน้ำบางพุทรา
ทางสมเด็จพระนเศวรทรงรับสั่งให้พระราชมนูยกทัพไปตีข้าศึกที่ปากน้ำบางพุทรา เมื่อไปถึงพระราชมนูเห็นว่ากำลังน้อยกว่ามาก
(พม่ามีอยู่ 15,000 ไทยมี 3,200 คน) จึงแต่งกองโจรคอยดักฆ่าพม่าจนเสียขวัญถอยกลับไปชัยนาท
สุดท้ายทัพพม่าจึงถอยกลับไป
รบกับพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านนายสระเกศ
พ.ศ.
2128 พระเจ้าเชียงใหม่ยกกองทัพมาแก้แค้นตั้งอยู่ที่บ้านสระเกษในแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ
สมเด็จพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถยกทัพไปถึงตำบลป่าโมก ก็พบกับกองทัพพม่าซึ่งลงมาเที่ยวรังแกราษฎรทางเมืองวิเศษชัยชาญ
จึงได้เข้าโจมตีจนทัพพม่าล่าถอยไป พระเจ้าเชียงใหม่จึงจัดกองทัพยกลงมาอีก สมเด็จพระนเรศวรจึงดำรัสสั่งให้พระราชมนูคุมกองทัพขึ้นไปลาดตระเวนดูก่อน
กองทัพพระราชมนูไปปะทะกับพม่าที่บ้านบางแก้ว สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปถึงบ้านแห จึงมีดำรัสให้ข้าหลวงขึ้นไปสั่งพระราชมนูให้ทำเป็นล่าทัพกลับถอยลงมา
แล้วพระองค์กับพระอนุชาก็รุกไล่ตีทัพพม่าแตกพ่ายทั้งทัพหน้าและทัพหลวงจนถึงค่ายที่ตั้งทัพของพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกษ
ทัพของพระเจ้าเชียงใหม่จึงแตกกระจัดกระจายไป
เมื่อได้ค่ายที่บ้านสระเกศแล้วสมเด็จพระนเรศวรทรงติดตามพระเจ้าเชียงใหม่ขึ้นไปถึงนครสวรรค์
ทรงทราบข่าวว่าพระเจ้าเชียงใหม่นี้หนีไปอาศัยอยู่กับพระมหาอุปราชาที่เมืองกำแพงเพชรแล้ว
หากติดตามไปอาจเสียทีพระมหาอุปราชาได้ จึงได้วางกำลังส่วนหนึ่งเป็นหน่วยลาดตระเวนเอาไว้ที่เมืองนครสวรรค์
แล้วยกทัพลงไปสมทบที่ปากน้ำบางพุทรา และถวายรายงานพร้อมคาดการณ์ว่าข้าศึกไม่น่าจะยกพลมาถึงกรุงศรีอยุธยาก่อนฤดูแล้ง
ต่อมาสมเด็จพระมหาธรรมราชามีรับสั่งให้เลิกกองทัพเสด็จกลับพระนคร
พระแสงดาบคาบค่าย
สมเด็จพระนเรศวรทรงพาทหารรักษาพระองค์
และเอาพระองค์ออกนำหน้าทรงคาบพระแสงดาบขึ้นปล้นค่ายพระเจ้าหงสาวดี แต่พวกพม่าต่อสู้และป้องกันไว้เข้าค่ายไม่ได้
ปี พ.ศ. 2129 พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงยังไม่เข็ดหลาบในความพ่ายแพ้
จึงประชุมกองทัพจำนวน 250,000 คนยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ในช่วงต้นเดือนยี่ข้าวในนายังเกี่ยวไม่เสร็จ
สมเด็จพระนเรศวรจึงรับสั่งให้เจ้าพระยากำแพงเพชรยกทัพออกไปป้องกันชาวนาที่กำลังเกี่ยวข้าว
พอทัพพม่าของพระมหาอุปราชยกทัพมาถึงก็ให้ทัพม้าเข้าตีจนทัพเจ้าพระยากำแพงเพชรแตกพ่ายหนีเข้าเมือง
สมเด็จพระนเรศวรทรงพิโรธอย่างมาก เพราะไทยไม่เคยแตกพ่ายแพ้ต่อข้าศึกอาจทำให้ทหารขวัญเสีย
พระองค์และสมเด็จเอกาทศรถทรงเสด็จลงเรือพระที่นั่งออกไปรบทันที (สมเด็จพระเอกาทศรถทรงถูกกระสุนปืนแต่ไม่เป็นอะไร เพียงแค่ฉลองพระองค์ขาดเท่านั้น)
ผลปรากฏว่าทรงยึดค่ายคืนมาได้ สมเด็จพระนเรศวรทรงรับสั่งประหารชีวิตเจ้าพระยากำแพงเพชร
แต่โชคดีที่พระบิดาสมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงขอชีวิตเอาไว้ การศึกครั้งนี้พม่าหมายหมั้นจะตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้
แต่ด้วยความแข็งแกร่งของทหารไทยจึงรักษาที่มั่นเอาไว้ได้เสมอ ทรงเสด็จออกปล้นค่ายพม่าซึ่งเป็นทัพหน้าของหงสาวดี
ข้าศึกแตกพ่ายถอยหนี พระองค์จึงไล่ตีมาจนถึงค่ายหลวงของพระเจ้าหงสาวดี ทรงเสด็จลงจากม้าคาบพระแสงดาบแล้วนำทหารปีนบันไดขึ้นกำแพงข้าศึก
แต่ถูกพม่าใช้หอกแทงตกลงมาข้างล่างหลายครั้งจึงทรงเสด็จกลับพระนคร พระแสงดาบนี้มีนามว่า
พระแสงดาบคาบค่าย
|
ทรงคาบพระแสงดาบปีนค่ายพม่า |
ในพงศาวดารกล่าวว่า
พระเจ้าหงสาวดีทรงทราบการกระทำอันห้าวหาญของสมเด็จพระนเรศวรจึงทรงตรัสว่า ถ้าพระนเรศวรออกมาอีกจะต้องจับพระองค์
ให้ได้ถึงแม้ว่าจะใช้ทหารมากมายเพียงใด จึงวางแผนให้ลักไวทำมูนำทหารจำนวน 10,000 ไปดักจับ สมเด็จพระนเรศวรทรงออกไปปล้นค่ายหลวงพม่าอีก พม่าจึงใช้ทหารจำนวนน้อยเข้าล่อให้พระองค์ไล่ตี
เข้ามาจนถึงบริเวณที่ลักไวทำมูซุ่มรออยู่ ลักไวทำมูจะเข้ามาจับพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรจึงใช้พระแสงทวนแทงลักไวทำมูตายทันที
แต่พระองค์ยังถูกล้อมอยู่และสู้กับทหารพม่า จำนวนมากนานร่วมชั่วโมง จนทัพไทยตามมาทันจึงเสด็จกลับพระนครได้
สุดท้ายกองทัพหงสาวดีบอบช้ำจากการสู้รบกับไทยอย่างมากจึงถอยทัพกลับไปเช่นเดิม
พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา
นับตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพเป็นต้นมา
หงสาวดีได้เพียรส่งกองทัพเข้ามาหลายครั้ง แต่ก็ถูกกองทัพกรุงศรีอยุธยาตีแตกพ่ายไปทุกครั้ง
เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2133 พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม
พ.ศ. 2133 เมื่อพระชนมายุได้ 35
พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนเรศวร หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่
2 และโปรดเกล้า ฯ ให้พระเอกาทศรถ พระอนุชา ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช แต่มีศักดิ์เสมอพระมหากษัตริย์อีกพระองค์
พระมหาอุปราชายกทัพมาครั้งแรก
สมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ได้ 8 เดือนก็เกิดข้าศึกพม่าอีก
เหตุที่จะเกิดศึกครั้งนี้คือเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคังตั้งแข็งเมืองขึ้นอีก พระเจ้าหงสาวดีตรัสปรึกษาเสนาบดี
เห็นกันว่าเป็นเพราะเหตุที่เจ้าเมืองคังได้ทราบว่าปราบกรุงศรีอยุธยาไม่สำเร็จ จึงตั้งแข็งเมืองเอาอย่างบ้างตราบใดที่ยังไม่ปราบกรุงศรีอยุธยาลงได้
ถึงแม้จะปราบเมืองคังได้ เมืองอื่นก็คงแข้งข้อเอาอย่าง แต่ในเวลานั้นพระเจ้าหงสาวดีทรงอยู่ในวัยชราทุพพลภาพ
ไม่ทรงสามารถจะไปทำสงครามเอาได้ดังแต่ก่อน จึงจัดกองทัพขึ้นสองทัพ ให้ราชบุตรองค์หนึ่งซึ่งได้เป็นพระเจ้าแปรขึ้นใหม่
ยกไปตีเมืองคังทัพหนึ่งให้พระยาพสิม พระยาพุกามเป็นกองหน้า พระมหาอุปราชาเป็นกองหลวงยกลงมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกทัพหนึ่ง
พระมหาอุปราชายกออกจากกรุงหงสาวดีเมื่อเดือน 12 พ.ศ. 2133 มาเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เพื่อตรงมาตีพระนครศรีอยุธยาทีเดียว
ฝ่ายทางกรุงศรีอยุธยาครั้งนี้
รู้ตัวช้าจึงเกิดความลำบาก ไม่มีเวลาจะต้อนผู้คนเข้าพระนครดังคราวก่อน ๆ สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่าจะคอยต่อสู้อยู่ในกรุงอาจไม่เป็นผลดีเหมือนหนหลัง
จึงรีบเสด็จยกกองทัพหลวงออกไปกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ในเดือนยี่ เมือเสด็จไปถึงเมืองสุพรรณบุรีได้ทรงทราบว่าข้าศึกยกล่วงเมืองกาญจนบุรีเข้ามาแล้ว
จึงให้ตั้งทัพหลวงรับข้าศึกอยู่ที่ลำน้ำท่าคอย พอกองทัพพม่ายกมาถึงก็รบกันอย่างตะลุมบอน
พระยาพุกามแม่ทัพพม่าคนหนึ่งตายในที่รบ กองทัพพม่าถูกไทยฆ่าฟันล้มตายเป็นอันมาก ที่เหลือก็พากันพ่ายหนี
ไทยไล่ติดตามไปจับพระยาพสิมได้ที่บ้านจระเข้สามพันอีกคนหนึ่ง พระมหาอุปราชาเองก็หนีไปได้อย่างหวุดหวิด
เมื่อกลับไปถึงหงสาวดีพวกแม่ทัพนายกองก็ถูกลงอาญาไปตาม ๆ กัน พระมหาอุปราชาก็ถูกภาคทัณฑ์ให้ทำการแก้ตัวในภายหน้า
ในปี
พ.ศ. 2135 พระเจ้าหงสาวดี นันทบุเรง โปรดให้พระมหาอุปราชา
นำกองทัพทหารสองแสนสี่หมื่นคน มาตีกรุงศรีอยุธยาหมายจะชนะศึกในครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวร
ทรงทราบว่า พม่าจะยกทัพใหญ่มาตี จึงทรงเตรียมไพร่พล มีกำลังหนึ่งแสนคนเดินทางออกจากบ้านป่าโมกไปสุพรรณบุรี
ข้ามน้ำตรงท่าท้าวอู่ทอง และตั้งค่ายหลวงบริเวณหนองสาหร่าย
เช้าของวันจันทร์
แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเครื่องพิชัยยุทธ สมเด็จพระนเรศวรทรงช้าง
นามว่า เจ้าพระยาไชยานุภาพ ส่วนพระสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงช้างนามว่า เจ้าพระยาปราบไตรจักร
ช้างทรงของทั้งสองพระองค์นั้นเป็นช้างชนะงา คือช้างมีงาที่ได้รับการฝึกให้รู้จักการต่อสู้มาแล้วหรือเคยผ่านสงครามชนช้าง
ชนะช้างตัวอื่นมาแล้ว ซึ่งเป็นช้างที่กำลังตกมัน ในระหว่างการรบจึงวิ่งไล่ตามพม่าหลงเข้าไปในแดนพม่า
มีเพียงทหารรักษาพระองค์และจาตุรงค์บาทเท่านั้นที่ติดตามไปทัน
|
สงครามยุทธหัตถี ภาพวาดในพระอุโบสถวัดสุวรรณดาราม พระนครศรีอยุธยา |
สมเด็จพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าเท้าพระยา
จึงทราบได้ว่าช้างทรงของสองพระองค์หลงถลำเข้ามาถึงกลางกองทัพ และตกอยู่ในวงล้อมข้าศึกแล้ว
แต่ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบของสมเด็จพระนเรศวร ทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึกจึงไสช้างเข้าไปใกล้
แล้วตรัสถามด้วยคุ้นเคยมาก่อนแต่วัยเยาว์ว่า "พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า
เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว"
พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น
จึงไสช้างนามว่า พลายพัทธกอเข้าชนเจ้าพระยาไชยานุภาพเสียหลัก พระมหาอุปราชาทรงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว
แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด จากนั้นเจ้าพระยาไชยานุภาพชนพลายพัทธกอเสียหลัก
สมเด็จพระนเรศวรทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง
ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถทรงฟันเจ้าเมืองจาปะรีเสียชีวิตเช่นกัน
ทหารพม่าเห็นว่าแพ้แน่แล้ว จึงใช้ปืนระดมยิงใส่สมเด็จพระนเรศวรได้รับบาดเจ็บ ทันใดนั้น
ทัพหลวงไทยตามมาช่วยทัน จึงรับทั้งสองพระองค์กลับพระนคร พม่าจึงยกทัพกลับกรุงหงสาวดีไป
นับแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมากล้ำกรายกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นระยะเวลาอีกยาวนาน
สงครามตีเมืองทะวายและตะนาวศรี
ศึกทะวายและตะนาวศรีนั้น
เป็นการรบในระหว่างคนต้องโทษกับคนต้องโทษด้วยกัน กล่าวคือ ทางกรุงศรีอยุธยพาพวกนายทัพที่ตามเสด็จไม่ทันในวันยุทธหัตถีนั้น
มีถึง 6
คนคือ พระยาพิชัยสงคราม พระยารามกำแหง เจ้าพระยาจักรี พระยาพระคลัง และพระยาศรีไสยณรงค์
สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้ปรึกษาโทษ ลูกขุนปรึกษาโทษให้ประหารชีวิต สมเด็จพระวันรัตสังฆปรินายกมาถวายพระพรบรรยายว่า
การที่แม่ทัพเหล่านั้นตามเสด็จไม่ทัน ก็เพราะบุญญาภินิหารของพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรที่จะได้รับเกียรติคุณเป็นวีรบุรุษที่แท้จริง
ด้วยเหตุว่าถ้าพวกนั้นตามไปทันแล้วถึงจะชนะก็ไม่เป็นชื่อเสียงใหญ่หลวงเหมือนที่เสด็จไปโดยลำพัง
เมื่อเห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงเลื่อมใสในคำบรรยายข้อนี้แล้ว สมเด็จพระวันรัตก็ทูลขอโทษพวกแม่ทัพเหล่านี้ไว้
สมเด็จพระนเรศวรก็โปรดประทานให้ แต่พวกนี้จะต้องไปตีทะวายและตะนาวศรีเป็นการแก้ตัว
จึงให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพคุมพลห้าหมื่นไปตีตะนาวศรี พระยาพระคลังคุมกำลังพลหมื่นเหมือนกันไปตีทะวาย
ส่วนแม่ทัพอื่น ๆ ที่ต้องโทษก็แบ่งกันไปในสองกองทัพนี้คือพระยาพิชัยสงครามกับพระยารามคำแหงไปตีเมืองทะวายกับพระยาพระคลัง
และให้พระยาเทพอรชุนกับพระยาศรีไสยณรงค์ไปตีเมืองตะนาวศรีกับเจ้าพระยาจักรี
ส่วนทางหงสาวดีนั้น
เมื่อพระเจ้าหงสาวดีเสียพระโอรสรัชทายาทแล้วก็โทมนัส ให้ขังแม่ทัพนายกองไว้ทั้งหมด
แต่ภายหลังทรงดำริว่าไทยชนะพม่าในครั้งนี้แล้วก็จะต้องมาตีพม่าโดยไม่ต้องสงสัย ก่อนที่ไทยไปรบพม่าก็จะต้องดำเนินการอย่างเดียวกันกับที่พม่ารบกับไทย
กล่าวคือ จะต้องเอามอญไว้ในอำนาจเสียก่อนและเป็นการแน่นอนว่าไทยจะต้องเข้ามาตีทะวายและตะนาวศรี
ด้วยเหตุนี้จึงให้แม่ทัพนายกองที่ไปแพ้สงครามมาครั้งนี้ไปทำการแก้ตัวรักษาเมืองตะนาวศรีและเมืองทะวาย
เป็นอันว่าทั้งผู้รบและผู้รับทั้งสองฝ่าย ตกอยู่ในฐานคนผิดที่จะต้องทำการแก้ตัวทั้งสิ้น
ในการรบทะวายและตะนาวศรีครั้งนี้แม่ทัพทั้งสองคือ
เจ้าพระยาจักรีและพระยาคลัง ทำการกลมเกลียวกันเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้สมเด็จพระนเรศวรจะได้แบ่งหน้าที่ให้ตีคนละเมือง
ก็ยังมีการติดต่อช่วยเหลือกันและกัน ในที่สุดแม่ทัพทั้งสองก็รบชนะทั้งสองเมืองและบอกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระนเรศวรได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีไสยณรงค์อยู่ครองเมืองตะนาวศรี ส่วนทางเมืองทะวายนั้นให้เจ้าเมืองทะวายคนเก่าครองต่อไป
ชัยชนะครั้งนี้เป็นอันทำให้แม่ทัพทั้งหลายพ้นโทษ แต่ทางพม่าแม่ทัพกลับถูกทำโทษประการใดไม่ปรากฏ
แต่อย่างไรก็ดี การที่ชัยชนะทะวายและตะนาวศรีครั้งนี้ ทำให้อำนาจของไทยแผ่ลงไปทางใต้เท่ากับในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ปราบปรามเขมรและฟื้นฟูหัวเมืองเหนือ
ปลายปี
พ.ศ. 2136 สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพหลวงไปตีกรุงกัมพูชา
มีชัยชนะจับนักพระสัฏฐาเจ้ากรุงกัมพูชาได้ให้ประหารชีวิตเสียในพิธีปฐมกรรม แล้วกวาดต้อนครอบครัวเขมรมาเป็นเชลยเป็นอันมาก
ครั้นเสด็จกลับมาถึงพระนครจึงดำรัสสั่งให้ตั้งหัวเมืองเหนือที่ได้ทิ้งให้ร้างเมื่อเวลาทำสงครามกู้อิสรภาพอยู่
8 ปีนั้น ให้กลับมามีเจ้าเมืองกรมการปกครองดังแต่ก่อน ทรงตั้งข้าราชการที่มีบำเหน็จความชอบให้ไปเป็นผู้ปกครองคือ
พระยาชัยบูรณ์ข้าหลวงเดิมที่ได้ทรงใช้สอยทำศึกมาแต่แรกนั้น ให้เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ไปครองเมืองพิษณุโลก
ให้พระศรีเสาวราชไปครองเมืองสุโขทัย ให้พระองค์ทองไปครองเมืองพิชัย ให้หลวงจ่า
(แสนย์) ไปครองเมืองสวรรคโลก แล้วเข้าใจว่าส่งครอบครัวเขมรที่ได้มาคราวนั้นไปอยู่ที่หัวเมืองเหนือโดยมาก
ตีได้หัวเมืองมอญ
ปี
พ.ศ. 2137 พระยาลาว เจ้าเมืองเมาะตะมะ เกิดวิวาทกับเจ้าพระยาพะโร
เจ้าเมืองเมาะลำเลิง พระยาพะโรกลัวพระยาลาวจะมาตีเมาะลำเลิงจึงให้สมิงอุบากองถือหนังสือมาขอบารมีสมเด็จพระนเรศวรเป็นที่พึ่ง
ขอพระราชทานกองทัพไปช่วยป้องกันเมือง สมเด็จพระนเรศวรจึงยอมรับช่วยเหลือพระยาพะโรทันที
มีดำรัสสั่งให้พระยาศรีไศลออกไปช่วยรักษาเมืองเมาะลำเลิง ซึ่งแต่บัดนี้ไปได้ยอมมาสวามิภักดิ์เป็นประเทศราชของไทย
ฝ่ายข้างพระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตะมะ ก็ไปขอความช่วยเหลือทางหงสาวดีบ้าง ทางหงสาวดีให้พระเจ้าตองอูยกทัพมาช่วย
แต่กองทัพไทยกับมอญเมาะลำเลิงได้ตีทัพพระเจ้าตองอูแตกไป
ตีเมืองหงสาวดีครั้งแรก
กองทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้าสู่กรุงหงสาวดีในปี
พ.ศ. 2142 การที่สมเด็จพระนเรศวร ได้หัวเมืองมอญฝ่ายใต้มาเป็นเมืองขึ้น
นับว่าเป็นจุดหักเหที่มีนัยสำคัญ ของการสงครามไทยกับพม่า จากเดิม ฝ่ายพม่าเป็นฝ่ายยกทัพมาย่ำยีไทยมาโดยตลอด
การได้หัวเมืองมอญฝ่ายใต้ ทำให้ไทยใช้เป็นฐานทัพ ที่จะยกกำลังไปตีเมืองหงสาวดีได้สะดวก
สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพหลวงไปตีเมืองหงสาวดี
ออกจากพระนคร เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น3 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะแม พ.ศ. 2138 มีกำลังพล 120,000 คน เดินทัพไปถึงเมืองเมาะตะมะ
แล้วรวบรวมกองทัพมอญเข้ามาสมทบ จากนั้น ได้เสด็จยกกองทัพหลวงไปยังเมืองหงสาวดี เข้าล้อมเมืองไว้
กองทัพไทยล้อมเมืองหงสาวดีอยู่ 3 เดือน และได้เข้าปล้นเมือง เมื่อวันจันทร์
แรม 13 ค่ำ เดือน 4 ครั้งหนึ่ง แต่เข้าเมืองไม่ได้
ครั้นเมื่อทรงทราบว่าพระเจ้าแปร พระเจ้าอังวะ พระเจ้าตองอู ได้ยกกองทัพลงมาช่วยพระเจ้าหงสาวดีถึงสามเมือง
เห็นว่าข้าศึกมีกำลังมากนัก จึงทรงให้เลิกทัพกลับ เมื่อวันสงกรานต์ เดือน 5
ปีวอก พ.ศ. 2139 และได้กวาดต้อนครอบครัวในหัวเมืองมณฑลหงสาวดี
มาเป็นเชลยเป็นอันมาก และกองทัพข้าศึกมิได้ยกติดตามมารบกวนแต่อย่างใด
การสงครามครั้งนี้
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพไปครั้งนี้ เป็นการจู่ไป
โดยไม่ให้ข้าศึกมีเวลาพอตระเตรียมการต่อสู้ได้พรักพร้อม และพระราชประสงค์ที่ยกไปนั้น
น่าจะมีอยู่
3 ประการคือ
ประการแรก ถ้าสามารถตีเอาเมืองหงสาวดีได้ก็จะตีเอาทีเดียว
ประการที่สอง ถ้าตีเมืองหงสาวดียังไม่ได้ครั้งนี้ ก็จะตรวจภูมิลำเนา
และกำลังข้าศึกให้รู้ไว้ สำหรับคิดการคราวต่อไป
ประการที่สาม คงคิดกวาดต้อนผู้คนมาเป็นเชลยให้มาก เพื่อประสงค์จะตัดทอนกำลังข้าศึก
และเอาผู้คนมาเพิ่มเติม เป็นกำลังสำหรับพระราชอาณาจักรต่อไป
ข้อสันนิฐานอื่น
ๆ มีอยู่ว่า การกวาดต้อนผู้คนกลับพระราชอาณาจักรไทยครั้งนี้ น่าจะได้ช่วยนำคนไทย ผู้ซึ่งถูกพม่ากวาดต้อนเอาไปเป็นเชลย
แล้วเอาตัวไว้ใช้งานตามเมืองต่าง ๆ กลับมาด้วย ประการต่อมา สาเหตุที่ยกทัพกลับนั้น
นอกจากจะทรงเห็นว่า กองทัพข้าศึกกำลังระดมยกมาจากอีกสามเมืองใหญ่ มีกำลังมากแล้ว เสบียงอาหารของกองทัพไทยก็น่าจะขาดแคลน
เพราะมีกำลังพลมาก และล้อมเมืองหงสาวดีอยู่นานถึงสามเดือน ประกอบกับใกล้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว
และประการสุดท้าย การที่พระองค์ถอนทัพกลับ โดยที่พม่าไม่ได้ยกติดตามตีหรือรบกวนแต่อย่างใด
ทั้งที่มีพลเรือนที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับครั้งสงครามประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง
ก็น่าจะเป็นเพราะพระองค์ดำเนินการถอนทัพ และนำผู้คนพลเรือนกลับมาอย่างมีระบบ โดยให้พลเรือนล่วงหน้าไปก่อน
อย่างครั้งสงครามประกาศอิสรภาพ พม่าไม่กล้าติดตาม เพราะได้ทราบบทเรียนจากครั้งนั้น
ประกอบกับความเกลงกลัวในพระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระนเรศวร และความเข้มแข็งเก่งกล้าสามารถของกองทัพไทยในครั้งนั้น
ทำให้กองทัพไทยถอนทัพกลับได้โดยราบรื่น ปราศจากการรบกวนใด ๆ
ตีเมืองหงสาวดีครั้งที่สอง
พ.ศ.
2142 สมเด็จพระนเรศวรทรงมุ่งหมายจะตีเอาเมืองหงสาวดีให้ได้ จึงตระเตรียมทัพยกไปทั้งทางบกและทางเรือ
ได้ออกทำการเกลี้ยกล่อมหัวเมืองต่างๆ ให้อ่อนน้อมต่อไทยได้อีกหลายเมือง แม้แต่เชียงใหม่ซึ่งได้ตั้งแข็งเมืองต่อพม่าแล้ว
แต่คิดเกรงว่ากรุงศรีสัตนาคนหุตและไทยจะยกทัพไปรุกราน ก็ได้ตัดสินใจยอมอ่อนน้อมมาขอขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาด้วย
ส่วนเมืองตองอูกับเมืองยะไข่เมื่อเอาใจออกห่างจากกรุงหงสาวดีไปแล้ว ก็หันมาฝักใฝ่กับไทยและรับว่า
ไทยยกทัพไปตีกรุงหงสาวดีแล้ว ก็จะเข้าร่วมช่วยเหลือพระเจ้ายะไข่นั้นอยากได้หัวเมืองชายทะเล
ส่วนพระเจ้าตองอูอยากได้เป็นพระเจ้าหงสาวดีแทน สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงรับเป็นไมตรีกับเมืองทั้งสองนั้น
ในระหว่างนั้นพระมหาเถระเสียมเพรียมภิกษุรูปหนึ่งได้เข้ายุยงพระเจ้าตองอูมิให้อ่อนน้อมแก่ไทย
และแจ้งอุบายให้พระเจ้าตองอูคิดอ่านเอาเมืองหงสาวดีเสียเอง พระเจ้าตองอูเห็นชอบด้วยจึงชวนพระเจ้ายะไข่ให้ไปตีเมืองหงสาวดี
แล้วพระเจ้าตองอูจะทำทีเป็นยกกองทัพมาช่วยหงสาวดี พอเข้าเมืองได้แล้วก็หย่าศึกกันเสีย
และจะแบ่งประโยชน์ให้ตามที่พระเจ้ายะไข่ต้องการ คือจะยกหัวเมืองชายทะเลให้แก่พระเจ้ายะไข่
แต่ครั้งทัพพระเจ้ายะไข่และทัพพระเจ้าตองอูเข้าประชิดเมืองหงสาวดีแล้วก็หาเข้าเมืองไม่
ทั้งนี้เพราะพระเจ้าหงสาวดีเกิดทรงระแวงขึ้น ทัพพระเจ้าตองอูและพระเจ้ายะไข่จึงได้แต่ตั้งล้อมเมืองหงสาวดีไว้
สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่าทางกรุงหงสาวดีกำลังปั่นป่วนจึงเสด็จยกทัพหลวงไปตีหงสาวดี
แต่ต้องไปเสียเวลาปราบปรามมอญซึ่งพระเจ้าตองอูได้ยุยงให้กระด้างกระเดื่องเป็นเวลาถึง 3 เดือนเศษ
จึงเดินทัพถึงเมืองหงสาวดีช้ากว่ากำหนดที่คาดหมายไว้ ทางฝ่ายพระเจ้าตองอูพระเจ้ายะไข่ซึ่งกำลังล้อมเมืองหงสาวดีอยู่
พอได้ทราบข่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไปกำจัดมอญเมืองเมาะตะมะกำลังเดินทัพมาก็เกรงกลัว
และแจ้งให้พระเจ้าหงสาวดีทราบ พระเจ้าหงสาวดีก็จำใจอนุญาตให้พระเจ้าตองอูยกทัพเข้าไปในเมืองหงสาวดีได้
และมอบหมายให้พระเจ้าตองอูบัญชาการรบแทนทุกประการ พระเจ้าตองอูจึงทำการกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สมบัติ
รวมทั้งพระเจ้าหงสาวดีไปยังเมืองตองอู ทิ้งเมืองหงสาวดีไว้ให้กองทัพพระเจ้ายะไข่ทำการค้นคว้าทรัพย์ที่ยังเหลืออยู่ต่อไป
พอพระเจ้าตองอูออกจากหงสาวดีไปได้ประมาณ 8 วัน กองทัพไทยก็ยกไปถึงเมืองหงสาวดี
ครั้นสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทราบว่าพระเจ้าตองอูไม่ซื่อตรงตามคำมั่นที่ได้ให้ไว้ก็ทรงพระพิโรธ
จึงเสด็จยกทัพตามขึ้นไปตีเมืองตองอู ได้เข้าล้อมเมืองตองอูอยู่ถึง 2 เดือนก็ไม่อาจตีหักเอาได้ เพราะเมืองตองอูมีชัยภูมิที่ดี ชาวเมืองก็ทำการต่อสู้เข้มแข็ง
ประกอบกับฝนตกชุกและทัพไทยขาดเสบียงอาหาร สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ยกกองทัพกลับคืนกรุงศรีอยุธยา
สงครามครั้งสุดท้ายและสวรรคต
สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ
เสด็จยกกองทัพออกจากพระนคร เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง
พ.ศ. 2148 เสด็จโดยกระบวนเรือจากพระตำหนักป่าโมก
แล้วเสด็จขึ้นบนที่ตำบลเอกราชไปตั้งทัพชัย ณ ตำบลพระหล่อ แล้วยกกองทัพบกไปทางเมืองกำแพงเพชรสู่เมืองเชียงใหม่
ครั้นเสด็จถึงเมืองเชียงใหม่ก็หยุดพักจัดกระบวนทัพอยู่หนึ่งเดือน แล้วให้กองทัพสมเด็จพระเอกาทศรถยกไปทางเมืองฝาง
ส่วนกองทัพหลวงยกไปทางเมืองหาง ครั้นเสด็จถึงเมืองหางแล้วก็ให้ตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ที่ทุ่งแก้ว
สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวรเป็นหัวระลอก (ฝี) ขึ้นที่พระพักตร์ แล้วกลายเป็นบาดทะพิษพระอาการหนัก จึงโปรดให้ข้าหลวงรีบไปเชิญเสด็จสมเด็จพระเอกาทศรถมาเฝ้า
สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จฯ มาถึงได้ 3 วัน สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จสวรรคต
เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง
ตรงกับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.
2148 สิริพระชนมพรรษา 50 พรรษา รวมสิริดำรงราชสมบัติ
15 ปี สมเด็จพระเอกาทศรถจึงได้อัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรกลับกรุงศรีอยุธยา
ชีวิตส่วนพระองค์
พระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชส่วนใหญ่ได้จากพงศาวดารอยุธยา
ซึ่งมักมีการจดบันทึกในพระราชกรณียกิจ ซึ่งส่วนใหญ่บันทึกถึงการทำสงครามกับอาณาจักรเพื่อนบ้านเป็นอันมาก
จนมองข้ามเกี่ยวกับเจ้านายฝ่ายในหรือพระมเหสีของพระองค์ แต่อย่างไรก็ตามได้มีการปรากฏพระนามของเจ้านายฝ่ายใน
ในเอกสารของต่างชาติ
5 ฉบับด้วยกัน ซึ่งได้แก่ จดหมายเหตุสเปน (History of the
Philippines and Other Kingdom) ของบาทหลวงมาร์เชโล เด ริบาเดเนย์รา
(Marchelo de Ribadeneira, O.F.M), จดหมายเหตุวันวลิต, พงศาวดารละแวก, คำให้การขุนหลวงหาวัด และพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้ว
ซึ่งปรากฏพระนามพระนามพระมเหสี 3 - 4
พระองค์ โดยมีพระนามดังนี้
1. พระมณีรัตนา จากคำให้การขุนหลวงหาวัด
2. เจ้าขรัวมณีจันทร์ จากจดหมายเหตุวันวลิต
3. โยเดียมี้พระยา พระราชธิดาในพระเจ้านรธามังสอ กับพระนางเชงพยูเชงเมดอ ปฐมวงศ์พม่าที่ปกครองอาณาจักรล้านนา
จากพงศาวดารพม่า
4.
พระเอกกษัตรีย์ พระราชธิดาในพระเจ้าศรีสุพรรณมาธิราช
เจ้าแผ่นดินเขมร จากพงศาวดารเขมร
มีการกล่าวถึง
พระมณีรัตนา และเจ้าขรัวมณีจันทร์ ว่าอาจเป็นบุคคลเดียวกัน แต่บ้างก็ว่าอาจเป็นคนละคนกัน
โดยเชื่อว่า พระมณีรัตนาอาจเป็นเจ้าหญิงที่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ละโว้สายสุพรรณภูมิของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
และสมเด็จพระมหินทราธิราช ซึ่งในขณะนั้นเจ้านายฝ่ายในในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระองค์หนึ่งมีพระนามว่า
พระรัตนมณีเนตร หรือ พระแก้วฟ้า ซึ่งเป็นพระขนิษฐาต่างชนนีของพระวิสุทธิกษัตรีย์ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นพระนางจะมีศักดิ์เป็นพระมาตุจฉาของพระนเรศวร
อย่างไรก็ตามเจ้าขรัวมณีจันทร์ มีบทบาทสูงกว่าพระมเหสีจากเชียงใหม่และเขมร
โดยมีการสถาปนาพระนางเป็นอัครมเหสีดังที่ปรากฏในคำให้การขุนหลวงหาวัดที่กล่าวถึงเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จขึ้นเสวยราชย์สมบัติต่อจากพระราชบิดา
ความว่า “ส่วนพระนเรศวรนั้น ก็เข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา ก็เสด็จเข้าสู่พระราชฐานอันอัครเสนาบดีและมหาปุโรหิตทั้งปวง
จึงทำการปราบดาภิเษกแล้วเชื้อเชิญให้เสวยราชสมบัติ จึงถวายอาณาจักรเวนพิภพแล้วจึงถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทั้้ง
๕ และเครื่องมหาพิไชยสงครามทั้ง ๕ ทั้งเครื่องราชูปโภคทั้งปวงอันครบครัน แล้วจึงถวายพระนามใส่ในพระสุพรรณบัตรสมญา
แล้วฝ่ายในกรมจึงถวายพระมเหษีพระนามชื่อพระมณีรัตนา และถวายพระสนมกำนัลทั้งสิ้น
แล้วครอบครองราชย์สมบัติเมื่อจุลศักราช ๙๕๒ ปีขาลศก อันพระเอกาทศรถนั้นก็เปนที่มหาอุปราช”
— คำให้การขุนหลวงหาวัด
หลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
และสมเด็จพระเอกาทศรถได้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อนั้น เจ้าขรัวมณีจันทร์ได้ปรากฏอีกครั้งในจดหมายเหตุวันวลิต
ที่ได้กล่าวถึง พระชายาม่ายของสมเด็จพระนเรศวร ได้เสด็จออกบวชชี และเป็นเหตุให้บุคคลทั่วไปเรียกกันว่า
เจ้าขรัว จนกระทั่งมีเหตุการณ์หนึ่งที่ทรงเสด็จไปช่วยพระราชโอรสพระองค์หนึ่งของสมเด็จพระเอกาทศรถ
คือ
"เจ้าไล" หรือศรี ซึ่งมีเหตุวิวาทกับพระยาออกนา
จนต้องพระราชอาญาจนถึงชีวิต ข้ารองพระบาทในพระองค์ไลจึงได้ไปทูลขอพึ่งพระบารมีเจ้าขรัวมณีจันทร์ซึ่งเป็นพระปิตุจฉา
พระนางจึงรีบเสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระเอกาทศรถ จนสมเด็จพระเอกาทศรถยินยอมด้วยความเกรงพระทัย
(แต่ในจดหมายเหตุวันวลิตกล่าวว่า ถูกฟันด้วยพระแสงดาบและถูกจำคุกเป็นเวลา
5 เดือน เจ้าขรัวมณีจันทร์จึงได้ขอพระราชทานอภัยโทษ) โดยปรากฏในจดหมายเหตุวันวลิต ความว่า
"จนกระทั่งเจ้าขรัวมณีจันทร์ ชายาม่ายของพระเจ้าอยู่หัวในพระโกศ
คือ พระ Marit หรือพระองค์ดำ ได้ทูลขอจึงเป็นที่โปรดปรานอีก"
พระราชโอรส-ธิดา
มีการกล่าวถึงพระราชโอรสในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในจดหมายเหตุสเปน (History of the
Philippines and Other Kingdom) ของบาทหลวงมาร์เชโล เด ริบาเดเนย์รา
(Marchelo de Ribadeneira, O.F.M) ที่เขียนขึ้นจากคำบอกเล่าของบาทหลวงนิกายฟรานซิสกันที่เคยพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาใน
พ.ศ. 2125 ปลายรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
และ พ.ศ. 2139 ตรงกับต้นรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
โดยเนื้อความในจดหมายเหตุนี้ได้มีการอธิบายถึงกระบวนพยุยาตราชลมารคของพระเจ้าแผ่นดินสยาม
โดยมีเนื้อความตอนหนึ่งที่ได้กล่าวถึงพระอัครมเหสีและพระราชโอรสผู้ทรงพระเยาว์โดยเสด็จด้วย
ความว่า
“...เรือสี่ลำเหล่านี้หยุดที่พระอารามแห่งหนึ่งบนชายฝั่ง
เพราะพวกเขาคาดหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเจริญพระพุทธมนต์และทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
ตามติดมาอย่างใกล้ชิดเรือสี่ลำนั้นเป็นเรืออื่น ๆ อีกหลายลำที่ใหญ่กว่านั้น แต่ละลำบรรทุกผู้คนมากมายที่แต่งกายด้วยเครื่องแบบประเภทต่าง
ๆ เรือแต่ละลำมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แห่งพระราชสำนัก 1 คน แล้วจากนั้นเป็นพระราชกุมารพระองค์เยาว์ที่สุดในบรรดาแผ่นดินที่เสด็จปรากฏพระองค์ในเรือพระที่นั่งที่ตกแต่งอย่างหรูหรามาก
ตามติดมาเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีและสาวสรรกำนัลใน สมเด็จพระอัครมเหสีประทับแต่เพียงลำพังพระองค์
และบรรดานางกำนัลนั่งในเรือลาอื่นตกแต่งอย่างน่าอัศจรรย์ และกั้นด้วยม่านอย่างรอบคอบจนเป็นไปได้ที่จะสามารถมองผ่านม่านจากภายในสู่โลกภายนอกได้
โดยที่คนภายนอกไม่เห็นคนภายใน...
เมื่อนำเหตุการณ์ที่บาทหลวงสเปนได้เขียนบอกเล่าไว้ไปเทียบเคียงกับพระราชพงศาวดารฯ
ฉบับพระจักรพรรดิพงษ์เจ้ากรม (จาด) จะพบว่าในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้มีการกล่าวถึงพระราชพิธีอาสวยุทธ
และการต้อนรับคณะทูตกัมพูชาที่เดินทางมาถวายเครื่องราชบรรณาการยังราชสำนักอยุธยาซึ่งตรงกับเหตุการณ์การเสด็จฯ
ทางชลมารคและการออกรับทูตกัมพูชาในจดหมายเหตุของสเปน โดยบางทีสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอาจมีพระราชโอรสมากกว่า
1 พระองค์แล้ว เนื่องจากในจดหมายเหตุมีการใช้คำว่า "พระราชกุมารพระองค์เยาว์ที่สุด"
นอกจากนี้สมเด็จพระนเรศวารมหาราชก็ทรงมีพระราชธิดาด้วย
โดยมีการกล่าวถึง พระเจ้านรธามังสอ เจ้าผู้ครองล้านนา ด้วยเหตุที่พระเจ้านรธามังสอได้รับการช่วยเหลือจากกรุงศรีอยุธยาเพื่อจัดการปัญหาเมืองขึ้นแข็งเมือง
และช่วยป้องกับการรุกรานข้าศึก ด้วยการเกื้อกูลกันดังกล่าว ได้สร้างสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับนรธามังสอและสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
โดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงยกพระราชธิดาให้สมรสกับเมงสาตุลองผู้ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระเจ้านรธามังสอ
โดยพระเจ้านรธามังสอก็ได้ถวายพระราชธิดาให้เป็นพระมเหสีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชด้วย
โดยการมอบพระราชธิดาของพระเจ้านรธามังสอแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีปรากฏในโคลงบทที่ 21 ความว่า
นอเรศขอเจื่องเจ้า
|
สาวกระสัตร
|
เทียมแท่นเสวยสมบัติ
|
โกถเคล้า
|
แล้วเล่าลูกชายถัด
|
เป็นแขก เขรยเอย
|
หวังว่าจักบางเส้า
|
เล่าซ้ำแถมถม
ฯ
|
อย่างไรก็ตามก็มีหลักฐานเกี่ยวกับพระอัครมเหสีรวมไปถึงพระราชโอรสและพระราชธิดาน้อยมาก
เนื่องจากผู้ที่เขียนจดหมายเหตุสเปนเองก็บันทึกจากผู้เห็นเหตุการณ์ที่ไม่รู้รายละเอียด
รวมไปถึงพงศาวดารของพม่าที่กล่าวถึงพระราชธิดาในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอย่างผ่าน ๆ เท่านั้น
ภายหลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตแล้ว ราชสมบัติจึงตกแก่สมเด็จพระเอกาทศรถ
พระบรมราชานุสรณ์
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้เป็นที่สักการะบูชา
ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็ได้โปรดให้สร้างไว้อีก
พระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรยังประดิษฐานไว้เป็นที่สักการะบูชา อยู่ในพระที่นั่งภานุมาศจำรูญ
(ปัจจุบันคือ พระที่นั่งบรมพิมาน) จนทุกวันนี้
ตราประจำจังหวัดของไทยที่มีพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นองค์ประกอบ
ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดตาก และจังหวัดหนองบัวลำภู
มีการสร้างพระบรมราชานุสรณ์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในหลายแห่งทั่วประเทศ
เช่น พระบรมราชานุสรณ์ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ พระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก,
ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จังหวัดพิษณุโลก,
พระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
จังหวัดพิษณุโลก, พระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร
จังหวัดพิษณุโลก, พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี,
ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ริมหนองบัวลำภู ในจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นต้น
มีการนำพระนามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไปตั้งเป็นชื่อของมหาวิทยาลัยนเรศวร
จังหวัดพิษณุโลก และค่ายทหารต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่จังหวัดพิษณุโลก
ค่ายนเรศวร ที่จังหวัดลพบุรี ค่ายนเรศวรมหาราช ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
ส่วนทางกรมตำรวจได้นำพระนามของพระองค์มาตั้งเป็นชื่อค่ายตำรวจตระเวนชายแดนที่อำเภอชะอำ
จังหวัดเพชรบุรีว่า "ค่ายนเรศวร" ด้วยเช่นกัน
ชาวไทยนิยมนำหุ่นรูปไก่ชนพันธุ์เหลืองหางขาวไปบนบานกับพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
เพราะเชื่อกันว่าเป็นไก่พันธุ์เดียวกับตัวที่เอาชนะไก่ชนของพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดีได้
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
ได้มีการนำพระราชประวัติของพระองค์มาสร้างเป็นภาพยนตร์ 3 ครั้ง ครั้งแรก ใช้ชื่อว่า นเรศวรมหาราช ในปี พ.ศ. 2500 ครั้งที่ 2 ใช้ชื่อว่า
มหาราชดำ ในปี พ.ศ. 2522 และครั้งที่ 3 ใช้ชื่อว่า ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในปี พ.ศ. 2550 เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง
กษัตริยา ควบคู่กับ มหาราชกู้แผ่นดิน ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมายุครบ 72 พรรษา ใน พ.ศ. 2542 โดย บริษัท กันตนา จำกัด เป็นผู้ผลิตรายการ ออกฉายทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง
5 ในช่วงปี พ.ศ. 2545 ถึง
พ.ศ. 2546
พระราชประวัติของพระองค์ยังได้มีการนำไปสร้างเป็นละครเรื่อง
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อ พ.ศ. 2530 ทางไทยทีวีสีช่อง 3 และได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำในปีนั้นถึง
5 รางวัล ภายหลังมีการนำละครเรื่องนี้มาฉายใหม่ทางช่อง สทท.11
อีกครั้ง (ประมาณ พ.ศ.
2540) เช่นเดียวกับการนำไปสร้างเป็นหนังสือการ์ตูนอยู่หลายครั้ง เช่น
มหากาพย์กู้แผ่นดิน ผลงานของมนตรี คุ้มเรือน เป็นต้น
ไม้
เมืองเดิม ได้นำเหตุการณ์ในสมัยนี้ไปใช้เป็นฉากในนวนิยายเรื่อง ขุนศึก ซึ่งตัวเอกของเรื่องคือ
เสมา ทหารในสมัยสมเด็จพระนเรศวรซึ่งมีชาติกำเนิดเป็นช่างตีเหล็ก นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์เช่นกัน
ข้อสังเกต
|
ความจริงการอ่านออกเสียงคำว่า นเรศวร นั้น ถ้าให้ถูกตามภาษาเดิม คือ
บาลีสันสกฤต ต้องอ่านว่า นะ-เรด-สะ-วอน (ออกเสียง สะ นิด ๆ เหมือนตัว S ในภาษาอังกฤษ)
นร เป็นภาษาบาลี (สันสกฤตว่า นฤ) แปลว่า ประชาชน หรือ คน ส่วนคำว่า อิศวร
(อิศฺวร อ่านว่า อิด-สฺวะระ) เป็นภาษาสันสกฤต (บาลีว่า อิสฺสร – ไทยใช้ อิสระ)
แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ ผู้อยู่เหนือ เมื่อรวมกันเป็น นริศวร หรือ นเรศวร แปลว่า
ผู้เป็นใหญ่เหนือปวงชน ก็คือ พระราชา (ในภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรของ
ม.จ. ชาตรีเฉลิมยุคล เรียกว่า พระนเรศ) ไทยอ่านคำว่า อิศวร (อิด-สฺวะระ) เป็น อิ
– ศวร (อิ-สวน) อาจจะเนื่องจากคล่องปาก หรือเทียบกับคำในภาษาไทย เช่น สวน ร่วน
ตรวน เป็นต้น เหมือนคำว่า พรหม หรือ
พราหมณ์ ความจริงแล้ว ไม่ได้อ่านว่า พฺรม หรือ พฺราม แต่อ่านว่า พฺรัห-มะ หรือ พฺราห-มะ
(คือ ห หีบสะกด) แต่คนไทยเราออกเสียง ห หีบสะกดไม่ได้ เพราะในภาษาไทย ห
หีบไม่ได้เป็นตัวสะกด จึงเอาตัว ม ม้า สะกด ทำนองเดียวกับในภาษาอังกฤษไม่มีตัว ง
ที่เป็นตัวพยัญชนะต้น เช่น งา งาม เงา งู เป็นต้น ฝรั่งอังกฤษอเมริกา จะออกเสียง
ง งู (ที่เป็นอักษรตัวแรก) ไม่ได้ เพราะไม่มีอักษร ง ที่เป็นอักษรตัวแรกในภาษาดังกล่าว
มีแต่เป็นตัวสะกด คือ ng หรือ nk
(ยกตัวอย่างนักฟุตบอลญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ไปเล่นในทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ต ชื่อ
คางาวะ แต่ฝรั่งอังกฤษออกเสียง ตัว ง ไม่ได้ จึงเขียนชื่อเขาเป็น kagawa =
คากาวะ ถ้าเขียนตามตัวจะเป็น kangawa ฝรั่งอังกฤษอาจออกเสียงเป็น
คานกาวะ ไป)
ในภาษาอังกฤษที่ไม่มีเสียงในภาษาไทยก็มีหลายตัว
ยกตัวอย่างเช่น th
ไม่มีเสียงในภาษาไทย เป็นต้น
การออกเสียงต้องใช้ลิ้นวางไว้ระหว่างฟัน แล้วพ่นลมออกพร้อมกับดึงลิ้นเข้า การใช้ตัวอักษรแทนเสียง
ในพจนานุกรม ส่วนมากใช้ ธ ธง บ้าง ด เด็ก บ้าง ฑ มณโฑ บ้าง แทน ซึ่งไม่ตรงเลย
เพราะเสียงเหล่านี้ขึ้นเพดาน
|
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่
27 แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา 32 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2199 - พ.ศ. 2231 เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เชื่อกันว่าพระราชชนนีสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จพระราชสมภพเมื่อราว พ.ศ. 2174 หรือ พ.ศ. 2175 เพราะพระราชพงศาวดารบันทึกว่าใน
พ.ศ. 2199 นั้นทรงสั่งให้ประกอบพระราชพิธีเบญจเพสในเดือนยี่
เมื่อแรกประสูตินั้นพระประยูรญาติเห็นเป็น 4 กร (แสดงถึงความเชื่อในศาสนาพราหมฮินดู
เรื่องนารายณ์อวตารในขณะนั้นเข้มข้นมาก – ผู้จัดทำ) จึงขนานพระนามว่า “สมเด็จพระนารายณ์” มีพระราชอนุชาร่วมพระชนกหลายพระองค์
และมีพระขนิษฐภคินีร่วมพระชนนีเดียวกันคือเจ้าฟ้าศรีสุวรรณ หรือพระราชกัลยาณี ซึ่งต่อมาโปรดให้สถาปนาขึ้นเป็น
กรมหลวงโยธาทิพ
|
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประดิษฐาน ณ วงเวียนพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี |
ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงศึกษาเล่าเรียนกับพระภิกษุหลายสำนักทั้งทรงชำนาญในศิลปศาสตร์เป็นอย่างดี
เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จสวรรคตและสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชย์สืบต่อมาได้
2 เดือนแล้ว สมเด็จพระนารายณ์มหาราชขณะดำรงพระยศที่กรมพระราชวังบวรได้ทรงยึดอำนาจและเสด็จขึ้นครองราชย์
เฉลิมพระนามตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า
สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี
ศรีสรรเพชญ์ บรมมหาจักรพรรดิศวรราชาธิราช ราเมศวรธราธิบดี ศรีสฤษดิรักษสังหาร จักรวาฬาธิเบนทร
สุริเยนทราธิบดินทร์หริหรินทราธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลย์คุณอขนิฐจิตรรุจี ศรีภูวนาทิตย
ฤทธิพรหมเทพาดิเทพบดินทร ภูมินทราธิราช รัตนาภาศมนุวงษ์ องค์เอกาทศรุฐ วิสุทธยโสดม
บรมอาชาธยาศัยสมุทัยดโนรมนต์อนันตคุณ วิบุลสุนทร บวรธรรมิกราชเดโชไชย ไตรโลกนารถบดินทร์
วรินทราธิราช ชาติพิชิตทิศพลญาณสมันต์ มหันตวิปผาราฤทธิวิไชย ไอสวรรยาธิปัติขัติยวงษ์
องค์ปรมาธิบดี ตรีภูวนาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธมกุฏรัตนโมฬี ศรีประทุมสุริยวงศ์องค์สรรเพชญ์พุทธางกูรบรมบพิตร
พระพุทธเจ้าอยู่หัว
อย่างไรก็ดีพระนามของพระองค์ที่ปรากฏในจารึกวัดจุฬามณี
พ.ศ. 2224 ว่า “พระศรีสรรเพชญ์ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีศินทรมหาจักรพรรดิศวรราชาธิราชรามเศวรธรรมิกราชเดโชไชยบรมเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศรโลกเชษฐวิสุทธิมกุฏพุทธางกูร
บรมจักรพรรดิศวรธรรมิกราชาธิราช”
หลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์ใน
พ.ศ. 2199 แล้ว สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นอเนกประการ
ทั้งการทำนุบำรุงบ้านเมือง การสร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร โดยใน พ.ศ. 2208 - พ.ศ. 2209 โปรดให้สถาปนาเมืองลพบุรีขึ้นเป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่ง
เพื่อรักษาความมั่นคงของราชบัลลังก์ และเป็นการสร้างที่ประทับเพื่อพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์
ปรากฏหลักฐานในเอกสารหลายฉบับทั้งไทยและต่างประเทศว่ารัชกาลของพระองค์มีความยิ่งใหญ่เหนือรัชกาลอื่นโดยเฉพาะเรื่องการติดต่อกับต่างประเทศ
เป็นเหตุให้ประวัติศาสตร์อยุธยาใน
ช่วงรัชกาลของพระองค์มีเอกสารมากมายที่มีประโยชน์ยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย
การศึกสงครามในช่วงต้นแผ่นดินนั้นมีทั้งสงครามในและนอกพระนคร
ทรงยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ส่วนในพระนครก็เกิดกบฏพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ขึ้น พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกว่าพระไตรภูวนาทิตยวงศ์กับพระองค์ทองคิดการกบฏ
ทั้งสองพระองค์เป็นพระอนุชาต่างพระชนนีกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่การกบฏครั้งนี้ไม่สำเร็จ
ทั้งสองพระองค์ถูกจับกุมสำเร็จโทษพร้อมพรรคพวกอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่
เช่น ออกญาพลเทพ ออกญากลาโหม ออกญาพัทลุง ออกพระศรีภูริปรีชา เป็นต้น ทำให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชไม่ไว้วางพระราชหฤทัยขุนนางเดิม
และทรงเพิ่มความสนิทสนมกับชาวต่างชาติมากขึ้น
ในเรื่องของการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา
สิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าทรงเป็นองค์พุทธมามกะและองค์ศาสนูปถัมภกของพระพุทธศาสนาก็คือ
พระราชดำรัสตอบแก่ราชทูตฝรั่งเศสเชอวาลิเยร์ เดอ โชมอง
(Chevalier de Chaumont) เมื่อราชทูตได้กราบบังคมทูลชักจูงให้พระองค์ทรงเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนา
แต่พระองค์มีพระราชดำรัสตอบว่าจะให้ทรงละทิ้งศาสนาที่บรรพบุรุษของพระองค์นับถือมากว่าสองพันปีได้อย่างไร
แต่เมื่อใดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงปรารถนาให้พระองค์เปลี่ยนศาสนาแล้วก็จะทรงยินยอมตามนั้น
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดียิ่ง
และอาจนับได้ว่าการพระพุทธศาสนาในช่วงรัชกาลของพระองค์ได้เจริญรุ่งเรืองมาก ทรงบูรณะวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองลพบุรี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมายังอยุธยา ดังที่ปรากฏในวรรณคดีสำคัญของยุคคือโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์
เอกสารสำคัญในรัชกาลที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาคือพระราชปุจฉาที่ทรงมีไปถึงพระสงฆ์ผู้ทรงภูมิธรรมเพื่อทรงไต่ถามข้อสงสัย
ซึ่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปรากฏชื่อพระพรหมมุนี วัดปากน้ำประสบ และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็น
ผู้ถวายวิสัชนาพระราชปุจฉาอยู่เสมอ ๆ ธรรมเนียมปฏิบัติเช่นนี้ยังปรากฏเป็นหลักฐานต่อมาว่า
พระมหากษัตริย์อยุธยาโปรดที่จะมีพระราชปุจฉาเรื่องทางโลกและทางธรรมแก่พระสงฆ์หรือพระราชาคณะที่ทรงนับถือ
เช่นพระเพทราชาก็ยังทรงปฏิบัติสืบมา จึงแสดงให้เห็นว่านับแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชลงมาแล้ว
การเอาใจใส่พระสงฆ์มีเพิ่มมากขึ้นกว่าก่อนมาก
ในด้านงานวรรณกรรม ปรากฏว่าวรรณคดีไทยได้รับความนิยมและเฟื่องฟูเป็นอย่างยิ่ง
เพราะสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นกวีด้วยพระองค์หนึ่ง พระราชนิพนธ์สำคัญคือสมุทรโฆษคำฉันท์
(ตอนต้น) และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้พระมหาราชครูแต่งจินดามณีขึ้นเป็นตำราเรียน
สำหรับความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
ในช่วงรัชสมัยเป็นการเปิดโลกทัศน์ของสยามออกสู่ตะวันตกมากขึ้น ทรงติดต่อกับประเทศในภูมิภาคตะวันออก
เช่น จีน ญี่ปุ่น ชวา ญวน อินเดีย และประเทศในดินแดนตะวันตกนับแต่เปอร์เซียจนถึงประเทศในทวีปยุโรป
ในช่วงต้นรัชกาลมีกลุ่มบาทหลวงมิชชันนารีเดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาและสืบทอดกิจการของคริสต์ศาสนา
ซึ่งพระองค์ก็ทรงอนุเคราะห์ที่ดินให้ปลูกสร้างอาคาร และพระราชทานเสรีภาพในการเผยแผ่ศาสนา
การที่สังคมอยุธยามีพ่อค้าและบาทหลวงต่างชาติเดินทางเข้ามามากเช่นนี้ ทำให้บทบาทของชาวต่างชาติมีมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าพระยาวิไชเยนทร์หรือคอนสแตนติน ฟอลคอน
(Constantin Phaulkon) ชาวกรีกซึ่งเข้ารับราชการเป็นลำดับจนถึงตำแหน่งว่าที่สมุหนายกและกำกับดูแลพระคลัง
ทั้งยังมีบทบาทในการเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับประเทศฝรั่งเศสด้วย
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงส่งคณะทูตสยามไปฝรั่งเศสหลายครั้ง
ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2224 ทรงจัดให้ออกพระพิพัฒน์ราชไมตรีเป็นราชทูต
ออกขุนศรีวิสารสุนทรเป็นอุปทูต ออกขุนนครวิชัยเป็นตรีทูต เดินทางโดยเรือกำปั่นฝรั่งเศส
แต่ทว่าเคราะห์ร้ายที่เรือไปแตกที่นอกฝั่งเกาะมาดากัสการ์
ต่อมาใน พ.ศ. 2227 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระวิตกที่คณะทูตชุดแรกสูญหายไป
จึงโปรดให้ออกขุนวิชัยวาทิตและออกขุนพิชิตไมตรีกับบาทหลวงวาเชต์ (Vachet) ผู้เป็นล่ามเดินทางไปสืบข่าวคณะทูตชุดแรก เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงทราบว่าคณะราชทูตสยามชุดก่อนเรือแตกอับปางลง
ก็ทรงดำริที่จะแต่งทูตมาเป็นการสนองตอบ จึงทรงส่งเมอสิเออร์ เชอวาลิเยร์ เดอ โชมอง
เป็นเอกอัครราชทูต พร้อมคณะเดินทางเข้ามาถึงปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 23 กันยายน
พ.ศ. 2228
การต้อนรับคณะทูตและพระราชสาส์นจากฝรั่งเศสเป็นไปด้วยความยิ่งใหญ่อลังการและสมพระเกียรติยศพระเจ้าหลุยส์ที่
14 ทำให้การต้อนรับคณะทูตจากฝรั่งเศสซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ทรงดูแลพวกตนเป็นอย่างดี
ครั้นเมื่อคณะทูตฝรั่งเศสจะเดินทางกลับ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงจัดแต่งคณะทูตขึ้นชุดหนึ่ง
ประกอบด้วยออกพระวิสุทธสุนทร (ปาน) เป็นราชทูต
ออกหลวงกัลยาราชไมตรีเป็นอุปทูต ออกขุนศรีวิสารวาจาเป็นตรีทูต เดินทางไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่
14 ทั้งหมดออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2228 ไปถึงเมืองแบรสต์ (Brest) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน
พ.ศ. 2229 เมื่อได้เข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสาส์นแล้ว
ก็ได้เยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศฝรั่งเศส นับได้ว่าการเจริญพระราชไมตรีครั้งนี้เป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่และได้รับการกล่าวขานมากที่สุด
ในปลายรัชกาล สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระประชวร
พระเพทราชาและออกหลวงสรศักดิ์พระโอรสบุญธรรมร่วมกับขุนนางอีกจำนวนหนึ่งยึดอำนาจ ด้วยเกรงว่าอำนาจของชาวต่างชาติจะมีมากเกินไปและเป็นอันตรายต่อราชอาณาจักร
เจ้าพระยาวิไชเยนทร์จึงถูกสำเร็จโทษประหารชีวิตพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จกรมพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ระบุไว้ดังนี้
ศุภมัสดุศักราช
1050 ปีมะโรงสำเรทศก สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าเสด็จขึ้นไปเมืองลพบุรีอยู่ประมาณเดือนหนึ่งทรงประชวรหนักลง
วันหนึ่งหม่อมปีย์เสด็จออกมาสรงพระพักตร์อยู่ ณ ศาลา พญาสุรศักดิ์เข้าไปจะจับ
หม่อมปีย์วิ่งเข้าไปในที่บรรทมร้องว่า ทูลกระหม่อมแก้วช่วยเกล้ากระหม่อมดิฉันด้วย สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสว่า
ไอ้พ่อลูกนี้คิดทรยศจะเอาสมบัติแล้ว มีพระราชโองการสั่งให้ประจุพระแสงปืนข้างที่ แล้วให้หาพญาเพทราชา
พญาสุรศักดิ์ก็เข้าไปยืนอยู่ที่พระทวารทั้งสองคน สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าเสด็จบรรทมอยู่
ยื่นพระหัตถ์คลำเอาพระแสงปืนเผยอพระองค์จะลุกขึ้นก็ลุกขึ้นมิได้กลับบรรทมหลับพระเนตร
จากนั้นกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ก็ถูกสำเร็จโทษ
ดังที่พระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์บรรยายไว้ว่า “พญาวิไชเยนทร์เดินไปประมาณเส้นหนึ่ง รักษาองค์เอาตะบองตีท้องหักล้มลง แล้วพญาสุรศักดิ์เข้าไปจับหม่อมปีย์ได้
เอาไปล้างเสียทั้งพญาวิไชเยนทร์” ส่วนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นได้เสด็จสวรรคตในอีก
1 เดือนต่อมา คือในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ในบริเวณพระราชวังเมืองลพบุรี
|
พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ สถานที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคต |
การที่ในรัชกาลของพระองค์มีการติดต่อกับต่างชาติมากเช่นนี้เอง
ทำให้มีเอกสารหลักฐานที่เรียบเรียงโดยชาวต่างชาติจำนวนมากที่อธิบายเรื่องราวสภาพสังคมและการเมืองของสยามไว้
ทั้งได้พรรณนาพระรูปลักษณะของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไว้ด้วย ดังที่นิโคลาส์ แชร์แวส
ชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2230 -พ.ศ. 2231 บรรยายไว้ว่า
พระองค์ทรงมีพระรูปพรรณสันทัด
พระอังสาค่อนข้างยกสูง ใบพระพักตร์ยาวพระฉวีวรรณคล้ำ ดวงพระเนตรแจ่มใสและเต็มไปด้วยประกาย
แสดงว่าทรงมีพระปรีชาญาณมาก และในพระวรกายเป็นส่วนรวมมีลักษณะท่าทีที่แสดงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่และสง่างามมาก
กอปรด้วยพระอัธยาศัยอันอ่อนโยนและเมตตาอารี ยากนักที่ผู้ใดได้ประสบพระองค์แล้ว จะเว้นความรู้สึกเคารพนับถืออย่างยิ่งและความรักอย่างสูงเสียได้
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีพระราชธิดา
1 พระองค์ คือ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ และมีพระอนุชาคือเจ้าฟ้าอภัยทศและเจ้าฟ้าน้อย
ซึ่งประทับที่อยุธยาและก็ถูกจับสำเร็จโทษที่เมืองลพบุรีใน พ.ศ. 2231 ด้วย
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญามหาราช
เนื่องจากทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เป็นอเนกประการ ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ในหนังสือไทยรบพม่าว่า
ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์
ถึงไม่มีการศึกสงครามใหญ่หลวงเหมือนอย่างครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรก็ดี เหตุสำคัญซึ่งอาจจะมีผลร้ายแรงแก่บ้านเมืองเกิดขึ้นหลายครั้งหลายคราว
ถ้าหากสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงพระปรีชาสามารถ ให้รัฐฏาภิบายนโยบายเหมือนอย่างสมเด็จพระนารายณ์แล้ว
จะปกครองบ้านเมืองไว้ได้โดยยาก ด้วยเหตุนี้ทั้งไทยและชาวต่างประเทศแต่ก่อนมา จึงยกย่องสมเด็จพระนารายณ์ว่าเป็นมหาราชพระองค์หนึ่ง
ดังนั้นจึงนับได้ว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์สำคัญยิ่งพระองค์หนึ่งของประวัติศาสตร์อยุธยา
พระราชประวัติเพิ่มเติม
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
หรือ
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชญ (พ.ศ. 2175 - พ.ศ. 2231 ครองราชย์ พ.ศ. 2199 - พ.ศ. 2231) พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 27 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าปราสาททอง
และพระนางศิริธิดา ต่อมาภายหลังถูกยกเป็นพระราชเทวี ซึ่งเป็นพระขนิษฐาต่างมารดาของพระเจ้าปราสาททอง
เสด็จพระบรมราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ เดือนยี่ ปีวอก พ.ศ.
2175 และทรงมีพระขนิษฐาร่วมพระมารดาคือ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุวรรณ
กรมหลวงโยธาทิพ หรือพระราชกัลยาณี พระนมอยู่พระองค์หนึ่ง คือ เจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นญาติห่าง
ๆ ของพระเจ้าปราสาททองเช่นกัน
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ทรงเป็นพระอนุชาในสมเด็จเจ้าฟ้าไชย และยังทรงมีพระอนุชาต่างพระมารดาอีก ได้แก่
เจ้าฟ้าอภัยทศ
เจ้าฟ้าน้อย
พระไตรภูวนาทิตยวงศ์
พระองค์ทอง
พระอินทราชา
ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเล่าว่าเมื่อแรกเสด็จพระบรมราชสมภพนั้น
พระญาติเห็นพระโอรสมีสี่กร พระราชบิดาจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ราชกุมาร" ส่วนในคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด
เล่าว่าเมื่อเพลิงไหม้พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระโอรสเสด็จไปช่วยดับเพลิง ผู้คนเห็นเป็นสี่กร
จึงพากันขนานพระนามว่า พระนารายณ์
พระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์นั้นเกี่ยวกับเรื่องปาฏิหาริย์อยู่มาก
แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพราหมณ์ เมื่อเทียบกับกษัตริย์องค์ก่อน ๆ ด้วยเหตุนี้เองพระราชประวัติของพระองค์จึงกล่าวถึงปาฏิหาริย์มหัศจรรย์ตามลำดับ
คือ
เมื่อพระนารายณ์ทรงมีพระชนม์ได้ 5 พรรษา ขณะเล่นน้ำ พระองค์ทรงถูกอสนีบาต พวกพี่เลี้ยง นางนม สลบหมดสิ้น แต่พระองค์ไม่เป็นไรแม้แต่น้อย
เมื่อพระนารายณ์ทรงมีพระชนม์ได้ 9 พรรษา พระองค์ทรงถูกอสนีบาตที่พระราชวังบางปะอิน
แต่พระองค์ก็ปลอดภัยดี
สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับการศึกษาจากพระโหราธิบดี
ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงในพระราชวัง และพระอาจารย์พรหม พระพิมลธรรม รวมทั้งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์และพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ระดับสูงในพระนคร
สมเด็จพระนารายณ์มีส่วนสำคัญในการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา
โดยพระองค์ได้ร่วมมือกับสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาในการชิงราชสมบัติจากสมเด็จเจ้าฟ้าไชย
ซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระองค์ โดยหลังจากที่พระองค์ช่วยสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติได้แล้วนั้น
สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาทรงแต่งตั้งให้พระองค์ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชและให้เสด็จไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล
หลังจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติได้ 2 เดือนเศษ พระองค์ทรงชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ
เมื่อเวลาสองนาฬิกา วันพฤหัสบดี แรม 2 ค่ำ เดือน 12 จุลศักราช 1018 ปีวอก (ตรงกับวันที่
15 ตุลาคม พ.ศ. 2199) มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่
27 แห่งกรุงศรีอยุธยา ขณะทรงมีพระชนมายุ 25 พรรษา
หลังจากประทับในกรุงศรีอยุธยาได้ 10 ปี
พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2209 และเสด็จไปประทับที่ลพบุรีทุกๆ
ปี ครั้งละเป็นเวลานานหลาย
การเสด็จสวรรคต
พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อ 11 กรกฎาคม
พ.ศ. 2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์
จังหวัดลพบุรี รวมครองราชสมบัติเป็นเวลา 32 ปี มีพระชนมายุ
56 พรรษา
พระนามเต็ม
ตามหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา
"สมเด็จพระบรมราชาธิราชธิบดีศรีสรรเพชญ บรมมหาจักรพรรดิศวรราชาธิราชราเมศวร
ธรรมธราธิบดี ศรีสฤฎิรักษสังหารจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดีดินทร หริหรินทรธาดาธิบดี
ศรีวิบุลยคุณอกนิฐ จิตรรุจีตรีภูวนาทิตย์ ฤทธิพรหมเทพาดิเทพบดินทร์ ภูมินทราธิราช รัตนากาศมนุวงศ์องค์เอกาทศรสรุทร์
วิสุทธยโศดม บรมอาชวาธยาศรัย สมุทัยตโรมนต์ อนนตคุณวิบุลยสุนทรบวรธรรมมิกราชเดโชไชย
ไตรโลกนาถบดินทร์ วรินทราธิราชชาติพิชิต ทิศพลญาณสมันตมหันตวิปผาราฤทธิวิไชย ไอศวรรยาธิบัติขัตติยวงศ์
องค์ปรมาธิบดีตรีภูวนาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธ มกุฎรัตนโมฬี ศรีปทุมสุริยวงศ์ องค์สรรเพชญ์พุทธางกูร
บรมบพิตร"
พระราชโอรส-ธิดา
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ทรงมีพระราชโอรส และธิดา ได้แก่
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ
พระราชธิดาที่ประสูติแต่พระอัครมเหสี เจ้าฟ้าสุดาวดีถือเป็นท่านแรกที่ปรากฏพระนามว่าเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าทรงกรม
และยังมีอีกหนึ่งพระองค์คู่กันกับท่านก็คือ กรมหลวงโยธาทิพ ทรงมีพระคลังสินค้า เรือกำปั่น
และเงินทุน แต่พระองค์มีเรื่องหมางพระทัยอยู่กับพระราชบิดา ด้วยเหตุที่พระบิดาทรงกว้านการค้ากับต่างประเทศไว้เสียหมด
ภายหลังพระองค์ทรงถูกบังคับให้อภิเษกกับพระเพทราชาขึ้นเป็นมเหสีฝ่ายซ้าย ทั้งที่กรมหลวงโยธาเทพเองเป็นผู้มีส่วนริเริ่มการปฏิวัติผลัดแผ่นดิน
แต่กลับกลายตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์นี้เสียเองทั้งที่ไม่เต็มพระทัยต่อพระเพทราชานัก
และให้ประสูติการพระโอรสด้วยกันหนึ่งพระองค์ คือ เจ้าฟ้าตรัสน้อย และสิ้นพระชนม์ในปี
พ.ศ. 2278 ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
หลวงสรศักดิ์ หรือ พระเจ้าเสือ พระราชโอรสลับที่ประสูติแต่พระนางกุสาวดี
ในพระราชพงศาวดาร
ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า พระองค์มีพระราชโอรสหนึ่งพระองค์พระนามว่า เจ้าฟ้าน้อย
เมื่อโสกันต์แล้วพระราชทานนามว่า เจ้าฟ้าอไภยทศ แต่ในจดหมายเหตุและคำให้การขุนหลวงหาวัดกล่าวต้องกันว่า
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชไม่มีพระราชโอรส โดยเจ้าฟ้าอไภยทศพระองค์นี้เป็นพระราชอนุชาของพระองค์
นอกจากนี้ พระองค์ยังมีพระโอรสบุญธรรม คือ พระปีย์ หรือบางแห่งเรียก พระปิยะ
พระราชกรณียกิจ
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง
ทรงสร้างความรุ่งเรือง และความยิ่งใหญ่ให้แก่กรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก โดยทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่
และหัวเมืองพม่าอีกหลายเมืองได้แก่ เมืองจิตตะกอง สิเรียม ย่างกุ้ง แปร ตองอู หงสาวดี
และมีกำลังสำคัญที่ทำให้สมเด็จพระนารายณ์นั้นสามารถยึดหัวเมืองของพม่าได้คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)
การต่างประเทศ
ความสัมพันธ์รัหว่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์รุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง
โดยมีการติดต่อทั้งด้านการค้าและการทูตกับประเทศต่าง ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน อังกฤษ
และฮอลันดา มีชาวต่างชาติเข้ามาในพระราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้รวมถึงเจ้าพระยาวิชาเยนทร์
ชาวกรีกที่รับราชการตำแหน่งสูงถึงที่ สมุหนายกขณะเดียวกันยังโปรดเกล้าฯ ให้แต่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส
ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึง 4 ครั้งด้วยกัน ผู้ที่เขียนเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา และสยามมากที่สุดในสมัยนี้ก็คือ
มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่เลื่องลือพระเกียรติยศในพระราโชบายทางคบค้าสมาคมกับชาวต่างประเทศ
รักษาเอกราชของชาติให้พ้นจากการเบียดเบียนของชาวต่างชาติและรับผลประโยชน์ทั้งทางวิทยาการและเศรษฐกิจที่ชนต่างชาตินำเข้ามา
นอกจากนี้ ยังได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงกวีและงานด้านวรรณคดีอันเป็นศิลปะที่รุ่งเรืองที่สุดในยุคนั้น
เมื่อสมเด็จพระนารายณ์เสด็จเถลิงถวัยราชสมบัติ ณ ราชอาณาจักรศรีอยูธยาแล้ว ปัญหากิจการบ้านเมืองในรัชสมัยของพระองค์เป็นไปในทางเกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่
ด้วยในขณะนั้น มีชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขาย และอยู่ในราชอาณาจักรไทยมากว่าที่เคยเป็นมาในกาลก่อน
ที่สำคัญมาก คือ ชาวยุโรปซึ่งเป็นชาติใหญ่มีกำลังทรัพย์ กำลังอาวุธ และผู้คน ตลอดจน
มีความเจริญรุ่งเรืองทางวิทยาการต่าง ๆ เหนือกว่าชาวเอเชียมาก และชาวยุโรปเหล่านี้กำลังอยู่ในสมัยขยายการค้า
ลัทธิคริสต์ศาสนา และอำนาจทางการเมืองของพวกตนมาสู่ดินแดนตะวันออก
|
มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อถวายพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งกรุงฝรั่งเศส |
ในรัชสมัยของพระองค์นั้น
ชาวฮอลันดาได้กีดกันการเดินเรือค้าขายของไทย ครั้งหนึ่งถึงกับส่งเรือรบมาปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา
ขู่จะระดมยิงไทย จนไทยต้องผ่อนผันยอมทำสัญญายกประโยชน์การค้าให้ตามที่ต้องการ แต่เพื่อป้องกันมิให้ฮอลันดาข่มเหงไทยอีก
สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงสร้างเมืองลพบุรีไว้เป็นเมืองหลวงสำรอง อยู่เหนือขึ้นไปจากกรุงศรีอยุธยา
และเตรียม สร้างป้อมปราการไว้คอยต่อต้านข้าศึก เป็นเหตุให้บาทหลวงฝรั่งเศสที่มีความรู้ทางการช่าง
และต้องการเผยแผ่คริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก ได้เข้ามาอาสาสมัครรับใช้ราชการจัดกิจการเหล่านี้
ข้าราชการฝรั่งที่ทำราชการมีความดีความชอบในการปรับปรุงขยายการค้าของไทยขณะนั้นคือ
เจ้าพระยาวิชเยนทร์ ซึ่งกำลังมีข้อขุ่นเคืองใจกับบริษัทการค้าของอังกฤษที่เคยคบหาสมาคมกันมาก่อน
เจ้าพระยาวิชเยนทร์ จึงดำเนินการเป็นคนกลาง สนับสนุนทางไมตรีระหว่างสมเด็จพระนารายณ์กับทางราชการฝรั่งเศส
ซึ่งเป็นรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งราชวงศ์บูร์บงฝ่ายสมเด็จพระนารายณ์กำลังมีพระทัยระแวงเกรงฮอลันดายกมาย่ำยี
และได้ทรงทราบถึงพระเดชานุภาพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในยุโรปมาแล้ว
จึงเต็มพระทัยเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไว้
เพื่อให้ฮอลันดาเกรงขาม ด้วยเหตุนี้ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ จึงได้มีการส่งทูตฝรั่งเศสไปสู่พระราชสำนักฝรั่งเศส
และต้อนรับคณะทูตฝรั่งเศสอย่างเป็นงานใหญ่ถึงสองคราว แต่การคบหาสมาคมกับชาติมหาอำนาจคือฝรั่งเศสในยุคนั้น
ก็มิใช่ว่าจะปลอดภัยนัก ด้วยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีพระราโชบายที่จะให้สมเด็จพระนารายณ์
และประชาชนชาวไทยรับนับถือคริสต์ศาสนา ซึ่งบาทหลวงฝรั่งเศสนำมาเผยแผ่ โดยพระเจ้าหลุยส์ที่
14 ทรงส่งพระราชสาสน์มาทูลเชิญสมเด็จพระนารายณ์เข้ารับ นับถือคริสต์ศาสนาพร้อมทั้งเตรียมบาทหลวงมาไว้คอยถวายศีลด้วย
แต่สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงใช้พระปรีชาญาณตอบปฏิเสธอย่างทะนุถนอมไมตรี ทรงขอบพระทัยพระเจ้าหลุยส์ที่มีพระทัยรักใคร่พระองค์ถึงแสดงพระปรารถนาจะให้ร่วมศาสนาด้วย
แต่เนื่องด้วยพระองค์ยังไม่เกิดศรัทธาในพระทัย ซึ่งก็อาจเป็นเพราะพระเป็นเจ้าประสงค์ที่จะให้นับถือศาสนาคนละแบบคนละวิธี
เช่นเดียวกับที่ทรงสร้างมนุษย์ให้ผิดแผกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ หรือทรงสร้างสัตว์ให้มีหลายชนิดหลายประเภทก็ได้
หากพระเป็นเจ้ามี พระประสงค์จะให้พระองค์ท่านเข้ารับนับถือศาสนาตามแบบตามลัทธิที่พระเจ้าหลุยส์ทรงนับถือแล้ว
พระองค์ก็คงเกิดศรัทธาขึ้นในพระทัย และเมื่อนั้นแหละ พระองค์ท่านก็ไม่รังเกียจที่จะทำพิธีรับศีลร่วมศาสนาเดียวกัน
นอกจากนี้พระองค์ยังทรงรับเอาวิทยาการสมัยใหม่มาใช้
เช่น กล้องดูดาว และยุทโธปกรณ์บางประการ รวมทั้งยังมีการรับเทคโนโลยีการสร้างน้ำพุ
จากชาวยุโรป และวางระบบท่อประปาภายในพระราชวังอีกด้วย
วรรณกรรม
สมเด็จพระนารายณ์มิใช่เพียงทรงพระปรีชาสามารถทางด้านการทูตเท่านั้น
หากทรงเป็นกวีและทรงอุปถัมภ์กวีในยุคของพระองค์อย่างมากมาย กวีลือนามแห่งรัชสมัยของพระองค์ก็ได้แก่
พระโหราธิบดี หรือพระมหาราชครู ผู้ประพันธ์หนังสือจินดามณี ซึ่งเป็นตำราเรียนภาษาไทยเล่มแรก
และตอนหนึ่งของเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ (อีกตอนหนึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์)
กวีอีกผู้หนึ่งคือ ศรีปราชญ์ ผู้เป็นปฏิภาณกวี เป็นบุตรของพระโหราธิบดี
งานชิ้นสำคัญของศรีปราชญ์ คือ หนังสือกำศรวลศรีปราชญ์ และอนุรุทรคำฉันท์ด้วยพระปรีชาสามารถดังได้บรรยายมาแล้ว
สมเด็จพระนารายณ์จึงได้รับการถวายพระเกียรติเป็น มหาราช พระองค์หนึ่ง ชาวสยามวาดโดยทูตชาวฝรั่งเศส
ลาลูแบร์
วรรณกรรมที่ปรากฏหลักฐานว่าแต่งขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์
เช่น
สมุทรโฆษคำฉันท์ ส่วนตอนต้นเชื่อกันว่าพระมหาราชครูเป็นผู้แต่งแต่ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน
สมเด็จพระนารายณ์จึงพระราชนิพนธ์ต่อ โดยเริ่มที่ตอน พิศพระกุฎีอาศรมสถานตระกาลกล
ไปจนถึง ตนกูตายก็จะตายผู้เดียวใครจะแลดู โอ้แก้วกับตนกู ฤเห็น
คำฉันท์กล่อมช้าง (ของเก่า) เป็นผลงานของขุนเทพกวี สันนิษฐานว่าแต่งในคราวสมโภชขึ้นระวางเจ้าพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์
เมื่อ พ.ศ. 2203 เป็นต้น
ทั้งยังส่งเสริมงานงานกวี
ทำให้มีหนังสื่อเรื่องสำคัญๆ ในรัชสมัยนี้เป็นจำนวนไม่น้อย เช่น โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ของหลวงศรีมโหสถ หนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดี (จัดเป็นตำราเรียนเล่มแรกของประเทศไทย)
และอนิรุทธคำฉันท์ เป็นต้น
งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
จัดขึ้นครั้งแรกระหว่างวันที่ 17 - 18 กุมภาพันธ์ 2524 ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เกิดขึ้นจากแนวคิดของชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี
กับนายเชาวน์วัศ สุดลาภา ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีในขณะนั้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ทรงสร้างเมืองลพบุรีให้เจริญรุ่งเรือง
อีกประการหนึ่งคือ ต้องการพัฒนาจังหวัดลพบุรีให้เป็นเมืองท่องเที่ยว การจัดงานครั้งแรกตั้งชื่องานว่า
"นารายณ์รำลึก" ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ
"งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์" ซึ่งเป็นชื่อที่นายเชาวน์วัศ
สุดลาภา เป็นผู้ซึ่งก่อตั้งชื่อของงานนี้ขึ้น
งานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของลพบุรีถูกถ่ายทอดการจัดงานโดยมีการตั้งคณะกรรมการกว่า 20 คณะ
รูปแบบของงานมีทั้งภาคกลางวันและกลางคืนมีการจำลองเหตุการณ์ในครั้งประวัติศาสตร์ มีขบวนแห่ของชาติต่างๆที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีและเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
มีการแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนและคำประพันธ์ต่างๆ มีร้านจำหน่ายและสาธิตสินค้า ตลอดจนขนมหวานในสมัยนั้น
มีการจุดประทีปโคมไฟให้เหมือนราตรีแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในอดีตมีการประกวดการแต่งกายสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
รวมทั้ง ส่งเสริมให้ชาวลพบุรีแต่งกายไทยทั้งเมืองซึ่งมีผู้ให้ความสนใจและร่วมงานทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมากมาย
ชื่อสถานที่อันเนื่องด้วยพระนามาภิไธย
ถนนนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี
พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี
วัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลาง) จังหวัดนครราชสีมา
หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
จังหวัดลพบุรี
วงเวียนสมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี
โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี
โรงพยาบาลเมืองนารายณ์ จังหวัดลพบุรี
โรงเรียนพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี
โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ค่ายนารายณ์ศึกษา
จังหวัดลพบุรี
สวนสาธารณะสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี
นารายณ์ฮิลส์กอลฟ์ จังหวัดลพบุรี
ค่ายลูกเสือพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
(สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระนามเมื่อครองราชย์ตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า
สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 และมีพระนามที่ราษฎรเรียกเมื่อล่วงรัชกาลแล้วว่า ขุนหลวงตาก
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวของกรุงธนบุรีพระราชประวัติเมื่อทรงพระเยาว์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นนิทานเชิงอภินิหาร
เพราะบันทึกไว้ในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ ซึ่งพอสรุปเฉพาะส่วนสำคัญของพระราชประวัติว่า
เสด็จพระราชสมภพใน พ.ศ. 2277 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา
บิดาชื่อไหยฮอง มารดาชื่อนางนกเอี้ยง บิดาเป็นขุนพัฒน์นายอากรบ่อนเบี้ย เจ้าพระยาจักรีสมุหนายกรับเลี้ยงในฐานะบุตรบุญธรรม
ให้ชื่อว่า สิน ครั้นเติบใหญ่ศึกษาเล่าเรียนในสำนักพระอาจารย์ทองดีมหาเถระ ณ วัดโกษาวาสน์
จากนั้นได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ได้รับยศเป็นหลวงยกกระบัตร แล้วได้เลื่อนเป็นพระยาตาก
|
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหราช ประดิษฐาน ณ วงเวียนใหญ่ กรุงเทพฯ |
พระราชประวัติช่วงนี้ได้มีผู้ศึกษาวิเคราะห์กันมาก
วันพระราชสมภพนั้นหากยึดจดหมายเหตุโหรว่าเสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมพรรษาได้ 48 พรรษา 15
วัน และหากเป็นวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จพระราชสมภพวันที่
22 มีนาคม พ.ศ. 2227 เรื่องพระชาติภูมิสรุปได้ว่าทรงเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน
บิดามาจากมณฑลกวางตุ้ง มารดาเป็นคนไทย และจากเอกสารราชวงศ์ชิงและเอกสารภาคเอกชนจีนกล่าวถึงพระนามว่า
“เจิ้งเจา” ซึ่งแปลว่า กษัตริย์แซ่เจิ้ง
(ตรงกับเสียงจีนแต้จิ๋วว่า “แต้”
) และพระนามเดิมคือ สิน
พระราชพงศาวดารได้บันทึกถึงตอนที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
สมเด็จพระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชครั้งยังทรงเป็นนายสุจินดามหาดเล็กหนีพม่าไปพึ่งเจ้าตาก
ณ เมืองจันทบุรี เจ้าตากก็รับชุบเลี้ยงไว้ตั้งเป็นพระมหามนตรี เพราะรู้จักคุ้นเคยกันแต่ก่อนกรุงศรีอยุธยายังไม่เสียแก่พม่า
และการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ก็แสดงว่าทรงได้รับการศึกษาและทรงรอบรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย
อย่างไรก็ตาม ยังมีพระราชพงศาวดารฉบับย่อย
ๆ ที่บันทึกเชื้อสายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแตกต่างกันออกไป เช่น พระราชพงศาวดารเหนือเลขที่
47 กล่าวว่า พระยานักเลงมีเชื้อสายพระเจ้ามักกะโท ทรงพระนามพระยาตาก ตั้งเมืองใหม่ที่ธนบุรี
และสมุดไทยดำฉบับหมายเลข 2/ไฆ กล่าวว่า เดิมชื่อจีนแจ้ง เป็นพ่อค้าเกวียนก่อนที่จะมีความชอบในแผ่นดินจนได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่
ณ เมืองตาก ซึ่งก็ตรงกับที่พระราชพงศาวดารฉบับความพิสดาร เช่น ฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกเรื่องหนังสือพุทธทำนายของมหาโสภิตอธิการวัดใหม่ว่า
เมื่อพระนครเสียแก่พม่าแล้ว จะมีบุรุษพ่อค้าเกวียนได้เป็นพระยาครองเมืองบางกอกได้ 10
ปี ต้องเสียเมืองแก่พม่าให้เสด็จไปอยู่เมืองลพบุรี ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ได้เสด็จไปประทับเมืองลพบุรี
7 วันพอเป็นเหตุ อาจเพราะทรงเป็นพ่อค้าเกวียนจึงทรงชำนาญภูมิประเทศ และทรงเชี่ยวชาญรับสั่งได้หลายภาษาทั้งจีนลาว
และญวน
พระราชพงศาวดารฉบับความพิสดารเริ่มบันทึกเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อ
พ.ศ. 2308 สมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ
ตั้งแต่ยังทรงเป็นพระยาตากมาช่วยราชการสงครามป้องกันพม่า ซึ่งยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา
พระยาตากมีฝีมือการรบเข้มแข็งจึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร
ระหว่างทำศึกรักษาพระนคร แม้จะพยายามบัญชาการรบและต่อสู้ข้าศึกจนสุดความสามารถ แต่ด้วยความอ่อนแอของผู้บัญชาการและการขาดการประสานงานที่ดีระหว่างแม่ทัพนายกอง
ทำให้พระยาวชิรปราการเกิดความท้อแท้ใจหลายครั้ง เมื่อเห็นว่าถึงจะอยู่ช่วยรักษากรุงก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด
พระยาวชิรปราการจึงตัดสินใจพาสมัครพรรคพวกประมาณ 500 คน พระราชพงศาวดารบางฉบับว่าประมาณ 1,000 คน
ยกออกจากค่ายวัดพิชัยตีฝ่าทัพพม่าไปทางทิศตะวันออกในเดือนยี่ พ.ศ. 2309
พระยาวชิรปราการนำพรรคพวกสู้รบชนะพม่าที่ไล่ติดตามไปตลอดทาง
จนกิตติศัพท์ความสามารถเป็นที่เลื่องลือ ทำให้มีผู้คนมาขอเข้าเป็นบริวารมากมาย ที่ไม่ยอมอ่อนน้อมก็จำต้องตีหักเอาค่ายได้
เส้นทางการเดินทัพออกจากค่ายวัดพิชัยนอกกำแพงเมืองไปบ้านข้าวเม่า บ้านสัมบัณฑิต บ้านโพสังหาร
บ้านพรานนก ผ่านเมืองนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ครั้นถึงเมืองระยอง พระยากำแพงเพชรคาดการณ์ว่าคงเสียกรุงแล้วจึงตั้งตัวเป็นเจ้าเพื่อรวบรวมผู้คนกู้แผ่นดิน
พวกบริวารจึงเรียกว่าเจ้าตากแต่นั้นมา ขณะนั้นทางกรุงศรีอยุธยายังไม่เสียแก่พม่า เจ้าตากจึงระวังตัวมิให้คนทั้งหลายเห็นว่าเป็นกบฏ
และให้เรียกคำสั่งเพียงพระประศาสน์อย่างเจ้าเมืองเอก พระระยองพาพรรคพวกออกมาต้อนรับแต่โดยดี
แต่ก็ยังมีกรมการเมืองบางส่วนคิดแข็งข้อ พระยาวชิรปราการรู้จึงวางแผนปราบผู้คิดร้ายแตกพ่ายไป
และเข้ายึดเมืองระยองเป็นสิทธิ์ขาด
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในวันที่
7 เมษายน พ.ศ. 2310 ผู้มีอำนาจบางคนคิดตั้งตัวเป็นใหญ่
พระยาจันทบุรีซึ่งเดิมเคยสัญญาว่าจะเป็นไมตรีกับเจ้าตากก็ไม่ทำตามสัญญา เจ้าตากจึงยกทัพไปปราบ
เข้ายึดได้จันทบุรีและตราดตามลำดับ หลังจากยึดเมืองตราดได้แล้ว เจ้าตากก็ยกทัพกลับมาตั้งมั่นที่จันทบุรีและใช้เป็นที่จัดเตรียมกำลังพล
เสบียงอาหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งต่อเรือได้ 100 ลำ
หลังจากสิ้นฤดูมรสุมเจ้าตากก็ยกทัพออกจากจันทบุรีเข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยาในเดือน
12 ปีเดียวกัน เมื่อยึดเมืองธนบุรีได้แล้วจึงบุกเข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้นที่พระนครศรีอยุธยา
และสามารถยึดค่ายโพธิ์สามต้นได้ใน 2 วัน ขับไล่พม่าออกไปจากพระนครศรีอยุธยา รวมเวลาที่ไทยสูญเสียเอกราชแก่พม่าคราวนั้นเพียง
7 เดือน เจ้าตากได้จัดการบ้านเมืองให้อยู่ในสภาพปกติ จัดหาที่ประทับให้แก่บรรดาเจ้านายที่ถูกพม่าคุมตัวไว้แต่ยังไม่ทันส่งไปพม่า
จัดการปลดปล่อยผู้คนที่ถูกกักขัง พร้อมทั้งแจกจ่ายทรัพย์สินเครื่องอุปโภคบริโภคโดยถ้วนหน้า
แล้วให้จัดการพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศพอสมพระเกียรติเท่าที่จะทำได้ในขณะนั้น จากนั้นก็อพยพผู้คนมาตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองธนบุรี
ซึ่งในเวลานั้นนับว่ามีชัยภูมิเหมาะสมกว่ากรุงศรีอยุธยา เมื่อย้ายมาประทับที่กรุงธนบุรีแล้ว
เจ้าตากทำพิธีปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าเมื่อใด ทางราชการจึงกำหนดเอาวันแรกสุดที่เสด็จออกขุนนาง
ตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุโหรเป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษก คือวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2311
ภายหลังปราบดาภิเษกแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงดำเนินการสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงทันที
โดยนอกจากจะทรงทำสงครามขับไล่พม่ากว่า 10 ครั้งแล้ว ยังทรงปราบปรามบรรดาคนไทยที่แยกตัวไปตั้งเป็นชุมนุมต่าง
ๆ มีชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ชุมนุมเจ้าพระฝาง
(เรือน) ชุมนุมเจ้าพระยานครศรีธรรมราช
(หนู) และชุมนุมเจ้าพิมาย หรือกรมหมื่นเทพพิพิธพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
กระทั่งถึง พ.ศ. 2313 จึงสามารถมีชัยเหนือชุมนุมต่าง
ๆ ได้ทั้งหมด ส่งผลให้ชาติไทยกลับมารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้ง หลังศึกอะแซหวุ่นกี้ใน
พ.ศ. 2318 แล้ว
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงดำเนินการขยายพระราชอาณาเขตของกรุงธนบุรีออกไปอีกจนกว้างใหญ่ไพศาล
ทิศเหนือได้ถึงเมืองเชียงใหม่ ทิศใต้ตลอดหัวเมืองตานี (ปัตตานี) ทิศตะวันออกตลอดกัมพูชา จำปาศักดิ์จดญวนใต้
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือตลอดเวียงจันทน์ หัวเมืองพวน และนครหลวงพระบาง ทิศตะวันตกจดเมืองมะริดและตะนาวศรี
ออกมหาสมุทรอินเดีย
ส่วนการฟื้นฟูประเทศนั้น แม้ว่าตลอดรัชสมัยจะเต็มไปด้วยการศึกสงคราม
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังเอาพระทัยใส่ดูแลโดยใกล้ชิด ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองทั้งในด้านการเมือง
การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม เช่น โปรดให้ชำระกฎหมาย โปรดให้พิจารณาตัดสินคดีความต่าง
ๆ ตามปกติ ไม่ให้คั่งค้างแม้ในยามสงคราม โปรดให้ส่งสำเภาหลวงไปค้าขายถึงเมืองจีนตลอดถึงอินเดียตอนใต้
โปรดให้ขุดคูคลองเพื่อประโยชน์ด้านการค้าขายและด้านยุทธศาสตร์ไปพร้อมกัน โปรดให้ขยายพื้นที่ให้ทหารควบคุมไพร่พลทำนา
นอกจากนี้ ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์บางตอน ทั้งยังโปรดให้การอุปถัมภ์เหล่ากวี
ให้รวบรวมบรรดาช่างฝีมือและให้ฝึกสอนทุกแผนกเท่าที่มีครูสอน โปรดให้บำรุงการศึกษาตามวัดวาอารามต่าง
ๆ ให้ตั้งหอหนังสือหลวงรวบรวมตำราต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายเมื่อคราวเสียกรุง โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามใหม่
และให้คัดลอกพระไตรปิฎกที่ยังหลงเหลือจากเมืองนครศรีธรรมราชสร้างเป็นฉบับหลวง และโปรดให้เขียนสมุดภาพไตรภูมิในสำนักสมเด็จพระสังฆราช
เป็นต้น การฟื้นฟูบ้านเมืองเกือบทุกด้านนี้ได้รับการสืบสานสร้างเสริมจนสำเร็จสมบูรณ์ในรัชกาลที่
1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ครั้นล่วงถึงปลายรัชกาล สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชใฝ่พระราชหฤทัยในทางศาสนาทำให้สำคัญพระองค์ว่าบรรลุโสดาบัน
เกิดความวุ่นวายทั้งแผ่นดิน ผู้คนถูกลงโทษโดยปราศจากความผิดมีเพิ่มขึ้นทุกวัน ชาวกรุงเก่าบางพวกจึงรวมตัวกันก่อการกบฏ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้พระยาสรรค์ (สรรคบุรี)
ขึ้นไปปราบกบฏ แต่พระยาสรรค์กลับเข้ากับพวกกบฏยกทัพมาตีกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรับผิดและยอมเสด็จออกผนวช
ณ วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) ในระหว่างนั้นกรุงธนบุรีเกิดความวุ่นวายฆ่าฟันกันไม่เว้นแต่ละวัน
เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกรมขุนอนุรักษ์สงคราม (พระเจ้าหลานเธอในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
เป็นฝ่ายพระยาสรรค์ กับพระยาสุริยอภัย (สมเด็จพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)
ซึ่งนำทัพเมืองนครราชสีมามาปราบกบฏ พระยาสุริยอภัยเป็นฝ่ายมีชัยในที่สุด
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งกำลังยกทัพไปตีเขมรทราบข่าวการจลาจลจากพระยาสุริยอภัย
ก็เลิกทัพกลับถึงกรุงธนบุรี หลังจากไต่สวนจนทราบเหตุการณ์ทั้งปวงแล้ว ให้บรรดาข้าราชการพิจารณาปรึกษาโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
และสำเร็จโทษเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่แก่ปวงชนชาวไทย
ทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และให้มีรัฐพิธีถวายสักการะ
ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่ กรุงเทพฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2497 สืบมาทุกปี และเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2524 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เทิดพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่า ด้วงหรือทองด้วง
เสด็จพระราชสมภพที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นพระโอรสในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกซึ่งมีพระนามเดิมว่า
ทองดี สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รับราชการในกรมอาลักษณ์เป็นพระอักษรสุนทร พระราชชนนีมีพระนามว่า
หยก หรือดาวเรือง เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษาได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรขณะดำรงพระยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ
เมื่อทรงอุปสมบทและลาพระผนวชแล้วกลับเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวง เมื่อมีพระชนมพรรษา
25 พรรษา สมเด็จพระเจ้าเอกทัศทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี
และได้สมรสกับธิดาตระกูลคหปตนีที่ตำบลอัมพวา แขวงเมืองสมุทรสาคร ชื่อนาก (สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี)
|
พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประดิษฐาน ณ มุขกระสันตะวันออก พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท |
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเข้ารับราชการในกรุงธนบุรีเป็นพระราชวรินทร์
เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา ทรงเป็นกำลังสำคัญของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คู่กับสมเด็จพระอนุชาธิราช (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) ทำศึกสงครามกู้บ้านเมืองหลายครั้งและได้เลื่อนบรรดาศักดิ์โดยลำดับ
ดังนี้
พ.ศ. 2311 โดยเสด็จปราบชุมนุมเจ้าพิมาย ได้เลื่อนเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์
จางวางกรมพระตำรวจ พ.ศ. 2312 ทรงเป็นแม่ทัพไปตีเขมรได้เมืองพระตะบองและเสียมราฐ
พ.ศ. 2313 ได้เลื่อนเป็นพระยายมราชว่าที่สมุหนายก
พ.ศ. 2314 เลื่อนเป็นเจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ทัพไปตีเขมร
พ.ศ. 2317 ทรงเป็นแม่ทัพหน้าไปตีเชียงใหม่
และลงมาช่วยรบกับพม่าที่เมืองราชบุรีจนชนะ พ.ศ. 2318 ทรงเป็นแม่ทัพรบต้านทัพพม่าที่เมืองพิษณุโลกเป็นสามารถ จนอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่าขอดูตัวและกล่าวสรรเสริญ
ดังบันทึกในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า “รูปก็งามฝีมือก็เข้มแข็ง
สู้รบเราผู้เป็นผู้เฒ่าได้ จงอุตสาห์รักษาตัวไว้ ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์เป็นแท้” สงครามครั้งนั้น เมืองพิษณุโลกถูกล้อมจนขาดเสบียงอาหาร จำต้องทิ้งเมือง ตีหักไปตั้งมั่นที่เมือง
เพชรบูรณ์ แต่พอดีอะแซหวุ่นกี้ถูกเรียกตัวกลับ
พ.ศ. 2319 ทรงเป็นแม่ทัพไปตีหัวเมืองตะวันออกได้เมืองจำปาศักดิ์
เมืองโขง เมืองอัตปือ และเกลี้ยกล่อมได้เมืองตะลุง เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ และเมืองขุขันธ์
ถึง พ.ศ. 2320 จึงทรงได้รับพระมหากรุณาปูนบำเหน็จเป็น
เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พ.ศ. 2321 ทรงเป็นแม่ทัพไปตีเวียงจันทน์
หลวงพระบาง และอัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระบางลงมายังกรุงธนบุรี และใน พ.ศ. 2323 ทรงเป็นแม่ทัพไปปราบจลาจลเมืองเขมร แต่เมื่อทรงทราบข่าวจลาจลในกรุงธนบุรี
จึงยกทัพกลับมากรุงธนบุรี เสด็จกลับถึงกรุงธนบุรีเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ประทับบนศาลาลูกขุนมหาดไทย ตัดสินสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
แล้วเหล่าขุนนางและราษฎรทั้งหลายพร้อมกันกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชสมบัติ
วันนี้ถือเป็นวันสถาปนามหาจักรีบรมราชวงศ์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงรับอัญเชิญเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว
โปรดให้ย้ายพระนครมาทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเยื้องกับกรุงธนบุรีพระนครเดิม
ด้วยมีพระราชดำริว่าฝั่งตะวันออกมีชัยภูมิดีกว่า และสามารถป้องกันข้าศึกได้ดีกว่า โปรดให้ตั้งพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันที่
21 เมษายน พ.ศ. 2325 และให้ก่อสร้างพระราชวังล้อมด้วยไม้ระเนียดไว้ก่อน
พอให้ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขปเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2325 จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง
พระราชวังบวรสถานมงคล และพระนครอย่างถาวรต่อไป
เมื่อก่อสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วเสร็จใน
พ.ศ. 2327 จึงอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
(พระแก้วมรกต) จากพระราชวังเดิมกรุงธนบุรี มาประดิษฐานในพระอุโบสถ
และเมื่อสร้างพระนครแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2328
โปรดให้กระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี และให้มีการสมโภชพระนครต่อเนื่องกัน
พระราชทานนามพระนครว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา
มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลงสร้อย “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์”
ในเวลาเดียวกับการสร้างพระนครซึ่งล้อมด้วยกำแพง
ป้อม และคูเมืองนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงให้ตระเตรียมเสบียงอาหาร
อาวุธทั้งซื้อและหล่อเอง และต่อเรือรบไว้ต่อสู้ข้าศึกที่สำคัญคือพม่า และใน พ.ศ. 2328 พม่าก็ยกกองทัพมาถึง 9 ทัพ ด้วยกำลังพลมากกว่าไทยถึงเท่าตัว
แต่กลับมีข้อเสียเพราะไม่สามารถเข้าถึงกรุงพร้อมกัน ขณะที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงกำหนดยุทธศาสตร์โดยให้ออกไปสกัดทัพพม่าไม่ให้ถึงเมืองหลวงให้ต่อสู้ทัพสำคัญก่อน
ทัพใดเสร็จศึกก็ให้หนุนไปช่วยด้านอื่น ทำให้ตีทัพพม่าแตกพ่ายไปทุกทัพ
ครั้น พ.ศ. 2329 พระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่ายกทัพมารบแก้ตัว เปลี่ยนยุทธวิธีการรบโดยเตรียมยุ้งฉางมาพร้อม
ตั้งค่ายใหญ่ที่ท่าดินแดงและสามสบ เมืองกาญจนบุรี ตั้งค่ายชักปีกกาถึงกัน ขุดสนามเพลาะปักขวากหนาแน่น
และทำสะพานเชื่อมถึงกัน แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเป็นแม่ทัพทรงตีค่ายท่าดินแดง
และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงตีค่ายสามสบ ระดมกำลังเพียง
3 วัน พม่าก็แตกพ่ายไปสิ้น
ในปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงเสด็จนำทัพไปตีเมืองทวายของพม่าเป็นการตอบแทน
แต่ไม่อาจตีหักได้สำเร็จ เพราะเส้นทางทุรกันดารและขัดสนเสบียงอาหาร อย่างไรก็ตามใน
พ.ศ. 2334 ทวาย ตะนาวศรี และมะริดได้ขอสวามิภักดิ์ต่อไทย
แต่พอพม่ายกลงมาทั้ง 3 เมืองเกรงกลัวจึงกลับไปขึ้นกับพม่าอีกใน พ.ศ. 2336
พม่ายังพยายามจะชิงหัวเมืองทางเหนือหรือดินแดนล้านนาตั้งแต่
พ.ศ. 2330 จนถึง พ.ศ. 2348 กองทัพไทยและล้านนาได้ร่วมกันต่อสู้จนขับไล่พม่าออกไปจากล้านนา
และยังได้เชียงตุง แสนหวี เมืองลื้อ สิบสองปันนาไว้ในราชอาณาจักรไทยด้วย
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยังได้ทรงขยายพระราชอาณาเขต
โดยการทำสงครามและโดยการอุปถัมภ์ค้ำจุนประเทศอื่น ๆ รอบพระราชอาณาจักร ดังนี้
ลาว เป็นประเทศราชของไทยแล้วในสมัยกรุงธนบุรี
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงแต่งตั้งกษัตริย์ลาวที่ทรงไว้วางพระทัยให้ปกครองเวียงจันทน์
ทั้งเมื่อกษัตริย์หลวงพระบางคิดจะเอาใจออกห่างไปพึ่งพม่า เจ้าอนุแห่งเวียงจันทน์ยังช่วยไปตีหลวงพระบาง
จับกษัตริย์หลวงพระบางส่งมากรุงเทพมหานคร
เขมร เป็นประเทศราชของไทยเช่นกัน
ภายในประเทศเกิดจลาจล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้พระยายมราช (แบน) ไประงับเหตุ รักษาราชการในเมืองเขมร และพานักองเองเข้ามากรุงเทพมหานคร
ทรงชุบเลี้ยงคู่กับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ถึง 12 ปี จึงทรงแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีออกไปครองกรุงกัมพูชา
และเมื่อสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีพิราลัย ก็โปรดให้สมเด็จฟ้าทะละหะเป็นผู้สำเร็จราชการ
จนนักองจันท์ พระราชโอรสสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีเจริญวัย จึงทรงแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระอุทัยราชาครองกรุงกัมพูชา
ญวน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเกื้อหนุนองเชียงสือที่หนีภัยกบฏไกเซินมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารจนกู้ชาติบ้านเมืองได้
ถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองเป็นราชบรรณาการเมื่อตั้งตนเป็นจักรพรรดิ ทรงพระนามพระเจ้าเวียดนามยาลองจึงเลิกถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทอง
แต่มีพระราชสาส์นและถวายสิ่งของมีค่าด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้เชิญพระราชสาส์นพร้อมเครื่องสำหรับกษัตริย์ไปพระราชทาน
มลายู ตั้งแต่ศึกสงคราม 9 ทัพ
เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงขับไล่พม่าออกไปจากภาคใต้แล้ว ได้เสด็จลงไปปราบหัวเมืองใต้ได้เมืองตานี (ปัตตานี) แล้ว ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานูก็ยอมอ่อนน้อม
โปรดให้เมืองสงขลาและเมืองนครศรีธรรมราชควบคุมดูแล
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยังทรงรักษาสัมพันธไมตรีกับจีนราชวงศ์ชิงสืบต่อจากสมัยกรุงธนบุรี
เพราะได้ประโยชน์จากการค้าสำเภา รวมทั้งเปิดรับชาวตะวันตกที่เข้ามาค้าขาย มีโปรตุเกสและอังกฤษ
เป็นต้น
พระราชกรณียกิจด้านทะนุบำรุงบ้านเมือง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต้องทรงดำเนินการไปพร้อมกับการสงคราม เพราะเป็นเรื่องของการฟื้นฟูประเทศ
ด้วยมีพระราชประสงค์ “สร้างให้เหมือนสมัยบ้านเมืองดี” ซึ่งมีผลด้านจิตวิทยาทำให้อาณาประชาราษฎร์มีขวัญและกำลังใจและยังมีผลทำให้ประเทศข้างเคียงเกรงขามเมื่อเห็นว่าบ้านเมืองไทยบริบูรณ์รุ่งเรืองดุจเดิม
การจัดระเบียบการปกครอง ทรงยึดแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา
มีอัครมหาเสนาบดีสมุหพระกลาโหมดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ สมุหนายกดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือ กรมท่าดูแลหัวเมืองฝ่ายตะวันตก
จัดการปกครองแบบจตุสดมภ์ คือ เวียง วัง คลัง นา หัวเมืองแบ่งเป็นหัวเมืองชั้นเอก ชั้นโท
ชั้นตรี ชั้นจัตวา และหัวเมืองประเทศราช
ด้านกฎหมายบ้านเมือง โปรดให้ชำระพระราชกำหนดกฎหมายให้ถูกต้อง
แล้วให้อาลักษณ์ชุบเส้นหมึกไว้ ประทับตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และบัวแก้ว ซึ่งเป็นตราของสมุหนายก
สมุหพระกลาโหม และพระคลัง แสดงว่าใช้บังคับทั่วราชอาณาจักร กฎหมายนี้เรียกกันว่ากฎหมายตราสามดวง
ด้านศาสนา ใน พ.ศ. 2331 โปรดให้สังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดนิพพานารามซึ่งได้พระราชทานนามใหม่ว่า
วัดพระศรีสรรเพ็ชญดาราม ปัจจุบันคือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ นับเป็นการสังคายนาลำดับที่
9 ของโลก และยังโปรดให้ตรากฎพระสงฆ์ควบคุมสมณปฏิบัติและข้อพึงปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนอีกหลายฉบับ
รวมทั้งพระราชกำหนดกวดขันศีลธรรมข้าราชการและพลเมือง
ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปวัฒนธรรม
โปรดให้รื้อฟื้นและทรงอุปภัมภ์ทุกแขนง โปรดให้สร้างปราสาทพระราชวัง วัดวาอาราม เช่น
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสระเกศ และวัดสุทัศนเทพวราราม
โปรดให้รื้อฟื้นพระราชพิธีสำคัญ ๆ ครั้งกรุงศรีอยุธยามาจัดทำอย่างถูกต้องตามแบบแผนราชประเพณี
ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้มีประกาศ มีการจดจารบันทึกไว้เป็นแบบแผนสืบมา ตั้งแต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีสมโภชพระนคร พระราชพิธีพืชมงคล พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พิธีทรงผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
พระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีสมโภชพระเศวตกุญชร การออกพระเมรุและพระราชพิธีถวายพระเพลิงหรือพระราชทาน
เพลิงที่ท้องสนามหลวง โปรดให้รวบรวมพระราชพงศาวดารและเอกสารสำคัญของบ้านเมืองที่กระจัดกระจายมาชำระเรียบเรียงขึ้นใหม่
ทรงส่งเสริมนักปราชญ์ราชกวี สร้างงานวรรณกรรมสำคัญโดยทรงเป็นผู้นำทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ฉบับยาวครบสมบูรณ์และเพลงยาวรบพม่าที่ท่าดินแดง
เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่
7 กันยายน พ.ศ. 2352 พระชนมพรรษา 72 พรรษา ทรงดำรงสิริราชสมบัติ
28 ปี
พระนาม “พระพุทธยอดฟ้า” เป็นพระนามจากการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 3 ถวายพระนามพระพุทธรูปทรงเครื่อง 2 พระองค์หน้าฐานชุกชีพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
ซึ่งทรงสร้างเพื่อเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 โดยถวายพระนามว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย
แล้วโปรดให้เรียกพระนามแผ่นดินที่เรียกกันว่าแผ่นดินต้นเป็นแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้า และแผ่นดินกลางเป็นแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย
(พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนเป็นพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)
ส่วนพระราชสมัญญานาม “มหาราช” นั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 ให้ถวายพระราชสมัญญานามเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
และให้เปลี่ยนชื่อวันจักรี วันที่ 6 เมษายน เป็นวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 ในพระบรมมหาราชวัง มีพระนามเดิมว่าสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
บดินทรเทพยมหามกุฏ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร มีพระราชขนิษฐาและพระราชอนุชาร่วมสมเด็จพระบรมราชชนกชนนีอีก
3 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี
(สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์) และสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ (จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข
เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช)
|
พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐาน ณ มุขกระสันตะวันออก พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท |
เมื่อทรงพระเยาว์ทรงได้รับการศึกษาทั้งด้านวิชาการและโบราณราชประเพณีตามธรรมเนียมเจ้าฟ้าพระราชกุมาร
และมีครูสตรีชาวอังกฤษมาถวายพระอักษรภาษาอังกฤษเพิ่มเติมด้วย ทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศเมื่อ
พ.ศ. 2404 แล้วเลื่อนเป็นกรมขุนพินิตประชานาถเมื่อ
พ.ศ. 2410 ตามลำดับ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่
1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นพระชนมพรรษาเพียง 15
พรรษา ทรงได้รับราชสมบัติตามคำกราบบังคมทูลอัญเชิญของเจ้านายและเสนาบดีผู้ใหญ่ที่ประชุมปรึกษาเห็นพร้อมกัน
และมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 แต่โดยที่ยังทรงพระเยาว์ ในระยะเวลาห้าปีแรกในรัชกาล
เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค ต่อมาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์)
จึงรับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ส่วนการในพระราชสำนักนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงรับกำกับดูแล ตราบจนกระทั่งพระชนมพรรษาถึงเกณฑ์ที่จะทรงผนวช
ก็ได้ทรงผนวช ณ พระพุทธรัตนสถานในพระบรมมหาราชวังชั่วระยะเวลาสั้น ๆ มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัธยาจารย์ เมื่อทรงลาสิกขาแล้ว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่
2 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม
พ.ศ. 2416 และทรงรับราชภาระบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองสืบมา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ในสิริราชสมบัติยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ในอดีตกาล
ได้ทรงประกอบพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เมื่อ พ.ศ. 2451 ในมงคลสมัยเมื่อทรงครองสิริราชสมบัติได้ 40 ปี เสมอด้วยสมเด็จพระรามาธิบดีที่
2 แห่งกรุงศรีอยุธยา อันเป็นรัชสมัยที่ยืนยาวที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมาในพระราชพงศาวดาร
ตลอดเวลาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2411 -พ.ศ. 2453) ประเทศสยามอยู่ในช่วงเวลาที่อาจเรียกได้ว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างยุคเก่าและยุคใหม่
ภัยจากการล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจทางตะวันตกปรากฏชัดเจน โดยเฉพาะอังกฤษได้เข้าครอบครองอินเดีย
พม่า และมลายูจนหมดสิ้น ในขณะเดียวกันกับที่ฝรั่งเศสก็เข้ามายึดครองดินแดนในอินโดจีน
ทั้งญวน ลาว และเขมร ตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว เหตุกระทบกระทั่งชายแดนระหว่างไทยกับชาติมหาอำนาจทั้งสองจึงมีอยู่เสมอ
การภายในประเทศนั้นก็เป็นเวลาที่ทรงพระราชดำริปฏิรูปบ้านเมืองในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก
และเกิดประโยชน์ยั่งยืนแก่ประเทศและประชาชนโดยส่วนรวม กิจการทุกด้านที่ได้ทรงวางรากฐานไว้ดีแล้วในรัชกาล
ได้เป็นคุณานุคุณแก่การพัฒนาประเทศในเวลาต่อมาอย่างแจ้งชัด
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ
เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๓ เมื่อครองราชย์ได้เพียง
2 ปี ได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา ต่อจากนั้นไม่นานก็ได้เสด็จเยือนประเทศอินเดียและพม่า
ทรงได้พบเห็นและเป็นโอกาสที่ทรงได้ศึกษาแบบแผนวิธีการปกครอง ตลอดถึงวิทยาการต่าง ๆ
ของชาติตะวันตกด้วยพระองค์เอง การเสด็จฯ ต่างประเทศครั้งสำคัญที่สุดในรัชกาลคือ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง
ๆ ในทวีปยุโรป 2 คราว ใน พ.ศ. 2440
และ พ.ศ. 2450 ซึ่งเป็นการแผ่พระเกียรติยศและเผยเกียรติภูมิของไทยในหมู่ชาติอารยะ
และเป็นปัจจัยเกื้อกูลประการหนึ่งที่ทำให้ชาติต่าง ๆ เกิดความคุ้นเคย ยอมรับ และเคารพอธิปไตยของสยามประเทศ
ส่วนภายในประเทศนั้น ได้ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จเยี่ยมเยียนท้องถิ่นต่าง
ๆ เพื่อทอดพระเนตรและสดับตรับฟังทุกข์สุขของพสกนิกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามหัวเมืองที่ราษฎรมิเคยมีโอกาสได้เฝ้ารับเสด็จพระมหากษัตริย์มาแต่ก่อน
เช่น ทางเหนือนั้นได้เสด็จขึ้นไปจนถึงเมืองกำแพงเพชร ทางใต้เสด็จหัวเมืองทั้งฝั่งด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามันจนตลอด
เป็นต้น บางคราวเสด็จประพาสโดยไม่เปิดเผยพระองค์ หากแต่เสด็จเป็นการลำลองดังที่เรียกว่า “เสด็จประพาสต้น” เพื่อเป็นช่องทางให้ทรงได้ใกล้ชิดและทราบความเป็นจริงในพระราชอาณาจักรด้วยพระองค์เอง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงรู้จักเมืองไทยและคนไทยอย่างดียิ่งจากประสบการณ์ตรงที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังท้องถิ่นต่าง
ๆ
|
ภาพวาดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลิกทาส ณ โดมพระที่นั่งอนันตสมาคม |
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีมากมายเป็นอเนกประการ
แต่ที่อยู่ในความทรงจำของอาณาประชาราษฎร์ ได้แก่ พระราชกรณียกิจที่ทรงเลิกทาส อันเป็นประเพณีบ้านเมืองมาช้านานแต่ไม่สมแก่สมัย
เพราะเป็นการกดคนลงใช้แรงงานโดยปราศจากอิสรเสรี ด้วยพระปรีชาญาณยิ่งยวด ทรงเลิกทาสโดยใช้วิธีผ่อนปรนไปเป็นระยะ
พอมีเวลาให้ทั้งผู้เป็นนายทาสและตัวทาสเองได้ปรับตัว ปรับใจ พร้อมกันนั้นก็ทรงเลิกระบบไพร่อันเป็นระบบเกณฑ์แรงงานชายวัยฉกรรจ์จากสามัญชนมาช่วยราชการอันมีมาเก่าก่อน
และเป็นอุปสรรคในการทำมาหาเลี้ยงชีพโดยเสรีของราษฎรทั้งหลายเสียด้วยเช่นกัน เมื่อทรงเลิกทั้งระบบทาสและระบบไพร่เช่นนี้เพื่อพัฒนาคนทุกหมู่เหล่าให้มีความรู้เป็นกำลังของบ้านเมืองอย่างแท้จริง
ได้ทรงพระราชดำริเริ่มจัดการศึกษาในทุกระดับ จากเดิมที่ศึกษากันแต่เฉพาะในครอบครัวหรือตามวัดวาอารามในแบบธรรมเนียมเก่า
ทรงตั้งโรงเรียนของหลวงขึ้น เพื่อให้การศึกษาแก่คนทุกชั้น ตั้งแต่เจ้านายในราชตระกูลเป็นต้นไปจนถึงราษฎรสามัญ
ในตอนกลางและตอนปลายรัชกาล การศึกษาเจริญก้าวหน้ามากขึ้น จนถึงมีโรงเรียนวิชาชีพชั้นสูงหลายแห่งเกิดขึ้น
เช่น โรงเรียนนายร้อย โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนแพทยาลัย และโรงเรียนยันตรศึกษา
เป็นต้น รวมทั้งโรงเรียนมหาดเล็กที่ทรงตั้งขึ้นฝึกหัดคนเข้ารับราชการก็ดำเนินงานก้าวหน้าสมพระราชประสงค์
และเป็นรากฐานสำหรับการอุดมศึกษาของประเทศในเวลาต่อมา
พระราชกรณียกิจข้อสำคัญอีกประการหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
คือ
การปฏิรูประบบการเงินการคลังของประเทศและการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน
ด้านการเงินการคลังนั้น ทรงตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2416 เพื่อจัดระบบรายรับของประเทศให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้นกว่าแต่ก่อน
ทดแทนวิธีการที่ใช้เจ้าภาษีนายอากรเป็นเครื่องมือ และมีหนทางรั่วไหลมาก ทำให้ราชการแผ่นดินมีรายรับเพิ่มพูนขึ้นเป็นอันมาก
พอใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ ส่วนการบริหารราชการแผ่นดินนั้น จากระบบเดิมที่เริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถครั้งกรุงศรีอยุธยา
มีอัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง คือ สมุหนายกและสมุหกลาโหม มีเสนาบดีจตุสดมภ์สี่
คือเวียง วัง คลัง และนา ภายหลังมีการแก้ไขเพิ่มเติมปรับเปลี่ยนมาบ้างตามลำดับเวลา
แต่ก็เป็นการยุ่งยากทับซ้อน และมีความไม่ชัดเจนในเรื่องอำนาจหน้าที่ราชการอยู่เป็นอันมาก
ประกอบกับราชการบ้านเมืองผันแปรไปตามยุคสมัย จึงทรงพระราชดำริแก้ไขระบบบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่เมื่อ
พ.ศ. 2435 โดยทรงยกเลิกระบบเสนาบดีแบบเดิมเสีย
แล้วทรงแบ่งราชการเป็นกระทรวงจำนวน 12 กระทรวง ทรงแบ่งปันหน้าที่ให้ชัดเจน
และเหมาะกับความเป็นไปของบ้านเมืองในรัชสมัยของพระองค์ พระราชกรณียกิจในส่วนนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า
การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากแบบเดิม
เปนตั้งกระทรวง 12 กระทรวงนี้ ต้องนับว่าเปนการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง
ซึ่งเรียกได้อย่างพูดกันตามธรรมดาว่า “พลิกแผ่นดิน” ถ้าจะใช้คำอังกฤษก็ต้องเรียกว่า “Revolution” ไม่ใช่
“Evolution” พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเล็งเห็นการภายหน้าอย่างชัดเจน
และทรงทราบการที่ล่วงไปแล้วเปนอย่างดี ได้ทรงพระราชดำริห์ตริตรองโดยรอบคอบ ได้ทรงเลือกประเพณีการปกครองทั้งของไทยเราและของต่างประเทศประกอบกัน
ด้วยพระปรีชาญาณอันยิ่งยวดได้ทรงจัดการเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองเปนลำดับมาล้วนเหมาะกับเหตุการณ์และเหมาะกับเวลาไม่ช้าเกินไป
ไม่เร็วเกินไป
พระราชกรณียกิจข้อสำคัญที่สุดของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
คือการที่ทรงรักษาอิสรภาพของชาติไว้ได้รอดปลอดภัย ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบทุกทิศต้องตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
แต่ชาติไทยสามารถดำรงอิสราธิปไตยอยู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ บางคราวเช่นเมื่อ พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) ฝรั่งเศสมีเหตุกระทบกระทั่งกับไทยอย่างรุนแรง ถึงกับฝรั่งเศสส่งกองเรือมาปิดปากอ่าวสยาม
แต่ด้วยพระปรีชาสามารถด้านวิเทโศบาย และทรงพระขันติธรรมอดทนอย่างยอดยิ่ง ทรงยอมสละประโยชน์ส่วนน้อยแม้จนถึงดินแดนในพระราชอาณาเขตบางส่วน
เช่น ดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ดินแดนส่วนที่เรียกว่าเขมรตอนใน ประกอบด้วยเมืองพระตะบอง
เมืองเสียมราฐ และเมืองศรีโสภณ และดินแดนตอนใต้ของประเทศ ประกอบด้วยเมืองไทรบุรี เมืองกลันตัน
และเมืองตรังกานู เป็นต้น แลกกับประโยชน์ส่วนใหญ่คือความเป็นเอกราชของชาติ กรุงสยามจึงรักษาความเป็นไทยมาได้โดยสวัสดี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชกรณียกิจอีกมากมายเกินจะพรรณนาทรงพระราชนิพนธ์หนังสือมากเรื่องหลายประเภท
เช่น พระราชพิธีสิบสองเดือน ไกลบ้าน และเงาะป่า เป็นต้น ทรงริเริ่มกิจการสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะหลายชนิด
ไม่ว่าจะเป็นกิจการประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ไปรษณีย์โทรเลข หรือกิจการรถไฟก็ตาม ทรงทำนุบำรุงพระศาสนา
ทรงสร้างพระอารามหลายแห่ง เช่น วัดเทพศิรินทราวาส วัดราชบพิธ และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
เป็นต้น ทรงปรับปรุงระบบกฎหมายและระบบศาลยุติธรรมของประเทศ ทรงตั้งศิริราชพยาบาล ทรงพัฒนากองทัพ
ทั้งทัพบกและทัพเรือให้ทันสมัย ทรงปรับปรุงกิจการตำรวจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน
ทรงสร้างและปรับปรุงถนนหนทางการคมนาคมทั้งทางบกทางน้ำ ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่าในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมืองไทยเจริญขึ้นอย่างผิดหูผิดตา และเป็นความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทันแก่ความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างพอเหมาะพอดี
ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น
ในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก อาณาประชาราษฎร์ได้พร้อมใจกันเรี่ยไรสร้างพระบรมรูปโดยสั่งจากโรงหล่อที่กรุงปารีส
ประเทศฝรั่งเศส น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นของเฉลิมพระขวัญ ประดิษฐานพระบรมรูปที่ลานพระราชวังดุสิตดังที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “พระบรมรูปทรงม้า” ที่ฐานพระบรมรูปมีคำจารึกซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ในนามของพสกนิกรทั้งปวง เฉลิมพระสมัญญาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า
“พระปิยมหาราช” อันแปลความว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของมหาชน” และตรงกับใจของไพร่ฟ้าในแผ่นดินทั้งปวง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ด้วย
พระองค์เอง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระอัครมเหสี
พระบรมราชเทวี พระราชเทวีพระอัครชายา และพระราชชายา อาทิ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี
พระอัครราชเทวี มีพระราชโอรสธิดารวมทั้งสิ้น ๗๗ พระองค์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันอาทิตย์ที่
23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ด้วยพระโรคพระวักกะพิการ สิริพระชนมพรรษา
58 พรรษา ทรงดำรงอยู่ในสิริราชสมบัติ 42 ปีเศษ
พ.ศ. 2546 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
(UNESCO) ได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อความผาสุกของอาณาประชาราษฎร์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งพระราชวงศ์จักรี
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชสมบัติยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยพระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร
อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่
5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ โรงพยาบาลเมานต์ออเบิร์น (Mount Auburn) เมืองเคมบริดจ์
รัฐแมสซาชูเซตต์ (Massashusetts) ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อแรกประสูติมีพระนามว่า
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช มีพระเชษฐภคินีและพระบรมเชษฐาธิราช คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (6 พฤษภาคม 2466
- 2 มกราคม 2551) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
พระอัฐมรามาธิบดินทร
|
ทรงโบกพระหัตถ์ให้พสกนิกรทั่วราชอาณาจักร ในพิธีฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม 9 มิถุนายน 2549 |
เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกประชวรสวรรคตในวันที่
24 กันยายน พ.ศ. 2472 ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมพรรษาไม่ถึง 2 พรรษา ใน พ.ศ. 2475 ขณะมีพระชนมพรรษา
4 พรรษา ได้เสด็จเข้าทรงศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย จนกระทั่ง
พ.ศ. 2476 จึงเสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี
พระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ไปประทับที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ทรงศึกษาที่โรงเรียนเมียร์มองต์ (Ecole Miremont) แล้วทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเอกอล
นูแวล เดอ ลา ซืออิส โรมองด์ (Ecole Nouvelle de la Suisse Romande) เมืองชายยี ซูร โลซาน (Chailly-sur Lausanne) พ.ศ. 2481 ทรงจบการศึกษาจากโรงเรียนยิมนาสคลาสสิค ก็องโตนาล
(Gymnase Classique Cantonal) แห่งเมืองโลซาน ทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์
จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโลซาน แผนกวิชาวิทยาศาสตร์
ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติรัฐบาลได้กราบทูลเชิญพระวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลใน
พ.ศ. 2477 และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดชทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ
เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช
ต่อมาในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคต
ณ พระที่นั่งบรมพิมาน รัฐบาลโดยความเห็นชอบของรัฐสภาจึงอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช
เสด็จขึ้นครองราชสมบัติในวันเดียวกันขณะที่มีพระชนมพรรษายังไม่เต็ม 19 พรรษา และยังทรงเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยโลซาน เมื่อจัดการพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลแล้ว
พระองค์ได้เสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489
เมื่อเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อนั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่าพระองค์จะต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ปกครองประชาชนให้ร่มเย็นเป็นสุข
จึงทรงเปลี่ยนแนวทางการศึกษาใหม่จากวิชาวิทยาศาสตร์มาเป็นวิชาสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์
และนิติศาสตร์ (Licence et Doctorat ès Sciences Sociales) ทั้งนี้เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการที่จะทรงดำรงฐานะพระมหากษัตริย์ต่อไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตประเทศไทยเมื่อวันที่
24 มีนาคม พ.ศ. 2493 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลในวันที่
29 มีนาคม พ.ศ. 2493 แล้วกำหนดจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร
ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระปทุม เมื่อวันที่
28 เมษายน พ.ศ. 2493 ครั้นวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.
2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น
ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวัง
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์จะมีพระบรมราชโองการครั้งแรกหลังจากที่ทรงรับราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยสมบูรณ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการแก่ประชาชนชาวไทยว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” แล้วทรงหลั่งทักษิโณทกตั้งพระราชสัตยาธิษฐานจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจปกครองราชอาณาจักรไทยโดยทศพิธราชธรรมจริยา
โดยมีพระปรมาภิไธยจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
มหิตลาธิเบศรามาธิบดี
จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
พระปฐมบรมราชโองการในวันบรมราชาภิเษกนี้
แม้จะสั้นแต่ก็ได้ความลึกซึ้ง อันแสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะทรงปกครองบ้านเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรม
เพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์ และนับแต่นั้นมาตลอดระยะเวลาแห่งการครองสิริราชสมบัติ
ได้ทรงอุทิศกำลังพระวรกายและกำลังพระสติปัญญาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนตลอดมา ทรงตั้งพระราชปณิธานว่าจะเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัดให้ทั่วประเทศโดยเริ่มที่ภาคกลางก่อน
แล้วจะเสด็จยังภาคอื่น ๆ จนครบทุกภาค การเสด็จเยี่ยมราษฎรตามพระราชปณิธานนี้เองที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบถึงทุกข์สุขและความเป็นอยู่ของราษฎร
จนนำมาซึ่งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ ที่ครอบคลุมปัญหาทุกด้านของประชาชน
ก่อให้เกิดความผูกพันและความจงรักภักดีที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของประเทศไทยซึ่งไม่มีชาติใดเสมอเหมือน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีฐานะเป็นองค์พระประมุขของชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
และทรงมีกรอบในการปฏิบัติพระราชภารกิจและพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เพื่อความผาสุกของราษฎร
การดำรงฐานะพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้นทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินได้น้อยตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญดังที่มีคำกล่าวว่า “พระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้า แต่มิได้ทรงปกครอง” และจะต้องวางพระองค์เป็นกลาง
ทางการเมือง ซึ่งแม้พระราชอำนาจที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญจะมีอยู่อย่างจำกัด
แต่เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชนเป็นไปอย่างแน่นแฟ้น จึงมีพระราชสถานะและพระราชอำนาจตามจารีตประเพณีที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ
โดยที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะทรงอยู่ในฐานะที่ทรงเป็นที่เคารพสักการะสูงสุดของประชาชนชาวไทย
จึงทรงเป็นประมุขหรือผู้นำที่เปี่ยมด้วยพระบารมี พระราชอำนาจของพระองค์ตามจารีตประเพณีจึงเกิดจากพระบารมีอย่างแท้จริง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความปรองดองของชนในชาติยามที่บ้านเมืองเกิดวิกฤตการณ์
และไม่มีผู้ใดสามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว ประชาชนทุกคนคาดหวังว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงแก้ไขปัญหาได้
ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งคนไทยต้องเผชิญหน้ากันเองนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ใช้พระบารมีจนทำให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ความสงบเรียบร้อยได้
ซึ่งไม่มีพระมหากษัตริย์หรือประมุขของรัฐใดที่จะทำได้เช่นนี้
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้พระราชทานแนวพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติหลายประการ
เช่น พระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งได้พระราชทานพระราชดำรัสเรื่องความพอควร พออยู่
พอกิน มีความสงบมาตั้งแต่ พ.ศ. 2517 ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะผู้แทนสมาคม
องค์การศาสนา ครู นักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ นักศึกษามหาวิทยาลัยที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต เมื่อวันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2517 ว่า
ทั้งนี้ คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา
จะว่าเมืองล้าสมัยว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน
และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบและทำงานตั้งจิตอธิษฐาน
ตั้งปณิธานในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด
แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้
เราก็จะยอดยิ่งยวดได้ประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้กำลังตก กำลังแย่ กำลังยุ่งเพราะแสวงหาความยิ่งยวดทั้งในอำนาจทั้งในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
ทางอุตสาหกรรม ทางลัทธิ ฉะนั้นถ้าทุกท่านซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความคิด และมีอิทธิพล
มีพลังที่จะทำให้ผู้อื่นซึ่งมีความเห็นเหมือนกัน ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร
ขอย้ำ พอควร พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัติจากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวร
ที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดเวลา
พระราชดำรัสนี้แสดงให้เห็นถึงพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล
เมื่อประเทศไทยเกิดภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในวงกว้าง
ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่จนถึงประชาชนในชนบท จนทำให้การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศต้องตกอยู่ใต้อำนาจการกำกับและการควบคุมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
หรือ IMF (International Monetary Fund) ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้
ประเทศไทยจำเป็นต้องแสวงหามาตรการแก้ไขปัญหาเพื่อความอยู่รอดของประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตแก่คนไทยโดยเน้นการพึ่งตนเองเป็นหลัก
และมีจุดเริ่มต้นที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมความสามัคคีของชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นปกติสุข
ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคลเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ว่า “การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ
สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินหมายความว่า
อุ้มชูตัวเองไว้ให้มีความพอเพียงกับตัวเอง” มีพระราชดำริว่า
“ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด
แม้จะไม่ถึงครึ่ง อาจจะเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะสามารถที่จะอยู่ได้” และในปีต่อมาได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 4
ธันวาคม พ.ศ. 2541 โดยทรงอธิบายถึงการปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงว่า
...ควรจะปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงไม่ต้องทั้งหมด
เพียงครึ่งหนึ่งก็ใช้ได้ แม้จะเป็น
เศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ หมายความว่าวิธีปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงนั้น
ไม่ต้องทำทั้งหมด และขอเติมว่าถ้าทำทั้งหมดก็จะทำไม่ได้ ถ้าครอบครัวหนึ่งหรือแม้หมู่บ้านหนึ่งทำเศรษฐกิจพอเพียงร้อยเปอร์เซ็นต์ก็จะเป็นการถอยหลังถึงสมัยหิน
สมัยคนอยู่ในอุโมงค์หรือในถ้ำ ซึ่งไม่ต้องอาศัยหมู่บ้านอื่น เพราะว่าหมู่อื่นก็เป็นศัตรูทั้งนั้น
ตีกัน ไม่ใช่ร่วมมือกัน จึงต้องทำเศรษฐกิจพอเพียง แต่ละคนต้องหาที่อยู่ ก็หาอุโมงค์หาถ้ำ
ต้องหาอาหาร คือไปเด็ดผลไม้หรือใบไม้ตามที่มี หรือไปใช้อาวุธที่ได้สร้างได้ประดิษฐ์เอง
ไปล่าสัตว์ กลุ่มที่อยู่ในอุโมงค์ในถ้ำนั้นก็มีเศรษฐกิจพอเพียง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ปฏิบัติได้
ต่อมารัฐบาลได้อัญเชิญแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและการบริหารประเทศ
โดยบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 - พ.ศ. 2549) และฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2554) นอกจากนี้ แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2550 อีกด้วย
แนวพระราชดำริสำคัญอีกประการหนึ่งที่พระราชทานเพื่อแก้ไขปัญหาของชาติ
คือพระราชดำริในการแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยหลักการเข้าใจ
เข้าถึง พัฒนาโดยได้พระราชทานหลักปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาแก่รัฐบาลเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ ว่า “ให้พยายามทำความเข้าใจปัญหา
เข้าถึงประชาชน และร่วมกันพัฒนา”
นับว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทยทั้งในยามปกติและในภาวะวิกฤต
ทั้งนี้ โดยการปฏิบัติด้วยพระองค์เองและพระราชทานแนวพระราชดำริให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับไปปฏิบัติ
ซึ่งเป็นแนวทางที่จะทำให้สังคมโดยรวมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในที่สุด การสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมนั้น
สิ่งสำคัญคือความเป็นธรรมที่ราษฎรพึงได้รับอย่างเท่าเทียมกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีบทบาทในการพระราชทานความเป็นธรรมแก่ราษฎรตลอดมา
ทั้งการใช้พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายอื่น
ๆ พระองค์ใส่พระทัยเรื่องฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษซึ่งต้องโทษเป็นอันมาก ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณเกี่ยวกับชีวิตและอิสรภาพของราษฎรโดยตรง
เพื่อให้ประชาชนของพระองค์ที่ต้องโทษได้มีโอกาสกลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดี และกลับมาบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ครอบครัวและประเทศชาติต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานความช่วยเหลือในเรื่องที่ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์ต่าง
ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีความด้วย
นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะพระมหากษัตริย์นักพัฒนาด้วยการทุ่มเทกำลังพระวรกายและกำลังพระสติปัญญาเพื่อพสกนิกรของพระองค์
ปรากฏให้เห็นเป็นพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาเพื่อบำบัดทุกข์และบำรุงสุขของประชาชนตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนมาก
ซึ่งได้เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2494 เป็นต้นมา
พระราชกรณียกิจในช่วงสมัยต้น
ๆ แห่งการครองราชสมบัติเป็นลักษณะของการพัฒนาสังคม เช่น การรณรงค์หาทุนเพื่อก่อสร้างอาคารพยาบาล
การต่อสู้โรคเรื้อนของมูลนิธิราชประชาสมาสัยการจัดตั้งโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน การเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับในต่างจังหวัด
เป็นโอกาสให้พระองค์ทรงรับรู้ถึงสภาพความเป็นอยู่อย่างแท้จริงของประชาชน พระราชกรณียกิจของพระองค์จึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน
และการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นประจักษ์ว่า ความทุกข์ของประชาชนไทยมิได้มีเพียงในชนบทที่ห่างไกลเท่านั้น
แม้แต่ในกรุงเทพมหานครก็ยังมีปัญหาที่ทำให้ต้องพระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยเช่นกัน
ทั้งปัญหาน้ำท่วมและปัญหาการจราจร งานพัฒนาดังกล่าวนี้เป็นส่วนที่สามารถช่วยให้การบริหารราชการแผ่นดินของทางราชการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
แนวพระราชดำริที่พระราชทานเพื่อนำไปปฏิบัติรวมทั้งที่ทรงปฏิบัติเป็นตัวอย่างมีหลักใหญ่ 2 ประการ คือ พัฒนาความเป็นอยู่เพื่อให้ราษฎรมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือมีปัจจัย
4 เพียงพอในการดำรงชีวิต และพัฒนาคนให้มีคุณภาพ มีความสามารถในการประกอบการงานเพื่อสร้างความมั่นคงให้ชีวิต
โดยทรงมุ่ง “หลักการพึ่งตนเอง” ทรงเน้นความสามัคคีที่ทำให้การร่วมกันประกอบกิจกรรมใด
ๆ ก็ตามประสบความสำเร็จ การดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ จึงทรงเน้นการอยู่รวมกลุ่มเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและพัฒนากิจกรรมต่าง
ๆ ให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ และด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาต่อราษฎรและพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล
จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศและความเป็นอยู่ของราษฎรไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย
ที่มีบทบาทอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องในการพัฒนาชาติและพัฒนาคน เสมือนว่าพระองค์ทรงดำรงอยู่ในฐานะ
“ที่ปรึกษาของชาติ” โดยทรงยึดถือประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง
ซึ่งเป็นบทบาทที่ไม่ได้พบเห็นในประเทศใดในโลกที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนซึ่งเป็นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติอย่างหนักและต่อเนื่องมาโดยตลอด
เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นในทุกด้านโดยเฉพาะผู้ยากไร้ในชนบท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งเน้นเรื่องการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของราษฎรทั้งประเทศ
โดยทรงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เช่น แหล่งน้ำ ดิน และป่าไม้
ทรงตระหนักว่าน้ำเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งและเป็นความต้องการอย่างมาก
ของราษฎรในชนบท ทั้งการใช้อุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร
พระองค์สนพระราชหฤทัยเรื่องการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร และทรงเน้นการพัฒนาที่ดิน รวมทั้งป่าไม้อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการในด้านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ราษฎร
จนเป็นที่ประจักษ์ชัดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ แนวพระราชดำริเรื่องทฤษฎีใหม่ซึ่งเป็นการจัดการทรัพยากรน้ำและที่ดินเพื่อการเกษตร
เป็นแนวพระราชดำริที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป
พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่สำคัญยิ่งคืองานพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับน้ำ
ศาสตร์ทั้งปวงที่เกี่ยวกับน้ำ ทั้งการพัฒนา การจัดหาแหล่งน้ำ การเก็บกักน้ำ การระบาย
การควบคุม การทำน้ำเสียให้เป็นน้ำดี ตลอดจนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม พระราชกรณียกิจในช่วงต้น
ๆ แห่งการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ ทรงเน้นเรื่องความสำคัญของแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคและการเกษตรกรรม
ทรงเชื่อว่าเมื่อใดที่สามารถแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องน้ำให้ราษฎร หรือให้ราษฎรมีน้ำกินน้ำใช้เพื่อการเพาะปลูกได้แล้ว
ราษฎรก็ย่อมจะมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม การพัฒนาเรื่องแหล่งน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเริ่มตั้งแต่ปลาย
พ.ศ. 2505 ส่งผลให้มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนมาก
ที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ นอกจากนี้ ความสนพระราชหฤทัยเรื่องน้ำของพระองค์ มิได้จำกัดอยู่เฉพาะโครงการพัฒนาแหล่งน้ำด้วยวิธีการจัดสร้างแหล่งน้ำถาวร
ซึ่งอาจจะเป็นอ่างเก็บน้ำหรือฝายให้ราษฎรในท้องถิ่นต่าง ๆ มีน้ำใช้โดยไม่ขาดแคลนเท่านั้น
แต่ยังทรงหาวิธีการจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎร จึงเกิดแนวพระราชดำริเรื่อง “ฝนหลวง” ขึ้น โดยเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 24
พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 และได้เริ่มทำฝนเทียมครั้งแรกเมื่อวันที่
20 กรกฎาคม พ.ศ. 2514 จากนั้นการค้นคว้าพัฒนาเกี่ยวกับฝนหลวงก็ได้ก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทรงทดลองวิจัยด้วยพระองค์เอง
และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมเป็นค่าใช้จ่าย ด้วยพระวิริยอุตสาหะเป็นเวลาเกือบ
30 ปี ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพ ทำให้สามารถกำหนดบังคับฝนให้ตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายได้
ฝนหลวงที่มุ่งหวังช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งได้ขยายไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยการช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำหรือฝนทิ้งช่วง
และช่วยด้านการอุปโภคบริโภค ประเทศไทยได้จดทะเบียนเทคโนโลยีฝนหลวงกับองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติเป็นครั้งแรกเมื่อ
พ.ศ. 2525 ต่อมาองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกได้ทูลเกล้าฯ
ถวายเครื่องหมายเชิดชูเกียรติเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ในฐานะที่ทรงพระปรีชาสามารถและทรงเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกกิจกรรมดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนในภูมิภาคเขตร้อนมีความเป็นไปได้และก้าวหน้ามาจนปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย
เช่น โครงการ “น้ำดีไล่น้ำเสีย” ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ
โดยทรงใช้น้ำที่มีคุณภาพดีจากแม่น้ำเจ้าพระยาให้ช่วยผลักดันและเจือจางน้ำเน่าเสียให้ออกจากแหล่งน้ำของชุมชนภายในเมืองตามคลองต่าง
ๆ เช่น คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองแสนแสบ คลองเทเวศร์ และคลองบางลำพู พระราชดำริเรื่องบำบัดน้ำเสียโดย
หลักการนี้เป็นวิธีการที่ง่าย ประหยัดพลังงาน และสามารถปฏิบัติได้ตลอดเวลา มีพระราชดำริให้ใช้บึงมักกะสันเป็นที่รองรับน้ำเสียจากชุมชนในเขตปริมณฑลและในกรุงเทพมหานคร
โดยทรงเปรียบเทียบว่า “บึงมักกะสัน” เป็นเสมือนดัง
“ไตธรรมชาติ” ของกรุงเทพมหานครที่เก็บกักและฟอกน้ำเสียตลอดจนเป็นแหล่งเก็บกักและระบายน้ำในฤดูฝน
และยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการทดลองใช้ผักตบชวามาช่วยดูดซับความสกปรก รวมทั้งสารพิษต่าง
ๆ จากน้ำเน่าเสีย ประกอบกับเครื่องบำบัดน้ำเสียแบบต่าง ๆ ที่ได้ทรงคิดค้นประดิษฐ์ขึ้น
โดยเน้นที่วิธีการเรียบง่าย ประหยัด และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนในพื้นที่
และบึงพระราม ๙ ซึ่งเป็นบึงขนาดใหญ่อยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้ใช้เครื่องเติมอากาศลงในน้ำ
ซึ่งได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง อันส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น
สำหรับปัญหาอุทกภัยซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์แก่ประชาชน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานต่าง ๆ พิจารณาแก้ไข ป้องกัน
หรือช่วยบรรเทาปัญหาน้ำในแม่น้ำลำคลองซึ่งมีระดับสูงในฤดูน้ำหลาก ทรงเห็นความสำคัญของการควบคุมน้ำเป็นอย่างยิ่ง พระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยวิธีการต่าง
ๆ ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เช่น โครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกและปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค
บริโภค และเพื่อการเกษตร และได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมของโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสักอย่างจริงจังเร่งด่วน
เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาอุทกภัย ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินงานตามโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสักได้
โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.
2537และได้พระราชทานนามว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แนวพระราชดำริที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่สำคัญอีกโครงการหนึ่งคือ
“โครงการแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดินและป่าไม้
ในพื้นที่ต่าง ๆ ทุกภูมิภาคของประเทศไทยที่ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริแก่ส่วนราชการและองค์การต่าง
ๆ เกี่ยวกับปัญหาน้ำ ป่าไม้ และสภาพปัญหาที่เกิดจากดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นป่าชายเลนอันเป็นแหล่งเจริญเติบโตของสัตว์น้ำนานาชนิด
พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นหลายแห่ง
ซึ่งที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ทรงใช้วิธี
“แกล้งดิน” ทำให้บริเวณพื้นดินที่เปล่าประโยชน์และไม่สามารถทำอะไรได้กลับฟื้นคืนสภาพ
สามารถทำการเพาะปลูกได้อีกครั้งหนึ่ง ทำให้พืชเศรษฐกิจต่าง ๆ สามารถเจริญงอกงามให้ผลผลิตได้
อันเป็นประโยชน์ต่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนในภูมิภาคนั้น ๆ การพัฒนาในเรื่องดินตามพระราชดำริที่สำคัญอีกโครงการหนึ่ง
คือ การปลูกหญ้าแฝกป้องกันการเสื่อมโทรมและพังทลายของดิน การปลูกหญ้าแฝกตามพระราชดำรินี้ได้รับการยอมรับจากธนาคารโลกว่า
“ประเทศไทยทำได้ผลอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม”
และเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 International Erosion Control Association (IECA) ได้มีมติให้ถวายรางวัล The International Erosion Control Association’s
International Merit Award แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นแบบอย่างในการนำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ
ในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระราชหฤทัยและทรงตระหนักถึงความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ตั้งแต่เริ่มเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นต้นมา ทรงห่วงในเรื่องปริมาณป่าไม้ที่ลดลง
ได้ทรงค้นหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะเพิ่มปริมาณป่าไม้ให้มากขึ้น มีพระราชดำริที่จะอนุรักษ์ป่าไม้ด้วยการสร้างความสำนึกให้รักป่าไม้ร่วมกันมากกว่าวิธีการใช้อำนาจบังคับ
ดังพระราชดำริที่พระราชทานตั้งแต่ พ.ศ. 2519 ที่ให้มีการปลูกต้นไม้ ๓ ชนิดที่แตกต่างกัน คือ ไม้ผล ไม้โตเร็ว และไม้เศรษฐกิจ
เพื่อให้เกิดป่าไม้แบบผสมผสานและสร้างความสมดุลแก่ธรรมชาติอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานพระราชดำริเรื่องการปลูกป่าอีกหลายประการ
เช่น การปลูกป่าทดแทน การปลูกป่าในที่สูง การปลูกป่าต้นน้ำที่ลำธาร หรือการปลูกป่าธรรมชาติ
และการปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง
แนวพระราชดำริด้านการเกษตรที่สำคัญคือ “ทฤษฎีใหม่” อันเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ขณะเดียวกันก็มีน้ำไว้ใช้ตลอดปีเป็นการอำนวยประโยชน์ต่อทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป
“ทฤษฎีใหม่” จึงเป็นแนวทางหรือหลักการในการบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยทรงเริ่มการทดลองที่วัดมงคลชัยพัฒนา
ตำบลห้วยบง อำเภอเมืองฯ จังหวัดสระบุรี และแพร่หลายจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงค้นคว้าทดลองและวิจัยด้านการเกษตรเป็นโครงการส่วนพระองค์มาตั้งแต่
พ.ศ. 2505 ในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
ทรงแบ่งโครงการส่วนพระองค์เป็น 2 แบบ คือ โครงการแบบไม่ใช่ธุรกิจและโครงการกึ่งธุรกิจ
โครงการแบบไม่ใช่ธุรกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร โดยทรงให้ความสำคัญกับการเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในระยะยาว
เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ทางด้านอาหารและสนับสนุนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากรายได้จากภาคเกษตร
อีกทั้งยังเน้นการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วย เช่น นาข้าวทดลอง การเลี้ยงปลานิล
การผลิตแก๊สชีวภาพ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ตรวจคุณภาพของผลิตภัณฑ์ต่าง
ๆ ที่ผลิตจากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเพื่อขยายพันธ์ุไม้
โครงการบำบัดน้ำเสีย และโครงการสาหร่ายเกลียวทอง ซึ่งนำมาผลิตเป็นอาหารปลา ส่วนโครงการกึ่งธุรกิจซึ่งเป็นโครงการที่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในราคาย่อมเยาโดยไม่หวังผลกำไรอันเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป
เช่น โรงโคนม สวนจิตรลดา โรงนมผงสวนดุสิต ศูนย์รวมนมสวนจิตรลดา โรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา
โรงนมเม็ดสวนดุสิต
โรงเนยแข็ง โรงกลั่นแอลกอฮอล์ โรงเพาะเห็ด โรงน้ำผลไม้กระป๋อง
โครงการต่าง ๆ เหล่านี้เน้นการนำทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัยทางการเกษตรที่มีอยู่มาใช้อย่างประหยัดและเน้นประโยชน์สูงสุด
เพื่อนำผลการทดลองออกเผยแพร่เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกร
โครงการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรอีกโครงการหนึ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงก่อตั้งขึ้นคือ
โครงการหลวง โดยเริ่มจากการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
และได้ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของชาวเขาที่มีฐานะยากจน ปลูกฝิ่นและทำลายป่าไม้ต้นน้ำลำธาร
จึงทรงริเริ่มส่งเสริมการเกษตรแก่ชาวเขาโดยพระราชทานพันธ์ุพืช พันธ์ุสัตว์ เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น
ใน พ.ศ. 2512 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งโครงการส่วนพระองค์ขึ้นชื่อโครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา
ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นโครงการหลวงพัฒนาชาวเขา โครงการหลวงได้ให้ทุนสนับสนุนนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หน่วยราชการต่าง ๆ ให้ทำการวิจัยจำนวนมาก โครงการวิจัยต่าง ๆ
ล้วนเกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น โครงการวิจัยไม้ผล โครงการวิจัยพืชผัก โครงการวิจัยไม้ดอกไม้ประดับ
โครงการวิจัยพืชไร่ โครงการวิจัยศัตรูพืช โครงการวิจัยงานเลี้ยงสัตว์ โครงการวิจัยงานขยายพันธ์ุพืช
นอกจากการวิจัยแล้ว โครงการหลวงยังขยายผลไปสู่การปฏิบัติ โดยชักชวนเกษตรกรชาวเขาเข้ามาร่วมมือดำเนินการเชิงการค้าพร้อมไปกับงานวิจัย
ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแปลงเกษตรได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมติดต่อกันไป ส่งผลให้งานส่งเสริมปลูกพืชทดแทนฝิ่นทำได้อย่างรวดเร็วขึ้นมาก
พร้อมกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่การเกษตรก็สามารถทำได้อย่างจริงจัง งานของโครงการหลวงได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นที่ทำได้อย่างสันติวิธีที่สุด
และยังเป็นการช่วยชาวเขาให้มีอาชีพมั่นคง มูลนิธิแมกไซไซแห่งประเทศฟิลิปปินส์จึงประกาศให้โครงการหลวงเป็นองค์กรที่ได้รับรางวัลแมกไซไซ
ในด้าน International Understanding เมื่อ พ.ศ. 2531
ปัจจุบันโครงการหลวงเป็นมูลนิธิโครงการหลวงเพื่อสาธารณประโยชน์ที่มุ่งทำงานวิจัยที่ต้องการพัฒนาและการผลิตที่แน่นอน
มีตลาดรองรับ รวมทั้งเป็นโครงการนำร่องและการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สำคัญแก่การพัฒนาในที่สูง
การสร้างมูลค่าเพิ่มกับผลิตผลและผลิตภัณฑ์ของโครงการหลวงโดยมีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
รักษาสภาพต้นน้ำลำธารที่สำคัญของประเทศไว้ด้วย
การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการสาธารณสุข
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินตามรอยพระบาทของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม
พระบรมราชชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทางการแพทย์และการสาธารณสุขเพื่อประโยชน์ของประชาชน
เริ่มตั้งแต่ใน พ.ศ. 2496 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่กองวิทยาศาสตร์
สภากาชาดไทย เพื่อสร้าง “อาคารมหิดลวงศานุสรณ์” เป็นศูนย์ผลิตวัคซีน บี.ซี.จี.
ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันวัณโรค เพราะขณะนั้นประเทศไทยยังผลิตเองไม่ได้
การผลิตวัคซีนได้ทำให้การควบคุมโรคสะดวกขึ้นและประหยัดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังสนพระราชหฤทัยปัญหาโรคเรื้อนเป็นอย่างมาก
ใน พ.ศ. 2497 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ในการจัดตั้งกองทุนราชประชาสมาสัย
ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานปราบปรามโรคเรื้อน
และได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสร้างโรงเรียนสำหรับบุตรหลานผู้ป่วยโรคเรื้อนขึ้น
พระราชทานนามว่า โรงเรียนราชประชาสมาสัยในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง
ๆ ได้ทรงพบว่า ราษฎรส่วนหนึ่งมีสุขภาพไม่สมบูรณ์เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ในการรักษา ขาดผู้รักษา
หรืออยู่ห่างไกลสถานรักษา และจำนวนไม่น้อยที่ขาดอาหาร จึงทรงเริ่มจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานตั้งแต่ใน
พ.ศ. 2497 ทั้งทางบกและทางน้ำ โดยใช้จ่ายจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ของไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งทุนการศึกษาขั้นสูงสำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตสาขาแพทยศาสตร์ในประเทศไทยไปศึกษาต่อ
ณ ต่างประเทศ โดยพระราชทานทุนอานันทมหิดล ซึ่งต่อมาเปลี่ยนสถานภาพจากทุนเป็นมูลนิธิอานันทมหิดล
และได้ขยายการพระราชทานทุนให้แก่นักศึกษาในสาขาอื่นด้วยนอกจากแพทยศาสตร์ พระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่ง
ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสนพระราชหฤทัยทางการแพทย์และสาธารณสุข คือการพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล
(Prince Mahidol Awards) โดยรัฐบาลได้จัดตั้งมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลขึ้นและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารีเป็นองค์ประธานมูลนิธิฯ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะมอบรางวัลแก่บุคคลหรือองค์กรจากทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นทางการแพทย์และการสาธารณสุข
โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และลัทธิการปกครอง ซึ่งมีผลช่วยให้คุณภาพชีวิตของมนุษยชาติดีขึ้น
ทั้งนี้มีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลใน พ.ศ. 2535 เป็นครั้งแรก พระราชกรณียกิจทางการแพทย์และการสาธารณสุขเพื่อประโยชน์ของประชาชนยังมีอีกเป็นจำนวนมาก
พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่ประจักษ์
เห็นได้จากโครงการต่าง ๆ จำนวนมากที่ล้วนแต่มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ราษฎรมีความผาสุกอย่างแท้จริง
ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของประชาชน โครงการต่าง
ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินการเพื่อประชาชนนั้น แยกได้เป็นโครงการตามพระราชประสงค์
คือ โครงการที่ทรงศึกษา ทดลอง ปฏิบัติเป็นการส่วนพระองค์ โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
เมื่อได้ผลดีก็จะให้หน่วยงานของรัฐรับดำเนินงานต่อไป โครงการหลวง คือการพัฒนาชีวิต
ตามความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขาให้ดีขึ้น ชักจูงให้เลิกปลูกฝิ่น
งดการตัดไม้ทำลายป่า และทำไร่เลื่อนลอย โครงการตามพระราชดำริ คือโครงการที่ทรงวางแผนพัฒนาและเสนอแนะให้รัฐบาลเข้าร่วมดำเนินงานตามพระราชดำริ
ปัจจุบันเรียกว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นโครงการที่ทรงวางแผนเพื่อการพัฒนา
ซึ่งเกิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง
ๆ ทั่วประเทศ และทรงพบเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเกษตรกรรม จึงได้พระราชทานคำแนะนำเพื่อนำไปปฏิบัติจนได้ผลดีและได้รับการยอมรับจากผู้ปฏิบัติงานทั้งหลายว่าสมควรยิ่งที่จะดำเนินตามพระราชดำริ
พระราชดำริเริ่มแรกอันเป็นโครงการช่วยเหลือประชาชนเริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2494 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงนำพันธ์ุปลาหมอเทศจากปีนัง
ซึ่งได้รับจากผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติเข้าไปเลี้ยงในสระน้ำ
บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน และเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพันธ์ุปลาหมอเทศแก่กำนัน
ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ นำไปเลี้ยงเผยแพร่ขยายพันธ์ุแก่ราษฎรในหมู่บ้านของตนเพื่อจะได้มีอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้น
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่นับได้ว่าเป็นโครงการพัฒนาชนบทโครงการแรกเกิดขึ้นเมื่อ
พ.ศ. 2495 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานรถบูลโดเซอร์ให้หน่วยตำรวจตระเวนชายแดนค่ายนเรศวร ไปสร้างถนนเข้าไปยังบ้านห้วยมงคล
ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้ราษฎรสามารถสัญจรไปมา และนำผลผลิตออกมาจำหน่ายยังชุมชนภายนอกได้สะดวกขึ้น
จากนั้นใน พ.ศ. 2496 ได้พระราชทานพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่า
อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อบรรเทาความแห้งแล้งและความเดือดร้อนของราษฎร
และสร้างเสร็จใช้ประโยชน์ได้ใน พ.ศ. 2506 ซึ่งนับเป็นโครงการพระราชดำริทางด้านชลประทานแห่งแรกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กล่าวได้ว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในระหว่างเริ่มแรกเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาของราษฎรเพื่อส่งเสริมให้มีความอยู่ดีกินดีขึ้นทั้งสิ้น
และโดยที่ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร จึงทรงเน้นการศึกษาที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเกษตร
การพัฒนาที่ดิน และการชลประทาน
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบันมีทั้งสิ้นกว่า
4,000 โครงการอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
(สำนักงาน กปร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับกรม แยกเป็นประเภทต่าง
ๆ คือ การเกษตร สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การพัฒนาแหล่งน้ำ การส่งเสริมอาชีพ การคมนาคมสื่อสาร
สวัสดิการสังคม ฯลฯ
การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นนั้น
วัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเป็นแหล่งความรู้ให้แก่ราษฎร เพื่อให้เป็นตัวอย่างนำไปประยุกต์ใช้กับงานอาชีพของตน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวกับการเกษตรกรรมต่าง ๆ อันจะทำให้เกษตรกรเหล่านี้มีรายได้ในการเลี้ยงตนเองและครอบครัวเพิ่มขึ้น
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้จัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริในทุกภูมิภาคจำนวน
6 ศูนย์ ได้แก่ (1) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน
(2) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย (3) ศูนย์ศึกษา
การพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน (4) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน (5) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้
(6) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง เพื่อเป็นสถานที่ศึกษา ทดลอง
ทดสอบ และแสวงหาวิธีการพัฒนาด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
ศูนย์ศึกษาฯ จึงเปรียบเสมือน “ตัวแบบ” ของความสำเร็จที่จะเป็นแนวทางและตัวอย่างของผลสำเร็จให้แก่พื้นที่อื่น
ๆ เป็น “ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ” คือสามารถที่จะศึกษาหาความรู้ได้ทุกเรื่อง
ทั้งด้านการปรับปรุงบำรุงดิน การปลูกพืชสวน พืชไร่ การเลี้ยงสัตว์ การประมง ป่าไม้
ตลอดจนการชลประทาน งานศิลปาชีพพิเศษ ฯลฯ ซึ่งผลสำเร็จเหล่านี้ได้จัดสาธิตไว้ในลักษณะของ
“พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต”
นอกจากการพัฒนาด้านต่าง ๆ อันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนแล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังประกอบพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคคลเป็นอย่างมาก
เช่น ได้พระราชทานความช่วยเหลือให้จัดตั้งโรงเรียนต่าง ๆ เช่น โรงเรียนสำหรับเยาวชนในท้องถิ่นทุรกันดารที่ตำรวจตระเวนชายแดนดำเนินการมาตั้งแต่
พ.ศ. ๒๔๙๙ จนกระทั่งมีโรงเรียนที่ทรงจัดตั้งมากกว่า
200 โรงเรียนทั่วประเทศ โรงเรียนร่มเกล้าซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับเยาวชนในท้องถิ่นชนบทห่างไกลที่มีความไม่สงบจากภัยต่าง
ๆ โรงเรียนราชประชาสมาสัย เพื่อเป็นสถานศึกษาอยู่ประจำสำหรับเยาวชนที่เป็นบุตรธิดาของคนไข้โรคเรื้อน
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ร่วมกับประชาชนเพื่อให้การศึกษาแก่เด็กกำพร้าที่ครอบครัวประสบวาตภัยในภาคใต้และเด็กที่ยากไร้ขาดที่พึ่ง
ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 แห่งทั่วทุกภาคของประเทศ
พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์พัฒนาโรงเรียนวังไกลกังวล หัวหิน ทรงจัดตั้งโรงเรียนจิตรลดาขึ้นในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐานเพื่อเป็นสถานศึกษาของพระราชโอรส
พระราชธิดา และบุตรหลานของพระบรมวงศานุวงศ์ มหาดเล็กและประชาชนทั่วไป
ในระดับอุดมศึกษา ทรงตั้งทุนภูมิพลขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ผู้มีผลการเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์
ทรงฟื้นฟูการพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงคิงสกอลาชิป (King Scholarship) ขึ้นอีก ทุนเล่าเรียนหลวงนี้พระราชทานแก่ผู้มีผลการเรียนดีเด่นให้ไปศึกษาต่อ
ณ ต่างประเทศ ผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาดังกล่าวได้กลับมาทำงานรับใช้ชาติบ้านเมืองเป็นจำนวนมาก
ทุนการศึกษาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือทรงก่อตั้งทุนมูลนิธิอานันทมหิดลเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
โดยให้ผู้ที่เรียนดีไปศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์
อักษรศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และโบราณคดี ผู้สำเร็จการศึกษาได้กลับมาทำงานรับใช้ประเทศจำนวนมาก
แม้ว่าทุนนี้จะไม่ระบุว่าจะต้องกลับมาทำงานชดใช้ทุนก็ตาม เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชไม่ทรงต้องการให้มีการทำสัญญาว่าจะใช้ทุน
แต่ขอให้เป็นสัญญาทางใจซึ่งสำคัญกว่าสัญญาทางลายลักษณ์อักษร
นอกจากการศึกษาในระบบโรงเรียนแล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชดำริที่จะให้จัดการศึกษานอกระบบขึ้น เช่น โรงเรียนพระดาบส
และยังทรงส่งเสริมให้มีการจัดตั้งมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมอีกด้วย รวมทั้งทรงริเริ่มให้มีการจัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนขึ้นเพื่อให้เยาวชนของชาติมีหนังสือที่ดีสำหรับค้นคว้าและแสวงหาความรู้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อมใสศรัทธาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
ทรงผนวชเช่นเดียวกับชายไทยทั่วไปซึ่งเป็นชาวพุทธ ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง
ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา
และได้พระราชทานพระราชูปถัมภ์บำรุงศาสนาอื่น ๆ ในประเทศไทย ทั้งศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม
ศาสนาสิกข์ ศาสนาฮินดู รวมทั้งได้พระราชทานพระราชทรัพย์อุปถัมภ์และบำรุงศาสนาเหล่านั้นด้วย
ทำให้ประชาชนทุกศาสนาได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถในศาสตร์สาขาต่าง
ๆ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาทั้งสิ้น ทั้งในด้านการประดิษฐ์ ได้แก่ การประดิษฐ์ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” เครื่องกลเติมอากาศแบบทุ่นลอย ซึ่งได้รับการออกสิทธิบัตรตามกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ
ถวายเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.
2536 “กังหันน้ำชัยพัฒนา” จึงเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่
๙ ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่
“นักประดิษฐ์” ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ และได้รับรางวัลระดับโลกในฐานะสิ่งประดิษฐ์ดีเด่นในงานนิทรรศการ
Brussels Eureka 2000: 49th World Exhibition Innovation, Research and New
Technology ที่กรุง
บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม กังหันน้ำชัยพัฒนาได้รับรางวัลจากคณะกรรมการนานาชาติ
และรางวัลจากกรรมการประจำชาติถึง 5 รางวัล นอกจากพระปรีชาสามารถในด้านการประดิษฐ์แล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมีพระปรีชาสามารถในด้านอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศด้านแผนที่
ด้านการจราจรและขนส่ง เช่น โครงการการก่อสร้างถนนวงแหวนรัชดาภิเษก โครงการคู่ขนานลอยฟ้า
ฯลฯ
ความสำเร็จในด้านการพัฒนาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวคิดแก่สังคมไทยมาโดยตลอด
เป็นที่ประจักษ์ชัดเมื่อสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จด้านการพัฒนามนุษย์ (UNDP Human
Development Lifetime Achievement Award) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 โดยนายโคฟี อันนัน
(Kofi Annan) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย รางวัลเกียรติยศนี้สหประชาชาติจัดทำขึ้น
เพื่อมอบให้แก่บุคคลดีเด่นที่อุทิศตนตลอดชีวิต และสร้างคุณค่าของผลงานอันเป็นที่ประจักษ์และเป็นคุณูปการในการผลักดันความก้าวหน้าในการพัฒนาคน
ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ให้คนเป็นเป้าหมายศูนย์กลางในการพัฒนา โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
มีความมั่นคงในชีวิต มีความเท่าเทียมกัน และการมีส่วนร่วมทางการเมือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับทูลเกล้าฯ
ถวายรางวัลอันเนื่องมาจากผลงานการพัฒนาชนบทของพระองค์ ซึ่งมีจำนวนมากในทุกภูมิภาคของประเทศ
สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงพระราชจริยวัตรอันงดงามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมาตลอดรัชสมัย
ปรากฏในพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม ซึ่งถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในนามของพระประมุขและพระราชวงศ์ทั้ง
25 ราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน
พ.ศ. 2549 ในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ
60 ปี ว่า
…ห้วงเวลาที่ผ่านมาเป็นห้วงที่เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างรวดเร็วและกว้างไกลมากที่สุดเท่าที่เคยประสบมาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ท้าทายการดำรงอยู่ของเราในทุกมิติ โดยเฉพาะความเป็นชาติอันธำรงไว้ซึ่งอธิปไตย
ในยามที่ถูกท้าทายเช่นนี้ สิ่งที่เราทุกคนเพรียกหาคือการตัดสินใจที่ถูกต้องและเฉียบคมทุกครั้ง
ฝ่าพระบาทได้ทรงใช้พระราชปรีชาญาณ พระสติปัญญา พระวิริยอุตสาหะ ตลอดจนความองอาจและกล้าหาญที่พระองค์ทรงมีอยู่อย่างท่วมท้นในการนำประเทศไทยให้พ้นภัย
ฝ่าพระบาทไม่เคยทรงอยู่ห่างไกลจากประชาชนของพระองค์ ไม่เคยมีพระราชดำริให้ประชาชนเป็นเพียงผู้ฟังคำสั่งหรือบริวาร
ในทางตรงกันข้ามฝ่าพระบาททรงอยู่เคียงข้างพสกนิกรของพระองค์ และทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชนชาวไทยตลอดมา…
ตลอดรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะของพระมหากษัตริย์ในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โดยทรงตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของสถาบันกษัตริย์ว่า หน้าที่ของพระองค์คือ “…ทำอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์…” นอกจากจะประกอบพระราชกรณียกิจตามฐานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามที่มีบทกฎหมายกำหนดไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชยังได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะพระมหากษัตริย์นักพัฒนา
ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกายและกำลังพระสติปัญญาเพื่อพสกนิกรของพระองค์ ดังที่ปรากฏในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง
ๆ ซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน เพื่อให้ประชาชนของพระองค์มีความเกษมสุขโดยเท่าเทียมกัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ
มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 4 พระองค์ คือ
1. ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา
สิริวัฒนาพรรณวดี
2. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร
3. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี
4. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
|
ทรงฉายพร้อมพระราชินีและพระโอรสธิดา |