ประเทศไทย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประเทศไทย หรือชื่อทางการว่า ราชอาณาจักรไทย เป็นรัฐชาติอันตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีนและมลายู ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนด้านตะวันออกติดประเทศลาวและประเทศกัมพูชา ทิศใต้เป็นแดนต่อแดนประเทศมาเลเซียและอ่าวไทย ทิศตะวันตกติดทะเลอันดามันและประเทศพม่า และทิศเหนือติดประเทศพม่าและลาว มีแม่น้ำโขงกั้นเป็นบางช่วง ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภา มีศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และการปกครองส่วนภูมิภาค จัดระเบียบเป็น 76 จังหวัด

ประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก มีเนื้อที่ 513,115 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก คือ ประมาณ 66 ล้านคน กับทั้งยังเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ โดยมีรายได้หลักจากภาคอุตสาหกรรมและการบริการ ไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นอันมาก อาทิ พัทยา, ภูเก็ต, กรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่ ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ เช่นเดียวกับการส่งออกอันมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และด้วยจีดีพีของประเทศ ซึ่งมีมูลค่าราว 334,026 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามที่ประมาณใน พ.ศ. 2553 เศรษฐกิจของประเทศไทยนับว่าใหญ่เป็นอันดับที่ 30 ของโลก

ในอาณาเขตประเทศไทย พบหลักฐานของมนุษย์ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดถึงห้าแสนปี นักประวัติศาสตร์มักถือว่าอาณาจักรสุโขทัยเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งต่อมาตกอยู่ในอิทธิพลของอาณาจักรอยุธยา อันมีความยิ่งใหญ่กว่า และมีการติดต่อกับชาติตะวันตก อาณาจักรอยุธยามีอายุยืนยาว 417 ปีก็เสื่อมอำนาจและล่มสลายไปโดยสิ้นเชิง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกอบกู้เอกราชและสถาปนาอาณาจักรธนบุรี เหตุการณ์ความวุ่นวายในช่วงปลายอาณาจักร นำไปสู่ยุคสมัยของราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ช่วงต้นกรุง ประเทศเผชิญภัยคุกคามจากชาติใกล้เคียง แต่หลังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ชาติตะวันตกเริ่มมีอิทธิพลในภูมิภาคเป็นอย่างมาก นำไปสู่การเข้าเป็นภาคีแห่งสนธิสัญญาหลายฉบับ และการเสียดินแดนบางส่วน กระนั้น ไทยก็ยังธำรงตนมิได้เป็นอาณานิคมของชาติใด ๆ ต่อมาจนช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไทยได้เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร และในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย และไทยได้เข้ากับฝ่ายอักษะในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จนช่วงสงครามเย็น ไทยได้ดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา ทหารเข้ามามีบทบาทในการเมืองไทยอย่างมากหลังปฏิวัติสยามอยู่หลายสิบปี กระทั่งมีการตั้งรัฐบาลพลเรือน และเข้าสู่ยุคโลกเสรีในปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์จังหวัดต่าง ๆ (ขึ้นต้อนด้วย ก.)

ประวัติศาสตร์จังหวัดกระบี่
ตราประจำจังหวัด


รูปกระบี่ไขว้ เบื้องหลังเป็นรูปภูเขาและทะเล
คำขวัญประจำจังหวัด


กระบี่เมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก


ดินแดนบริเวณจังหวัดกระบี่ในยุคโบราณ
เรื่องราวของดินแดนบริเวณจังหวัดกระบี่และดินแดนอื่นๆ ทั้งสองฟากฝั่งทะเลเป็นเรื่อง ที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง จากการค้นพบเครื่องมือยุคหินเป็นจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ก็แสดงว่าถิ่นนี้เคยมีมนุษย์อาศัยกันมานานแล้วเมื่อหลายพันปีหรือหมื่นปี เครื่องมือหินที่พบบนแหลมมลายูทั้งหมดปรากฏว่าเป็นสิ่งที่ทำด้วยน้ำมือของคนสมัยหินจริงๆ ส่วนมากที่พบจะเป็นขวานหิน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "ขวานฟ้า"
สุด แสงวิเชียร เขียนในไว้ในหนังสือ "ความหมายของคำก่อนประวัติศาสตร์" อดีต (กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์พิฆเณศ) หน้า 239 – 240 ว่า "คนไทยมีความเชื่อว่าขวานฟ้าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ใช้รักษาโรคได้ เช่น พวกลมเพลมพัด ถ้าเอาขวานฟ้ามากดที่บวมจะทำให้ที่บวมยุบ ใช้ฝนกับน้ำเป็นยากินแก้ปวดท้อง ชาวภาคเหนือเอาไว้ใส่ในยุ้งบอกว่าข้าวจะไม่พร่อง ถ้าเอาตากปนไว้กับข้าวเปลือกเชื่อว่าไก่ป่าจะไม่ลงมากินข้าว ชาวภาคใต้เชื่อว่าถ้าเอาขวานฟ้าแช่ในน้ำที่จะเอาไปรดวัวชน วัวจะชนะ ในภาคกลางแถวกาญจนบุรีชาวบ้านแช่ไว้ในโอ่งน้ำกินบอกว่าจะทำให้น้ำเย็นน่ากิน บางคนบอกว่าเอาไว้ป้องกัน ฟ้าผ่า บางคนเอาผูกไว้ที่บั้นเอว หมอแผนโบราณใช้ไล่ผี โดยเอาไว้ใต้ที่นอนผู้ป่วย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเชื่อว่าขวานหินขัดเป็นขวานของพระยาแถนที่อยู่บนฟ้า"
ในจังหวัดกระบี่มีพบทั่วไปทั้งอำเภอเมือง อำเภออ่าวลึก อำเภอคลองท่อม นอกจากนี้แล้วสิ่งที่น่าศึกษาอีกประการหนึ่ง คือ ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ เช่น ที่ถ้ำผีหัวโต ที่อำเภออ่าวลึก ภาพเขียนสีในถ้ำไวกิ้งเกาะพีพี อำเภอเมือง ที่น่าสนใจคือ ภาพที่ถ้ำผีหัวโต ซึ่งมีทั้งรูปคนที่มีเพียงเส้นที่ขีดเป็นแขนขา และรูปมือที่ทาสีแล้วทาบลงไปบนพื้นผนัง บางภาพก็มีสภาพสมบูรณ์ทั้งภาพคน ภาพปลา ภาพนก รูปเขียนสีเหล่านี้นอกจากจะบอกให้เราทราบลักษณะศิลปะในสมัยแรกเริ่มในประเทศไทยแล้ว เรายังจะทราบชีวิตความเป็นอยู่ การอพยพและอื่นๆ อีกด้วย เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างขวานฟ้ากับภาพเขียนสีบนผนังถ้ำน่าจะเป็นยุคสมัยเดียวกัน และเป็นที่เชื่อถือกันว่า มนุษย์ในสมัยยุคหินนั้นอาศัยริมทะเลซึ่งมีอาหารอุดมกว่าบนดอนที่ไกลทะเล
ชาติพันธุ์มนุษย์บริเวณนี้ก่อนอินเดียเข้ามา
ดินแดนภาคใต้ของประเทศไทยตลอดแหลมมลายูก่อนที่จะมีอารยธรรมอื่น ๆ เข้ามานั้น ได้เป็นที่อาศัยของมนุษย์ถึง 4 จำพวก คือ
1. จำพวกที่ 1 เรียกว่า กาฮาซี จำพวกนี้ผิวเนื้อดำ ตาโปนขาว ผมหยิก ร่างกายสูง ใบหน้าบานๆ ฟันแหลม ชอบกินเนื้อสัตว์และเนื้อคน มีนิสัยดุร้ายมาก ซึ่งไทยเราเรียกว่า ยักษ์
2. จำพวกที่ 2 เรียกว่า ซาไก ผมหยิก ผิวดำ ตาขาวโปน ริมผีปากหนา จำพวกนี้ไม่ดุร้าย อยู่แห่งใดชุมนุมกันเป็นหมู่ ทำพะเพิงเป็นที่อาศัย
3. จำพวกที่ 3 เรียกว่า เซียมัง คล้ายกันกับพวกซาไก แต่พวกนี้ชอบอยู่บนเขาสูง
4. จำพวกที่ 4 เรียกว่า โอรังลาโวต (ชาวน้ำ) อาศัยอยู่ตามเกาะและชายทะเล มีเรือเป็นพาหนะเที่ยวเร่ร่อนอยู่ไม่เป็นที่ 2
ทั้ง 4 กลุ่มนี้ที่สำคัญได้แก่ กลุ่มชาวน้ำ ซึ่งมีความเกี่ยวพันชาวมลายูและไทยอย่างลึกซึ้ง พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับพวกนี้ว่า
"พวกชาติมลายูนี้ได้ตรวจดูตามพงศาวดารและประวัติศาสตร์ในภาษามลายูต่างๆ หลายเล่มก็ไม่ได้ความว่ามลายูสืบมาจากชาติใดแน่ เป็นแต่ความสันนิษฐานของผู้เขียนประวัติเหล่านี้ทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ดีความว่า ชาติมลายูนี้มาจากโอรังลาโวต คือ ชาวน้ำเป็นที่แน่นอนผสมกับพวกต่าง ๆ ตามความสันนิษฐานของข้าพเจ้าได้ตรวจหลักฐานมาแล้วนั้น ชาติมลายูนี้มาจากชาวน้ำผสมกับชาติไทย เพราะเหตุว่าการที่มนุษย์มาผสมกับชาวน้ำนี้ก็ได้มีชาติไทยทางเมืองละโคว์ ชุมพร ไชยา ได้รุกรานลงมาก่อนชาติอื่นๆ มารวมผสมด้วย จริงอยู่มลายูได้ชื่อว่า มลายู จากการข้ามฟากของชาติยะวานั้น ก็นับว่าเป็นการได้ชื่อเมื่อภายหลัง แต่ชาติไทยลงมาก่อนราวประมาณ 1,000 ปี
ในบริเวณจังหวัดกระบี่ยังมีกลุ่มชาวน้ำอาศัยอยู่ทั่วไปตามเกาะแก่งริมฝั่งทะเล เช่น เกาะ ลันตา (ปูเลาส่าตั๊ก) เกาะพีพี (ปูเลาปิอะปี) เกาะศรีบอยา (ปูเลาพาย้า) เป็นต้น จากข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าชนชาติไทยได้อพยพมาอยู่ในดินแดนตลอดแหลมมลายูมาเป็นเวลาช้านานก่อนอินเดียเข้ามา เมื่อชาวอินเดียได้เข้ามาสู่ดินแดนเหล่านี้แล้วจึงเกิดชุมชนเมืองขึ้นอีกรูปแบบหนึ่งที่มีวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาประสมประสาน ซึ่งภายหลังกลายเป็นอาณาจักรใหญ่ ๆ มีเมืองสำคัญมากมายปรากฏในแผนที่โบราณ จดหมายเหตุของพ่อค้าและนักแสวงโชคชาวต่างชาติบันทึกไว้
ในตำแหน่งพิกัดของเมืองโบราณต่าง ๆ เท่าที่ปรากฏบนแผนที่ของทอเลมี มีตำแหน่งที่น่าสนใจเกี่ยวข้องอยู่กับดินแดนบริเวณเมืองกระบี่ คือ ควนลูกปัดและเขาชวาปราบ ในเขตอำเภอคลองท่อมในปัจจุบัน หลักฐานที่หลงเหลืออยู่ก็ไม่แตกต่างจากหลักฐานที่ปรากฏที่ตำบลทุ่งตึก หรือที่เชื่อกันว่า "เมืองตะโกลา" เช่นเดียวกัน นักศึกษาทางโบราณคดีควรที่จะสนใจศึกษา บางทีอาจจะพบหลักฐานเมืองสำคัญบางชื่อที่เรายังไม่สามารถหาตำแหน่งที่ถูกต้องอยู่ก็อาจเป็นได้
สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
ชุมชนคลองท่อม
เนื่องจากในบริเวณอำเภอคลองท่อมปัจจุบันได้มีการขุดพบลูกปัด ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในบริเวณควนลูกปัด จากหลักฐานที่ได้ทำให้คิดว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นแหล่งเมืองโบราณ แห่งหนึ่ง แต่ข้อยุติที่กำลังแสวงหาคือ ผู้ตั้งชุมชนแห่งนี้ได้แก่พวกใดมาตั้งหลักแหล่งตั้งแต่สมัยใด
ในบริเวณควนลูกปัดนี้ได้พบหลักฐานอย่างอื่นอยู่ด้วย เช่น เครื่องมือหิน เครื่องปั้น ดินเผา เครื่องประดับที่ทำจากหินและดินเผาแต่ชำรุดเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้แล้วยังพบรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ลิง ไก่ เต่า ฯลฯ บางรูปก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นรูปอะไร รูปสัตว์เหล่านี้อาจจะเป็นวัฒนธรรมด้านลัทธิศาสนาก็ได้ ส่วนรูปคนนั้นพบรูปหน้าตรงบ้าง หน้าตะแคงบ้าง เรียกกันทั่วไปว่า "อินเดียนแดง" แต่ท่านผู้รู้บางท่านกล่าวว่าเป็นรูป "พระสุริยเทพ" สมัยเมื่อ 6 – 7  พันปีมาแล้วของอียิปต์ ท่านพระครูอาทรสังวรกิจ เจ้าอาวาสวัดคลองท่อมให้ข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นอินเดียรุ่นเก่าก่อน ลูกปัด บางเม็ดมีลวดลายแปลกๆ เช่น คล้ายเครื่องหมายสวัสดิกะ นอกจากนี้แล้วยังพบตัวอักษรแต่ยังไม่ทราบว่าเป็นภาษาใดแน่ หอยสังข์ทำด้วยทองคำ กำไลมือและเท้า แต่ส่วนมากชำรุดทั้งสิ้น ที่อยู่ในสภาพดีคือลูกปัดเท่านั้น
นายมานิต วัลลิโภดม นักโบราณคดีคนหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า
"คลองท่อมเป็นลำน้ำเกิดจากเขาลูกหนึ่งทางตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้แดนจังหวัดตรัง ยาวประมาณ 25 กิโลเมตร ปากน้ำออกมหาสมุทรอินเดีย แถวปากน้ำเกาะที่น่าสนใจกล่าวชื่อคือ เกาะ นกคุ้ม เกาะศรีบอยา เกาะฮั้ง (หัง) ถนนเพชรเกษมตัดข้ามคลองท่อม ริมถนนมีวัดชื่อ วัดคลองท่อม พระครูอาทรสังวรกิจ (สวาทกันตสำโร) เป็นเจ้าอาวาส ที่ริมคลองท่อมข้างหลังวัดมีบริเวณสถานที่หนึ่งเรียกว่า ควนลูกปัด ….เป็นหลักฐานที่สำคัญจุดหนึ่งเกี่ยวกับหลักฐานเรื่องชาวกรีก + โรมัน เข้ามาติดต่อค้าขายที่ปลายแหลมทอง๔ โดยสภาพทางภูมิศาสตร์แคว้นเสียม - ชวกะ หรือสุวรรณทวีป เป็นดินแดนอยู่ระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้ เป็นที่รู้จักแก่ชาวอินเดียมาก่อนพุทธกาล ศิลปวัฒนธรรมใด ๆ แม้แต่การค้าขายของอินเดียย่อมจะต้องมาตั้งหลักแหล่งบนผืนแผ่นดินนี้ก่อน แล้วจึงแผ่กระจายไปยังดินแดนตะวันออกเฉียงเหนือการขุดค้นโบราณวัตถุสถานบางแห่ง เช่น บ้านเชียง อำเภอหนองหาน อุดรธานี พบลูกปัดทำด้วยหินและแก้วหล่อ นักโบราณวิทยาลงความเห็นกันว่าเป็นของอียิปต์บ้าง กรีกหรือโรมันบ้าง มีสถานที่แห่งหนึ่งเรียกว่า ควนลูกปัด อยู่ข้างวัดคลองท่อม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ พบลูกปัดสีต่างๆ ทั้งดีและแตกมากมายสิ่งที่น่าสนใจมากคือ เบ้าดินเผาชำรุด 2 - 3 เบ้า อันเป็นหลักฐานแสดงว่า ได้มีการหล่อหลอมลูกปัดแก้วมีสีและขนาดต่างๆ ณ ควนลูกปัด นี้เอง แล้วส่งไปจำหน่ายยังเมืองต่างๆ ลูกปัดเม็ดใดหล่อหลอมแตกร้าวเป็นของเสียก็ทิ้งไปในที่ใกล้ๆ โรงงาน"
การที่นักโบราณคดีให้ความเห็นไปทางอียิปต์ก็เพราะว่า ลักษณะของลูกปัด คลองท่อมเหมือนกับลูกปัดที่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งขุดได้จากประเทศอียิปต์ สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับอียิปต์โบราณนั้น กาญจนาคพันธุ์ เขียนเล่าไว้ในหนังสือภูมิศาสตร์ วัดโพธิ์ว่า
"ขึ้นวงศ์ที่ 18 อียิปต์เจริญมากราว 3,462 ปีมาแล้ว มีพระราชินีองค์หนึ่งชื่อ หัตเซปสุต หรือ หาตเษปเสตได้ครองเมืองโปรดให้จัดนายพานิช คุมกระบวนสำเภาออกค้าขายย่านทะเลแดง ขากลับได้นำเอาพวกไม้หอมต่างๆ ยางไม้ต่างๆ เครื่องเทศบรรทุกสำเภามาเต็มๆ ชาวอียิปต์เคยเข้ามาค้าขายกับพวกทมิฬอินเดียใต้ ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ พวกไม้หอม ยางไม้ เครื่องเทศนั้นปรากฏมาแต่โบราณดึกดำบรรพ์ว่ามีอุดมอยู่ทางแหลมอินโดจีนบ้านเรา เมื่ออียิปต์ลงสำเภามาค้าขายถึงอินเดียใต้ ก็ทำให้เชื่อว่าอียิปต์จะต้องมาถึงแหลมอินโดจีน และคงต้องติดต่อสัมพันธ์กับไทยสมัยไทยละว้าที่เป็นใหญ่อยู่ในแหลมอินโดจีน อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยพระนางหัตเซปสุตนี้มาเป็นแน่"
 นอกจากนี้ยังมีนิยายของอียิปต์หลายเรื่องที่เหมือนกับของไทยเรา เช่น เรื่องสองพี่น้อง "อะนูปูกับบายตี" เหมือนเรื่องหลวิชัย - คาวี ของเรา เรื่องกลาสีเรือแตกคล้ายเรื่องขุนสิงหลสาคร ในพงศาวดารเหนือ เรื่อง "สัตนี" คล้ายเรื่องสังข์ทองของเรามาก ความเหมือนระหว่างอียิปต์กับไทยตั้งแต่นิยาย นิทาน เกี่ยวโยงไปถึงภาษา ถ้อยคำ ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ อย่างน่าประหลาดอัศจรรย์ แสดงว่า อียิปต์กับไทยจะต้องได้ติดต่อกันทางทะเลจนมีความสัมพันธ์สนิทสนมสมัยหนึ่งในยุคดึกดำบรรพ์ราว 3,000 ปีมาแล้ว
จากหลักฐานการพบเครื่องมือเบ้าหินลูกปัด เศษลูกปัดที่แตก ก้อนหินสีต่าง ๆ ลูกปัด ชำรุด ที่ถอดจากเบ้าทิ้งไว้ จนจับกันเป็นพืดก็ยังมี แสดงว่าควนลูกปัดเป็นแหล่งผลิตแน่นอน ย่านคลองท่อมแต่เดิมคงจะกว้างขวางกว่าปัจจุบันมาก เรือสินค้าจะต้องผ่านไปมาสะดวก ปัญหาอยู่ที่ว่าผู้มาตั้งหลักแหล่งอยู่ ณ ที่นี้เป็นชาติใดอินเดียหรืออียิปต์ เพราะว่าทั้งสองชาติมีความสัมพันธ์กับไทยมาแต่โบราณกาล อินเดียอยู่ใกล้ไทยมากมีโอกาสมากกว่าในการถ่ายทอดวัฒนธรรม เรือสินค้าจากคลองท่อมย่อมออกทะเลได้ทั้ง 2 ด้าน เพราะย่านนี้เคยมีการชุดพบซากเรือโบราณ สมอเรือ คุณเยี่ยมยง สังขยุทธิ์ สุรกิจบรรหาร นักค้นคว้าทางโบราณคดีคนหนึ่งของภาคใต้ได้ให้ความเห็นไว้ว่า
"แหลมไทแผ่นดินนี้เป็นแหล่งย่านค้าขายของพ่อค้า และเป็นที่ท่องเที่ยวเผชิญโชคจากอินเดียและในย่านอาหรับได้ไปมาหาสู่ถึงกันอยู่แล้ว และทางด้านตะวันออกก็มีจีน ญวน ไปมาติดต่อถึงกันอยู่ ที่ทราบได้เพราะได้พบหัตถกรรมโบราณวัตถุของชาตินั้นๆ มีอายุสมัยก่อนพุทธกาล
การศึกษาจากธรณีวิทยา ดินแดนบริเวณนี้มีลำนํ้าใหญ่จากอ่าวบ้านดอนไปทะลุจังหวัดกระบี่ได้ ในสมัยก่อนที่ลำนํ้านี้ไม่ตื้นเขิน ทางทะเลตะวันตกมีร่องรอยลำน้ำเก่าอยู่ 3 สาย
- สายที่ 1 ตามลำคลองกระบี่น้อย ไปออกคลองอีปันกับแม่น้ำหลวง (ตาปี) ออกอ่าวบ้านดอนได้
- สายที่ 2 เข้าตามคลองปากาไส ออกคลองอีปัน และแม่น้ำหลวงได้เหมือนกัน
- สายที่ 3 ตามสายคลองท่อมออกคลองสินปุน ไปตามแม่น้ำหลวงเหมือนสายที่ 1,2 ต่อมาลำน้ำตื้นเขิน ทำให้บริเวณปลายคลองอีปัน คลองกระบี่น้อย กับคลองปากาไส เป็นดินดอนขึ้น เป็นการปิดกั้นให้ลำนํ้าที่กล่าวแล้วตัดขาดจากกัน หมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณยอดน้ำปากคลองมีชื่อว่า บ้านปากด่านอยู่ทุกวันนี้ สายคลองท่อมก็อยู่ในทำนองเดียวกับบริเวณปากคลองท่อมกับคลองสินปุน ลำน้ำขาดออกจากกันที่บริเวณเขาชวาปราบที่นี่มีซากเมืองเก่าอยู่ คำว่าชวาปราบมาจากคำสันสกฤตว่า "ทางน้าสื่อสาร"
ชื่อเมืองคลองท่อมเดิมจะเรียกว่าอย่างไรไม่สามารถทราบได้ ในบรรดาเมืองเท่าที่ปรากฏในแผนที่เก่าๆ คัมภีร์และบันทึกการเดินทางของชาติต่างๆ จะรวมเมืองคลองท่อมเข้าไปด้วยหรือไม่ เช่น ข้อความที่ปรากฏในคัมภีร์มหานิเทศในมิลินทปัญหา ในจดหมายเหตุ ทอเลมี (Ptolemy) จดหมายเหตุของจีนและอาหรับ เป็นต้น ชื่อเมืองๆ หนึ่งที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก คือ ในแผนที่ทอเลมี คือ เมืองตะกั่วป่า หรือ ตะโกลา นั้น พิกัดในแผนที่ก็ไม่เป็นที่แน่นอนนักเพียงแต่บอกว่าอยู่ใต้ภูเก็ตลงไป อาจจะเป็นทุ่งตึก คลองท่อม หรือเมืองตรังก็อาจเป็นได้
อย่างไรก็ตาม ความผูกพันของการสร้างเมืองที่คลองท่อมนี้มีจดหมายเหตุตำนานเมืองนครศรีธรรมราชที่น่าสนใจอยู่ 2 ฉบับ คือ ฉบับที่พระเสนานุชิตพบที่บ้านทุ่งตึก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และฉบับที่พระพิไชยเดชะพบที่วัดเวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ข้อความบางตอนคล้ายคลึงกัน เล่าว่า
"ผู้สร้างเมืองตะกั่วป่าเป็นพราหมณ์ชาวอินเดียชื่อ พระยาศรีธรรมโศกราช (พระนามเดิมชื่อ พราหมณ์มาลี) มีพระอนุชาพระนามว่า พราหมณ์มาลา เป็นที่พระยาอุปราชอพยพลงเรือมาขึ้นที่บ้าน ทุ่งตึก เมื่อพุทธศักราช 1006 สร้างเมืองตะกั่วป่าขึ้นแต่ยังไม่ทันสำเร็จ…. ก็ถูกข้าศึกรุกรานตีเมืองแตกต้องอพยพหนีข้ามเขาสกมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ตั้งเมืองชั่วคราวที่บ้านน้ำรอบให้นามเมืองใหม่ว่า "เมืองธาราวดี" แต่ปรากฏว่าเนื่องจากพื้นภูมิประเทศอยู่ในระหว่างภูเขาห้วยธารป่าดง ประกอบกับพวกชาวอินเดียผู้อพยพไปอยู่ได้ไม่นานเกิดผิดน้ำผิดอากาศ เกิดไข้ห่า (อหิวาตกโรค) ขึ้นในหมู่ผู้อพยพอย่างรุนแรง จำเป็นต้องรื้อถอนอพยพไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ไปตั้งเมืองชั่วคราวขึ้นอีก ที่เชิงเขาชวาปราบ (อยู่ปลายคลองสินปุ่น อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่) แต่ภูมิประเทศแถบเขาชวาปราบก็คล้ายกับที่เมืองธาราวดีอีก ไข้ห่าจึงยังไม่สงบต้องเลื่อนต่อไปหาชัยภูมิใหม่ ไปได้ที่บ้านเวียงสระ ได้ตั้งมั่นที่นั่นอีกหนหนึ่งแต่อยู่ไม่ได้หลายปีเพราะโรคภัยไข้เจ็บต้องรื้อถอนไปทางฝั่งทะเลตะวันออกไปพบหาดทรายแก้วกว้างใหญ่ทำเลดีกว่า ที่ตั้งมาแล้ว มีชัยภูมิดีควรแก่การตั้งราชธานี จึงตั้งมั่นที่นั่นกลายเป็นบ้านเมืองสำคัญใหญ่โตเรียกว่า เมืองนครศรีธรรมราช มาจนตราบเท่าทุกวันนี้"
ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชเล่าไว้ข้อความคล้ายๆ กัน ความว่า
"ครั้นต่อมาถึงกาลกำหนดที่ทำนายไว้ ให้บังเกิดไข้ห่าขึ้นที่เมืองหงษาวดี ผู้คนล้มตายมาก พระเจ้า ศรีธรรมโศกราชผู้ครองเมืองกับน้องชายชื่อ ธรนนท์ พาญาติวงศ์และไพร่พลสามหมื่นคนกับพระพุทธ คัมเภียร พระพุทธสาครผู้เป็นอาจารย์ เดินทางอพยพมาเจ็ดเดือนเศษถึงเขาชวาปราบ ก็ตั้งอยู่ ณ ที่นั้นแล้วให้สร้างวัดเวียงสระถวายแก่พระอาจารย์ทั้งสอง…"
ท่านพระครูอาทรสังวรกิจ เจ้าอาวาสวัดคลองท่อมได้เล่าว่าบริเวณควนลูกปัดนี้มีตำนานพื้นบ้านเล่ากันมาว่า
"เดิมบริเวณนี้เป็นเมือง เจ้าเมืองชื่อ ขุนสาแหระ บ้านเมืองเต็มไปด้วยความสุขสมบูรณ์ พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สินเงินทอง ไม่มีบุตรชายที่จะสืบสกุลต่อไป มีแต่ลูกสาวคนสวยเพียงคนเดียว
ขุนสาแหระรักและหวงลูกสาวคนนี้มาก พยายามอบรมสั่งสอนให้อยู่ในขนบธรรมเนียมที่ดีงามแต่ในที่สุดลูกสาวก็ทำให้พ่อแม่เสียใจเป็นอย่างมาก เพราะนางลอบไปได้เสียกับมหาดเล็กภายในวังขุนสาแหระ ผู้เป็นพ่อโกรธมาก ถึงกับจับเอาบุคคลทั้งสองขังไว้ใต้อุโมงค์ ด้วยความโกรธแค้นขุนสาแหระสั่งให้จุดไฟเผาเมืองเสียด้วย ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่นำไปไม่ได้ให้ทุบทำลายให้หมดสิ้น ไม่ต้องการให้เหลือไว้สำหรับใครอีกต่อไป คนรุ่นหลังเก็บได้ก็เป็นเพียงชิ้นส่วนเท่านั้น เมื่อเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมอดไหม้ไปกับ พระเพลิงแล้ว ขุนสาแหระก็ชักชวนบริวารอพยพต่อไปทางทิศตะวันออก แต่ก็ไม่ปรากฏว่าไปตั้งเมืองใหม่ ที่ใด"
ปัญหาที่น่าศึกษาต่อไปคือ บริเวณเชิงเขาชวาปราบคือบริเวณใด ในปัจจุบันเขาชวาปราบกับควนลูกปัดอยู่ห่างกันประมาณ 16 - 17 กิโลเมตร แต่ในสมัยก่อนลำคลองคงจะกว้างขวางมาก เรือใหญ่ ๆ คงจะผ่านไปมาสะดวก
นายประทุม ชุ่มเพ็งพันธ์ ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า เขาชวาปราบกับควนลูกปัด มีความสัมพันธ์กันด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ
1. เขาชวาปราบอยู่ใกล้กับเมืองคลองท่อมมากกว่า การเดินทางติดต่อทางบกทำได้ไม่ยาก และมีคลองสินปุนเป็นเส้นทางน้ำสำคัญที่สามารถเดินทางติดต่อกับเมืองเวียงสระ ฉวาง ลานสกา และนครศรีธรรมราชได้สะดวก
2. ตามตำนานท้องถิ่นของเมืองคลองท่อมที่กล่าวว่า เจ้าเมืองคลองท่อมมีลูกสาวสวยคนโปรดคนหนึ่ง ลูกสาวเกิดมีชู้จึงเสียใจ โกรธมาก ได้ฆ่าลูกสาวและชายชู้แล้วฝังรวมกับทรัพย์สมบัติมหาศาลไว้ที่ใต้ควนลูกปัด (ที่ตั้งเมืองหรือเมืองท่า) เผาบ้านเมืองพินาศแล้วจึงอพยพเดินทางหายสาบสูญไปทางทิศตะวันออกซึ่งอาจเป็นการอพยพมาอยู่เขาชวาปราบก็ได้ บนเขาชวาปราบเป็นที่ราบเรียบโล่งเตียน เชื่อกันว่าพวกชวาเป็นผู้มาถากถางปรับที่คล้ายกับจะตั้งเมืองหรือทำอะไรสักอย่าง มีผู้พบเศษกระเบื้องถ้วยชามบ้าง
3. จากคลองท่อมมีเส้นทางคมนาคมติดต่อกับเมืองที่ตั้งอยู่ฝั่งทะเลตะวันออกได้ คือเดินบกไปลงคลองสินปุน (ถ้าไม่ข้ามคลองลัดผ่านย่านทุ่งใหญ่ ไปทุ่งสงหรือฉวาง) แล้วล่องไปตามลำน้ำไปเวียงสระได้อย่างสะดวกมาก จากเวียงสระจึงไปฝั่ง ทะเลตะวันออก เช่น สิชล ท่าศาลา และนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นที่ราบชายฝั่งทะเลยาวเหยียด เป็นแหล่งที่ตั้งชุมชนโบราณตลอดชายฝั่งทะเล
ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงเชื่อว่าเมืองคลองท่อมน่าจะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเมืองเวียงสระ โดยเมืองคลองท่อมทำหน้าที่เป็นท่าเรือ เป็นประตู (GATEWAY) ทางฝั่งทะเลตะวันตก เพื่อนำไปสู่เมืองเวียงสระและพุนพิน ที่ปากแม่นํ้าตาปี (แม่น้ำหลวง)"
การล่มสลายของเมืองคลองท่อมที่ควนลูกปัด จะเป็นไปด้วยสาเหตุข้อใดไม่มีใครทราบ แต่จากหลักฐานต่าง ๆ ที่พบในบริเวณนี้บ่งบอกให้ทราบว่า เมืองนี้มิได้ร้างไปตามกาลเวลา แต่เป็นการถูกทำลายด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเป็นแน่ จากข้อสังเกต
1. ถ้าขุดดินลึกลงไปมาก ๆ สภาพดินคล้ายกับถูกเผาหรือถูกเพลิงไหม้มาก่อน
2. วัตถุต่าง ๆ ที่ขุดพบไม่ว่าจะเป็นลูกปัด แก้วสี เครื่องดินเผา เครื่องประดับ จะหาส่วนที่สมบูรณ์ได้ยาก แม้แต่ขวานหินที่พบที่ควนลูกปัดจะหักชำรุดเกือบทั้งสิ้น คล้ายกับว่าเจ้าของเดิมทุบทำลายก่อนอพยพหนีข้าศึก บ้านเมืองก็เผาผลาญเสียหมดสิ้นมิให้ใครเอาไปใช้ประโยชน์ได้อีก ข้อน่าสังเกตบางหลุมที่ขุดพบชิ้นส่วนกำไลขนาดใหญ่จำนวนมาก แต่ไม่สามารถนำมาต่อกันเข้าได้เลย ถ้าจะนำชิ้นส่วนมาต่อกันได้ก็มักจะเป็นชิ้นส่วนซึ่งได้จากหลุมที่อยู่ห่างไกลออกไป เหมือนกับว่าเมื่อทุบทำลายแล้วนำไปทิ้งคนละทิศคนละทาง
ท่านพระครูอาทรสังวรกิจให้ความเห็นเรื่องชื่อ "คลองท่อม" ว่าน่าจะมาจากชื่อ "คลองทุ่ม (ทิ้ง)" หมายถึง บ้านเมืองที่ทิ้งร้างเสียหรือทุ่มบ้านทุ่มเมือง คลองท่อมเป็นแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่านควนลูกปัด ลำคลองคดเคี้ยวมากมีวังน้ำวนอยู่ 2 แห่ง คือ วังแก้มซอนกับวังผี วังแก้มซอนน้ำลึกมาก เคยพบซากเรือโบราณเมื่อปี 2501 ชื่อวังนี้แต่เดิมอาจเป็นวังแกล้งซ่อนก็เป็นได้ คือ ซ่อนสมบัติทรัพย์สินเงินทองเอาไว้ ส่วนวังผีก็เป็นวังน้ำลึก เล่ากันว่าถ้าจับสัตว์น้ำจากวังนี้ไปกินเป็นอาหารจะเกิดอาเพศเหตุการณ์ต่างๆ ในวังทั้งสองมีวัตถุโบราณจมอยู่มาก เรือบรรทุกสมบัติอาจล่มลง ณ ที่นี้ก็เป็นได้ วังผีจึงเปรียบเสมือน "ปู่โสมเฝ้าทรัพย์" นั่นเอง ซึ่งทรัพย์สมบัติเหล่านั้นยังหลงเหลือมาจนกระทั่งทุกวันนี้
ปัจจุบันคลองท่อมกำลังจะถูกทอดทิ้งเช่นกับอดีต วัตถุโบราณที่หลงเหลือกำลังถูกทำลายครั้งสุดท้าย และในครั้งนี้จะไม่มีอะไรเหลือไว้ให้นักศึกษาค้นคว้าอีกเลยเพราะลูกหลานไทยกำลังขายอดีตของตนไปสู่มือพ่อค้า แม้แต่ "ปู่โสมเฝ้าทรัพย์" ก็ไม่สามารถจะพิทักษ์ทรัพย์สินเหล่านี้ไว้ได้
กระบี่ในอาณาจักรนครศรีธรรมราช
ชุมชนนครศรีธรรมราช ณ หาดทรายแก้วจะมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานเด่นชัด ทราบแต่เพียงในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่า พระยาศรีธรรมโศกราชเป็นผู้สร้างเมืองนี้และปรากฏชื่อในคัมภีร์มหานิเทศติสสเมตเตยยสูตร เรียกเมืองนี้ว่า "ตามพรลิงค์" หรือ “ตมฺพลิงฺคมฺ" ในจดหมายเหตุจีนของหลวงจีนอี้จิง เรียกว่า "ตั้งมาหลิง"
เมื่อได้จัดการปกครองมั่นคงแล้ว ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางไปโดยรอบ ดังปรากฏในปูมโหรว่า มีเมือง 12 นักษัตร ใช้รูปสัตว์ต่าง ๆ เป็นตราประจำเมืองขึ้นต่อนครศรีธรรมราชโดยตรง คือ

เมืองสายบุรี
ตราหนู

เมืองตรัง
ตราม้า
เมืองปัตตานี
ตราวัว

เมืองชุมพร
ตราแพะ
เมืองกะลันตัน
ตราเสือ

เมืองบันไทยสมอ
ตราลิง
เมืองปะหัง
ตรากระต่าย

เมืองสะอุเลา (สงขลา)
ตราไก่
เมืองไทรบุรี
ตรางูใหญ่

เมืองตะกั่วป่า,ถลาง
ตราหมา
เมืองพัทลุง
ตรางูเล็ก

เมืองกระ (บุรี)
ตราหมู

นักค้นคว้าทางโบราณคดีให้ความเห็นว่า เมืองกระบี่นั้นมิได้เป็นเมืองใหม่เลย มีสภาพเป็นบ้านเมืองแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 900 เป็นย่านปากน้ำสำคัญไปสู่สุราษฎร์ธานีได้ และเมืองกระบี่ในสมัย มหาอาณาจักรดินแดง (คำว่ามหาอาณาจักรดินแดง หรือ ตามพรลิงค์ ธรรมธาส พานิช ให้ความเห็นว่า หมายถึงคำไทยว่า ไข่แดงคนไทยภาคใต้ตั้งชื่อเด็กเล่น ๆ ว่า นายไข่, นายไข่แดง, นายไข่ดำ, และไม่ถือว่าเป็นคำหยาบ นายไข่แดงเมื่อขึ้นเสวยราชย์จึงมีพระนามว่า ท้าวไข่แดงและกลายเป็นชื่อนครนี้ตั้งแต่ราว พ.ศ. 900 - 1800 คือ ประมาณ พันปี) ก็เป็นเมือง 12 นักษัตร ชื่อว่า "บันไทยสมอ" หรือ "ปันท้ายหมอ" ใช้ตราลิง คำว่า "กระบี่" ไม่ใช่คำใหม่แต่มีมานานแล้ว เช่น คลองกระบี่ใหญ่ กระบี่น้อย เมืองปากาไส คำว่า "ปากา" แปลว่า "กระบี่" คือ ดาบ
การได้ชื่อว่า "บันไทยสมอ" นั้นเป็นคำเรียกเพี้ยนมาจากชื่อบ้านเมืองที่ตั้งขึ้นจากสภาพความเป็นอยู่ของท้องถิ่นภาษาไทยปักษ์ใต้ ในจังหวัดกระบี่มีบ้านหนึ่งชื่อ "บ้านไสไทย" คำว่า "ไส" เป็นคำเรียกชื่อแหล่งบ้าน ที่อยู่ ที่ทำกิน ซึ่งหักร้างถางพงในการเพาะปลูกหรือทำไร่มาแล้ว ต่อจากบ้าน ไสไทยมีบึงใหญ่เรียกกันว่า "หนองเล" ต่อจากนั้นไปเรียกว่า "บ้านในสระ" คำว่า "สมอ" คือ น้ำเต็ม ปริ่มสระ ทั้งนี้เป็นคำไทยปักษ์ใต้ บ้าน (ไส) ไทยส(ระ)มอ เห็นว่า บ้านเป็น "บัน" เพราะพูดเสียงห้วนไป แล้ว "ไส" ขาดตกไป เป็น "บันไทย" และ "บัน" คือ เมืองที่อยู่, ที่สำนัก เมื่อเป็น บันไทยสมอ คือ "บ้านไทยที่มีสระน้ำมอปริ่ม"
การที่นักค้นคว้าเหล่านี้ให้ความเห็นว่ากระบี่เป็นบ้านเมืองแล้วมาตั้งแต่ พ.ศ. 900 นั้น คงจะพิจารณาจากหลักฐานต่าง ๆ ที่ค้นพบ เช่น หลักฐานจากควนลูกปัด ก็ดี พระพุทธรูป พระพิมพ์ รูปปฏิมากรรมอื่นๆ ที่พบตามถ้ำต่าง ๆ ในจังหวัดกระบี่มีมากมาย ชาวกระบี่หลายท่านที่ค้นพบรูปประติมากรรมต่าง ๆ ที่นำมาเก็บรักษาไว้เป็นส่วนตัว ที่พบมากได้แก่ รูปฤๅษีสร้างด้วยโลหะ ส่วนพระพิมพ์นั้นมักจะเป็นพระพิมพ์ดินดิบเป็นแบบคุปตะ ก็เข้าเค้ากับหลักฐานที่ว่า ในศตวรรษที่ 4 แห่ง คริสตกาล (ราว พ.ศ. 900) งานออกแสวงหาดินแดนเพื่อตั้งบ้านเมืองของชาติอินเดียได้เป็นไปอย่างกว้างขวางทั่วดินแดนสุวรรณภูมิ
ในราว พ.ศ. 1000 เป็นที่เชื่อได้ว่า พวกอินเดียทางบริเวณปากน้ำคงคาได้มายังสุวรรณทวีป เพราะปรากฏว่าพระพุทธรูปแบบคุปตะมีอยู่ทั่วไปตลอดแหลมมลายู เกิดอาณาจักรต่างๆ ขึ้นมามากมาย พวกนี้ได้นำเอานักบวช ช่างปฏิมากรรมมาด้วย อันเป็นเหตุให้เกิดพระพุทธรูป เทวรูป และ รูปประติมากรรมอื่น ๆ ส่วนสภาพเมืองเล็กๆ ในสมัยก่อนคงไม่มีสิ่งก่อสร้างที่ถาวร นอกจากใช้วัสดุพื้นเมือง จึงไม่ค่อยจะเหลือหลักฐานอะไรมากมายในด้านการก่อสร้าง
บทบาททางการเมืองของกระบี่ในประวัติศาสตร์ไม่มีอะไรมากนัก ทั้งนี้เพราะผนวกอยู่กับอาณาจักรนครศรีธรรมราชมาตลอดจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จากการแสวงหาดินแดนของชาวอินเดีย ซึ่งต่อมาทำให้อาณาจักรนครศรีธรรมราชต้องประสบศึกใหญ่ที่ต้องเดือดร้อนกันทั่วไป คือ เมื่อราเชนทร์โจฬะกษัตริย์อินเดียใต้ยกทัพมาตีแหลมไทเมื่อ พ.ศ. 1567 อาณาจักรไทยทางใต้ คือ อาณาจักรตามพรลิงค์หรือเมืองนครศรีธรรมราชต้องตกเป็นประเทศราชของเป็นเวลาถึง 20 ปี กล่าวกันว่าในด้านฝั่ง ทะเลตะวันตกนี้ พวกอินเดียได้ยึดเอาเกาะศรีบอยาและเขาชวาปราบเป็นแหล่งที่ตั้ง ฐานทัพ เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่จะเข้าโจมตีเมืองที่อยู่ใกล้เคียงได้สะดวก นครศรีธรรมราชได้หลุดพ้นจากอำนาจการปกครองของอินเดียเมื่อ พ.ศ. 1587 ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัยเรืองอำนาจนครศรีธรรมราชก็เป็นรัฐของอาณาจักรศรีวิชัย เมื่อศรีวิชัยเสื่อมอาณาจักรนครศรีธรรมราชก็เป็นอิสระจนกระทั่งถึงสมัยไทยรวมไทย
พระภัทรศีลสังวร (ช่วง อัตถเวที) นักค้นคว้าทางโบราณคดีเมืองใต้อีกท่านหนึ่งให้ความเห็นเรื่องการรวมชาติไทยไว้ว่า
"เริ่มด้วยอาณาจักรอู่ทองตีอาณาจักรศิริธรรมพ่าย อาณาจักรสุโขทัยตีอาณาจักรอู่ทองพ่าย อาณาจักรศิริธรรมไม่ยอมอ่อนน้อม อาณาจักรสุโขทัยรวมกำลังอู่ทองยกลงมาตีอาณาจักรศิริธรรมพ่าย พ.ศ. 1823 ท่านบัณฑิตแต่งประวัติศาสตร์ไทยไม่เคยรู้เรื่องไทยใต้ ก็จับเอาเหตุที่พ่อขุนรามคำแหงกรีฑาทัพลงมาตีอาณาจักรศิริธรรมได้ตอนนี้ว่า คนไทยลงมาครอบครองแหลมไทยตอนใต้ในระยะเวลากาลนี้เสีย ก่อนจากนี้คนที่อยู่ในแหลมไทยตอนใต้เป็นแขกอินเดีย มอญ เขมร มลายู เขาครอบครองอยู่ เป็นอันว่าสุดแล้วแต่ท่านบัณฑิตจะเดาสวดเอา ตามที่จริงที่ถูกนั้นตอนระยะกาล พ.ศ.1823 เป็นเวลาที่ชนเผ่าเชื้อชาติไทยเกิดความรู้สึกว่าจะต้องรวมพวกตั้งเป็นประเทศชาติเพื่อความทรงอยู่ ดังที่เราทุกคนรับมรดกคือประเทศชาติอยู่บัดนี้ คนไทยได้มีอยู่ประจำถิ่นในแหลมไทยตอนใต้มาเป็นพันๆ ปีแล้ว ผู้แต่งประวัติศาสตร์ไทยถ้าเทียบกับการเล่นการพนันแล้ว แพ้จนกระทั่งกะถึงยกตายายให้เพื่อนหมด ตอนระยะกาลนี้เป็นเวลาที่ไทย 3 เส้า คือ อาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรอู่ทอง อาณาจักรศิริธรรม รวมกันเป็นเอกภาพ คือ เป็นไทยพวกเดียวกัน…"
สมัยกรุงศรีอยุธยา
ดังกล่าวมาแล้วว่าดินแดนที่เป็นจังหวัดกระบี่ในปัจจุบันขึ้นอยู่กับอาณาจักรนครศรีธรรมราช หรือ "ตามพรลิงค์" ซึ่งอาณาจักรเขตกว้างขวางทั้งสองฟากฝั่งทะเล ดังนี้
"ทิศเหนือจดเมืองมลิวัลย์ในจังหวัดมะริดของประเทศพม่าและจังหวัดชุมพร
ทิศตะวันออก จดทะเลอ่าวไทย
ทิศตะวันตก จดช่องมะละกาและทะเลอันดามัน
ทิศใต้จดเมืองปัตตานี (ลังกาสุกะ) และเมืองไทรบุรี (เกดาห์)"
อาณาเขตของนครศรีธรรมราชนี้ไม่แน่นอนตายตัว เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย บทบาททางการเมืองของกระบี่ในยุคกรุงศรีอยุธยานั้นไม่มี เพราะจะเป็นบทบาทของเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยพระรามาธิบดี ที่ 1 นครศรีธรรมราชอยู่ในฐานะ "เมืองประเทศราช" หรือ "เมืองพระยามหานคร" ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังกรุงศรีอยุธยา ประชากรของหัวเมืองปัก ษ์ใต้ครั้งนั้นก็คงจะไม่มากมายนักเพราะปรากฏว่าในสมัยพระราเมศวรได้มีการกวาดต้อนครัวเรือนทางเชียงใหม่มาไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราชและหัวเมืองใกล้เคียง
ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ นครศรีธรรมราชได้เปลี่ยนฐานะจากหัวเมืองพระยามหานครมาเป็นหัวเมืองเอก ให้เจ้าเมืองได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช จากความไม่สงบทางการเมืองทำให้เมืองนครศรีธรรมราชเป็นกบฏต่อกรุงศรีอยุธยา ๒ ครั้ง คือ ในสมัยพระเจ้าปราสาททองและสมัยพระเพทราชาเมื่อทางอยุธยาปราบนครศรีธรรมราชได้ก็ไม่สู้จะวางใจเมืองนครมากนัก เจ้าเมืองนครจึงถูกลดฐานะลงมาเป็น "ผู้รั้งเมือง" อยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาสมัยพระเจ้าบรมโกษฐ์ทรงเล็งเห็นว่าเมืองนครเป็นเมืองใหญ่ที่มีบทบาทควบคุมหัวเมืองทางปักษ์ใต้อยู่ เห็นควรแต่งตั้งระหว่างเมืองนครกับกรุงศรีอยุธยามาสิ้นสุดลงเมื่อเสียกรุงครั้งที่ 2 เจ้าเมืองนครก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ในนาม "ชุมนุม เจ้านครศรีธรรมราช"
เมืองกระบี่ในยุคนี้เป็นเพียงชุมชนเล็ก ๆ ที่มีประชาชนอาศัยอยู่กระจัดกระจายทั่วไป พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นป่าดงที่เต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์อยู่มากมาย รวมอยู่ในอาณาเขตเมืองนครศรีธรรมราช
สมัยกรุงธนบุรี
เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีกู้อิสรภาพและตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงแล้ว ได้ยกทัพไปปราบปรามชุมนุมต่างๆ ทั้งตั้งตัวเป็นใหญ่ และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาจักรี (แขก), พระยายมราช, พระยาศรีพิพัฒน์, พระยาเพชรบุรี ยกทัพมาตีชุมนุมเจ้านครด้วยเกรงว่าจะเกิดความยุ่งยากภายหลัง เพราะภาคใต้พรักพร้อมไปด้วยผู้คนและเสบียงอาหาร และอาณาเขตติดทะเลพอจะหาอาวุธได้ง่าย เมื่อปราบเมืองนครได้แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานเธอเจ้านราสุริวงค์มาครองตำแหน่งและยกฐานะเมืองนครเป็นประเทศราชมีอำนาจปกครองหัวเมืองมลายูและหัวเมืองชายทะเลหน้านอกทั้งหมด
เมื่อเจ้านราสุริวงค์ถึงแก่พิลาลัยแล้ว พระเจ้ากรุงธนจึงแต่งตั้งให้เจ้าพระยานคร (หนู) ซึ่งเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรีให้ไปครองนครตามเดิม ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองนครกับกรุงธนบุรีเป็นไปอย่างราบรื่นจนสิ้นสมัย
กระบี่ในสมัยนี้ก็ยังเป็นชุมนุมย่อย ๆ อยู่เช่นเดิมผนวกอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราชตลอดมา เมืองกระบี่ที่มีอาณาเขตเป็นของตนเองจริงๆ ก็ในราวสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ชุมชนแห่งนี้มี ผู้คนเข้ามาอาศัยมากขึ้นและกลายเป็นแขวงเมืองปกาสัย ดังจะได้กล่าวต่อไป
กระบี่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
แขวงเมืองปกาไส
ตามประวัติกล่าวว่าเมืองกระบี่แต่เดิมเรียกว่า "เมืองกาไส" หรือ "แขวงเมืองปกาไส" ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช แขวงเมืองปกาไสนี้เกิดเป็นชุมชนขึ้นจากเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช โปรดให้พระปลัดเมืองมาตั้งเพนียดจับช้างเพื่อส่งไปเมืองนคร กระบี่ในสมัยนั้นคงจะเต็มไปด้วยป่าทึกอุดมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช้างซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ช้างนอกจากจะจับมาเพื่อใช้งานแล้วยังส่งไปจำหน่ายต่างประเทศอีกด้วย ท่าเรือที่สำคัญในการส่งช้างไปขายต่างประเทศ ได้แก่ เมืองตรัง
นายมานิต วัลลิโภดม กล่าวถึงเส้นทางสายนี้ไว้ว่า
"เรือสินค้าย่อมขึ้นล่องตามลำนํ้าถึงเมืองตรังยุคแรกหรือยุคกรุงธานีได้สะดวกสบาย จากนั้นขนถ่ายสินค้าขึ้นบกแล้วลำเลียงไปด้วยกำลังสัตว์ เช่น ช้าง หรือล้อเลื่อนเดินทางไปยังหมู่บ้าน (ทะ) เล ในอำเภอทุ่งสง แล้วขนถ่ายลงเรือที่คลองสินปูนล่องเข้าแม่นํ้าหลวงไปยังอ่าวบ้านดอน นำขึ้นบรรทุกเรือสำเภาที่ค้าขายทางทะเลจีนและโดยทำนองเดียวกันขนถ่ายจากอ่าวบ้านดอนไปปากนํ้าตรังทางมหาสมุทรอินเดีย หากไม่ลงเรือที่คลองสินปูนจะลำเลียงทางบกผ่านทุ่งสง - ร่อนพิบูลย์ ไปชายฝั่ง เปริเมาลาอันภายหลังต่อมาเป็นที่ตั้งเมืองนครศรีธรรมราชก็ได้ ทางสายนี้ข้าพเจ้าเรียกว่า "เส้นทางเจ้าพระยานครค้าช้าง" ก็เป็นที่รู้จักกันดี…"
เส้นทางอีกสายหนึ่งที่เชื่อกันว่าเป็นทางค้าขายโบราณ ได้แก่ บริเวณอำเภออ่าวลึกไปออกแม่น้ำตาปีได้เช่นกัน ทางนี้แต่เดิมเรียกกันว่า "ปากพนม" ท้องที่ปากพนมนั้น ในหนังสือประชุมพงศาวดาร เล่ม 2 กล่าวว่า
"ท้องที่ปากพนมข้างฝ่ายใต้ลงไปต่อกับเมืองกาญจนดิฐเทียมคลองบางจาก ปากคลองบางจากลงไปข้างใต้นํ้าเป็นที่เมืองกาญจนดิฐ อำเภอขวัญ คลองบางจากระยะกับบ้านวังตาขุนไปหน่อยหนึ่งฝ่ายข้างเหนือน้ำตามลำคลองศกขึ้นไปเพียงคลองขนายฤๅษี ปลายคลองขนายฤๅษีไปจดภูเขาศก ปลายภูเขาศกข้างหัวนอนเป็นที่เมืองตะกั่วป่า อำเภอขุนภักดีคงคา ปากภูเขาศกข้างใต้สตีนเป็น ที่พนม.."
บริเวณดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอปากลาว จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งต่อมาเมื่อมีการปักปันเขตจังหวัดเป็นที่แน่นอนภายหลังได้รวมเอาท้องที่ปากลาวบางส่วนมาขึ้นกับจังหวัดกระบี่ คือ อำเภออ่าวลึกและอำเภอปลายพระยาในปัจจุบัน แต่เดิมเรือที่แล่นจะมาจอดที่บ้านปากลาว แล้วตรงไปยังบ้านปากพนมซึ่งเป็นจุดรวมของคลอง 2 สาย คือ คลองลึกและคลองพนม ข้ามลำคลองผ่านไปหลายตำบลล่องไปตามแม่น้ำพุมดวงไปออกแม่น้ำตาปีที่อ่าวบ้านดอน เส้นทางตัดข้ามแหลมมลายูสายนี้อาจเดินบกได้โดยสะดวกตลอด เพราะเป็นเส้นทางเดินกันมาก่อน การเดินทัพข้ามแหลมและการเดินทางไปตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายใต้ของเจ้านายฝ่ายปกครองสมัยก่อนก็ใช้เส้นทางนี้
สำหรับเจ้าพระยานครที่มีชื่อเสียงมากในเรื่องการปกครอง การทูตและการค้าของเมืองนครนั้น ได้แก่ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ซึ่งปกครองเมืองนครประมาณปี พ.ศ.2354 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สันนิษฐานว่าชุมชนของพระปลัดเมืองที่มาตั้งเพนียดจับช้างคงจะเกิดขึ้นในช่วงระยะนี้ กิจการค้าช้างของเจ้าพระยานครฯ คงจะก้าวหน้ามาก เพราะสามารถต่อเรือขนาดใหญ่ได้ ตามประวัติกล่าวว่า
"เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) มีความเชี่ยวชาญในการต่อเรือมาก คือ ได้ต่อเรือกำปั่นหลวงสำหรับบรรทุกช้างไปขายต่างประเทศ ทำให้ประเทศชาติมีรายได้มาก และที่สำคัญคือ ได้ต่อเรือรบขนาดย่อมไปจนถึงเรือรบขนาดใหญ่ที่ต้องใช้กรรเชียง 2 ชั้น เรือรบที่ต่อก็มีขนาดใหญ่กว่าที่เคยปรากฏมาก่อน เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ต่อเรือรบและเรือลาดตระเวนเหล่านี้ที่เมืองตรังและเมืองสตูลเมื่อ พ.ศ.2352 – 2354 ครั้งหนึ่ง อีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2364 - 2366 ได้ต่อเรือรบถึง 150 ลำ.."
คณะของพระปลัดได้มาตั้งเพนียดจับช้างอยู่เป็นเวลานาน ผู้คนก็อพยพตามเข้าไปตั้งหลักแหล่งหักร้างถางพงมากขึ้นจนกลายเป็นชุมชนใหญ่ ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเมืองน้อยๆ เรียกว่า "แขวงเมืองกาไส" หรือ "ปกาไส" (สังเกตคำว่าปกาไส มีการเขียนลักลั่นกันหลายแบบ เป็นต้นว่า ปกาไส ปกาสัย ปากาสัย หรือ ปกาไสย นั้น เพราะคงตัวสะกดไว้ตามต้นฉบับเดิมที่ได้คัดลอกข้อความมาทุกประการ แต่คำที่ใช้เขียนเป็นภาษาราชการในปัจจุบันนั้น สะกดว่า ปกาสัย เป็นตำบลขึ้นอยู่กับอำเภอเมืองกระบี่)
จากปกาไสถึงกระบี่
ต่อมาในปี พ.ศ. 2415 ตรงกับสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่าแขวงเมืองปกาไสมีผู้คนมากขึ้น มีความเจริญพอสมควรที่จะยกฐานะเป็นเมืองได้ จึงโปรดฯ ให้ยกเป็นเมืองหรือจังหวัด ชื่อว่า "กระบี่" ในครั้งแรกมี 4 อำเภอ คือ
1. อำเภอปากลาว (เดิมขึ้นอยู่กับจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลนาเหนืออำเภออ่าวลึก)
2. อำเภอคลองพน
3. อำเภอเกาะลันตา
4. อำเภอเมือง
ซึ่งอำเภอนี้ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง คือ จากอำเภอปากลาว เป็นอำเภออ่าวลึก จากอำเภอคลองพนเป็นอำเภอคลองท่อม ตั้งศาลากลางซึ่งเป็นที่ทำการรัฐบาลที่บ้านตลาดเก่า ตำบลกระบี่ใหญ่ แต่โดยฐานะของเมืองยังคงเป็นเมืองออกขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีหลวงเทพเสนาเป็น เจ้าเมืองคนแรก ต่อมาอีก 3 ปี คือ พ.ศ.2418 โปรดฯ ให้เมืองกระบี่เป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร
ในปี พ.ศ. 2443 พระยาคงคาธาราธิบดี ครั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็น "พระพนธิพยุหสงคราม" ได้ย้ายเมืองมาตั้ง ณ ตำบลปากน้ำ คือ ตัวจังหวัดในปัจจุบัน ความเจริญเติบโตของเมืองเป็นไปอย่างล่าช้ามาก จะเป็นด้วยมีทรัพยากรน้อยไปก็เป็นได้ สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในจดหมายเหตุเมื่อคราวเสด็จประพาสเมืองกระบี่ เมื่อ พ.ศ. 2452 ตอนหนึ่งว่า
"ครั้นเวลา 4 โมงเศษ เรือทอดสมอที่หน้าจวน พระแก้วโกรพ ผู้ว่าราชการเมืองกระบี่ได้ลงไปเฝ้าในเรือ เชิญเสด็จขึ้นบก เสด็จไปขึ้นที่ตะพานเจ้าฟ้า ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์ได้ประทานนามไว้ข้าราชการเฝ้าแล้ว ได้เลยเสด็จทอดพระเนตรสถานที่ราชการต่างๆ ซึ่งทำเป็นที่ใช้ ชั่วคราวทั้งสิ้น เรือนจำตามบรรดาที่เคยเห็นมาแล้วยังไม่เห็นแห่งใดที่รูปร่างเป็นคุกน้อยเท่าเรือนจำที่เมืองกระบี่นี้เลย อย่าว่าแต่กำแพงแม้แต่รั้วก็ไม่มีล้อม แต่ถึงเช่นนั้นก็เห็นจะไม่ทำให้ผู้ที่ต้องไปถูกขังอยู่ในนั้นรู้สึกเป็นคุกน้อยลงเลย ที่ตั้งเมืองอยู่เดี๋ยวนี้เรียกว่า ตำบลบ้านปากน้ำ เมืองอยู่บนเนินริมน้ำ ที่อยู่ข้างจะแจ้งอยู่สักหน่อย ตลาดก็เหี่ยวเหลือที่จะเหี่ยว…"
คาว่า "กระบี่"
ตราประจำจังหวัดของกระบี่เป็นรูปภูเขาและมีดาบไขว้ ตามความหมาย "กระบี่" คือ ดาบ แต่อย่างไรก็ตามชื่อบ้านนามเมืองเกือบทุกแห่งมักจะมีแหล่งที่มา หรือไม่ก็มักจะมีนิทานปรัมปราของพื้นเมืองเข้ามาประกอบอยู่เสมอ ผู้แต่งอาจจะแต่งขึ้นภายหลังเพื่อให้สอดคล้องกับสถานที่ก็เป็นได้ สำหรับสถานที่ในจังหวัดกระบี่ก็มีตำนานเก่าเล่ากันอยู่มากมาย จึงของยกเอานิทานท้องถิ่นที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชื่อกระบี่มาบันทึกลงไว้สัก 2 เรื่อง ดังนี้
ตำนานอ่าวพระนาง
กาลครั้งหนึ่งยังมีหมู่บ้านใหญ่ 2 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเล บ้านหนึ่งมีหัวหน้าชื่อ ตายมดึง เมียชื่อ ยายรำพึง อีกบ้านหนึ่งหัวหน้าชื่อ ตาวาปราบ เมียชื่อ บามัย มีลูกชายชื่อ "บุญ" ทั้งสองหมู่บ้านเป็นอริต่อกัน
ยายรำพึงนั้นอยากจะได้ลูกสาวไว้เชยชมสักคนหนึ่ง จึงไปบนบานศาลกล่าว ร้อนถึงพญานาคผู้เป็นเจ้ารักษาทองทะเลมาบันดาลให้ยายรำพึงมีลูกสาวได้สมปรารถนา แต่มีข้อแม้ว่าเมื่อนางเป็นสาวแล้วจะต้องให้แต่งงานกับลูกชายของตนซึ่งมักแปลงกายเป็นมนุษย์ขึ้นมาท่องเที่ยวอยู่เสมอ สองตายายก็รับสัญญา หลังจากนั้นไม่นานยายรำพึง ก็ได้ลูกสาวสมใจให้ชื่อว่า "นาง"
ต่อมาเมื่อลูก ๆ โตขึ้นเป็นหนุ่มสาว บุญซึ่งเป็นลูกชายของตาวาปราบก็ไปรักชอบกับ "นาง" อ้อนวอนให้ตาวาปราบไปขอคืนดีกับตายมดึง และขอให้ "นาง" ได้แต่งงานกับ "บุญ" ด้วยความรักลูก ตาวาปราบยอมลดทิฐิไปขอนาง ลูกสาวตายมดึง ฝ่ายตายมดึงก็อยากจะให้ลูกสาวแต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝาไปเสียที จึงตกลงยกลูกสาวให้ โดยลืมสัญญาที่ให้ไว้กับพญานาค
เมื่อวันแต่งงานมาถึงฝ่ายเจ้าบ่าวก็จัดกระบวนขันหมากยาวเหยียดมาทางชายทะเล นำโดยตาวาปราบสะพายดาบไว้บนบ่าทั้งซ้ายขวาเล่มหนึ่งใหญ่เล่มหนึ่งเล็ก ในขณะที่งานกำลังดำเนินไปด้วยความสนุกสนานนั้น เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น พญานาคที่แปลงกายมาเป็นมนุษย์ก็เข้าแย่งชิงเจ้าสาว เกิดวิวาทฆ่าฟันกันขึ้น ตายมดึงเห็นท่าไม่ดีก็พานางหนีไป ตาวาปราบเห็นเข้าก็โกรธ จึงดึงดาบเล่มใหญ่ขว้างไปหมายจะฆ่าตายมดึงแต่ไม่ถูก ดาบไปตกอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งจึงดึงดาบเล่มเล็กขว้างไปอีก ปรากฏว่าพลาดไปตกอยู่ในที่อีกแห่งหนึ่ง
หลังจากที่มีการฆ่าฟันกันอย่างดุเดือดนั้น ร้อนถึงพระฤๅษีซึ่งบำเพ็ญตบะอยู่ในถ้ำออกมาห้ามปรามแต่ไม่มีใครเชื่อฟังพระฤๅษีโกรธมาก จึงสาปให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นหิน ไม่ว่าจะเป็นผู้คน เครื่องใช้ บ้านเรือนก็กลายเป็นภูเขา เป็นถ้ำ เป็นเกาะแก่งในทะเลทั้งสิ้น เช่น บ้านเจ้าสาวกลายเป็นภูเขาที่อ่าวพระนาง เรือนหอกลายเป็นถ้ำ เรียกว่า ถ้ำพระนาง ข้าวเหนียวกวนที่นำมาเลี้ยงกันหกเรี่ยราดกลายเป็นเปลือกหอยทับถมในทะเลต่อมากลายเป็น สุสานหอย ฝ่ายพญานาคพยายามกระเสือกกระสนลงทะเลแต่ไปไม่ถึงกลายเป็นหินทางด้านเหนือชาวบ้านเรียกว่า หงอนนาค บริเวณที่พญานาคกลิ้งเกลือกกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่าหนองทะเล
นับจากนั้นเนิ่นนานเมื่อชาวบ้านมาตั้งถิ่นฐานเป็นแขวงเมืองปกาสัย สร้างบ้านแปลงเมืองเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น ชาวบ้านได้ขุดพบดาบโบราณใหญ่เล่มหนึ่งและนำมามอบให้เจ้าเมือง ต่อมาไม่นานชาวบ้านอีกแห่งหนึ่งก็ขุดพบดาบเล่มเล็กได้นำมามอบให้เจ้าเมืองเช่นเดียวกัน เจ้าเมืองพิจารณาเห็นว่าเป็นดาบสำคัญสมควรที่จะเก็บไว้คู่บ้านคู่เมือง ขณะนั้นยังสร้างเมืองไม่เสร็จเรียบร้อย จึงนำดาบทั้งคู่ไปเก็บไว้ที่ถ้ำเขาขนาบน้ำหน้าเมือง โดยเอาวางไขว้กันไว้ลักษณะนี้ จึงเป็นสัญลักษณ์ของตราประจำเมืองมาจนทุกวันนี้
ตำนานอ่าวพระนางมีเล่าแตกต่างไปจากนี้ก็มี คือ เล่าไปในทำนองเทพนิยาย ดังนี้
ณ บริเวณอ่าวพระนางนี้มีปราสาทหลังใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่เหนือขุนเขางดงามประหนึ่งแดนสวรรค์ ผู้ปกครองได้แก่พระนางผู้เลอโฉม จากความงามของนางนี้เองนำความกังวลใจมาสู่เทพยดาเกาะพีพีซึ่งเป็นพระเชษฐามากว่า จากความงามของน้องสาวอาจนำมาซึ่งอันตรายได้ จึงเตือนสติพระนางอยู่เป็นนิจ แต่นางหาได้เชื่อฟังไม่ เทพเจ้าพีพีก็เดินทางกลับไป
เมื่อเทพยดาผู้พี่กลับไปแล้ว พระนางก็นึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา เทพยดาประเด๊ะเป็นผู้หนึ่งที่มีความเสน่หาในพระนาง ปรารถนาจะได้พระนางไปเป็นคู่ แต่นางปฏิเสธ ทำให้เทพยดาประเด๊ะโกรธมาก และลั่นวาจาไว้ว่า ถ้าพระนางไม่รักเราก็จะรักใครไม่ได้เช่นกัน เราจะฆ่าทุกคนที่ได้พระนางไป ท่านประเด๊ะกลับไปพร้อมกับพระนางคิดไปถึงเทพยดาเกาะปูที่ต้องการซื้อความรักจากพระนางด้วยทรัพย์สมบัติมหาศาล แต่พระนางปฏิเสธไปอีกราย
และแล้ววันหนึ่งเทพยดาเกาะหัวขวานก็มาเยือน พร้อมกับเจ้งความประสงค์ว่า เขาก็มีความต้องการพระนางเช่นเดียวกัน พร้อมกับยื่นคำขาดว่า ถ้าเขาต้องการสิ่งใดจะต้องได้ พระนางปฏิเสธทำให้เทพยดาหัวขวานโกรธมาก ตรงเข้ายื้อยุดฉุดพระนางจะเอาไปให้จงได้ ในขณะนั้นเอง เทพยดาเกาะนางนาคก็ปรากฏตัวขึ้นตรงเข้าขัดขวางและต่อสู้กันขึ้น ในที่สุดท่านหัวขวานก็พ่ายแพ้ไป จากความหวังดีของเทพยดาเกาะนางนาคนี่เองทำให้พระนางไม่สามารถปฏิเสธได้เหมือนรายอื่น ๆ
ดังนั้น ในโอกาสต่อมาสำเภาขบวนขันหมากจากเกาะนางนาคก็เดินทางมุ่งมายังปราสาทของพระนางแต่ในขณะเดียวกันสำเภาจากเทพยดาผู้ผิดหวังทั้งสามก็มุ่งหน้ามาด้วยในทิศทางอันเดียวกันเข้าสกัดทำลายสำเภาขันหมาก จึงเกิดการต่อสู้กันอย่างดุเดือด เบื้องหลังการต่อสู้ครั้งนี้ปรากฏว่าทุกสิ่งทุกอย่างพินาศลงโดยสิ้นเชิง ทะเลอ่าวพระนางแดงฉานไปด้วยเลือด น้ำพัดพาเอาร่างเทพยดาทั้ง 4 ไปใกล้ปราสาทที่อยู่ของพระนางได้กลายเป็นเกาะเล็กเกาะน้อยล้อมอ่าวไว้ เครื่องขันหมากน้ำได้พัดพาไปเกิดเป็นเกาะขันหมาก
ฝ่ายพระนางเมื่อสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างไปแล้ว ก็กลั้นใจตายกลายเป็นอ่าว ปราสาทของพระนางก็กลายเป็นถ้ำพระนาง ส่วนเทพยดาพีพีก็เกิดความเสียใจที่เหตุการณ์มาลงเอยเช่นนี้ น้องสาวก็สิ้นชีวิตลงก็เลยกลั้นใจตายตามไปอีกคน กลายเป็นเกาะพีพีซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลมากนัก
ตำนานเขาขนาบน้ำ
กาลครั้งหนึ่ง ณ เมืองแห่งหนึ่ง เจ้าเมืองมีธิดาสาวผู้โฉมงามเป็นที่หมายปองของบรรดาหนุ่ม ๆ ทั้งหลายทุกชาติทุกภาษา และแล้ววันหนึ่งเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อชายหนุ่มมนุษย์และยักษ์ผู้หลงใหลในธิดาเจ้าเมืองเกิดมาประจันหน้ากัน ทั้ง ๆ ที่อยู่คนละฝั่งแม่น้ำ แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็สำแดงฤทธิ์เดชเข้าห้ำหั่นกัน
แต่ในที่สุดก็ไม่มีใครที่ได้ธิดาเจ้าเมืองไปครอง ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายขว้างอาวุธคือ กระบี่เข้าหากันและทั้งสองฝ่ายต่างก็ถูกอาวุธด้วยกันทั้งคู่ ดาบของยักษ์ซึ่งโตมากก็ตกอยู่ ณ ที่ต่อสู้ ส่วนดาบของมนุษย์ซึ่งเล็กกว่าได้ปลิวไปตกยังอีกตำบลหนึ่ง ศพของทั้งสองได้กลายเป็นหินอยู่คนละฝั่งน้ำ คือ เขาขนาบน้ำในปัจจุบัน สถานที่ดาบเล่มโตตกอยู่คือ ตำบลกระบี่ใหญ่ สถานที่ดาบเล่มเล็กปลิวไปตกอยู่ คือ ตำบลกระบี่น้อยนั่นเอง
สำหรับคำว่า "กระบี่" มีผู้ให้ความเห็นแตกต่างกันไปหลายนัย ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
ประมาณปี พ.ศ. 2415 ชาวบ้านได้ขุดพบกระบี่โบราณที่บ้านนาหลวง ตำบลปกาสัย หลวงเทพเสนาซึ่งเป็นเจ้าเมืองในขณะนั้นได้นำทูลเกล้าถวายสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า และทรงพอพระราชหฤทัยมาก เมื่อยกฐานะแขวงเมืองปกาสัยขึ้นเป็นเมืองแล้ว จึงพระราชทานนามเมืองนี้ว่า "เมืองกระบี่"
คุณเยี่ยมยง สังขยุทธ์ สุรกิจบรรหาร ผู้สนใจทางโบราณคดีเมืองใต้ก็ให้ความเห็นว่า แขวงเมืองปากาไสนี้ในตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ว่า "เมืองไส" ก็เรียก คงคัดลอกตก "ปากา" ไป และคำว่า "ปากาไส" ก็แปลว่า เมืองกระบี่ คำว่า "ปากา" แปลว่า กระบี่ คือ ดาบ
บ้างก็ว่าคำว่า "กระบี่" มาจากภาษามลายู ซึ่งเป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง คือ "ต้นหลุ่มพี" มลายูเรียกว่า "กะลูบี" หรือ "คอโลบี" หรือ "กะรอบี" ต้นหลุ่มพีเป็นพืชในตระกูลสละหรือระกำ ซึ่งมีอยู่มากในอาณาเขตจังหวัดนี้ และในจังหวัดกระบี่ก็มีชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่จำนวนมากเช่นเดียวกัน ชื่อหมู่บ้าน ตำบลอีกหลายแห่งยังคงเป็นภาษามลายู ภายหลังก็เพี้ยนมาเป็น "กระบี่"
บางท่านก็ว่า คำว่า "กระบี่" เกิดจากการผิดเพี้ยนของตัวเขียนว่า
"กระบี่น่าจะมาจากคำว่า "กระบือ" เพราะว่าแต่เดิมนั้น การสะกดกระบือเขาเขียนว่า "กระบื" ไม่มีตัว ออ.ตาม เมื่อเขียนไปนาน ๆ เข้าก็กลายเป็น "กระบี่" ได้ เนื่องจากคนในสมัยก่อนนั้นยังมีการพัฒนาด้านการเขียนน้อยอยู่ ทั้งนี้ เพราะในเขตที่เป็นจังหวัดกระบี่มีกระบือมากจนเป็นที่นิยมของจังหวัดใกล้เคียงที่จะมาซื้อกระบือจากจังหวัดกระบี่ ในปัจจุบันกระบือก็ยังมีสถิติสูง (ปี 2519 มีประมาณ 25,807 ตัว) จึงเข้าใจว่าที่ได้ตั้งชื่อจังหวัดกระบี่ น่าจะมาจากคำว่า "กระบื" ก็ได้…"
เรื่องกระบือมีมากในจังหวัดกระบี่นั้นเห็นจะเป็นความจริง เคยปรากฏว่าเมื่อคราวที่สร้างวัดแก้วโกรวารามเสร็จแล้วไม่นาน จะหาพระภิกษุมาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดมิได้ เพราะสภาพความเป็นอยู่ลำบากมาก ในที่สุดทางจังหวัดได้นิมนต์พระครูธรรมวุธวิศิษฐ์จากจังหวัดภูเก็ตมาเป็นเจ้าคณะจังหวัด โดยจังหวัดได้จัดนิตยภัตรถวายเป็นพิเศษเดือนละ 30 บาท ถวายข้าวสารเดือนละ 1 กระสอบ น้ำมันก๊าดเดือนละ 1 ปีบ ปลาแห้ง ปลาเค็ม เดือนละ 1 กระสอบ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้โอนเงินค่าทำตั๋วกระบือมาใช้ในการนี้ทั้งได้จัดสร้างเกวียนและกระบือให้วัดด้วยเพื่อใช้บรรทุกของเหล่านี้จากศาลากลางจังหวัดมาวัดทุก ๆ เดือน ต่อมาปลายปี 2475  พระทวีธุระประศาสตร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดคนที่ 11 ได้พิจารณาว่า การนำเงินภาษีอากรค่าตั๋วกระบือไปบำรุงวัดนั้นทำให้สะพานกระบือชำรุด ไม่มีเงินบูรณะซ่อมแซม จึงโอนเงินนี้กลับมาบำรุงสะพานกระบือเสีย
คำว่า "กระบี่" มีคำแปลอีกอย่างที่น่าสนใจคือ ในความหมายที่แปลว่า "ลิง" ถ้าหากว่า ดินแดนเมืองกระบี่ก่อนแขวงเมืองปกาไสเป็นที่ตั้งของเมืองในนาม "เมืองบันไทยเสมอ" 1 ใน 12 เมืองนักษัตรขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราชจริงแล้ว เมืองบันไทยสมอใช้ตราลิงเป็นตราประจำเมือง โดยถือเอาความหมายแห่งเมืองหน้าด่านปราการ เพราะลิงในสมัยก่อนถือกันว่ามีความองอาจกล้าหาญเทียบเท่าทหารกองหน้า เช่น บรรดาลิงแห่งกองทัพพระราม เป็นต้น และในสภาพความเป็นจริงของเมืองกระบี่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ถ้าสืบถามคนเฒ่าคนแก่ของเมืองนี้ดู ก็ได้ความว่าลิงอยู่มากจริง แม้แต่บริเวณเกาะกลางหน้าเมืองกระบี่ก็เพิ่งจะหมดไปเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง แต่ปัจจุบันนี้เราแปลงความหมายของ "กระบี่" ว่า "ดาบ" ตามตราประจำจังหวัด

ประวัติศาสตร์จังหวัดกาญจนบุรี
ตราประจำจังหวัด

รูปด่านพระเจดีย์สามองค์
คำขวัญประจำจังหวัด
แคว้นโบราณ ด่านเจดีย์
มณีเมืองกาญจน์ สะพานข้ามแม่น้ำแคว แหล่งแร่น้ำตก

เมื่อกล่าวถึงจังหวัดกาญจนบุรี ใคร ๆ ย่อมรู้จักว่าเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญของไทย ลุ่มน้าไทรโยค (แควน้อย) และลุ่มน้ำศรีสวัสดิ์ (แควใหญ่) เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้าใสสะอาด สัตว์ป่าที่จะใช้เป็นอาหาร ในน้ำเต็มไปด้วย หอย ปู ปลา มีที่ราบบริเวณเชิงเขา ถ้ำ ตามริมแม่น้ำมีพื้นที่ทำการเพาะปลูกเหลือเฟือ ได้มีการขุดค้นพบเครื่องมือมนุษย์สมัยหินเก่าเครื่องมือหิน โครงกระดูกมนุษย์สมัยหินกลาง สมัยหินใหม่ที่บ้านเก่าจนถึงยุคโลหะตอนปลายที่บ้านดอนตาเพชร การพบตะเกียงโรมัน (อเล็กซานเดรีย) ที่ตำบลพงตึการพบปราสาทเมืองสิงห์ เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นหลักฐานที่แสดงว่าจังหวัดกาญจนบุรีเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมของมนุษย์ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน ต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี กาญจนบุรีมีฐานะเป็นเมืองด่านที่มีความสำคัญต่อการอยู่รอดของไทยอย่างมาก เหตุการณ์ที่ปรากฏ เช่น การเดินทัพผ่านด่านเจดีย์สามองค์ การรบที่ทุ่งลาดหญ้า ท่าดินแดง และสามสบ จวบจนการย้ายเมืองกาญจนบุรีมาตั้งที่ปากแพรกหรือลิ้นช้าง เหตุการณ์ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นได้ใช้เส้นทางยุทธศาสตร์สายนี้เกณฑ์เชลยศึกทำทางรถไฟไปพม่าซึ่งเรียกกันว่าทางรถไฟสายมรณะ ทำให้เชลยศึกต้องล้มตายเป็นจำนวนมากและฝังอยู่ที่สุสานทหารสหประชาชาติมาจนถึงสงครามอินโดจีน กาญจนบุรีเป็นดินแดนที่เป็นที่ฝึกซ้อมรบเพื่อเตรียมการรบในเวียดนาม ลาวและกัมพูชา ตลอดจนเรื่องราวของชนกลุ่มน้อยที่น่าสนใจ
สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ในขณะที่ความเชื่อว่าคนไทยเดิมอยู่ไหน กาลังเปลี่ยนแปลง จังหวัดกาญจนบุรีก็ได้รับการสนใจอย่างมาก เพราะจังหวัดกาญจนบุรีเป็นดินแดนที่พบร่องรอยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์มากที่สุดตั้งแต่ยุคหินเก่า หินกลาง หินใหม่ และยุคโลหะ ได้พบเครื่องมือเครื่องใช้ ภาชนะดินเผา โครงกระดูก เครื่องประดับ ตลอดจนซากพืชซากสัตว์ที่ละทิ้งไว้ตามพื้นดิน ในถ้ำเพิงผา แสดงว่าได้มีมนุษย์อาศัยอยู่เป็นเวลานานไม่แพ้แหล่งก่อนประวัติศาสตร์แหล่งอื่น ๆ ของโลก
ยุคหินเก่า (Paleolithic Period)
ร่องรอยของมนุษย์ในสมัยหินเก่า จากการสำรวจในประเทศไทยพบเครื่องมือหินกรวดโดยศาตราจารย์ฟริตซ์ สารแซง (Fritz Saracen) ได้เข้ามาสำรวจในปี พ.ศ.  2475 ที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดราชบุรี และจังหวัดลพบุรี จากการศึกษาพบเครื่องมือที่แท้เพียง 2 -  3 ก้อนเท่านั้น เรียกเครื่องมือหินเก่าที่พบในประเทศไทยว่า “Siaminian Culture” แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ
หลักฐานของยุคหินเก่าได้ปรากฏชัดเจนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกมาสร้างทางรถไฟจากหนองปลาดุกผ่านจังหวัดกาญจนบุรี ถึงเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า ในจำนวนเชลยศึกนี้มี ดร.แวน ฮีเกอเรน (Dr.Van Heekeren) ชาวฮอลันดา เขาได้พบเครื่องมือหินบริเวณใกล้สถานีบ้านเก่าหลายชิ้น หลังสงครามโลกได้นำไปให้ศาสตราจารย์โมเวียสแห่งสถาบันพีบอดี้มิวเซียม (Peabody Museum) มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ปรากฏว่าเป็นเครื่องมือสมัยหินเก่าตอนต้น 3 ก้อน เครื่องมือหินกะเทาะหน้าเดียว 6 ก้อน และขวานหินขัดสมัยหินใหม่ 2 ก้อน ให้ชื่อว่า วัฒนธรรมแฟงน้อย หรือเฟงน้อยเอียน” (Fingnoian Culture) บางท่านเรียกว่า วัฒนธรรมบ้านเก่า” (Ban-Khaoian Culture) ในปี พ.ศ. 2499 ศาสตราจารย์โมเวียส ได้ส่งลูกศิษย์มาทำการสำรวจโดยร่วมมือกับกรมศิลปากรทาการสำรวจบริเวณหมู่บ้านเก่า จนถึงวังโพ ได้พบเครื่องมือหินกรวด 104 ก้อน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 คณะสำรวจไทยเดนมาร์ก ได้ทำการสำรวจพบเครื่องมือหินเก่าที่บริเวณทุ่งผักหวาน จันเด ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ และที่บ้านท่ามะนาว ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จากเครื่องมือนี้พอสรุปได้ว่า คนสมัยหินเก่าที่จังหวัดกาญจนบุรี น่าจะเป็นพวกมนุษย์วานรหรือพวกออสตราลอยด์ แต่ก็มีปัญหาว่าพวกนี้อพยพมาจากที่ใด
เครื่องมือหินที่พบในจังหวัดกาญจนบุรีนี้ เป็นหินกะเทาะหน้าเดียวประเภทเครื่องขุดและสับตัด (Chopper-chopping tools) ยังไม่ปรากฏว่าได้พบโครงกระดูกของมนุษย์สมัยนี้เลย ผู้ที่สนใจและทำการสำรวจเรื่องราวของยุคหินเก่าในปัจจุบัน ก็มีคณะของศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในปี พ.ศ. 2524 ท่านได้พบเครื่องมือหินกรวดสมัยหินเก่า ตามริมแม่น้ำ ตามถ้ำของแม่น้ำแควน้อยใกล้ไทรโยคเป็นจำนวนมาก
จากร่องรอยของมนุษย์สมัยหินเก่าที่จังหวัดกาญจนบุรีนี้ ยังไม่มีการสำรวจอย่างจริงจัง ซึ่งต้องพบหลักฐานมากกว่านี้ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ต้นแม่น้ำทั้งสองของจังหวัดกาญจนบุรี คือ แม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแควใหญ่ ได้ถูกน้ำท่วมเพราะการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนเขาแหลมในปัจจุบัน
ยุคหินกลาง (Mesolithic Period)
จากหลักฐานที่พบว่า เครื่องมือที่พบหลายแห่งในจังหวัดกาญจนบุรี เป็นแบบวัฒนธรรม โฮบิเนียน (Haobinhian Culture) จากการสำรวจของคณะไทย-เดนมาร์กเมื่อปี พ.ศ. 2504 ที่ถ้ำเพิงผาหน้าถ้ำพระขอม ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค พบครื่องมือหินกรวดจำนวนมาก และได้พบโครงกระดูกของผู้ใหญ่ 1 โครง ในระดับลึกจากเพิงผา 110 - 130 เซนติเมตร โดยกระดูกนั้นอยู่ในลักษณะนอนหงายชันเข่าอยู่บนก้อนหินใหญ่แห่งหนึ่งในแนวเกือบขนานกับผนังเพิงผา นอนหันหน้าไปด้านขวามือ ศีรษะหันไปทางทิศเหนือฝ่ามือขวาอยู่ใต้คาง แขนท่อนซ้ายวางพาดอก ที่บริเวณส่วนบนของร่าง และบริเวณทรวงอกมีหินควอทซ์ไซท์ก้อนใหญ่วางทับอยู่ตอนเหนือศีรษะและร่างมีดินสีแดงโรยอยู่ แสดงว่ามีพิธีกรรมเกี่ยวกับการฝังศพ พบกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวางอยู่บนทรวงอก เปลือกหอยกาบวางอยู่บนร่างหรือใกล้กับร่าง ที่บนแขนขวามีเปลือกหอยทะเลอยู่ 2 ชิ้น เป็นเรื่องน่าแปลกว่าเปลือกหอยทะเลคู่นี้มาได้อย่างไร จัดว่าโครงกระดูกคนสมัยหินกลาง โครงนี้เป็นโครงกระดูกที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย ปัจจุบันโครงกระดูกนี้ถูกส่งกลับมาจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติโคเปนเฮเกน มาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์โรงพยาบาลศิริราช
นอกจากนี้ ยังพบเครื่องมือหินกะเทาะที่ประณีตขึ้น เป็นเครื่องมือหินอย่างหยาบ ชั้นบนทำเล็กลงและฝีมือดีขึ้น แต่ความก้าวหน้าในการทำเครื่องมือยังช้ามาก เครื่องมือหินนี้จัดอยู่ในวัฒนธรรมโฮบิเนียน เพราะพบครั้งแรกที่ประเทศเวียดนาม ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสมัยนี้อาศัยอยู่ตามถ้ำ เพิงผาใกล้ห้วยลำธาร ไม่ไกลจากแม่น้ำที่มีหินกรวด คนพวกนี้ล่าสัตว์ เก็บผลไม้หาปลา จากการพบกระดูกสัตว์ที่ปนอยู่กับเครื่องมือหินพบว่าคนสมัยนั้นกินหมู กวาง หมี ลิง หอย ปลา ปู เต่าเป็นอาหารและรู้จักการก่อไฟหุงอาหาร
หลักฐานที่พบเกี่ยวกับมนุษย์สมัยหินกลางที่จังหวัดกาญจนบุรี มีดังนี้
1. บริเวณบ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมืองกาญจนบุรี
2. ที่ถ้ำใกล้สถานีวังโพ อำเภอไทรโยค
3. ที่ถ้ำจันเด ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ
4. ที่บริเวณบ้านท่ามะนาว อำเภอเมืองกาญจนบุรี
5. ถ้ำองบะ อำเภอศรีสวัสดิ์
6. บริเวณถ้ำเม่น ถ้ำเขาทะลุ ถ้ำเพชรคูหา ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมืองกาญจนบุรี
7. ที่ถ้ำพระขอม อำเภอไทรโยค
จากหลักฐานที่พบโครงกระดูกและเครื่องมือหิน ซากพืชและสัตว์ จึงยืนยันได้ว่าจังหวัดกาญจนบุรี เป็นดินแดนที่มนุษย์ได้เคยอาศัยอยู่มาแล้วเป็นเวลานานกว่า 7,000 ปีขึ้นไป
ยุคหินใหม่ (Neolithic Period)
นักโบราณคดีเชื่อว่ามนุษย์ยุคหินใหม่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มานานตั้งแต่ 2,000 – 3,900 ปีมาแล้ว มนุษย์ยุคนี้มีความเจริญกว่าคนยุคหินเก่า หินกลาง คนพวกนี้รู้จักใช้เครื่องมือหินขัดจนเรียบ แทนที่จะกะเทาะอย่างเดียว รู้จักการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ทำเครื่องปั้นดินเผา เครื่องจักรสาน เครื่องมือทำด้วยเปลือกหอยและหิน
หลักฐานที่คนเหล่านี้ทิ้งไว้มี
1. โครงกระดูก
2. เครื่องมือหิน
3. เครื่องปั้นดินเผา
4. เครื่องจักสาน
ในจังหวัดกาญจนบุรีได้มีการขุดค้นพบโครงกระดูกสมัยหินใหม่มากมายหลายแห่งเกือบทั่วไปตามริมแม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแควใหญ่ เช่น บริเวณที่ทำการผสมเทียมกรมการสัตว์ทหารบก อำเภอเมืองกาญจนบุรี บริเวณโกดังขององค์การเหมืองแร่ใกล้วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) ถ้ำพระขอม ตำบลไทรโยค และแหล่งที่พบมากที่สุด คือบริเวณบ้านเก่าที่เรียกว่า แหล่งนายบางและนายลือ ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมืองกาญจนบุรี ซึ่งสำรวจพบโดยคณะสำรวจไทย-เดนมาร์ก
ปีพ.ศ. 2504 ที่เนินดินในไร่ของนางแฉ่ง ประสมทรัพย์ ที่บ้านเก่านี้ ได้พบโครงกระดูกเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ยุคหินใหม่อายุประมาณ 4,000 ปี เป็นครั้งแรกและมากที่สุดในประเทศไทย จากการรวบรวมวัตถุต่าง ๆ ได้ถึง 1 ล้านชิ้น เช่น เครื่องปั้นดินเผา ขวานหิน เศษเครื่องมือหินขัด หินลับและหินใช้ขัดโครงกระดูกสัตว์และฟันสัตว์ เปลือกหอย โครงกระดูกจำนวน 44 โครง โดยเฉพาะเครื่องปั้น ดินเผามีสามขา (Trireds) ตรงกับวัฒนธรรมลุงชาน (Lungshanoid Culture) ของจีน และแบบต่าง ๆ ของเครื่องปั้นดินเผามี 26 ชนิด แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 2 แบบ คือ ชนิดมีฐานและไม่มีฐาน
ต่อมาคณะของศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ได้ทำการขุดค้นบริเวณถ้ำองบะ อำเภอศรีสวัสดิ์ และที่ถ้ำเขาสามเหลี่ยม ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมืองกาญจนบุรี พบโครงกระดูก เครื่องมือหินภาชนะดินเผาอีกเป็นจำนวนมาก
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2525  ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ได้ทำการขุดค้นบริเวณริมฝั่ง แม่น้ำแควใหญ่ บ้านท่ามะนาว อำเภอเมืองกาญจนบุรี พบโครงกระดูกและเครื่องปั้นดินเผาเป็นจำนวนมาก ยังพบขวานหินขัดทำจากหินประเภทควอทซ์ตระกูลหยก มีลักษณะสีขาวใส ซึ่งไม่เคยพบมาก่อนเลยในประเทศไทย (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 23 พฤษภาคม 2525) นอกจากนั้นพบภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ ดังนี้
1. ถ้ำตาด้วง อำเภอศรีสวัสดิ์ บริเวณใกล้เขื่อนท่าทุ่งนา อยู่บนภูเขาสูงชันจากพื้นดินราว 300 เมตร ที่ผนังถ้ำเป็นภาพขบวนแห่ 2 ขบวน แต่ละขบวนมีกลองหรือฆ้องขนาดใหญ่มีคนแบกที่ศีรษะคล้ายกับมีขนนกหรือดอกหญ้าเป็นเครื่องประดับ ขนาดสูงราว 10 เซนติเมตร นอกจากนั้น ยังมีภาพอื่น ๆ อีก แต่ลบเลือนจนดูไม่ออก ถ้ำนี้พบเมื่อปี พ.ศ. 2513 โดยครูด่วน ถ้ำทอง
2. ถ้ำเขาเขียว ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค เขียนเป็นรูปคน เขียนเป็นเส้นพอให้รู้ว่าแทนคน รูปสัตว์สี่เท้า ยืนให้เห็นด้านข้าง และเป็นรูปสัตว์เห็นทางด้านหน้า จากการกำหนดอายุของภาพทั้งสองอยู่ในยุคหินใหม่ตอนปลาย
การพบเรื่องราวของมนุษย์ยุคหินใหม่ต่าง ๆ มากมาย แสดงว่าจังหวัดกาญจนบุรีเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มานาน เพราะลำน้าแควน้อยและแควใหญ่ มีธารน้ำที่ใสสะอาด มีพื้นที่ราบอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการปลูกพืช ล่าสัตว์ ปราศจากโรคระบาด จึงเหมาะที่จะเป็นที่อยู่อาศัยมานานไม่ต่ำกว่า 3,700 ปี มาแล้ว
ยุคโลหะ (Metal Age)
จากการสำรวจของคณะไทย-เดนมาร์กที่ถ้าองบะ และที่อาเภอไทรโยคพบขวานสำริด เศษกาไลสำริด เศษกลองมโหระทึกสำริด 4 ชิ้น ระฆังสำริดขนาดเล็ก 1 ลูก ในปีพ.ศ. 2505 การขุดค้นที่บ้านเก่าก็พบเครื่องมือ เครื่องใช้สำริด เหล็กปนอยู่กับหลุมฝังศพ
ปีพ.ศ. 2518 นักเรียนโรงเรียนสาลวนาราม บ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน ได้ขุดพบโบราณวัตถุ แจ้งให้กองโบราณคดี กรมศิลปากรทราบและได้ดำเนินการขุดค้น พบวัตถุต่าง ๆ สามารถแยกออกได้ ดังนี้
- ทำด้วยสำริด มีภาชนะสำริดคล้ายขันและคล้ายกระบอก กำไลสำริดสำหรับใส่ข้อมือ ข้อเท้า ทัพพีสำริด รูปหงส์ รูปนกยูง แหวนสำริด และลูกกระพรวน
- ทำด้วยหิน มีขวานหินขัด (ขวานฟ้า) หินเจาะรู หินลับมีด ลูกปัดโบราณสีต่าง ๆ คล้ายกับที่พบที่ประเทศอินเดีย
- ทำด้วยแก้ว มีลูกปัดสีต่าง ๆ ตุ้มหู - ทำด้วยดินเผา มีแหวนดินเผา ตุ้มหูเผา - ทำด้วยเหล็ก มีขวาน ใบหอก มีดขอ สิ่ว ห่วงเหล็ก เบ็ด เคียว ฯลฯ
- พืช พบเมล็ดพืชติดกับเครื่องปั้นดินเผา
จากการพบนี้ แสดงว่าคนที่บ้านดอนตาเพชร รู้จักการใช้วัว ควายไถนา จากแผ่นสำริดสลักเป็นรูปควาย มีเครื่องปั้นดินเผาลายเชือก และไม่มีลาย มีช่างทอผ้าและช่างไม้ รู้จักหาปลาโดยใช้ฉมวก ใช้เบ็ด รู้จักล่าสัตว์ด้วยหอก รู้จักใช้เครื่องประดับร่างกาย เช่น ลูกปัด ตุ้มหู จากภาชนะสำริดมีรูปผู้หญิงครึ่งตัวสวมเสื้อไว้ผมยาวแสกกลาง มีตุ้มหูคล้ายหญิงพม่า นอกจากนั้นยังมีรูปหงส์ รูปนกยูง ทำด้วยสำริด การพบที่บ้านดอนตาเพชร แสดงให้เห็นว่าความก้าวหน้าทางเทคนิควิทยาการที่อยู่ในระดับของมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นชุมชนที่มีความเจริญและเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่เข้าสู่ระยะแรกเริ่มของยุคประวัติศาสตร์
กาญจนบุรีดินแดนก่อนประวัติศาสตร์ คงจะทำให้ท่านรู้จักจังหวัดกาญจนบุรีมากขึ้นในทัศนะหนึ่งและคงสะท้อนให้เห็นเหมือนกันว่า แหล่งก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทยและของโลกกำลังถูกทาลาย และยังท้าทายนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์หรือผู้สนใจเข้ามาศึกษาหาความรู้ข้อเท็จจริงกันมากขึ้น สิ่งที่ยังมืดมนยังคงจมอยู่ใต้พื้นดิน ตามริมฝั่งของแม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแควใหญ่มานานหลายศตวรรษและยังอยู่อีกนานเท่านานจนกว่าจะได้รับการขุดค้นมาศึกษาตีความ ซึ่งคงจะอำนวยประโยชน์ต่อการเรียนรู้เกี่ยวกับมนุษยชาติในปัจจุบันไม่มากก็น้อย
สมัยประวัติศาสตร์
สมัยทวารวดีและลพบุรี
จากหลักฐานโบราณสถาน โบราณวัตถุ ในดินแดนประเทศไทย ทำให้เราได้ทราบว่า อารยธรรมอินเดีย ได้หลั่งไหลแผ่เข้ามายังดินแดนประเทศไทย ตั้งแต่ครั้งพุทธศตวรรษที่ 6 – 7 ชาวอินเดียเรียกประเทศไทยว่า "ดินแดนสุวรรณภูมิ" และได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งในแหลมอินโดจีนพร้อมทั้งได้นำวัฒนธรรมและศาสนา คือ ศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา เข้ามาเผยแพร่ด้วย
ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 7 ถึง 11 ตามหลักฐานจากจดหมายเหตุของจีนว่ามีอาณาจักร "ฟูนัน" ตั้งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ และได้แผ่อาณาเขตไปทางทิศตะวันตกถึงแถบลุ่มแม่น้าเจ้าพระยาด้วย เมื่ออาณาจักร "ฟูนัน" สลายตัวในต้นพุทธศตวรรษที่ 12 แล้ว ในดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้เกิดอาณาจักรที่สำคัญทางพุทธศาสนาขึ้น ชื่อว่า อาณาจักรทวารวดี การจัดสมัยและกำหนดอายุของศิลปกรรมในประเทศไทย นักปราชญ์ทางโบราณคดีได้กำหนดไว้ ดังนี้
- ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษ 11 - 16
- เทวรูปรุ่นเก่า พุทธศตวรรษ 12 - 14
- ศิลปะศรีวิชัย พุทธศตวรรษ 13 - 18
- ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษ 16 - 19
- ศิลปะเชียงแสน พุทธศตวรรษ 16 - 23
- ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษ 18 - 20
- ศิละปอู่ทอง พุทธศตวรรษ 18 - 20
- ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษ 19 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 23
- ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษ 23 - 25
เมื่อประมาณ 70 - 80 ปีมานี้เอง นักปราชญ์ทางโบราณคดีมีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและศาสตราจารย์ ยอร์จ เชเดส์ เป็นต้น ได้นำเอาชื่อ "ทวารวดี" มาใช้กำหนดสมัยของศิลปะโบราณวัตถุ และโบราณสถานที่พบในประเทศไทยในดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (อันรวมถึงแม่น้ำท่าจีน และแม่น้าแม่กลอง ฯลฯ ด้วย) เป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียสมัยอมราวดี สมัยคุปตะ และหลังคุปตะ และได้กำหนดอายุของศิลปะทวาราวดีในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11 - 16 และศิลปะทวารวดี ที่แยกไปอยู่ภาคเหนือที่แคว้นหริภุญชัยถึงพุทธศตวรรษที่ 18
คำว่า "ทวารวดี" เดิมเป็นเพียงข้อสันนิษฐานจากชื่ออาณาจักรที่จดหมายเหตุจีนเรียกว่า "โถโลโปติ" (To-lo-po-ti) ว่า ตรงกับคำบาลีสันสกฤตว่า "ทฺวารวตี" และคำนี้ได้ติดอยู่เป็นสร้อยชื่อของนครหลวงของประเทศไทย มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2512 ได้มีผู้พบเหรียญเงินมีอักษรจารึกที่นครปฐม คำจารึกเป็นอักษรสันสกฤต รุ่นพุทธศตวรรษที่ 13 มีข้อความว่า "ศรีทวาราวดีศวร-ปุณยะ" แปลว่า "บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวาราวดี" อันแสดงว่าอาณาจักรทวาราวดีนั้นมีจริงในประเทศไทย
ต่อไปนี้ จะได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์และความเป็นมาของจังหวัดกาญจนบุรี
เมืองกาญจนบุรีนั้น เป็นเมืองเก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งโบราณเมืองหนึ่ง ส่วนจะสร้างขึ้นเมื่อไรสมัยใด ยังไม่พบหลักฐานที่ยืนยันแน่ชัด หลักฐานด้านประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงเมืองกาญจนบุรีเห็นจะเป็นพงศาวดารเหนือ ซึ่งกล่าวไว้ในเรื่องพระยากงว่า พระยากงได้เป็นเจ้าเมืองกาญจนบุรี โดยมิได้ระบุว่าปีใด แต่ได้ระบุปีที่พระยาพานไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองลำพูนว่า ตรงกับ จ.ศ. 552  หรือ พ.ศ. 1734 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากที่พระยาพานได้ฆ่าพระยากงผู้เป็นบิดาแล้ว จึงอาจสรุปว่า พระยากงครองเมืองกาญจนบุรีราว พ.ศ. 1700 แต่เรื่องราวที่ปรากฏในพงศาวดารเหนือ เป็นเพียงตำนานการสร้างพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐมเท่านั้นยังไม่มีหลักฐานอื่นใดมายืนยันข้อเท็จจริงนี้ได้แน่ชัด
อย่างไรก็ตาม เมืองกาญจนบุรียังคงเหลือหลักฐานทางโบราณคดีที่ยืนยันสภาพความเป็นเมืองโบราณตามลุ่มแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแควใหญ่ และแม่น้ำแม่กลอง ดังต่อไปนี้
ลุ่มน้ำแม่กลองนั้น นับเนื่องในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้านตะวันตก ถึงแม้จะไม่เคยเป็นที่ตั้งเมืองหลวงก็ตาม แต่ปรากฏว่ามีชุมชนโบราณอยู่สืบเนื่องกันมาช้านาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์กว่าบรรดาลุ่มน้ำอื่น ๆ จึงเป็นอาณาบริเวณที่น่าสนใจสมควรนำเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนโบราณที่พัฒนาขึ้นก่อนพุทธศตวรรษที่ 20 มาเสนอสู่การพิจารณาต่อไป
แม่น้ำแม่กลองมีกำเนิดมาจากการรวมตัวของลาน้ำสำคัญสองสาย คือ ลำน้าแควใหญ่ กับลำน้ำแควน้อยทั้งสองสายมีต้นน้ำอยู่ในเทือกเขาตะนาวศรี ลำน้ำแควใหญ่ไหลมาจากเทือกเขาทางเหนือระหว่างเขตจังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดกาญจนบุรีไหลมาตามซอกเขาผ่านอำเภอศรีสวัสดิ์ลงมาบรรจบกับลำน้ำแควน้อยที่ตำบลปากแพรก อำเภอเมืองกาญจนบุรี
ส่วนลำน้ำแควน้อยไหลมาจากซอกเขาซึ่งอยู่ชายแดนประเทศสหภาพพม่าไหลผ่านเขตอำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยคและอำเภอเมืองกาญจนบุรีมาบรรจบกับลาน้ำแควใหญ่ที่ที่ตั้งจังหวัดกาญจนบุรีเป็นแม่น้ำแม่กลอง
จากเขตอำเภอเมืองกาญจนบุรีแม่น้ำแม่กลองไหลลงสู่ที่ราบลุ่มผ่านอำเภอท่าม่วง อำเภอท่ามะกา อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม อำเภอเมืองราชบุรี อำเภอบางคณที อำเภอเมืองสมุทรสงคราม ไหลสู่ออกทะเลที่ "บ้านบางเรือหัก" จังหวัดสมุทรสงคราม
ตามสองฝั่งลำน้ำแควน้อย แควใหญ่ ของจังหวัดกาญจนบุรี ได้พบหลักฐาน ทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่อยู่ตามถ้ำ ชายเขา และบริเวณใกล้ริมธารน้ำ ลำน้ำ โดยเฉพาะเขตตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนของมนุษย์ในสมัยหินใหม่มาต่อกับยุคโลหะได้มีการขุดค้นศึกษากันอย่างละเอียด โบราณวัตถุในสมัยหินเก่าและหินกลาง ก็ได้พบในเขตต้นน้ำเหล่านี้ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีมนุษย์อยู่อาศัยมาแล้ว ไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นปีขึ้นไป แสดงให้เห็นการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พากันอพยพลงมาตามลำน้ำเข้าสู่ที่ราบลุ่ม
ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลองที่เป็นแหล่งกำเนิดของชุมชนระดับเมืองนั้น ปรากฏว่า เราพบร่องรอยของเมืองโบราณเป็นจานวน 7 แห่งด้วยกัน ล้วนตั้งอยู่ริมสองฝั่งของลำน้ำแควน้อย แควใหญ่และลำน้ำแม่กลองทั้งสิ้น
1. เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำแควน้อย ได้พบ เมืองสิงห์ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของลำน้ำแควน้อยในเขตบ้านท่ากิเลน ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค ลักษณะผังเมืองเป็นรูบสี่เหลี่ยม มีคูและกำแพงล้อมรอบ บางด้านมีคันคูสามชั้นบ้าง ห้าชั้นบ้างและถึงเจ็ดชั้นก็มี มีเนื้อที่ภายในเมืองประมาณ 641 ไร่กว่า ภายในเมืองมีสระน้ำหลายแห่ง และมีเนินดินที่มีเศษเครื่องปั้นดินเผาทั้งที่เคลือบด้วยสีน้ำตาลแก่ แบบเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรี และที่ไม่เคลือบก็มีมากมาย
ในตอนกลางเมืองมีศาสนสถานตั้งอยู่เป็นปราสาทแบบขอม ก่อด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก กรมศิลปากรกำลังดาเนินการขุดแต่งอยู่ ลักษณะศิลปกรรมเป็นแบบที่ได้รับอิทธิพลศิลปะแบบบายน ในรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งกัมพูชา แต่ทว่าเป็นฝีมือชาวพื้นเมืองไม่ใช่ชาวขอมมาสร้างอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะมีลักษณะหยาบกว่าฝีมือช่างขอม การประดับศาสนสถานก็ทำด้วยลวดลายปูนปั้นซึ่งเป็นศิลปะลพบุรี และมีศิลปะแบบทวารวดีอยู่บ้าง แสดงลักษณะที่แตกต่างไปจากขอมโดยสิ้นเชิงบรรดากระเบื้องมุงหลังคา เครื่องปั้นดินเผา ทั้งเคลือบและไม่เคลือบ เป็นแบบลพบุรีเลียนแบบขอม เนื้อวัตถุที่ใช้ทำและเคลือบเป็นของท้องถิ่น
ปราสาทเมืองสิงห์นี้เป็นโบราณสถานเนื่องในคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เพราะพบรูปพระโพธิสัตว์ นางปรัชญาปารมิตา และพระพุทธรูปปางนาคปรก เทวรูปปั้นส่วนใหญ่เป็นศิลปะขอมที่นามาจากกัมพูชาหรือเมืองอื่น เป็นแบบศิลปะสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 การพบรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปางเปล่งรัศมี ส่วนพระพุทธรูปนั้นส่วนมากเป็นศิลปะลพบุรี เป็นฝีมือช่างพื้นเมืองพระพุทธรูปนาคปรกสร้างด้วยหินทรายสีแดงเป็นฝีมือช่างพื้นเมืองอย่างแท้จริง
ส่วนลักษณะโบราณสถานของประสาทเมืองสิงห์พอจะอนุมานได้ว่ามีอายุอย่างคร่าว ๆ ว่าคงจะสร้างขึ้นในระหว่าง พ.ศ. 1700 - 1750
เมื่อถึงรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงตั้งเมืองสิงห์ขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ให้เป็นเมืองหน้าด่านเล็ก ๆ ขึ้นอยู่กับเมืองกาญจนบุรี มีเจ้าเมือง ส่งหมวดลาดตระเวนไปประจำคอยตรวจตราอยู่เสมอต่อมาถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานนามเจ้าเมืองสิงห์ว่า "พระสมิงสิงห์บุรินทร์"
เมืองสิงห์คงเป็นเมืองเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 5 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้นใหม่ จึงได้ยุบเมืองสิงห์ลงเป็นตำบลเรียกกันว่า "ตำบลสิงห์"
ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศสกุล ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือศิลปะลพบุรี กรมศิลปากรจัดพิมพ์ในงานเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2510 หน้า 12 - 13 ว่าราว พ.ศ. 1700 – 1750 สมัยนี้ตรงกับรัชกาลของพระจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งประเทศกัมพูชา และมีสถาปัตยกรรมสมัยลพบุรี พระปรางค์เมืองสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี มีพระปรางค์องค์เดียวก่อด้วยศิลาแลงตั้งอยู่ตรงกลาง มีมุขยื่นออกไปทางด้านตะวันออกและมีระเบียงคดก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบมีประตูซุ้มอยู่ทั้ง 4 ทิศ ทั้งหมดนี้มีกำแพงดินซึ่งมีเศษอิฐปูนอยู่ล้อมรอบนอกอีกชั้นหนึ่ง ได้ค้นพบซากประติมากรรมในศิลปะแบบบายนวางทิ้งอยู่หน้าปราสาทด้วย นอกจากนี้ยังทรงถือกำหนดอายุโดยส่วนรวมของตัวอาคารทั้งหมดไว้ในศิลปะขอมแบบบายนอีกด้วย
รวมความว่าสมัยลพบุรี (พ.ศ. 1500 - 1799) กาญจนบุรีเป็นเมืองมาแล้ว เพราะปรากฏหลักฐานจากปรางค์และกำแพงศิลาแลงของเมืองสิงห์ดังได้กล่าวมาแล้ว
2. ถัดจากเมืองสิงห์ออกไปทางทิศตะวันออกห่างจากลำน้ำแควน้อยประมาณ 5 กิโลเมตร มีเมืองโบราณขนาดเล็กอยู่เมืองหนึ่ง มีคูน้ำและคัดดินล้อมรอบ ตั้งอยู่เชิงเขา ชาวบ้านเรียกว่า "เมืองครุฑ" ยังไม่มีการขุดค้น จากปากคาชาวบ้านบอกว่า แต่ก่อนมีครุฑศิลาทรายอยู่ที่เชิงเขาในเขตเมืองนี้ จึงเรียกว่า "เมืองครุฑ" อันลักษณะการทำครุฑด้วยหินทรายนั้น พบมากในสมัยศิลปะลพบุรี เมืองสิงห์ และเมืองครุฑ ตั้งอยู่ไม่ห่างไกลกันนัก จึงน่าจะเป็นเมืองในยุคเดียวกัน เมืองครุฑนี้คงเป็นเมืองหน้าด่านและอยู่ในเขตปกครองของเมืองสิงห์
3. ทางลำน้ำศรีสวัสดิ์หรือแควใหญ่ ซึ่งอยู่ทางเหนือมีชุมชนโบราณ แต่มีอายุเพียงแค่ปลายสมัยลพบุรีลงมาถึงสมัยอยุธยา อยู่ในเขตบ้านท่าเสา ตำบลลาดหญ้า บ้านท่าเสาตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของลำน้ำแควใหญ่ มีซากวัดโบราณ เช่น วัดขุนแผน วัดนางพิมพ์ วัดป่าเลไลยก์ ฯลฯ ที่เจดีย์เก่าในเขตวัดนี้เคยมีผู้ขุดพบพระเครื่องแบบลพบุรีตอนปลาย
ส่วนที่บ้านลาดหญ้าซึ่งอยู่ต่ำลงมาประมาณ 1.5 กิโลเมตร ก็เคยเป็นที่ตั้งของเมืองกาญจนบุรี (เก่า) ในสมัยอยุธยา เมืองนี้มีขนาดเล็ก คงเป็นเพียงเมืองด่าน
สรุปแล้วเมืองนี้ก็คือเมืองกาญจนบุรี (เก่า) เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญทางตะวันตกของกรุงศรีอยุธยาตลอดมาจนถึงสมัยกรุงธนบุรี มีผู้สำรวจบริเวณเมืองกาญจนบุรี (เก่า) ที่ตั้งอยู่เชิงเขาชนไก่นี้มาแล้ว ว่าบริเวณอันกว้างใหญ่นี้ ปรากฏพบสระน้ำ ซากโบราณสถาน วัดต่าง ๆ มีวัดร้างถึง 6 วัด คือ
1. วัดขุนแผน                                      2. วัดป่าเลไลยก์
3. วัดนางพิม                                                4. วัดจีน
5. วัดริมตะเพิน ชื่อว่า วัดมอญ อยู่ห่างออกไป
6. วัดแม่หม้าย
เจ้าเมืองกาญจนบุรี มีชื่อว่า "พระยากาญจนบุรี" เป็นแม่ทัพสำคัญคนหนึ่งครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
4. ต่อจากอำเภอเมืองกาญจนบุรีลงไปตามลาแม่น้ำแม่กลอง ในเขตอำเภอท่ามะกามีเมืองชุมชนใหญ่แห่งหนึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง อยู่ในเขตบ้านดงสัก ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา ชาวบ้านเรียกชื่อมาแต่ครั้งโบราณว่า "เมืองพงตึก" เพราะพบฐานอาคารที่ก่อสร้างด้วยอิฐและศิลาแลงแสดงให้เห็นว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชนใหญ่มาก่อน นักโบราณคดีขุดพบตะเกียงโรมันสำริดสมัยพุทธศตวรรษที่ 6 - 7 พบพระพุทธรูปแบบอมราวดีสมัยพุทธศตวรรษที่ 7 และพระพุทธรูปสมัยทวารวดีอีกหลายองค์ สมัยไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 11 รวมทั้งโบราณวัตถุอย่างอื่น ๆ อีกมาก เมื่อพิจารณาประกอบกับซากสถาปัตยกรรมที่ยังหลงเหลือปรากฏอยู่ ซึ่งมีฝีมือช่างขอมปะปนอยู่ด้วย ก็อาจประมาณอายุอย่างกว้าง ๆ ได้ว่า ชุมชนแห่งนี้มีอายุตั้งแต่สมัย "ทวารวดี" ขึ้นไป
เรื่องชุมชนโบราณที่บ้านพงตึกนี้ ตามความเห็นของนักปราชญ์ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์โดยทั่วไป เชื่อว่าเป็นสถานที่แหล่งพักสินค้าของชาวอินเดียที่เข้ามาค้าขายในดินแดนประเทศไทยในสมัยแรก เพราะการพบพระพุทธรูปแบบ "อมราวดี" นั้น ย่อมเป็นสิ่งยืนยันให้เห็นชัดเจน นอกจากพระพุทธรูปแบบอมราวดีแล้ว ยังได้พบตะเกียงสำริดโรมัน ซึ่งมีอายุราวศตวรรษที่ 6 - 7 เป็นเครื่องสนับสนุน โดยเหตุนี้บางท่าน เช่น ดร.ควอริช เวลส์ ได้เสนอว่าตะเกียงดังกล่าวนี้ น่าจะเป็นของคณะทูตโรมันนำเข้ามา
นักโบราณคดีและประวัติศาสตร์จึงมีความเห็นว่าบ้านพงตึกคงเป็นชุมชนแห่งหนึ่งที่สำคัญบนฝั่งลำน้ำแม่กลองและเจริญรุ่งเรืองในสมัย "ทวารวดี" แต่เมื่อขอมมาปกครอง เมืองพงตึกคงจะทรุดโทรมลงกลายเป็นเมืองขนาดเล็ก พวกขอมจึงสร้างเทวสถานไว้แต่เพียงขนาดย่อม
5. ใต้เมืองพงตึกลงไปตามลำน้ำแม่กลองตามฝั่งตะวันออกที่ตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มีเมืองโบราณอีกเมืองหนึ่งชื่อ โกสินารายณ์ เป็นเมืองสมัยลพบุรี
6. ใต้เมืองโกสินารายณ์ลงมาตามลำน้ำแม่กลองถึงตัวเมืองราชบุรี บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลองเคยเป็นที่ตั้งของเมืองราชบุรีโบราณ มีอายุตั้งแต่สมัยลพบุรีสืบต่อลงมา นอกเมืองออกไปก็ยังพบโบราณวัตถุตั้งแต่สมัยทวารวดีลงมาอีกหลายแห่ง
7. ห่างจากเมืองราชบุรีลงไปทางใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร พบเมืองโบราณขนาดใหญ่เรียกกันว่า เมืองคูบัว สันนิษฐานว่า เป็นเมืองราชบุรีเดิมในสมัยทวาราวดี
สรุปได้ใจความว่า ตั้งแต่โบราณกาลมา สองฝั่งลำน้ำแควน้อย แควใหญ่ และสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองเคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนโบราณที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ชุมชนชนสมัยทวารวดีที่บ้าน "พงตึก" ในเขตอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี นับว่าเป็นเมืองสำคัญมาก เดิมตั้งอยู่ไม่ห่างไกลทะเลมากนัก และเป็นเมืองตั้งอยู่ย่านกลางเส้นทางคมนาคม เป็นที่ชุมชนโบราณแห่งหนึ่งของประเทศไทย ติดตั้งระหว่างดินแดนเมืองต่าง ๆ ในลุ่มน้ำท่าจีน เจ้าพระยากับเมืองมอญในประเทศพม่า เป็นทางสัญจรของคนมาช้านานหลายยุคหลายสมัย จนถึงสมัยอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ จากการพิจารณาภูมิศาสตร์จะเห็นได้ว่า จากเมืองพงตึกจะเดินทางไปเมืองโบราณอื่น ๆ มีเมืองกาญจนบุรี (เก่า) เมืองคูบัว เมืองราชบุรี (เก่า) เมืองกำแพงแสน เมืองดอนตูม เมืองนครปฐม เมืองอู่ทอง ย่อมไปได้สะดวกทุกทิศทาง โดยมีแม่น้ำหลายสายเป็นเส้นทางคมนาคม
จากเมืองกาญจนบุรี (เก่า) เมืองสิงห์ ซึ่งเป็นเมืองตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมที่จะติดต่อกันโดยผ่านพระเจดีย์สามองค์ไปยังเมืองมอญและพม่า ย่อมไปมาได้สะดวกมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เมืองโบราณดังกล่าวมาแล้ว ได้ร้างไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเหตุต่าง ๆ กันดังต่อไปนี้
1. เพราะแม่น้ำเปลี่ยนทางเดินใหม่ เป็นเหตุให้กันดารน้ำ ผู้คนได้รับความลำบากจึงพากันอพยพไปอยู่ที่อื่น
2. เกี่ยวกับสภาพภูมิศาสตร์ ทำเลที่ตั้งของเมืองมีที่เพาะปลูก ที่จะทำนา ทำไร่ มีน้อย ขาดน้ำขาดความอุดมสมบูรณ์ พลเมืองเพิ่มขึ้นที่ดินมีน้อยไม่พอจะประกอบอาชีพ จึงคิดชักชวนกันอพยพไปอยู่ที่อื่น
3. โรคระบาดอย่างร้ายแรง ผู้คนล้มตายลงเป็นอันมาก (โบราณเรียกว่าห่ากินเมือง) จึงพากันหนีโรคภัยไปอยู่ที่อื่น เมืองจึงร้างไป มีเช่นนี้หลายเมือง
4. ภัยจากศึกสงคราม เมื่อพ่ายแพ้สงครามผู้คนพลเมืองก็ถูกจับกวาดต้อนเป็นเชลยบ้านเมืองถูกข้าศึกทำลายพินาศ กรณีเช่นนี้มีตัวอย่างอยู่มากในประเทศไทยตั้งแต่เหนือจดใต้
แต่ถ้าเมืองที่ร้างไปนั้น รอบ ๆ บริเวณนอกเมืองออกไปเป็นที่อุดมสมบูรณ์ ดินดี น้ำท่าดี ถึงแม้จะเคยร้างไปก็จะเป็นอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ไม่ช้าไม่นานก็จะมีผู้คนอพยพกันมาตั้งบ้านเมืองอาศัยทำมาหากินกันต่อไปใหม่ ฉะนั้น เราจะเห็นเมืองใหม่สร้างซับซ้อนกับแนวเมืองเก่าหรืออยู่ใกล้ชิดกันอยู่หลายเมือง
อนึ่ง ถ้าเมืองใดมีความสำคัญทางศาสนามีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ มีชื่อเสียงเมืองนั้นมักไม่ร้าง มีบางเมืองเคยร้างไปบ้างก็เพียงชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็จะมีผู้คนพลเมืองอพยพมาตั้งบ้านเมืองอยู่ต่อไปใหม่
ในครั้งโบราณกาล บ้านเมืองในดินแดนแห่งประเทศไทยยังไม่ได้รวมเป็นอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนอย่างทุกวันนี้ แบ่งการปกครองออกเป็นแคว้น ๆ เป็นรัฐ ๆ หรืออย่างที่เรียกว่าลัทธิเจ้าผู้ครองนคร หรือ "นครรัฐ" เมืองกาญจนบุรีครั้งโบราณรวมอยู่ในแคว้นอู่ทองหรือที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ
มีผู้สันนิษฐานว่า สมัยโบราณเมืองพงตึก คือเมืองกาญจนบุรี สมัยทวารวดี (พ.ศ. 1000 - 1589) คงชื่อว่า "เมืองกาญจนบุรี" มาแต่ครั้งนั้นซึ่งก็เป็นเรื่องที่ควรรับฟังเพื่อประกอบการพิจารณาค้นคว้าหลักฐานต่อไป
เพราะเหตุที่เมืองกาญจนบุรี มีประวัติทางประวัติศาสตร์ และทางโบราณคดีเนื่องจากมีโบราณสถาน โบราณวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่วิวัฒนาการสืบต่อกันมาไม่ขาดสายเป็นเวลานับเป็นหมื่น ๆ ปี ตั้งแต่ยุคหินเก่า หินกลาง หินใหม่ และยุคโลหะ จึงเป็นแผ่นดินขุมทรัพย์ อันมหาศาลของวงการโบราณคดีของโลก มีนักปราชญ์ทางโบราณคดีไทยและนานาชาติ ได้เดินทางเข้ามาค้นคว้าหาหลักฐานและรายละเอียดอันเกี่ยวกับชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ในอดีต แผ่นดินแห่งนี้จึงมีค่าเป็นเพชรน้ำเอกแห่งหนึ่งในวงการโบราณคดีประวัติศาสตร์และอารยธรรมของโลกในภูมิภาคนี้ นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติเป็นต้นว่า โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ คูเมือง กำแพงเมือง ฯลฯ อันเป็นหลักฐานที่จะให้รายละเอียดทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมของชาติ สมควรที่เราชาวไทยและชาวกาญจนบุรี จะต้องช่วยกันรักษาไว้เหมือนพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงกล่าวว่า "การสร้างอาคารสมัยใหม่นี้ เป็นเกียรติของผู้สร้างเพียงคนเดียว แต่เรื่องโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเพียงแผ่นเดียวก็มีค่า ควรที่จะได้ช่วยกันรักษาไว้ หากเราขาดสุโขทัย อยุธยาและรัตนโกสินทร์แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย"
สมัยสุโขทัย
สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ไม่ปรากฏเรื่องราวของเมืองกาญจนบุรี เพราะไม่มีเหตุการณ์เกี่ยวข้องเนื่องจากอยู่ห่างไกลราชธานีมาก ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงก็มิได้กล่าวไว้ว่าเคยเป็นเมืองขึ้นเมืองทางแถบนี้มีกล่าวชื่อตั้งแต่เมืองคณฑี (คือบ้านโคนในปัจจุบัน) เมืองพระบาง (นครสวรรค์) เมืองแพรก (คือเมืองชัยนาทเก่า) เมืองสุวรรณภูมิ เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองนครศรีธรรมราช ตลอดไปจดมหาสมุทรอินเดีย
ไม่ปรากฏว่ามีชื่อเมืองกาญจนบุรีอยู่ในศิลาจารึกหลักนั้นเลย แต่ก็น่าสงสัยอยู่อย่างหนึ่งว่าเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งในเวลานั้น ก็มิได้ระบุไว้ในศิลาจารึกว่าเป็นเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัยเหมือนกัน พิเคราะห์ดูเมืองต่าง ๆ อีกหลายเมือง เช่น เมืองปราจีนบุรี (เมืองเก่าที่ดงศรีมหาโพธิ์) เมืองนครนายก (เมืองเก่าที่คงละคร) และเมืองจันทบุรี ก็ไม่ได้กล่าวถึงเลย ถ้าวิเคราะห์จากโบราณสถานของเมืองเหล่านี้ จะเห็นว่าเป็นแบบสถาปัตยกรรมขอมทั้งสิ้น ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า เหตุที่จารึกสุโขทัยมิได้กล่าวถึงเมืองเหล่านี้ คงเพราะเมืองเหล่านี้ยังอยู่ในอำนาจขอม
สมัยกรุงศรีอยุธยา
เรื่องราวของเมืองกาญจนบุรีเพิ่งจะมาปรากฏขึ้นชื่อในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองกาญจนบุรีตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของลำน้ำแควใหญ่ ใกล้ ๆ กับเขาชนไก่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตท้องที่หมู่บ้านท่าเสา ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรี
สมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองกาญจนบุรีมีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะเป็นเมืองหน้าด่านในการศึกสงครามระหว่างไทยกับพม่า ทั้งนี้เนื่องจากอาณาเขตแดนด้านทิศตะวันตกของเมืองกาญจนบุรีมีช่องทางเดินติดต่อระหว่างไทยกับพม่าอยู่หลายทางด้วยกัน เช่น ด่านพระเจดีย์สามองค์ ด่านบ้องตี้ โดยเฉพาะด่านพระเจดีย์สามองค์ เคยเป็นทางผ่านของกองทัพพม่าที่ยกเข้ามาโจมตีไทยครั้งสำคัญ ๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังนี้ คือ
1. พ.ศ. 2091 ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สงครามครั้งนี้พระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ทรงเป็นแม่ทัพยกทัพผ่านเมืองกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ไปจดถึงพระนครศรีอยุธยา สงครามคราวนี้สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ถูกพระเจ้าแปรแม่ทัพหน้าของพม่าฟันด้วยของ้าวสิ้นพระชนม์บนคอช้าง
2. พ.ศ. 2127 สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพแยกแผ่นดินไทยออกจากพม่า พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงให้พระยาพะสิมคุมกองทัพยกมาตีไทยโดยผ่านเมืองกาญจนบุรี และหมายที่จะเอาเมืองสุพรรณบุรีเป็นที่ตั้งมั่น แต่ถูกกองทัพไทยตีพ่ายไป
3. พ.ศ. 2133 ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงได้ให้พระมหาอุปราชาราชบุตรยกกองทัพเข้ามาโดยผ่านเมืองกาญจนบุรี พบทัพไทยส่วนน้อยที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชส่งมาล่อ ทัพพม่าหลงตีรุกไล่ทัพไทยไปถึงเมืองสุพรรณบุรี กองทัพหลวงของไทยได้เข้าโจมตีกองทัพพม่าพ่ายกลับไป
4. พ.ศ. 2135 ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหาอุปราชาได้ยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีไทยอีก สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้เสด็จยกกองทัพไปตั้งรับพม่าที่หนองสาหร่าย แขวงเมืองสุพรรณบุรี ผลของสงครามครั้งนี้ ปรากฏว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีชนะมหาอุปราชา แม่ทัพพม่า
5. พ.ศ. 2206 ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สงครามคราวนี้เกิดขึ้นเพราะพวกมอญพากันอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารประมาณ 10,000 กว่าคน สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงโปรดให้ครอบครัวมอญทั้งหมดไปตั้งอยู่ที่อำเภอสามโคก (เมืองปทุมธานี) และเมืองนนทบุรี ฝ่ายพม่าได้ยกกองทัพตามครัวมอญเข้ามาจนถึงเมืองไทรโยค สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ยกกองทัพออกไปต่อสู้และได้โจมตีกองทัพพม่าแตกพ่ายกลับไป
6. สงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ พม่าให้ยกกองทัพมาตีเมืองกาญจนบุรีจนแตกยับเยินตั้งแต่ พ.ศ. 2307 แล้วไปตั้งค่ายอยู่ที่ตำาบลลูกแก ตำบลโคกกระออม (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า ตอกกระออม) ดงรังหนองขาว ซึ่งอยู่ในเขตเมืองกาญจนบุรีทั้งหมด
ฝ่ายกองทัพไทยก็ยกกำลังออกต่อสู้พม่าแต่ก็แตกพ่ายไป พม่าเห็นว่ากองทัพไทยที่ยกออกมาสู้รบไม่ว่าจะเป็นทางเหนือและทางใต้ต่างก็พ่ายแพ้ไปหมด ก็กำเริบใจ จึงจัดส่งกองทัพเพิ่มเข้ามาอีกทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แล้วมุ่งเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาจนแตกยับเยิน และได้เผาบ้านเมืองจนพินาศ กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมาได้นานถึง 417 ปี มีกษัตริย์ปกครองมาตามลาดับถึง 33 พระองค์ ก็มาถึงคราวอวสานแตกดับสูญสิ้นพินาศลงในกองเพลิงด้วยความเศร้าสลดอย่างสุดประมาณ นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาติไทย
สมัยกรุงธนบุรี
ในสมัยนี้ เมืองกาญจนบุรีก็ยังคงตั้งอยู่ที่เดิมใกล้ ๆ กับเขาชนไก่นั้นเอง สมัยกรุงธนบุรี ชื่อเสียงของเมืองกาญจนบุรีมีปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยอีกเหมือนกัน คือ ใน พ.ศ. 2317 พวกมอญเป็นกบฏต่อพม่าได้พากันอพยพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ พม่าได้ยกกองทัพติดตามครัวมอญเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ทัพพม่าตีกองทัพไทยที่ตั้งรับอยู่ที่ตำบลท่าดินแดง แขวงเมืองกาญจนบุรี จนแตกถอยร่นลงมา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้กองทัพที่ยกลงมาจากเชียงใหม่มาตั้งรับทัพพม่าที่บางแก้ว (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า บ้านนางแก้ว) แขวงเมืองราชบุรีกองทัพไทยได้ปะทะกับกองทัพของงุยอคงหวุ่น ซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่บางแก้วนั้นอย่างเข้มแข็งจับเชลยได้เป็นอันมาก แล้วยังบุกโจมตีทัพพม่าซึ่งหนุนเนื่องเข้ามาแตกถอยไปอีกด้วย
ส่วนครัวมอญที่อพยพเข้ามานั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีรับสั่งให้ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ปากเกร็ด แขวงเมืองนนทบุรีบ้าง ที่สามโคกแขวงเมืองปทุมธานีบ้าง
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยนี้ เมืองกาญจนบุรี เป็นทั้งเมืองหน้าด่านและสมรภูมิสำคัญในการทำสงครามระหว่างไทยกับพม่า สงครามครั้งสำคัญ ๆ ได้แก่ สงครามลาดหญ้า และสงครามท่าดินแดง
สงครามลาดหญ้า หรือสงคราม 9 ทัพ เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2328 หลังจากสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้ประมาณ 3 ปี พระเจ้าปะดุงกษัตริย์พม่าได้เกณฑ์ทัพเข้ามาตีไทยหลายทาง คือ ทางใดที่พม่าเคยยกกองทัพเข้ามาตีไทย ก็ให้กองทัพยกเข้ามาคราวนี้พร้อมกันหมดทุกทางทั้งทางเหนือ ทางใต้ และทางตะวันตกโดยเกณฑ์ไพร่พลมาถึง 9 กองทัพ มีจานวนพล 144,000 คน ทั้งนี้ด้วยมุ่งหวังจะตีเมืองไทยให้ได้ เพื่อต้องการเกียรติยศเป็น "มหาราช" และต้องการจะเป็น "บุเรงนอง" คนที่ 2 จึงระดมกำลังกองทัพมาอย่างมากมาย โดยเฉพาะกองทัพที่ยกเข้ามาทางด้านตะวันตกนั้น เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์มีจานวนถึง 5 กองทัพ ซึ่งรวมทั้งทัพหลวงด้วยรวมเป็นพลถึง 55,000 คน
ฝ่ายกองทัพไทย เมื่อได้ข่าวศึกก็เกณฑ์กำลังไพร่พลได้เพียง 70,000 คนเท่านั้นน้อยกว่าพม่าตั้งครึ่ง จึงต้องวางแผนต่อสู้กับพม่าอย่างรอบคอบ โดยให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทยกกองทัพใหญ่มีจำานวนประมาณ 30,000 คน ไปตั้งรับกองทัพพม่าที่ทุ่งลาดหญ้า กองทัพไทยกับกองทัพพม่าได้รบพุ่งกันอยู่ประมาณสองเดือนเศษ ในที่สุดกองทัพพม่าก็แตกพ่ายไป
สงครามท่าดินแดง เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2329 พม่าได้ยกกองทัพใหญ่เข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่ท่าดินแดงและสามสบโดยมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า ดังคำกลอนเพลงยาวพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพรรณนาไว้ในนิราศท่าดินแดงว่า
"ทัพพม่าอยู่ยังท่าดินแดง         แต่งค่ายรายไว้เป็นถ้วนถี่
ทั้งเสบียงอาหารสารพันมี                         ดังสร้างสรรค์ธานีทุกประการ
มีทั้งพ่อค้ามาขาย                          ร้านรายกระท่อมพลทุกสถาน
ด้านหลังทำทางวางตะพาน              ตามลหานห้วยน้ำทุกตำบล
ร้อยเส้นมีฉางระหว่างค่าย                ถ่ายเสบียงมาไว้ทุกแห่งหน
แล้วแต่งกองร้อยอยู่คอยคน              จนตำบลสามสบครบครัน
อันค่ายคูประตูหอรบ                       ตกแต่งสารพัดเป็นที่มั่น
ทั้งขวากหนามเขื่อนคูป้องกัน            เป็นชั้นชั้นอันดับมากมาย"
กองทัพไทยได้ยกออกไปตีค่ายพม่าที่ท่าดินแดงและสามสบ พม่าเป็นฝ่ายแพ้ไปอย่างยับเยิน
เหตุการณ์สงครามระหว่างไทยกับพม่าในอดีต ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เมืองกาญจนบุรีเป็นเมืองหน้าด่านป้องกันประเทศชาติทางด้านตะวันตก ผู้ที่จะมาดำรงตาแหน่งเจ้าเมืองจะต้องคัดเลือกผู้ที่มีฝีมือในทางรบทัพจับศึกเป็นเยี่ยม มีความซื่อสัตย์สุจริต กล้าหาญชาญชัย เพราะเป็นตำแหน่งแม่ทัพด้วย นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อหมู่บ้าน ตำบล อำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดกาญจนบุรี ที่เคยเป็นสนามรบและเป็นที่ตั้งค่ายคูประตูรบมาแล้วในอดีต มีชื่อปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์มาจนทุกวันนี้ เช่น ปากแพรก ดงรัง หนองขาว ตระพังตรุ ลาดหญ้า เมืองสิงห์ ท่าตะกั่ว ท่ากระดาน ด่านกรามช้าง ช่องแคบ พุไคร้ สามสบ ท่าดินแดง บ้านทวน ด่านพระเจดีย์สามองค์ เมืองลุ่มสุ่ม ลูกแก โคกกระออม และด่านบ้องตี้ เป็นต้น
ตัวเมืองกาญจนบุรี ซึ่งแต่เดิมอยู่ที่บริเวณทุ่งลาดหญ้าใกล้ ๆ กับเขาชนไก่นั้น ต่อมาในรัชกาลที่ 1 มีสงครามบ่อย ๆ แผนการสงครามก็เปลี่ยนแปลงไป คือ กองทัพพม่าไม่ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ โดยผ่านทางเมืองสังขละบุรีและเมืองศรีสวัสดิ์ทางเดียว แต่กลับยกเข้ามาทางเรือโดยมาทางเมืองไทรโยค (เก่า) ซึ่งอยู่ที่บ้านท่าทุ่งนา ล่องลงมาตามลำน้ำแควน้อยมาขึ้นบกที่ปากแพรกอีกทางหนึ่ง ด้วยเหตุนี้พระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทซึ่งทรงเป็นแม่ทัพรบกับพม่าทางด้านนี้บ่อย ๆ ทรงเห็นว่าการยุทธศาสตร์เปลี่ยนไปคงจะได้เลื่อนที่ตั้งฐานทัพจากเมืองกาญจนบุรีเก่า มาตั้งที่ปากแพรกทางฝั่งซ้ายแม่น้ำแม่กลอง ในระหว่าง พ.ศ. 2330 - 2360 ในระยะแรก ๆ ก็ปักแต่เสาระเนียดแล้วถมดินเป็นเชิงเทินเท่านั้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานอธิบายไว้ว่า "ที่จริงภูมิฐานเมืองปากแพรกดีกว่าเมืองเขาชนไก่ เพราะเป็นที่ตั้งอยู่ในที่รวมแม่น้ำทั้ง 2 แม่น้ำผืนแผ่นดินที่ตั้งเมืองก็สูงและเห็นแม่น้าน้อยได้ไกล ป้อมกลางย่านตั้งอยู่ตรงกลางลำน้ำทีเดียว แม้ในรัชกาลที่ 2 เมื่อเสด็จออกมาขัดตาทัพกำแพงเมืองก็คงเป็นไม้ระเนียดอยู่"
"ต่อมา พ.ศ. 2374 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ก่อกำแพงเมืองป้อมปราการ ขุดคูเมือง ตั้งศาลหลักเมือง เป็นลักษณะเมืองอันมั่นคงถาวรโดยมีพระประสงค์เพื่อให้ติดต่อค้าขายกับเมืองราชบุรี เมื่อพระยากาญจนบุรี (พระยาประสิทธิสงคราม) เข้าเฝ้าทรงโปรดเกล้าฯ รับสั่งว่า "เมืองกาญจนบุรีเป็นทางที่อังกฤษ พม่า รามัญ ไปมา ให้สร้างเมืองก่อกำแพงเมืองขึ้นไว้ จะได้เป็นชานพระนครเขื่อนเพชรเขื่อนขันธ์มั่นคงไว้แห่งหนึ่ง แล้วจะได้ป้องกันสมณะชีพราหมณ์อาณาประชาราฎรพระพุทธศาสนาจะได้ถาวรตลอดไปชั่วนิรันดร"
ตัวเมืองเมื่อแรกสร้างในครั้งนั้นมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก กว้าง 5 เส้น ยาว 10 เส้น 18 วา มีป้อมมุม 4 ป้อม ป้อมย่านกลางด้านยาวตรงหน้าเมืองทิศตะวันตกเฉียงใต้มีป้อมใหญ่อยู่ตรงเนินด้านหลังมีป้อมเล็กตรงกับป้อมใหญ่ 1 ป้อม มีประตูรวมทั้งหมด 8 ประตู กำาแพงสูง 8 ศอก ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสไทรโยคว่า
"ด้วยเขาชนไก่เมืองเดิมนั้นขึ้นไปตั้งเหนือมาก มีแก่งถึงสองแก่ง ลูกค้าจะไปมาลำบากจึงมาตั้งอยู่เสียที่ปากแพรกนี้ เป็นทางไปมาแต่เมืองราชบุรีง่าย"
และอีกตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์ตามเสด็จประพาสไทรโยคว่า
"อันเมืองกาญจนบุรีนี้สร้างใหม่ เมืองเขาชนไก่เป็นที่ตั้ง พม่าลาดกวาดคนไปหลายครั้งอีกทั้งยากแค้นแสนกันดาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าพิภพ ทรงปรารภสร้างใหม่ให้ไพศาล จึงย้ายมาปากแพรกแปลกโบราณ ประสงค์การค้าขายฝ่ายราชบุรี"
ในการสร้างเมืองกาญจนบุรีที่ปากแพรกครั้งนั้น ได้จัดให้มีพิธีการต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์ตามหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในหลักศิลาจารึกหลักเมือง เมื่อ พ.ศ. 2374 เมืองกาญจนบุรีเป็นเมืองกษัตริย์สร้าง ชาวกาญจนบุรีควรจะภาคภูมิใจ
ในด้านเกร็ดตำนานจากหนังสือวรรณคดีเรื่องขุนช้าง ขุนแผน เมืองกาญจนบุรี ปรากฏว่ามีชื่ออยู่ในวรรณคดีดังกล่าวมา ซึ่งมีเค้าความจริงในแผ่นดินสมเด็จพระพันวษาคือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา ระหว่าง พ.ศ. 2034 - 2072 ในนามขุนแผน เป็นตำแหน่งปลัดซ้ายในกรมตำรวจภูบาล กาญจนบุรี (เก่า) เป็นภูมิลำเนาของมารดาและขุนแผนคืออยู่บ้านเขาชนไก่ ตำบลลาดหญ้ามีเจดีย์เก่าอยู่บนเขาองค์หนึ่ง แต่เวลานี้ทรุดโทรมมาก มีคนขึ้นไปขุดเจาะเจดีย์ได้พระไปมาก โดยเฉพาะมีพระขุนแผนอุ้มไก่อยู่ด้วย บริเวณเมืองกาญจนบุรีเก่ายังมีซากวัดต่าง ๆ หลายวัด
ตามเกร็ดตำนานเมืองกาญจนบุรีนั้นกล่าวว่า เมื่อขุนแผนเป็นแม่ทัพไปทำสงครามมีชัยชนะกลับมาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าเมืองกาญจนบุรี เมืองหน้าด่านมีบรรดาศักดิ์ว่า"พระสุรินทร์ฦๅไชยมไหศูรยภักดี"  จันทร์ ตุงคสวัสดิ์ ได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2558 - 2465 นับว่าเป็นราชทินนามสืบเนื่องมาจากวรรณคดีเรื่องขุนช้าง-ขุนแผนในครั้งโบราณสมัยอยุธยา
สมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา
ครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพาหรือสงครามโลกครั้งที่สอง ทางด้านเอเชีย กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นประเทศไทย เมื่อตอนเช้าตรู่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 และได้ยื่นคำขาดขอเดินทัพผ่านไปยังมลายูและพม่า ซึ่งเวลานั้นอยู่ในความปกครองของอังกฤษ รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรียินยอมตามข้อเสนอของกองทัพญี่ปุ่น
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ชี้แจงแก่ประชาชนไทยทางวิทยุกระจายเสียงว่า นับตั้งแต่เช้าตรู่วันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นที่จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี ฯลฯ ได้มีการสู้รบอย่างรุนแรงระหว่างทหารไทยกับทหารญี่ปุ่น ในเวลาเดียวกันเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยได้เจรจากับรัฐบาลขอให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านดินแดนประเทศไทย โดยญี่ปุ่นรับรองจะเคารพเอกราชและอธิปไตยของไทย รัฐบาลได้พิจารณาแล้วโดยถี่ถ้วนเห็นว่า ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ จึงสมควรยินยอมตามคำขอของญี่ปุ่น ท่านนายกรัฐมนตรีวิงวอนขอให้ประชาชนชาวไทยเห็นใจ และเข้าใจการตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้
การตัดสินใจครั้งนี้ นับเป็นขั้นตอนแรกในอีกหลาย ๆ ขั้นตอนที่รัฐบาลสมัยนั้นได้ดำเนินการไปและในที่สุดรัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ญี่ปุ่นยังคงตั้งฐานทัพอยู่ในประเทศไทยจนสงครามสงบโดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายประกาศยอมแพ้ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488
ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ในช่วงเวลาดังกล่าว ที่กองทหารญี่ปุ่นเข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทยนั้น มีผลกระทบต่อประเทศไทย ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม อย่างแรงและเห็นได้ชัดเจน แต่ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คงความเป็นเอกราช และสามารถรักษาอธิปไตยของชาติไว้ได้ตราบเท่าทุกวันนี้
จังหวัดกาญจนบุรีก็เริ่มมีบทบาทในสงครามครั้งนี้ขึ้นมาทันที โดยกองทัพญี่ปุ่นได้นำเชลยศึกรวมทั้งกรรมกรเกณฑ์แรงงานซึ่งกวาดต้อนเข้ามาในประเทศไทย เพื่อสร้างทางรถไฟไปพม่าโดยแยกจากทางรถไฟที่สถานีหนองปลาดุกไปเมืองกาญจนบุรี ข้ามแม่น้าแควใหญ่เรียกกันว่า "สะพานข้ามแม่น้ำแคว" แล้วตัดข้ามหุบเขา ขุนเขา ป่าดงจนถึงชายแดนพม่า เพื่อขนส่งกำลังพลและยุทธสัมภาระจากประเทศไทยไปพม่า ทำให้จังหวัดกาญจนบุรีต้องตกเป็นเป้าหมายของฝ่ายสัมพันธมิตรที่มาทิ้งระเบิดทำลายสะพาน ทางรถไฟเพื่อตัดเส้นทางลำเลียงขนส่ง ประชาชนชาวเมืองกาญจนบุรี ได้รับเคราะห์กรรมจากสงครามอันทารุณครั้งนี้อยู่หลายปี ทำให้ต้องเสียชีวิตและทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวกาญจนบุรียังจำได้ดีและทางราชการได้จัดงาน "สัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว" เป็นงานประจำปีของจังหวัด ซึ่งเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา
อนุสรณ์แห่งสงครามครั้งนั้นยังปรากฏจนทุกวันนี้ ได้แก่
1. สะพานข้ามแม่น้ำแคว
2. ทางรถไฟสายมรณะ
3. สุสานทหารสหประชาชาติ
จากประวัติความเป็นมาของจังหวัดกาญจนบุรีดังกล่าวมาแล้ว จะเห็นว่าเมืองกาญจนบุรีเป็นเมืองหน้าด่านและเป็นสมรภูมิที่บรรพบุรุษในอดีตได้เคยหลั่งเลือดต่อสู้กับข้าศึกศัตรูเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยไว้นับครั้งไม่ถ้วน และด่านพระเจดีย์สามองค์ก็เป็นด่านสำคัญของประเทศไทยทางด้านทิศตะวันตกเพราะเป็นทางเดินที่ใกล้สุดระหว่างไทยกับพม่า ไทยกับพม่าได้ทาสงครามขับเคี่ยวกันมาตลอดสามกรุง (กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์) ไม่ว่าพม่าจะยกกองทัพมารบกับไทยก็ดีหรือกองทัพไทยจะยกไปตีเมืองพม่าก็ดี จะต้องยกกองทัพผ่านด่านพระเจดีย์สามองค์นี้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งถ้านับแล้วก็ไม่น้อยกว่า 15 ครั้ง จึงนับได้ว่าด่านพระเจดีย์สามองค์เป็นด่านที่สำคัญมาก ด้วยเหตุนี้เองจังหวัดกาญจนบุรีจึงได้ใช้รูปพระเจดีย์สามองค์เป็นเครื่องหมายประจำจังหวัด และเทศบาลเมืองกาญจนบุรีก็ใช้รูปพระเจดีย์สามองค์เป็นเครื่องหมายของเทศบาลด้วย นอกจากนี้รูปพระเจดีย์สามองค์ยังนำไปเป็นสัญลักษณ์ผ้าผูกคอของลูกเสือของจังหวัดกาญจนบุรี และค่ายลูกเสือของจังหวัดกาญจนบุรีก็ใช้ชื่อว่า "ค่ายลูกเสือเจดีย์สามองค์" อีกด้วย
ตัวเมืองกาญจนบุรี ตั้งอยู่ที่ปากแพรก ตั้งแต่ พ.ศ. 2374 เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2498 จึงได้ย้ายอาคารสถานที่ราชการและศาลากลางจังหวัดมาปลูกสร้างใหม่ที่ "บ้านบ่อ" ตำบลปากแพรก ริมถนนแสงชูโต ห่างจากศาลากลางจังหวัดเดิม ประมาณ 3 กิโลเมตร

ประวัติศาสตร์จังหวัดกาฬสินธุ์
ตราประจำจังหวัด

รูปติณชาติ บึงน้ำสีดำ ภูเขา และเม
คำขวัญประจำจังหวัด
เมืองฟ้าแดดสงยาง โปงลางเลิศล้ำ วัฒนธรรมผู้ไทย
ผ้าไหมแพรวา ผาเสวยภูพาน มหาธารลำปาว
ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี

เมืองกาฬสินธุ์หรือจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ยกฐานะขึ้นเป็น "เมือง" ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงศรีอยุธยา
ในช่วงนี้มีความกล่าวว่าเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวละว้า และได้เคยตกอยู่ในอำนาจของพม่า
สมัยกรุงธนบุรี
ในช่วงนี้นับเป็นเหตุการณ์สำคัญต่อการตั้งเมืองกาฬสินธุ์เป็นอย่างยิ่ง  กล่าวคือ  เมื่อ  พ.ศ. 2310 พระเจ้าองค์เวียนดาแห่งนครเวียงจันทน์ ได้สิ้นพระชนม์ลง โอรสท้าวเพี้ยเมืองแสน ได้ยกกองทัพเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ประสบความสำเร็จ และได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบแทนพระนามว่า "พระเจ้าศิริบุญสาร"
เมื่อพระเจ้าศิริบุญสารขึ้นครองราชสมบัติแล้ว  ได้กดขี่ข่มเหงเบียดเบียนประชาราษฎร์ให้ได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส  ดังนั้น ประมาณปี พ.ศ. 2320 ท้าวโสมพะมิตร  และอุปฮาดเมืองแสนฆ้อนโปง  เมืองแสนหน้าง้ำ  ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เกิดขัดใจกับพระเจ้าศิริบุญสาร  เจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์จึงได้รวบรวมผู้คนที่เป็นสมัครพรรคพวกอพยพจากดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง  ข้ามมาตั้งบ้านเรือนอยู่แถวบริเวณลุ่มน้ำก่ำ (ก่ำ แปลว่า ดำ – ผู้จัดทำ) แถบบ้านพรรณา  หนองหาร  ธาตุเชียงชุม  เมืองพรรณานิคม  ซึ่งเป็นหมู่บ้าน และอำเภอของจังหวัดสกลนครในปัจจุบัน
ครั้นต่อมาท้าวศิริบุญสารได้ยกกองทัพติดตามมา  เพื่อกวาดต้อนผู้คนที่หลบหนีมา  ให้กลับคืนสู่นครเวียงจันทน์  ทำให้ท้าวโสมพะมิตรและพรรคพวกต้องอพยพต่อไปและได้แบ่งแยกเป็น  2 สาย
สายที่ 1 โดยมีเมืองแสนหน้าง้ำเป็นหัวหน้า นำสมัครพรรคพวกบ่าวไพร่ บุตรหลาน มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก  สมทบกับพระวอ  พระตา  ซึ่งแตกทัพมาจากเมืองนครเขื่อนขันท์กาบแก้วบัวบาน  (เมืองหนองบัวลำภู)  พระตาถูกปืนข้าศึกตายในสนามรบ  พระวอกับเมืองแสนหน้าง้ำรวบรวมไพร่พลที่เหลือหลบหนีไปจนกระทั่งถึงนครจำปาศักดิ์และได้นำเครื่องบรรณาการเข้าถวายพอพึ่งบารมีของพระเจ้าหลวงแห่งนครจำปาศักดิ์
        พระเจ้าองค์หลวงรับสั่งไปตั้งอยู่  ณ  ดอนค้อนกอง  พระวอจึงสร้างค่ายขุดคูขึ้นเพื่อป้องกันข้าศึก  เรียกค่ายนั้นในเวลาต่อมาว่า "ค่ายบ้านดู่บ้านแก" ใน พ.ศ. 2521 พระเจ้าศิริบุญสารยังมีความโกรธแค้นไม่หาย  จึงแต่งตั้งให้เพี้ยสรรคสุโภย  ยกกองทัพกำลังหมื่นเศษติดตามลงมา  เพื่อจับพระวอและพรรคพวก  พระวอได้ยกกำลังออกต่อสู้ด้วยความห้าวหาญยิ่ง  แต่สู้กำลังที่เหนือกว่าไม่ได้จนวาระสุดท้ายได้ถึงแก่ความตาย ณ ค่ายบ้านดู่บ้านแกนั่นเอง ท้าวคำผง ท้าวทิดพรหม และท้าวก่ำผู้เป็นบุตรหลาน  ได้พาผู้คนที่เหลือหลบหนีเข้าไปอยู่ในเกาะกลางลำแม่น้ำมูลมี  ชื่อว่า  "ดอนมดแดง"  อยู่ในท้องที่จังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน 
        สายที่ 2 ท้าวโสมพะมิตรเป็นหัวหน้า  ได้พาสมัครพรรคพวกยกพลข้ามสันเขาภูพานลงมาทางใต้  และได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านกลางหมื่น ขณะที่ให้ผู้คนจัดสร้างที่พักอยู่นั้น ท้าวโสมพะมิตรได้สำรวจผู้คนของตน  ปรากฏว่ามีอยู่ประมาณ  5,000 คน  (ครึ่งหรือกลางหมื่นเหมือนชื่อหมู่บ้านปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองกาฬสินธุ์)  และท้าวโสมพะมิตรได้ส่งท้าวตรัยและผู้รู้หลายท่านออกเสาะหาชัยภูมิ  เลือกทำเลที่จะสร้างเมืองใหม่  ท้าวตรัยและคณะใช้เวลาสำรวจอยู่ประมาณปีเศษ  จึงได้พบทำเลอันเหมาะสม  คือได้พบลำน้ำปาว และเห็นว่าแก่งสำโรงชายสงเปลือย มีดินมีน้ำอุดมสมบูรณ์ ควรแก่ตั้งเป็นบ้านเป็นเมือง จึงได้อพยพผู้คนมาตั้งบ้านเรือนบริเวณนี้  และได้จัดสร้างหลักเมืองขึ้น  ณ  ที่ตั้งศาลเจ้าพ่อหลักเมืองในปัจจุบัน โดยตั้งตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อใคร อยู่มาได้ประมาณ 10 ปีเศษ
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ครั้นต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้สถาปนา
กรุงเทพมหานครขึ้นเป็นเมืองหลวงเมื่อ พ.ศ. 2325 และเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้ามาก ท้าวโสมพะมิตรเห็นเป็นโอกาสดีจึงได้นำเครื่องบรรณาการเข้าถวายสวามิภักดิ์ และกราบทูลขอตั้งบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมือง     ปี  พ.ศ.  2334  โดยถือเอานิมิตเมืองพรรณานิคมและเมืองหนองหาญธาตุเชิงชุม  อันเป็นเมืองเดิมใช้ลุ่มน้ำก่ำ  เป็นแหล่งประกอบอาชีพ  ซึ่งชาวพื้นเมืองเรียกว่าแม่น้ำ "ก่ำ"  แปลว่า  "ดำ"  นั่นเองประกอบกับครั้งนั้นท้าวโสมพะมิตรได้นำกาน้ำสัมฤทธิ์ทูลเกล้าถวาย  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกฐานะบ้านแก่งสำรงขึ้นเป็นเมือง  พระราชทานนามว่า  "กาฬสินธุ์"  เมื่อปี  พ.ศ.  2336 พร้อมทั้งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ท้าวโสมพะมิตรเป็นพระยาชัยสุนทรครองเมืองกาฬสินธุ์เป็นคนแรก และผู้คนในถิ่นนี้จึงได้นามว่า  "ชาวกาฬสินธุ ์" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งมีคำกลอนเป็นภาษาถิ่นกล่าวอ้างไว้ว่า
"กาฬสินธุ์นี้ดำดินน้ำสุ่ม ปลากุ่มบ้อนคือแข่แก่งหาง ปลานางบ้อนคือขางฟ้าลั่น จั๊กจั่นฮ้องคือฟ้าล่วงบน แตกจ่น ๆ คนปีบโฮแซว เมืองนี้มีสู่แนวแอ่นระบำฟ้อน" หมายถึง กาฬสินธุ์  เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์มาก  มีดินดี น้ำข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ประชาชนมีความสุข สดชื่นรื่นเริงทั่วไป
(เสริมอีกนิด บ้อน คือ อาการของปลาโฉบเหนือน้ำ ขางฟ้า แปลว่า ขี้ฟ้า = ก้อนเมฆ ฮ้อง คือ ร้อง  แตกจ่น ๆ ก็คือสนุกสนานรื่นเริง  มีสู่แนว คือ มีทุกอย่าง – ผู้จัดทำ)
ในครั้งนั้น  ท้าวโสมพะมิตร  (พระยาชัยสุนทร)  ได้ปกครองอาณาประชาราษฎร์  ในเขตดินแดนด้วยความร่มเย็นเป็นสุขด้วยดีเสมอมา  จนกระทั่งท้าวโสมพะมิตร  (พระยาชัยสมุทร)  ได้ถึงแก่อนิจกรรม เมื่ออายุ 70 ปี ท้าวหมาแพงบุตรอุปฮาด (คืออุปราช – ผู้จัดทำ) เมืองแสนฆ้อนโปง ได้รับพระราชทานเป็นพระยาชัยสุนทรครองเมืองกาฬสินธุ์แทน  ซึ่งตรงกับ  พ.ศ.  2348 และยังได้โปรดเกล้าให้ท้าวหมาสุ่ยเป็นอุปฮาด ให้ท้าวหมาฟองเป็นราชวงศ์  ครั้นต่อมาเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์เป็นกบฏ  ได้มาเกลี้ยกล่อมท้าวหมาแพงให้ร่วมด้วย  แต่ท้าวหมาแพงและชาวเมืองกาฬสินธุ์  ทั้งมวลยังมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรีไม่เปลี่ยนแปลง เป็นเหตุให้ท้าวหมาแพงถูกทารุณเฆี่ยนตีและตัดหัวเสียบประจาน ณ ทุ่งหนองหอย ตรงกับ ปี พ.ศ. 2369
เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางกรุงเทพมหานคร  จึงได้มอบให้พระยาราชสุภาวดี  (พระยาบดินทร์เดชา)  ยกกองทัพขึ้นไปปราบเมืองเวียงจันทน์จนมีชัยชนะแล้วกวาดต้อนผู้คนเมืองลาวมารวมกันอยู่ที่เมืองกาฬสินธุ์เป็นจำนวนมาก และได้โปรดเกล้าแต่งตั้งท้าวบุตรเจียม บ้านขามเปีย ซึ่งมีความชอบต่อเจ้าพระยาบดินทร์เดชา คือจัดส่งเสบียง ครั้งตีเมืองเวียงจันทน์ขึ้นเป็นพระยาชัยสุนทรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์  และแต่งตั้งท้าวหล้าขึ้นเป็นอุปฮาด  และท้าวอินทิสารผู้เป็นมิตรสหายของท้าวหล้าขึ้นเป็นที่ราชวงศ์  แล้วแต่งตั้งท้าวเชียงพิมพ์ขึ้นเป็นราชบุตร  ครั้นโปรดเกล้าฯ  จัดแจงแต่งตั้งเจ้าเมืองกรมการเมืองกาฬสินธุ์ ทั้งปวงเสร็จแล้ว เจ้าพระยาบดินทร์เดชาแม่ทัพจึงยกทัพกลับไป
การปกครองบ้านเมืองในระบอบมณฑลเทศาภิบาล
พระยาชัยสุนทร  (ท้าวบุตรเจียม)  ได้ปกครองบ้านเมืองโดยเรียบร้อยต่อมาจนถึงสมัยพระยาชัยสุนทร (ท้าวเก) ปี พ.ศ. 2437  ได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองแบบให้เจ้าเมืองปกครองขึ้นตรงต่อกรุงเทพ  มาเป็นรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล  มีมณฑล, จังหวัด, อำเภอ, ตำบล  และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ  ตั้งให้เมืองร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดร้อยเอ็ด  บรรดาหัวเมืองต่าง  ๆ  ให้ยุบเป็นอำเภอ คือ เมืองกาฬสินธุ์ เป็นอำเภออุทัยกาฬสินธุ์
จนกระทั่งถึงวันที่  1  สิงหาคม  2456  ได้ทรงพระกรุณายกฐานะจังหวัดร้อยเอ็ด  ขึ้นเป็นมณฑล  ยกฐานะอำเภออุทัยกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดกาฬสินธุ์  ให้จังหวัดมีอำนาจปกครองอำเภอ  คือให้ อำเภออุทัยกาฬสินธุ์  อำเภอสหัสขันธ์  อำเภอกุฉินารายณ์  อำเภอกมลาไสย  อำเภอยางตลาด  ขึ้นกับจังหวัดกาฬสินธุ์  และให้จังหวัดกาฬสินธุ์ขึ้นต่อมณฑลร้อยเอ็ด  ให้พระภิรมย์บุรีรักษ์  เป็นปลัดมณฑลประจำจังหวัดกาฬสินธุ์
ต่อมามีเหตุการณ์สำคัญ  คือเกิดข้าวยากหมากแพงเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ  การเงินฝืดเคือง  จำเป็นต้องยุบจังหวัดต่าง  ๆ  ลงเพื่อให้สมดุลกับรายได้ของประเทศ  จังหวัดกาฬสินธุ์  ก็ถูกยุบเป็นอำเภอ ขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม  เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2474 และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอรรถเปศลสรวดี  เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดมหาสารคาม  (แทนพระยามหาสารคามคณาภิบาลซึ่งออกรับบำนาญ)  เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม  พ.ศ.  2476  จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
ในปี  พ.ศ.  2495  รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับ ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมดังนี้
-  จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล เดิมไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
-  อำนาจการบริหารจังหวัดเดิมเป็นของคณะกรมการจังหวัด  ได้เปลี่ยนมาเป็นมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือผู้ว่าราชการจังหวัด
-  ในฐานะกรมการจังหวัด  เดิมมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดได้กลายเป็นคณะที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด 
ในที่สุดได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย  ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
        1. จังหวัด
2. อำเภอ
จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลาย  ๆ  อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด  มีฐานะเป็นนิติบุคคลการตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด  ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ  และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น

ประวัติศาสตร์จังหวัดกำแพงเพชร
ตราประจำจังหวัด

รูปกำแพงเมืองมีใบเสมาประดับเพชร
คำขวัญประจำจังหวัด
กรุพระเครื่อง เมืองคนแกร่ง ศิลาแลงใหญ่ กล้วยไข่หวาน น้ำมันลานกระบือ เลื่องลือมรดกโลก

 สมัยก่อนสุโขทัย
หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่พอจะตรวจสอบได้ของชุมชนโบราณแถบนี้ ได้แก่ ตำนานสิงหนวติกุมารซึ่งกล่าวถึง อาณาเขตของโยนกนคร ในสมัยพระยาอชุตราชาว่าทิศใต้จดชายแดนลวะรัฐ (ละโว้) ที่สบแม่ระมิง (ปากแม่น้ำปิง) ความนี้ส่อให้เห็นว่าดินแดนเมืองกำแพงเพชรแต่โบราณนั้น เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโยนกนครด้วยและจากตำนานฉบับเดียวกันนี้บันทึกว่า พระองค์ชัยศิริ ได้ละทิ้งเวียงไชยปราการหนีข้าศึกลงมาตั้งเมืองใหม่ชื่อว่า เมืองกำแพงเพชร แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีอื่นใดที่จะระบุได้แน่ชัดว่า เมืองกำแพงเพชรของพระองค์ชัยศิริ จะเป็นเมืองเดียวกับเมืองกำแพงเพชรในปัจจุบัน แต่ก็มีผู้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเมืองเดียวกับเมืองไตรตรึงส์หรือเมืองแปป ซึ่งเป็นเมืองเก่าอยู่ทางฝั่งตะวันตกของลำน้ำปิง หรือเทพนครซึ่งอยู่บนฝั่งตะวันออกของลำน้ำปิง ซึ่งพบร่องรอยการเป็นเมืองโบราณทั้งสองแห่ง
จากหลักฐานดังกล่าวอาจสรุปได้ว่า ชุมชนดั้งเดิมแถบนี้เป็นคนไทยที่มีสายสัมพันธ์กับคนไทยในอาณาจักรล้านนาไทย (โยนกนคร)
หลักฐานสำคัญก่อนสุโขทัยอีกฉบับหนึ่ง ได้แก่ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ตอนที่ว่าด้วยพระสีหลปฏิมาหรือพระพุทธสิหิงค์ ได้กล่าวถึงบ้านโค ซึ่งตามทางสันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึงบ้านโคน หรือเมืองคนที ว่าเป็นบ้านเดิมของโรจราช หรือพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย

สมัยสุโขทัย
เมืองและชุมชนโบราณในกลุ่มเมืองกำแพงเพชรสมัยสุโขทัยที่ปรากฏชื่อในศิลาจารึก ได้แก่เมืองนครชุม เมืองชากังราว เมืองคนที เมืองบางพาน เมืองเหล่านี้บางเมืองอาจเคยเป็นบ้านเมืองมาแล้วก่อนสมัยสุโขทัย แต่ในสมัยสุโขทัยตอนต้นเมืองนครชุมเป็นเมืองหลักในบริเวณนี้ โดยมีเมืองชากังราวเป็นเมืองเล็ก ๆ ร่วมสมัยอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ตรงข้ามเมืองนครชุม เมื่อแรกเริ่มเป็นเมืองลูกหลวงของกรุงสุโขทัย ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ส่งผู้ใดมาปกครองที่เมืองชากังราวฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ตรงข้ามกับเมืองนครชุมนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในประชุมปาฐกถาตอนที่ว่าด้วย "พงศาวดารกรุงสุโขทัยคราวเสื่อม" ว่าน่าจะสร้างขึ้นเป็นเมืองลูกหลวงคู่กับเมืองศรีสัชนาลัยในรัชกาลพระเจ้าเลอไทย ซึ่งหากจะเทียบกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ตอนนี้ที่เมืองศรีสัชนาลัยนั้น พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) เป็นอุปราชครองเมืองอยู่ ส่วนที่เมืองชากังราวนั้นพระยางั่วนำทัพเรือจากเมืองชากังราวเสด็จไปยึดเมืองสุโขทัยเป็นเหตุให้พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) อุปราชเมืองศรีสัชนาลัยต้องยกทัพไปปราบปราม แล้วจึงขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครองกรุงสุโขทัย
ในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) เมืองนครชุมและเมืองชากังราวมีความสำคัญมากขึ้น ดังมีหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 3 ว่า "ศักราช 1279 ปีระกา เดือน 4 ออก 5 ค่ำ วันศุกร์ หนไทย กัดเล้า บูรพผลคุณี นักษัตรเมื่อยามอันสถาปนานั้น เป็น 6 ค่ำ แลพระยาลือไทยราช ผู้เป็นลูกพระยาเลอไทย เป็นหลานแก่พระยารามราช เมื่อได้เสวยราชย์ในเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย ได้ราชาภิเษก อันฝูงท้าวพระยาทั้งหลายอันเป็นมิตรสหายอันมีในสี่ทิศนี้ แต่งกระยาดงวาย ของฝากหมากปลามาไหว้อันยัดยัญอภิเษกเป็นท้าวเป็นพระยา จึงขึ้นชื่อศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราช หากเอาพระศรีรัตนมหาธาตุอันนี้มาสถาปนาในเมืองนครชุมนี้ ปีนั้น"
ศิลาจารึกหลักที่ 3 หรือที่เรียกว่า จารึกนครชุมนี้ ได้กล่าวถึงเมืองบางพาน เมืองคนทีว่าเป็นเมืองที่ขึ้นแก่กรุงสุโขทัย มีเจ้าปกครอง ที่เมืองบางพานนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระพุทธบาท ที่เขานางทองแห่งหนึ่ง
ในปลายรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) ปรากฏหลักฐานในชินกาลมาลีปกรณ์ว่า เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) เสด็จมาประทับที่เมืองชัยนาท (ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ตีความว่าคือสองแควหรือพิษณุโลก) หลังจากที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ (1) (พระเจ้าอู่ทอง) ยกกองทัพมายึดไปได้และทรงคืนให้ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) ได้โปรดให้พระมหาเทวีผู้เป็นพระกนิษฐา ทรงครองเมืองสุโขทัยแทนให้อำมาตย์ชื่อติปัญญา (พระยาญาณดิส) มาครองเมืองกำแพงเพชร (ผูกเป็นศัพท์ภาษาบาลี วชิรปราการ)
ในสมัยนี้เอง ติปัญญาอำมาตย์ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานในเมืองกาแพงเพชร และแม้ว่าชินกาลมาลีปกรณ์จะออกชื่อเสียงเมืองกำแพงเพชรสมัยนั้นแต่หลักฐานเอกสารพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ยังคงเรียกชากังราว อยู่ต่อมา

สมัยกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เมืองกำแพงเพชร ยังคงเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของกรุงสุโขทัย มีติปัญญาอำมาตย์ หรือพระยาญาณดิสปกครองเมือง
ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 2 แห่งกรุงสุโขทัย ปรากฏหลักฐานในประชุมพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ว่า ในปี พ.. 1916 และปี พ.. 1919 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) เสด็จไปตีชากังราว พระยาคำแหงเจ้าเมืองชากังราว สามารถยกพลเข้าต่อสู้จนกองทัพอยุธยาต้องยกทัพกลับทั้งสองคราวจนกระทั่งในปี พ.. 1921 กองทัพอยุธยาขึ้นไปตีเมืองชากังราวอีก พระมหาธรรมราชาที่ 2 ทรงยอมแพ้ออกมาถวายบังคม กรุงสุโขทัยตกเป็นประเทศราชขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ได้จัดแบ่งกรุงสุโขทัยออกเป็น 2 ภาค โดยให้พระมหาธรรมราชาที่ 2 ปกครองอาณาเขตทางลาน้ายมและน่าน โดยมีเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองเอกภาคหนึ่ง ส่วนด้านลำน้ำปิงให้พระยายุทิษฐิระราชบุตรบุญธรรมเป็นผู้ปกครอง คือบริเวณตากและกาแพงเพชร โดยมีเมืองกาแพงเพชรเป็นเมืองเอก จึงเข้าใจว่าเมืองชากังราวเมืองนครชุม ตลอดจนเมืองอื่นๆ จะรวมกันเป็นเมืองกาแพงเพชรตั้งแต่นั้นมา
หลังจากสุโขทัยพ่ายแพ้กรุงศรีอยุธยาในปี พ.. 1921 แล้ว ต่อมาอีก 10 ปี พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐฯ บันทึกไว้อีกว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ต้องเสด็จยกทัพไปชากังราวอีก แต่ทรงประชวรกลางทาง ต้องเสด็จกลับ และเสด็จสวรรคตกลางทาง ต่อมาในปี พ.. 1962๒ สมเด็จพระอินทราชาธิราชที่ 1 เสด็จขึ้นปราบจลาจลเมืองเหนือ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยารามคำแหงครองเมืองสุโขทัย ให้พระยาบาลเมืองครองเมืองชากังราว
เมืองชากังราวขึ้นโดยตรงต่อกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.. 1994 ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งในขณะนั้นกรุงสุโขทัยยังแข็งเมืองอยู่ จนกระทั่งปี พ.. 2005 กรุงสุโขทัยจึงขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา
ประวัติศาสตร์ชาติไทยตอนนี้ เป็นช่วงที่น่าฉงนในเรื่องการรบทัพจับศึกและชื่อบุคคลในราชวงศ์สุโขทัย แต่ถ้าจะทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์สุโขทัยสักเล็กน้อย ก็จะสามารถทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ตอนนี้ไม่ยากนัก โดยจะขอยกประวัติย่อของอาณาจักรสุโขทัย ที่ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงนิพนธ์ไว้มาประกอบดังนี้
"อาณาจักรสุโขทัย เป็นอาณาจักรแรกของไทยที่อาจทราบเรื่องราว และศักราช ได้ค่อนข้างแน่นอนจากศิลาจารึกและจดหมายเหตุ
จากการสอบสวนในชั้นหลังสุด อาจกล่าวได้ว่าพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัยมี 9 พระองค์คือ
1. พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ราว พ.. 1800 - พ.. 1811
2. พ่อขุนบาลเมือง ราว พ.. 1811 - .. 1821
3. พ่อขุนรามคาแหง ราว พ.. 1821 - .ศ. 1860
4. พระเจ้าเลอไทย ราว พ.. 1866 - .. 1884
5. พระเจ้างั่วนำถม ราว พ.. 1890
6. พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) ราว พ.. 1890 - ราว พ.. 1911
7. พระมหาธรรมราชาที่ 2 ราว พ.. 1911 - ราว พ.. 1942
8. พระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสยลือไทย) ราว พ.. 1942 -.. 1962
9. พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) ราว พ.. 1962 - ราว พ.. 1981
ในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหง ถ้าเราเชื่อตามศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลักที่ 1 จะเห็นได้ว่าอาณาจักรสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองมาก มีอาณาเขตกว้างใหญ่ คือ ทางทิศตะวันออกไปถึงเมืองสระหลวง (ติดกับพิษณุโลก คือ จังหวัดพิจิตรในปัจจุบัน) สองแคว (พิษณุโลก) ตลอดจนถึงฝั่งแม่น้ำโขง ถึงเมืองเวียงจันทร์ เวียงคำ ในประเทศลาวปัจจุบันทางทิศใต้ถึงเมืองพระบาง (นครสวรรค์) แพรก (ชัยนาท) สุพรรณภูมิ (อู่ทอง) ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราชจนจดฝั่งทะเล ทางทิศตะวันตกถึงเมืองฉอด (สอด) และหงสาวดีในประเทศพม่า แต่ทางทิศเหนือถึงเพียงเมืองแพร่ เมืองชะวา (หลวงพระบาง) ในประเทศลาว
จากพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ปรากฏว่าในปี พ.. 1914 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) แห่งพระนครศรีอยุธยา ได้เสด็จไปตีเมืองเหนือได้ทั้งหมด ซึ่งคงหมายถึงอาณาจักรสุโขทัย และตั้งแต่นั้นมาก็มีการรบพุ่งระหว่างอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาอีกหลายครั้ง เช่น ในปี พ.. 1916 - 1918 และ 1919 ปรากฏว่า ในปี พ.. 1921 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ได้เสด็จไปตีเมืองชากังราว (กำแพงเพชร) อีกและพระมหาธรรมราชาได้เสด็จออกมาถวายบังคม
พระมหาธรรมราชาองค์นี้ คงเป็นพระมหาธรรมราชาที่ 2 ราชโอรสของพระเจ้าลิไทยหรือพระมหาธรรมราชาที่ 1 นั่นเอง
ในปี พ.. 1962 พระมหาธรรมราชาที่ 3 สวรรคต และอาณาจักรสุโขทัยเป็นจลาจลอีก สมเด็จพระนครินทราธิราช แห่งพระนครศรีอยุธยาจึงได้เสด็จขึ้นมาระงับการจลาจลถึงเมืองพระบาง (นครสวรรค์) ปรากฏว่าพระยาบาลเมืองและพระยาราม ซึ่งคงอยู่ในราชวงศ์สุโขทัยกำลังแย่งราชสมบัติกันอยู่ในขณะนั้น ได้ออกมาถวายบังคม
พระยาบาลเมืองได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล)
พระมหาธรรมราชาที่ 4 คงสวรรคตในปี พ.. 1981 เพราะปรากฏว่าในปีนั้นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งขณะนั้นกำลังดำรงพระยศเป็นพระราเมศวร ตำแหน่งรัชทายาท ได้เสด็จขึ้นมาครองเมืองพิษณุโลก และนับแต่นั้นมาอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยา ก็ได้รวมกันเป็นอาณาจักรเดียว"  
เมืองชากังราว ซึ่งต่อมากรุงศรีอยุธยาออกชื่อเรียกเป็นกำแพงเพชร ต้องรับศึกหนักจากกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง เพราะทุกครั้งที่กองทัพกรุงศรีอยุธยายกไปตีกรุงสุโขทัย จะต้องเข้าตีชากังราวก่อนเสมอ ซึ่งก็ได้รับการต่อสู้อย่างเหนียวแน่น กองทัพกรุงศรีอยุธยาไม่สามารถเข้าตีเมืองได้เลย แม้เมื่อกรุงสุโขทัยจะต้องยอมแพ้แก่กรุงศรีอยุธยาแล้ว เมืองกำแพงเพชรก็ยังพยายามที่จะแข็งเมืองเป็นอิสระอยู่เสมอ แต่ในที่สุดก็ตกเป็นเมืองขึ้นแก่กรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ปี พ.. 1994 เป็นต้นมา
ตลอดระยะเวลาที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองกำแพงเพชรไม่เคยร้างหรือลดความสำคัญลงเลย ยังคงเป็นเมืองหน้าด่านให้กรุงศรีอยุธยาในการทำศึกสงครามกับพม่า และบรรดาหัวเมืองทางเหนือมาโดยตลอด และเมื่อกองทัพพม่าจะยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาก็มักจะเข้ามายึดเมืองกำแพงเพชรให้ได้ เพื่อใช้เป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารเช่นกัน
เมื่อกำแพงเพชรขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา ก็ไม่ปรากฏหลักฐานราชวงศ์ผู้ครองเมืองแน่ชัด แต่เข้าใจว่าคงจะส่งข้าราชการไปปกครอง และมีตำแหน่งพระยาวชิรปราการ ดังที่พระเจ้าตากสินได้รับพระราชทางตำแหน่งในตอนปลายกรุงศรีอยุธยา

สมัยกรุงธนบุรี
หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกยับเยิน และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชเมื่อปี พ.. 2310 แล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีมุ่งแต่การทำนุบำรุงเมืองให้เป็นปกติเรียบร้อย เมืองกำแพงเพชรซึ่งอยู่ห่างไกลจึงไม่มีบทบาทในสมัยกรุงธนบุรีมากนัก นอกจากการเป็นเมืองหน้าด่าน ในคราวรบทัพจับศึกเท่านั้นและเพราะเหตุที่กำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่าน ต้องรับศึกหนักตลอดมา ประชาชนพลเมืองไม่เป็นอันทำมาหากิน ต้องอพยพหลบภัยอยู่เสมอ บ้านเมืองวัดวาอาราม ตลอดจนโบราณสถาน โบราณวัตถุทั้งหลาย ก็ย่อยยับไปเพราะผลแห่งสงคราม เมืองกำแพงเพชรปัจจุบันจึงเหลือแต่เพียงซากเมืองเก่าให้เราได้ชมเท่านั้น

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในรัฐสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรม-วงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลให้เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำเนินการจัดตั้งมณฑลขึ้นในหัวเมืองชั้นใน 4 มณฑลเมื่อปี พ.. 2425 คือ มณฑลกรุงเก่า มณฑลปราจีน มณฑลพิษณุโลก และมณฑลนครสวรรค์ เมืองกำแพงเพชรถูกจัดให้อยู่ในมณฑลนครสวรรค์ รวมอยู่กับเมืองอื่น ๆ ได้แก่ ชัยนาท สรรค์บุรี มโนรมณ์ อุทัยธานี พยุหคีรี ตาก และนครสวรรค์ มณฑลนครสวรรค์นี้กว่าจะตั้งเป็นมณฑลอย่างสมบูรณ์ก็ในปี พ.. 2438
ในปี พ.. 2459 มีการเปลี่ยนคำว่า เมืองเป็นจังหวัด เมืองกำแพงเพชรจึงเปลี่ยนเป็นจังหวัดกำแพงเพชร ตั้งแต่ครั้งนั้น และยังคงขึ้นอยู่กับมณฑลนครสวรรค์เรื่อยมา จนกระทั่งมีการยกเลิกมณฑลเทศาภิบาลไปในปี พ.. 2476 มีการจัดระเบียบการปกครองแผ่นดินใหม่ จนถึงปัจจุบัน

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบบเทศาภิบาล
ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทรงปรับปรุงระบบการปกครองประเทศให้ทันสมัย โดยมีพระราชโองการยกเลิกระเบียบการปกครองแต่เดิม และประกาศตั้งกระทรวงแบบใหม่ขึ้น 12 กระทรวงเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.. 2435 โดยจัดสรรอำนาจและหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงให้เป็นสัดส่วนอาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม เป็นต้น บรรดาหัวเมืองที่แบ่งเป็นฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ ก็ให้อยู่ในบังคับบัญชาตราราชสีห์ของกระทรวงมหาดไทยทั้งหมด ตามประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ 22 ธันวาคม ร.. 113 (.. 2437)
เมื่องานปกครองหัวเมืองที่เคยแยกไปอยู่ในอำนาจของกระทรวงกลาโหมก็ดี กระทรวงการต่างประเทศ หรือกรมเจ้าท่าก็ดี ได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยเพียงกระทรวงเดียว กระทรวงมหาดไทยจึงมีฐานะเป็นศูนย์กลางบัญชาการงานปฏิรูปการปกครองให้ทันสมัยโดยปริยาย เมื่อสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเสด็จไปตรวจราชการหัวเมืองครั้งแรกได้ทรงพบข้อขัดข้องหลายประการในการปกครองหัวเมือง ประการแรก คือ มีหัวเมืองมากเกินไปแม้แต่หัวเมืองชั้นในก็มีหลายสิบเมืองการคมนาคมกับกรุงเทพฯ จะไปถึงก็ล่าช้า เช่นจะไปเมืองพิษณุโลกต้องเดินทางไปกว่า 12 วันจึงจะถึง หัวเมืองก็อยู่หลายทิศทาง จะจัดการอันใดก็พ้นวิสัยที่เสนาบดีจะออกไปจัดหรือตรวจการได้เอง มีแต่ตราสั่งข้อบังคับและแบบแผนส่งออกไปในแผ่นกระดาษให้เจ้าเมืองจัดการ เจ้าเมืองก็มีหลายสิบคนจะเข้าใจคำสั่งต่างกันอย่างไร และใครจะทำการซึ่งสั่งไปนั้นอย่างไรก็ยากที่จะรู้
ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริพร้อมด้วยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จัดตั้งระเบียบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้น
การจัดระเบียบการปกครองเมืองแบบมณฑลเทศาภิบาล เป็นการจัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสภาพและฐานะตัวแทน หรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทย เพื่อความเข้าใจในเรื่องนี้ จึงขอนำคำจำกัดความของ "การเทศาภิบาล" ซึ่งพระยาราชเสนา (สิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยมากล่าวไว้ ณ ที่นี้

"การเทศาภิบาล" คือการปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำแต่เฉพาะในราชธานีนั้นออกไปดำเนินการในส่วนภูมิภาค เป็น สื่อกลางระหว่างประชากรของประเทศซึ่งอยู่ห่างไกลจากรัฐบาลซึ่งอยู่ในราชธานีให้ได้ใกล้ชิดกับอาณาประชากรเพื่อให้เขาได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและเกิดความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติฯ ด้วย จึงแบ่งเขตการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นชั้นอันดับดังนี้ คือ ส่วนใหญ่เป็นมณฑล รองถัดลงไปเป็นเมืองคือ จังหวัด รองลงไปอีกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองการของกระทรวงทบวงกรมในราชธานี และจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้สติปัญญา ความประพฤติดีให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อน เพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อยและรวดเร็วแก่ราชการและธุรกิจของประชาชน ซึ่งต้องอาศัยทางราชการเป็นที่พึ่งด้วย"
การปกครองหัวเมืองในสมัยก่อนใช้ระบบเทศาภิบาลนั้น อำนาจปกครองบังคับบัญชามีความหมายแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่น หัวเมืองหรือประเทศราชยิ่งไกลจากกรุงเทพฯ เท่าใดก็ยิ่งมีอิสระมากขึ้นเท่านั้น หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่หัวเมืองใกล้ฯ ส่วนหัวเมืองอื่นที่ไกลออกไปมักจะมีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมือง และมีอำนาจอย่างกว้างขวาง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงพยายามที่จะจัดให้มีอำนาจการปกครองเข้ามารวมอยู่จุดเดียวกัน โดยจัดตั้งระบบเทศาภิบาล ซึ่งเป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการไปบริหารราชการในท้องที่ต่าง ๆ แทนที่ส่วนภูมิภาคจะจัดการปกครองกันเองเช่นแต่ก่อนอันเป็นระบบกินเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาล จึงเป็นระบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลาง หรือลิดรอนอำนาจเจ้าเมืองตามระบบเดิมลงอย่างสิ้นเชิง และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมหัวเมืองเข้าเป็นแบบมณฑล ๆ ละ 5 เมือง หรือ 6 เมือง ในขนาดท้องที่ที่ผู้บัญชาการมณฑลอาจจะจัดการและตรวจตราได้เองตลอดอาณาเขตเรียกว่า "มณฑลเทศาภิบาล" ข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงในเขตมณฑลของตน
การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล รัฐบาลมิได้ดำเนินการในทีเดียวทั้งประเทศ แต่ได้จัดตั้งเป็นระยะ ๆ ไปตั้งแต่ก่อนการปฏิรูปราชการบริหารส่วนกลาง ในปี พ.. 2435 ทั้งนี้ถือลำน้ำซึ่งเป็นทางคมนาคมในสมัยนั้นเป็นเครื่องกำหนดเขตมณฑล (มณฑลเทศาภิบาลที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.. 2437 คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนและมณฑลนครราชสีมา ต่อมาเมื่อมีการโอนหัวเมืองทั้งหมดซึ่งเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมมาอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวแล้ว จึงได้รวมหัวเมืองฝ่ายใต้จัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง) จากนั้นมา ตั้งแต่ปี พ.. 2438 ถึงปี พ.. 2458 ก็ได้มีการจัดตั้งยุบเลิก แต่เปลี่ยนเขตของการปกครองมณฑลเทศาภิบาลอยู่ตลอดเวลา ตามความเหมาะสม
ในมณฑลเทศาภิบาลแต่ละมณฑลมีข้าราชการคณะหนึ่งประกอบด้วยข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑล ข้าหลวงมหาดไทย ข้าหลวงยุติธรรม ข้าหลวงคลัง เลขานุการข้าหลวงเทศาภิบาล และแพทย์ประจำมณฑลข้าราชการบริหารมณฑลจำนวนนี้เรียกว่า "กองมณฑล" เจ้าหน้าที่ 6 ตำแหน่ง ดังกล่าวนี้เป็นเจ้าหน้าที่ที่กระทรวงมหาดไทยได้จัดให้มีขึ้นสำหรับบริหารงานมณฑล ละ 1 กอง เป็นข้าราชการที่สังกัดกระทรวงมหาดไทยทั้งสิ้น
ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลเป็นผู้รับผิดชอบปกครองมณฑล มีอำนาจสูงสุดในมณฑลเหนือข้าราชการพนักงานทั้งปวง มีฐานะเป็นข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงมอบความไว้วางพระราชหฤทัย โดยคัดเลือกจากขุนนางผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ออกไปปฏิบัติราชการมณฑลละ 1 คน หน่วยการปกครองมณฑลเทศาภิบาลนี้ทำหน้าที่เหมือนสื่อกลางเชื่อมโยงรัฐบาลกลาง กับหน่วยราชการส่วนภูมิภาคหน่วยอื่น ๆ เข้าด้วยกัน ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลมีอำนาจที่ใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งการได้เอง ยกเว้นเรื่องสำคัญซึ่งจะต้องขอความเห็นมายังกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น เป็นการแบ่งเบาภาระของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นอันมาก มณฑลเทศาภิบาลนับว่าเป็นวิธีการปกครองที่ทำให้รัฐบาลสามารถดึงเอาหัวเมือง ๆ เข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจพระเจ้าอยู่หัวได้อย่างแท้จริง ผู้ว่าราชการเมืองของแต่ละเมืองในมณฑลต้องอยู่ภายในบังคับบัญชาข้าหลวงเทศาภิบาลอีกชั้นหนึ่ง โดยมิได้ขึ้นตรงต่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยโดยตรง ต่อมากระทรวงมหาดไทยยังได้เพิ่มตำแหน่งข้าราชการมณฑลขึ้นอีก เพื่อแบ่งเบาภาระข้าหลวงเทศาภิบาล เช่น ตำแหน่งปลัดเทศาภิบาลอำนาจหน้าที่รองจากข้าหลวงเทศาภิบาล เสมียนตรามณฑลเป็นเจ้าพนักงานการเงินรักษาพัสดุ ดูแลรักษาการปฏิบัติราชการมณฑลและมหาดเล็กรายงานมีหน้าที่ออกตรวจราชการตามเมืองและอำเภอต่าง ๆ ตลอดมณฑลเป็นต้น
จังหวัดกำแพงเพชรนั้นถูกจัดอยู่ในมณฑลนครสวรรค์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี พ.. 2438 โดยรวมอยู่กับเมืองอื่น ได้แก่ ชัยนาท สรรค์บุรี มโนรมย์ อุทัยธานี พยุหคีรี ตาก และนครสวรรค์

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครอง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี พ.. 2475 นั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบการปกครองหรือการบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยมีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.. 2475 ซึ่งแบ่งหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ โดยมิได้บัญญัติให้มีมณฑลตามนัยดังกล่าวจึงเท่ากับเป็นการยกเลิกมณฑลไปโดยปริยาย แต่ได้จัดแบ่ง "ภาค" ขึ้นใหม่ และให้มีข้าหลวงตรวจการสำหรับทำหน้าที่ตรวจควบคุม แนะนำชี้แจงข้อราชการต่อหน่วยราชการส่วนภูมิภาคเท่านั้น โดยมิได้มีหน้าที่บริหารราชการทั่วไปเหมือนอย่างมณฑลเทศาภิบาล ดังนั้น จังหวัดกับส่วนกลางจึงสามารถติดต่อกันได้โดยตรงมิต้องผ่านภาคแต่อย่างใด 

ในปี พ.. 2495 รัฐบาลได้ประกาศพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.. 2495 ยกเลิกพระราชบัญญัติเดิม พ.. 2476 เสีย และจัดระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นภาค จังหวัดและอำเภอโดยมีผู้ว่าราชการภาคคนหนึ่งเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาข้าราชการส่วนภูมิภาคภายในเขต ต่อมาก็ได้มีการยกเลิกภาคอีกโดยสิ้นเชิง ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.. 2499 เหลือแต่เพียงหน่วยการปกครองจังหวัดและอำเภอตามเดิม
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.. 2495 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.. 2499 ได้ใช้มาอีกเป็นเวลานาน จนกระทั่งถูกยกเลิกโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2415 ซึ่งเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.. 2515 เป็นต้นไป โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
1. จังหวัด
2. อำเภอ
จังหวัดตั้งโดยพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายที่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐบาล ในการบริหารราชการของจังหวัดหนึ่ง ๆ นั้น มีผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยคนหนึ่ง เป็นผู้รับนโยบายและคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มาปฏิบัติให้เหมาะสมกับท้องที่และประชาชน และเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการส่วน ภูมิภาคในเขตจังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัด มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดและปลัดจังหวัดเป็นผู้ช่วยปฏิบัติราชการ และมีคณะกรมการจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดจากกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น

อำเภอจัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกา ในอำเภอหนึ่งมี นายอำเภอเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชา มีปลัดอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ส่งมาประจำ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอในการปฏิบัติราชการแผ่นดิน

ธงสมัยรัชกาลที่ 1

ธงสมัยรัชกาลที่ 1
ธงสมัยรัชกาลที่ 1

ธงสมัยรัชกาลที่ 2

ธงสมัยรัชกาลที่ 2
ธงสมัยรัชกาลที่ 2

ธงสมัยรัชกาลที่ 4

ธงสมัยรัชกาลที่ 4
ธงสมัยรัชกาลที่ 4

ธงราชการ ร.ศ. 129

ธงราชการ ร.ศ. 129
ธงราชการ ร.ศ. 129

ธงค้าขาย ร.ศ. 129

ธงค้าขาย ร.ศ. 129
ธงค้าขาย ร.ศ. 129

ธงไตรรงค์ (ปัจจุบัน)

ธงไตรรงค์ (ปัจจุบัน)
ธงไตรรงค์ (ปัจจุบัน)

ที่มา:

การผังเมือง กระทรวงมหาดไทย,กรม. การผังเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. กรุงเทพฯ: เซเว่น พริ้นติ้งกรุ๊ป,(2542).

กำธร กุลชล และคณะ.วิวัฒนาการทางกายภาพของกรุงรัตนโกสินทร์ฝั่งตะวันออก: ตั้งแต่เริ่มสร้างงกรุงจนถึงสมัยเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง. วารสาร ม. ศิลปากร ฉบับ พิเศษ กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี.กรุงเทพฯ: 2525, . 221 – 243.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์. ถิ่นกำเนิดชนชาติไท. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อยุธยา ประวัติศาสตร์และการเมือง.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548.

ชิน อยู่ดี. สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2510.

ชำระประวัติศาสตร์ไทย,กรม. รายพระนามพระมหากษัตริย์อยุธยา.ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : ทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2515.

ณรงค์ พํวงพิศ และคณะ. หนังสือเรียน สาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม วิชา ประวัติศาสตร์ ชั้น ม.2 ( 32101). กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, 2547.

ณรงค์ พํวงพิศ และคณะ. คู่มือครู สาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม วิชา ประวัติศาสตร์ ชั้น ม.2. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, 2551.

ดำรงราชานุภาพ,สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ราชกาลที่ 2. กรุงเทพฯ:ห้างหุ้นส่วนจำกัดไอเดีย สแควร์. 2546.

ถนอม อานามวัฒน์ และคณะ.ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานในดินแดนประเทศไทย.กรุงเทพฯ: วัฒนาพานิช. (2545).

นิธิ เอียวศรีวงศ์.การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ: บริษัท พิฆเนศ พริ้นติ้ง เซ็นเตอร์ จำำกัด, 2536

เนตรนิมิต.ประวัติศาสตร์อีสาน นครราชสีมาและวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์.นครราชสีมา: หจก. มิตรภาพการพิมพ์1995, 2547

บังอร ปิยะพันธ์.ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์.พิมพ์ครั้งแรก, กรุงสยามการพิมพ์,สิงหาคม 1433

พลับพลึง คงชนะ.ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานในดินแดนประเทศไทย.กรุงเทพฯ : เดอะมาสเตอร์กรุ๊ป แมเนจเม้นท์. 2543.

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ศิลปากร,กรม.โบราณคดีประวัติศาสตร์.กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. 2529.

สุด แสงวิเชียร. เรื่องก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรมสารบรรณทหารเรือ, (2517).

เอกรินทร์ สี่มหาศาล และคณะ. ประวัติศาสตร์ ป.5. พิมพ์ครั้งที่ 3.กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, มปป.