ประเทศไทย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประเทศไทย หรือชื่อทางการว่า ราชอาณาจักรไทย เป็นรัฐชาติอันตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีนและมลายู ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนด้านตะวันออกติดประเทศลาวและประเทศกัมพูชา ทิศใต้เป็นแดนต่อแดนประเทศมาเลเซียและอ่าวไทย ทิศตะวันตกติดทะเลอันดามันและประเทศพม่า และทิศเหนือติดประเทศพม่าและลาว มีแม่น้ำโขงกั้นเป็นบางช่วง ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภา มีศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และการปกครองส่วนภูมิภาค จัดระเบียบเป็น 76 จังหวัด

ประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก มีเนื้อที่ 513,115 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก คือ ประมาณ 66 ล้านคน กับทั้งยังเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ โดยมีรายได้หลักจากภาคอุตสาหกรรมและการบริการ ไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นอันมาก อาทิ พัทยา, ภูเก็ต, กรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่ ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ เช่นเดียวกับการส่งออกอันมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และด้วยจีดีพีของประเทศ ซึ่งมีมูลค่าราว 334,026 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามที่ประมาณใน พ.ศ. 2553 เศรษฐกิจของประเทศไทยนับว่าใหญ่เป็นอันดับที่ 30 ของโลก

ในอาณาเขตประเทศไทย พบหลักฐานของมนุษย์ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดถึงห้าแสนปี นักประวัติศาสตร์มักถือว่าอาณาจักรสุโขทัยเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งต่อมาตกอยู่ในอิทธิพลของอาณาจักรอยุธยา อันมีความยิ่งใหญ่กว่า และมีการติดต่อกับชาติตะวันตก อาณาจักรอยุธยามีอายุยืนยาว 417 ปีก็เสื่อมอำนาจและล่มสลายไปโดยสิ้นเชิง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกอบกู้เอกราชและสถาปนาอาณาจักรธนบุรี เหตุการณ์ความวุ่นวายในช่วงปลายอาณาจักร นำไปสู่ยุคสมัยของราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ช่วงต้นกรุง ประเทศเผชิญภัยคุกคามจากชาติใกล้เคียง แต่หลังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ชาติตะวันตกเริ่มมีอิทธิพลในภูมิภาคเป็นอย่างมาก นำไปสู่การเข้าเป็นภาคีแห่งสนธิสัญญาหลายฉบับ และการเสียดินแดนบางส่วน กระนั้น ไทยก็ยังธำรงตนมิได้เป็นอาณานิคมของชาติใด ๆ ต่อมาจนช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไทยได้เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร และในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย และไทยได้เข้ากับฝ่ายอักษะในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จนช่วงสงครามเย็น ไทยได้ดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา ทหารเข้ามามีบทบาทในการเมืองไทยอย่างมากหลังปฏิวัติสยามอยู่หลายสิบปี กระทั่งมีการตั้งรัฐบาลพลเรือน และเข้าสู่ยุคโลกเสรีในปัจจุบัน

ประเทศไทยสมัยกรุงธนบุรี

ประเทศไทยสมัยกรุงธนบุรี

กรุงธนบุรี เป็นราชธานีของไทยในช่วง  พ.. 2310 - 2325 มีที่ตั้ง ณ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาที่เมืองธนบุรีเดิม
หลังจากกรุงศรีอยุธยาต้องเสียแก่พม่าเมื่อ  พ.. 2310 แล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ได้ทรงสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ขึ้นพระราชทานนามว่า "กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร" เมื่อจุลศักราช 1130 ปีชวด  สัมฤทธิศกตรงกับ  พ.. 2310 จวบจนถึง  พ.. 2325 นับเป็นเวลาแห่งราชธานีเพียง 15 ปีเท่านั้น
แผนที่กรุงธนบุรี
แผนที่กรุงธนบุรี สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
 พระยาตาก มีชาติกำเนิดเป็นคนสามัญธรรมดา บิดาชื่อ นายไหฮอง เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพัฒน์ มารดาชื่อ นางนกเอี้ยง สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระนามเดิมว่าอย่างไรไม่มีหลักฐานปรากฏ ทราบแต่ว่าพระนามสินนั้นเป็นที่รู้จักภายหลัง เมื่อทรงเป็นบุตรบุญธรรมของพระยาจักรี อัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือน ซึ่งได้ตั้งชื่อให้ว่า สิน
เด็กชายสินได้รับการศึกษาเล่าเรียนระยะแรกกับพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส (บางท่านว่าเป็น วัดคลัง) จนกระทั่งอายุได้ 13 ปี ท่านอัครมหาเสนาบดีจึงพาเข้าไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงยกกระบัตร (สิน) ครั้นเมื่อเจ้าเมืองตากถึงแก่กรรม หลวงยกกระบัตร (สิน) จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองตาก เป็นเหตุให้คนทั่วไปเรียกว่า พระยาตากสิน
เมื่อพม่าล้อมกรุง ได้ถูกเรียกตัวเข้ามาป้องกันกรุงศรีอยุธยา พระยาตากช่วยรบพุ่งอย่างเข้มแข็ง จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่ยังไม่ทันได้รับตำแหน่ง ทางเมืองหลวงได้เรียกตัวเข้าช่วยป้องกันพระนครในการทาสงครามกับพม่า ขณะที่ทาการรบอยู่นั้น พระยาตากเกิดความท้อใจถึง 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกพระยาตากตีได้ค่ายพม่า แต่ไม่มีกำลังหนุนจึงต้องถอยทัพ ครั้งที่ 3 ถูกเกณฑ์ให้ไปรับมือพม่าที่วัดใหญ่กับพระยาเพชรบุรี พระยาตากเห็นว่ากำลังของพม่าเหลือที่จะเอาชนะได้ แต่พระยาเพชรบุรีไม่เห็นด้วยยกทัพไปจนแพ้แก่พม่า พระยาตากจึงถูกต้องข้อหาว่าทิ้งให้พระยาเพชรบุรีเป็นอันตราย และครั้งที่ 3 เมื่อก่อนเสียกรุงเพียง 3 เดือน
พระยาตากยิงปืนใหญ่โดยไม่ได้ขออนุญาตจึงถูกภาคทัณฑ์ พระยาตากเกิดความท้อใจในความอ่อนแอของ พระเจ้าเอกทัศ และเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาจะต้องเสียแก่พม่าอย่างแน่นอน จึงได้รวบรวมพรรคพวกได้ราว 500 คน พร้อมกับขุนนางนายทหารผู้ใหญ่ตีฝ่าวงล้อมพม่า โดยนายทหารและขุนนางผู้ใหญ่มี พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยราชา หลวงราชเสนา ขุนอภัยภักดี และ หมื่นราชเสน่หา พอค่ามืดก็ยกออกจากค่ายวัดพิชัย ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมา กองกาลังของพระยาตากปะทะกับทัพพม่าหลายครั้ง ดังนี้
ครั้งแรก รบกันที่บ้านหันตรา แขวงอยุธยา พม่าแตกหนีกลับไป
ครั้งที่ ๒ พม่าตามไปทันที่บ้านโพธิ์สังหาร แต่ถูกพระยาตากตีแตกกลับมา
ครั้งที่ ๓ พระยาตากพักพลที่บ้านพรานนก (แขวงนครนายก) แล้วให้ทหารไปหาเสบียง เกิดปะทะกับทัพพม่าที่ลาดตระเวนมาจากบางคาง แขวงเมืองปราจีนบุรีเข้าอย่างไม่รู้ตัว จึงตั้งตัวไม่ติด หนีแตกกระจายกลับมาทางบ้านพรานนก พระยาตากได้เข้าแก้ไขสถานการณ์ไว้ได้และตีขนาบทัพพม่าจนถอยร่นกลับไป การรบจนมีชัยชนะในครั้งนี้ ทาให้ชาวบ้านพอใจเข้ามาเป็นสมัครพรรคพวกมากขึ้น จากนั้นจึงยกพลผ่านนครนายกไปทางบ้านกบแจะ
ครั้งที่ ๔ พวกพม่าที่แตกไปจากบ้านพรานนก นำเรื่องรายงานนายทัพที่ตั้งอยู่ที่ปากน้ำเจ้าโล้ นายทัพจึงยกทัพบก ทัพเรือ ติดตามมาจนทันกันที่ดงศรีมหาโพธิ์ เขตปราจีนบุรี พระยาตากมีทหารน้อยกว่า จึงใช้อุบายลวงพม่าให้ไล่ตามไปในทางแคบซึ่งได้จัดทหารและปืนดักไว้ ทหารพม่าบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่นั้นมาพม่าจึงเลิกติดตามกองกำลังของพระยาตากอีกต่อไป
จากนั้นพระยาตากยกกำลังไปทางฉะเชิงเทรา ชลบุรี ได้กาลังคนและกาลังอาวุธเพิ่มเติมอีกมาก
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ภาพวาดสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ทัพพระยาตากเคลื่อนไปทางเมืองระยอง ตั้งมั่นอยู่ที่วัดลุ่ม ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าเมืองระยองและกรมการเมือง เพราะทางเมืองระยองเห็นว่ากองทัพของพระยาตากมีกาลังเหนือกกว่า ในขณะเดียวกันก็คบคิดกันจะแอบยกพวกเข้าปล้นค่ายของพระยาตากเพราะเห็นว่าพระยาตากเป็นกบฏต่อกรุงศรีอยุธยา พระยาตากไหวตัวทันและทราบว่ากรมการเมืองหลายคน เช่น หลวงพล ขุนว่าเมือง ขุนรามหมื่นซ่อง จะยกพวกลอบเข้าปล้นค่าย พระยาตากสงสัยพระยาระยองจะร่วมด้วย จึงให้พระยาระยองอยู่ในค่ายดับไฟในค่ายมืดแล้วซุ่มรออยู่ ขุนว่าเมืองคุมทหารลอบเข้าไปจึงถูกพระยาตากปราบปรามอย่างเด็ดขาด เมืองระยองจึงตกเป็นของพระยาตากเมืองแรก ในราวเดือน มกราคม พ.. 2310
หลังจากนั้นพระยาตากจึงแต่งศุภอักษรไปยังพระยาจันทบุรีเพื่อขอความช่วยเหลือและร่วมมือ เมืองจันทบุรีหรือจันทบูรในสมัยนั้นเป็นเมืองใหญ่แถบชายทะเลที่อุดมสมบูรณ์ทั้งกำลังคนและเสบียงอาหาร ผู้คนมีขวัญและกำลังใจดีเพราะยังไม่ถูกโจมตีจากพม่า ภูมิประเทศก็เหมาะในทางยุทธศาสตร์ ด้วยเหตุนี้พระยาตากจึงหมายเอาเมืองจันทบุรีเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมผู้คนและอาวุธเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการกอบกู้เอกราชต่อไป
เบื้องต้นพระยาจันทบุรีส่งเสบียงอาหารมาช่วยแต่โดยดี ภายหลังเกิดไม่ไว้วางใจพระยาตาก ประกอบกับขุนรามหมื่นซ่อง กรมการเมืองระยอง ซึ่งหนีไปหลังจากเข้าปล้นค่ายพระยาตากไม่สำเร็จ ได้ไปตั้งค่ายอยู่เขตเมืองแกลงซึ่งเป็นเมืองขึ้นของจันทบุรี พระยาตากทราบจึงยกทัพตามไปตีพวกขุนรามหมื่นซ่อง ขุนรามหมื่นซ่องพาพวกหนีไปอาศัยอยู่ที่เมืองจันทบุรี พระยาตากเห็นว่ากำลังยังน้อยไม่พอจะหักเอาเมืองจันทบุรี ระหว่างนั้นกรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พม่าในวันที่ 7 เมษายน 2310  พระเจ้าตากจึงตั้งตัวเป็นเจ้า ด้วยเหตุผลดังพระราชปรารภว่า
เราจะตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าให้คนทั้งหลายนับถือยำเกรง การที่จะกอบกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จได้โดยง่าย
พระเจ้าตากทรงตัดสินพระทัยจะใช้กำลังปราบหัวเมืองทางตะวันออก จึงทรงยกทัพไปชลบุรี ผู้ตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่ชลบุรีขณะนั้นคือ นายทองอยู่นกเล็ก ซึ่งยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี พระเจ้าตากจึงทรงตั้งให้เป็นพระยาอนุราฐบุรีปกครองเมืองชลบุรีแล้วทรงเลิกทัพกลับไประยอง
พระยาจันทบุรีเห็นทัพพระเจ้าตากเข้มแข็งขึ้นทุกทีเกรงจะเป็นภัยแก่ตัวจึงออกอุบายนิมนต์พระสงฆ์ 4 รูป ให้เป็นทูตมาเชิญพระเจ้าตากไปจันทบุรี พระเจ้าตากทรงหลงเชื่อจึงยกพลไปกับพระสงฆ์ เมื่อถึงบางกระจะหัวแหวน พระยาจันทบุรีให้หลวงปลัดมานำทัพเข้าเมือง แต่มีผู้แอบแจ้งพระเจ้าตากว่าพระยาจันทบุรีคิดไม่ซื่อ พระเจ้าตากจึงทรงยั้งทัพไว้ริมเมือง พระยาจันทบุรีให้ขุนพรหมาภิบาลออกมาพูดจาเกลี้ยกล่อมให้เข้าเมืองแต่พระเจ้าตากไม่ทรงตกลงด้วย โดยอ้างว่า ผู้น้อยควรออกมาหาผู้ใหญ่กว่าและการต้อนรับเหมือนเป็นการเตรียมการต่อสู้ พระยาจันทบุรีจึงรู้ว่าอุบายแตกเสียแล้วจึงเตรียมการรบกับพระเจ้าตาก
พระเจ้าตากทรงเห็นว่ากองทัพจันทบุรีนั้นเข้มแข็ง ทหารต้องการกำลังใจอย่างสูง จึงมีรับสั่งว่า เมื่อกินข้าวเย็นแล้วให้ทหารทุกคนทุบหม้อข้าวหม้อแกงให้หมดมุ่งไปกินข้าวเช้าในเมืองจันทบุรี พอเวลาประมาณตีสาม พระเจ้าตากทรงช้างพังคิรีบัญชรให้ยิงปืนสัญญาณเข้าปล้นเมือง พลางขับช้างเข้าพังประตูเมือง พวกชาวเมืองจันทบุรีก็ระดมยิงปืนต่อสู้ นายท้ายช้างเห็นกระสุนปืนหนาแน่น เกรงจะถูกพระเจ้าตาก จึงเกี่ยวช้างที่นั่งให้ถอย พระเจ้าตากตกพระทัยยกของ้าวจะฟันแต่นายท้ายช้างกราบขอชีวิตไว้แล้วไสช้างเข้าพังประตูเมือง ทหารก็กรูเข้าเมืองได้ พระยาจันทบุรีพาสมัครพรรคพวกแตกหนีไปเมืองบันทายมาศ
หลังจากนั้น พระเจ้าตากทรงยกทัพไปตีเมืองตราด พอดีล่วงเข้าฤดูฝนจึงให้พักรบหันมาต่อเรือรบและรวบรวมศัตราวุธและกำลังคน พอพ้นฤดูฝนจึงยกทัพมุ่งไปอยุธยา ก่อนยกทัพให้ประหารนายทองอยู่นกเล็ก หรือ พระยาอนุราฐบุรี ซึ่งถูกราษฎรฟ้องว่าเป็นโจรพาพวกเข้าปล้นเรือเก็บเอาทรัพย์สมบัติ แล้วทรงแต่งตั้งเจ้าเมืองใหม่ จากนั้นก็ทรงเคลื่อนทัพมาทางปากน้ำเจ้าพระยา
ราวเดือน 12 พุทธศักราช 2310 เมื่อมาถึงกรุงธนบุรี นายทองอินซึ่งรักษากรุงธนบุรีได้รีบแจ้งข่าวไปยังสุกี้ แล้วเรียกผู้คนขึ้นรักษาป้อมวิชัยประสิทธิ์เตรียมต่อสู้เต็มที่ กองทัพกู้ชาติของพระเจ้าตากสามารถตีกรุงธนบุรีได้ จับนายทองอินซึ่งฝักใฝ่พม่าได้จึงทรงให้ประหารชีวิตเสีย แล้วยกทัพขึ้นเหนือมุ่งสู่อยุธยา กองทัพพระเจ้าตากสมารถตีค่ายพม่าแตกได้ทุกค่าย ตรงกับวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.. 2310 ถือว่าเป็นวันที่พระเจ้าตากทรงสามารถกู้เอกราชได้สำเร็จ หลังจากเสียกรุงให้แก่พม่าเมื่อ วันที่ 7 เมษายน พ.. 2310 รวมเวลาที่ไทยตกเป็นของพม่า 7 เดือน
เมื่อพระเจ้าตากทรงกู้เอกราชได้สำเร็จ ได้โปรดให้ขุดพระบรมศพของพระเจ้าเอกทัศขึ้นมาถวายพระเพลิงอย่างสมพระเกียรติ ประชาชนต่างยอมรับพระเจ้าตากเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต่อจากนั้นอีกประมาณ 1 ปี จึงทรงทำพิธีปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ในเดือนธันวาคม พ.. 2311 ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4หรือที่คนทั่วไปเรียกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
เมื่อพระเจ้าตากทรงกอบกู้เอกราชได้แล้ว ได้ทรงตั้งราชธานีขึ้นใหม่ที่กรุงธนบุรีเพราะกรุงศรีอยุธยาพินาศย่อยยับเกินกว่าจะบูรณะซ่อมแซมได้ ทรงขนานนามราชธานีใหม่ว่า กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร
แผนที่พระราชวังเดิมของพระเจ้าตาก
แผนที่พระราชวังเดิมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

เหตุผลที่ย้ายราชธานี
สาเหตุที่พระเจ้าตากไม่ทรงตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีอีกเพราะ
1. กรุงศรีอยุธยาเสียหายมากยากแก่การจะบูรณปฏิสังขรณ์ให้ดีดังเดิมได้
2. กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองใหญ่เกินกว่าจะรักษาไว้ได้ด้วยกำลังคนจำนวนน้อย
3. ข้าศึกรู้จักภูมิประเทศของกรุงศรีอยุธยาดีแล้ว
4. กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ไกลจากปากแม่น้ำมากเกินไป ไม่สะดวกแก่การติดต่อค้าขายกับต่างชาติซึ่งนับวันจะมีเพิ่มมากขึ้น

เหตุผลที่สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี
พระเจ้าตากทรงมีพระราชวินิจฉัยที่จะตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีเพราะ
1. กรุงธนบุรีเป็นเมืองเล็กพอแก่กำลังคนที่จะรักษาไว้
2. ตั้งอยู่ใกล้ปากอ่าวสะดวกแก่การติดต่อกับต่างชาติ
3. กรุงธนบุรีมีป้อมปราการพร้อมอยู่แล้ว
4. กรุงธนบุรีตั้งอยู่ในที่น้ำลึกใกล้ทะเล หากข้าศึกมีแต่ทัพบกไม่มีทัพเรือสนับสนุนก็ยากที่จะตีได้สำเร็จ
5. ถ้ากรุงธนบุรีเสียทีแก่ข้าศึก ก็สามารถถอยไปตั้งมั่นอยู่ที่จันทบุรีได้โดยอาศัยเส้นทางเรือ
6. กรุงธนบุรีตั้งปิดปากน้ำ จึงสามารถควบคุมการลำเลียงเสบียงอาหารและอาวุธต่าง ๆ ที่จะเล็ดลอดไปหัวเมืองทางเหนือที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ได้
7. กรุงธนบุรีตั้งอยู่ไม่ไกลจากราชธานีเดิมมากนัก จึงเป็นแหล่งรวมคนและขวัญของคนได้ดี

การรวมอาณาเขต
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อ 7 เมษายน พ.. 2310 นั้น บ้านเมืองเกิดความระส่ำระส่ายเดือดร้อน โจรผู้ร้ายชุกชุม การทำมาหากินของราษฎรฝืดเคือง แผ่นดินว่างกษัตริย์อันเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงเป็นเหตุให้บรรดาหัวเมืองใหญ่ที่อยู่ห่างไกลกรุงศรีอยุธยาตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้น บรรดาบ้านเล็กเมืองน้อยที่อ่อนแอและต้องการหาที่พึ่งให้พ้นจากการถูกรังแกข่มเหงทั้งจากคนไทยด้วยกัน และจากพม่าที่คอยปล้นทรัพย์สินและกวาดต้อนผู้คนส่งไปเมืองพม่า ก็เข้ามาอ่อนน้อมต่อเมืองใหญ่ขอความคุ้มครอง เมื่อพระเจ้าตากทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี และทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แล้วได้ทรงเริ่มปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ตามลาดับดังนี้

1. การปราบชุมนุมเจ้าเมืองพิษณุโลก
พิษณุโลกเป็นเมืองใหญ่มีความเจริญรองลงมาจากกรุงศรีอยุธยา ทั้งยังเคยเป็นเมืองหลวงเมื่อสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ฐานะของพิษณุโลกจึงเป็นเมืองเอก เจ้าเมืองพิษณุโลกในขณะนั้น คือ พระยาพิษณุโลก (เรือง) มีอิทธิพลตั้งแต่เขตเมืองพิชัย (อุตรดิตถ์) ถึงนครสวรรค์
พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นไปปราบชุมนุมพระยาพิษณุโลกก่อนชุมนุมอื่น เพราะเป็นชุมนุมใหญ่ที่เข้มแข็งมาก ถ้าปราบได้สำเร็จชุมนุมอื่น ๆ ก็อาจจะมาอยู่ในอำนาจโดยไม่ต้องใช้กำลัง ดังนั้น พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยยกกองทัพขึ้นไปปราบชุมนุมพระยาพิษณุโลกเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.. 2311 โดยยกกองทัพไปทางเรือ พระยาพิษณุโลกทราบข่าวจึงให้หลวงโกษา (ยัง) ยกกองทัพมาตั้งรับที่ตำบลเกยชัย กองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ทันรู้ตัวเพราะกองทัพพระยาพิษณุโลกยกออกมาตั้งรับไกลกว่าที่พระองค์คิดจึงมิทันได้ทรงระวัง ทำให้ทัพของพระเจ้ากรุงธนบุรีเสียกระบวนและพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกปืนยิงที่พระชงฆ์ (แข้ง) จึงต้องถอยทัพกลับกรุงธนบุรี
พระยาพิษณุโลกเห็นว่ามีชัยต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นเจ้า อยู่ต่อมาอีก 7 วันก็ถึงแก่พิราลัย พระอินทร์อากรผู้เป็นน้องชายขึ้นครองเมืองแทน ต่อมาเจ้าพระฝางได้ยกกำลังมาตีเมืองพิษณุโลกได้และรวมเมืองพิษณุโลกเข้าไว้ในชุมนุมเจ้าพระฝาง มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสวางคบุรี

2. การปราบชุมนุมเจ้าพิมาย
เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงหายประชวรจากบาดแผลการถูกยิงที่พิษณุโลกแล้ว ทรงมีพระราชดำริที่จะปราบชุมนุมเจ้าพิมายซึ่งมีกรมหมื่นเทพพิพิธตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ เพราะพระองค์ทรงเกรงว่ากรมหมื่นเทพพิพิธจะเกลี้ยกล่อมหัวเมืองลาวมาเป็นพวก ขณะนั้นกรมหมื่นเทพพิพิธมีอำนาจปกครองอยู่ทางบริเวณหัวเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดลงมาจนถึงเมืองสระบุรี ทิศเหนือจดล้านช้าง ทิศตะวันออกจดกัมพูชา
พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงจัดทัพไปตีเมืองพิมายในปี พ.. 2311 โดยจัดเป็น 2 ทัพ พระองค์ทรงคุมไปเองทัพหนึ่ง ส่วนอีกทัพหนึ่งทรงมอบให้พระราชวรินทร์ (ทองด้วง) และพระมหามนตรี (บุญมา) คุมไป พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพไปทางช่องพระยาไฟ (ดงพญาเย็น) อีกทัพหนึ่งยกไปทางนครนายก ปราจีนบุรี เมืองพิมายยกทัพมาตั้งรับที่ด่านจอหอและด่านกระโทก ผลการรบปรากฏว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีชัยชนะ กรมหมื่นเทพพิพิธหนีไปเวียงจันทน์แต่ถูกขุนชนะ กรมการเมืองนครราชสีมาจับได้ นำตัวมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี กรมหมื่นเทพพิพิธแสดงกิริยากระด้างกระเดื่องไม่ยอมอ่อนน้อม พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้ประหาชีวิตเสีย

3. การปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช
เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปราบกรมหมื่นเทพพิพิธได้แล้ว ในปีรุ่งขึ้น พ..  2312 พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงเตรียมการที่จะปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชซึ่งมีพระปลัด (หนู) ตั้งตัวเป็นใหญ่ มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองชุมพรจนถึงเขตต่อแดนหัวเมืองมลายู
การไปตีเมืองนครศรีธรรมราชในครั้งนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้เจ้าพระยาจักรี (หมุด) เป็นแม่ทัพใหญ่ มีพระยายมราช พระยาศรีพิพัฒน์ พระยาเพชรบุรี เป็นนายกองคุมทัพไปในเดือนเมษายน พ.. 2312 ได้ทำการสู้รบกันเป็นสามารถจนพระยาศรีพิพัฒน์และพระยาเพชรบุรีตายในที่รบ พระยาจักรีและพระยายมราชเกิดความแตกสามัคคีกัน พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงต้องเสด็จไปบัญชาการทัพเอง และปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชได้สำเร็จ เจ้านคร (หนู) หนีไปพึ่งพระยาตานีศรีสุลต่านที่เมืองปัตตานี พระยาจักรีจึงยกทัพตามไป พระยาตานีศรีสุลต่านกลัวทัพกรุงธนบุรีจะรุกราน จึงมอบตัวเจ้านครศรีธรรมราชและพรรคพวกที่ลี้ภัยให้แก่กองทัพธนบุรี
ในครั้งแรกบรรดาขุนนางของธนบุรีเห็นสมควรให้ประหารชีวิตเจ้านครเสีย แต่พระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ทรงเห็นด้วย ทรงเห็นว่าการตั้งตัวเป็นใหญ่ในขณะที่บ้านเมืองไม่สงบสุขไม่ใช่ความผิดร้ายแรง และเจ้านครศรีธรรมราชก็ไม่ใช่ข้าราชการของพระองค์ก็ย่อมจะตั้งตัวเป็นใหญ่ได้ จึงโปรดให้พระปลัด (หนู) ไปครองเมืองนครศรีธรรมราชตามเดิม และยกฐานะเมืองนครศรีธรรมราชให้เป็นเมืองประเทศราชด้วย

4. การปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง
พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ปราบชุมนุมเจ้าพระฝางเป็นชุมนุมสุดท้าย หัวหน้าชุมนุมนี้เป็นพระชื่อ เรือน เดิมเคยศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ได้เป็นที่พระพากุลเถระ พระราชาคณะฝ่ายอรัญวาสี จำพรรษาอยู่ที่วัดอโยธยา แล้วได้เลื่อนขึ้นเป็นสังฆราชาเจ้าคณะเมืองสวางคบุรี ศึกษาเล่าเรียนทางวิปัสสนาธุระ มีวิชาอาคมแก่กล้าจนทำให้คนนับถือเป็นจำนวนมาก ในที่สุดก็ได้ตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นทางสวางคบุรี สถาปนาตัวเองขึ้นเป็นเจ้าทั้ง ๆ ที่อยู่ในเพศบรรพชิต มีแม่ทัพนายกองเป็นพระสงฆ์ทั้งสิ้น คนทั่วไปเรียกว่า เจ้าพระฝาง
ในปี พ.. 2311 เจ้าพระฝางได้ตีเอาเมืองพิษณุโลกมาไว้ในครอบครอง รวมกันเป็นชุมนุมใหญ่ชุมนุมเดียวทางภาคเหนือ จากนั้นก็ได้ขยายอิทธิพลลงมาทางใต้ถึงเมืองอุทัย ชัยนาท ต่อมาในปี พ.. 2313 พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงยกทัพไปปราบเจ้าพระฝาง โดยพระองค์ทรงคุมทัพเรือ และโปรดให้พระยายมราชกับพระพิชัยราชาคุมทัพบกขนาบไปสองฟากแม่น้าเจ้าพระยา พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเข้าตีเมืองพิษณุโลกซึ่งหลวงโกษา (ยัง) ครองอยู่ได้สำเร็จ และทรงคอยทัพบกอยู่ 9 วัน จากนั้นเดินทัพต่อไปที่สวางคบุรีได้ภายใน 3 วัน เจ้าพระฝางหนีไปเชียงใหม่
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปราบหัวเมืองต่าง ๆ ที่ตั้งตนเป็นใหญ่อยู่เป็นเวลานานถึง 3 ปี จึงสามารถรวบรวมอาณาเขตที่แบ่งแยกเหล่านั้นคืนกลับมาเป็นปึกแผ่นได้ดังเดิม โดยมีกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงของไทย
แผนที่โบราณสถานพระราชวังเดิม
โบราณสถานในพระราชวังเดิม : 1. ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 2. ท้องพระโรงกรุงธนบุรี 3. ตาหนักสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว 4. ตาหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ 5. ตาหนักเก๋งคู่หลังเล็ก 6. ศาลศีรษะปลาวาฬ 7. เรือนเขียว 8. ป้อมวิไชยประสิทธิ์ 9. ตึกกองบัญชาการกองทัพเรือ 10. กรมสารบรรณทหารเรือ
การป้องกันพระราชอาณาจักร
ปัญหาที่สำคัญยิ่งตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คือ การรักษาเอกราชของประเทศให้มั่นคงปลอดภัย หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรบชนะพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น และทรงกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ ได้ต้องทำการรบกับพม่าอีกหลายครั้งซึ่งส่วนใหญ่ไทยเป็นฝ่ายชนะ การทำสงครามกับพม่าครั้งสำคัญ เช่น
1. การรบกับพม่าที่บางกุ้ง สมุทรสงคราม พ.. 2311 ผลปรากฏว่าพม่าแพ้เสียอาวุธและเสบียงอาหาร และเรือเป็นจำนวนมาก
2. พม่าตีเมืองสวรรคโลก พ.. 2313 ผลปรากฏว่าพม่าไม่สามารถตีไทยได้
        3
. ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 1 พ.. 2313 สงครามครั้งนี้ต่อเนื่องจากสงครามครั้งที่ 2 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกทัพขึ้นไปช่วยรักษาเมืองสวรรคโลก ทรงเห็นเป็นโอกาสดีที่จะยึดเมืองเชียงใหม่มาจากพม่า แต่ไม่สำเร็จ
4. พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ 1 พ.. 2315  แต่ไม่สำเร็จ ถูกตีแตกพ่ายไป
5. พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ 2 พ.. 2316 ผลปรากฏว่าพม่าพ่ายแพ้ไปทำให้เกิดวีรกรรมพระยาพิชัยดาบหักขึ้น
6. ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 2 พ.. 2317 สามารถยึดเชียงใหม่เป็นเมืองขึ้นได้
7. การรบกับพม่าที่บางแก้ว ราชบุรี พ.. 2317 ผลปรากฏว่าพม่าแพ้เสียชีวิตและถูกจับเป็นเชลยเป็นจำนวนมาก
8. อะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ โดยเฉพาะพิษณุโลก พ.. 23182319 สงครามครั้งนี้นับว่าเป็นสงครามครั้งใหญ่ในสมัยธนบุรี ผลปรากฏว่าพม่าแพ้ถูกจับเป็นเชลยหลายหมื่นคน
9. พม่าตีเมืองเชียงใหม่ พ.. 2319 พม่าไม่สามารถตีเมืองเชียงใหม่ได้ต้องแตกพ่ายไป แต่หลังจากที่พม่าแตกทัพกลับไปแล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเห็นว่าเชียงใหม่มีผู้คนไม่มากพอที่จะรักษาเมือง จึงอพยพผู้คนออกจากเมืองและประกาศให้เป็นเมืองร้างตั้งแต่นั้นมา จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงได้ตั้งขึ้นมาใหม่

การขยายอาณาเขต
หลังจากที่เหตุการณ์ภายในกรุงธนบุรีสงบเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงเริ่มขยายอาณาเขตออกไปยังประเทศใกล้เคียง ได้แก่ เขมรและลาว
1.  การขยายอำนาจไปยังเขมร ขณะนั้นดินแดนเขมรเกิดการแก่งแย่งอำนาจกันระหว่างพระรามราชา (นักองนน)กับพระนารายณ์ราชา(นักองตน) พระนารายณ์ราชาไปขอความช่วยเหลือจากญวน พระรามราชาสู้ไม่ได้หนีมาขอความช่วยเหลือจากไทย ครั้งแรกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชส่งพระราชสาสน์ไปยังพระนารายณ์ราชาให้มาสวามิภักดิ์ต่อไทย แต่พระนารายณ์ราชาไม่ยอม ดังนั้นจึงทรงโปรดฯให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) และพระยาอนุชิตราชา (บุญมา) นาทัพไปตีเขมรใน พ.. 2312 ขณะที่ทัพไทยตีได้เมืองเสียมราฐ พระตะบอง โพธิสัตว์ กับจะตีเมืองพุทไธเพชร (บันทายเพชร) เขมรปล่อยข่าวว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคต พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชาจึงยกทัพกลับ พ.. 2314 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชปราบชุมนุมต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว จึงเสด็จยกทัพไปตีเขมรอีกครั้งและสามารถตีเขมรได้สำเร็จ ได้สถาปนาพระรามราชาขึ้นครองเขมร ส่วนพระนารายณ์ราชาหนีไปพึ่งญวน ต่อมาได้มาสวามิภักดิ์ต่อไทย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้เป็นพระมหาอุปโยราช (วังหน้า) (ตำแหน่งพระมหาอุปโยราช คือ ตำแหน่ง รัชทายาทของกษัตริย์เขมร ซึ่งเทียบเท่าตำแหน่งพระมหาอุปราชของไทย) เหตุการณ์ในเขมรจึงสงบลง
ต่อมาใน พ.. 2323 เกิดการกบฏในเขมร พวกกบฏจับพระรามราชาและพระนารายณ์ราชาปลงพระชนม์ทั้งสองพระองค์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ไปปราบการจลาจลได้สำเร็จ และโปรดเกล้าฯ ให้นักองเองซึ่งเป็นโอรสของพระนารายณ์ราชาได้ขึ้นครองราชสมบัติแทน แต่เนื่องจากยังทรงพระเยาว์ จึงมีฟ้าทะละหะ (มู) เป็นผู้สำเร็จราชการแทน เขมรจึงหันไปพึงญวนอีกครั้งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปปราบเขมร ขณะที่กองทัพไทยจะรบกับเขมรอยู่นั้น ก็มีข่าวว่าทางกรุงธนบุรีเกิดจลาจลวุ่นวาย ด้วยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเสียพระสติ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงต้องรีบยกทัพกลับ
2.  การขยายอำนาจไปลาว ในสมัยกรุงธนบุรีไทยได้ทำศึกขยายอำนาจไปยังลาว 2 ครั้ง คือ
        2.1 การตีเมืองจำปาศักดิ์ เพราะเจ้าเมืองนางรองเกิดขัดใจกับเจ้าเมืองนครราชสีมา จึงคิดกบฏต่อไทยไปขอขึ้นกับเจ้าโอ (หรือเจ้าโอ้) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้เจ้าพระยาจักรีไปปราบ จับเจ้าเมืองนางรองประหารชีวิต ทำให้เมืองจำปาศักดิ์และดินแดนลาวตอนล่างอยู่ภายใต้อำนาจของไทย
ใน พ.. 2319 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงแต่งตั้งเจ้าพระยาจักรี เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกพิลึกมหิมา ทุกนัคราระอาเดช นเรศราชสุริยวงศ์นับว่าเป็นการพระราชทานยศให้แก่ขุนนางสูงที่สุดเท่าที่เคยมีปรากฏมาในสมัยนั้น
                2.2 การตีเวียงจันทน์ มีสาเหตุมาจากพระวอเสนาบดีของเจ้าสิริบุญสารเกิดวิวาทกับเจ้าครองนครเวียงจันทน์ พระวอจึงหนีเข้ามาอยู่ที่ตำบลดอนมดแดง (ในจังหวัดอุบลราชธานี) ขอสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เจ้าสิริบุญสารได้ส่งกองทัพมาปราบและจับพระวอฆ่าเสีย ใน พ.. 2321 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ยกกองทัพไปปราบ ขณะที่ไทยยกทัพไป เจ้าร่มขาวเจ้าผู้ครองเมืองหลวงพระบางมาขอสวามิภักดิ์ต่อไทยและส่งกองทัพมาช่วยตีเมืองเวียงจันทน์ด้วย เจ้าสิริบุญสารสู้ไม่ได้จึงหลบหนีไป เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตพร้อมทั้งพระบางมาไว้ที่ไทยด้วย (ส่วนพระบางนั้น ต่อมาไทยคืนให้แก่ลาวในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)

ความเจริญทางด้านต่าง ๆ ในสมัยธนบุรี และการติดต่อกับต่างประเทศ
ตลอดระยะเวลา 15 ปี ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการต่อสู้ปราบปรามป้องกันและขยายอาณาเขตของประเทศจึงไม่ค่อยมีเวลาจะที่จะพัฒนาประเทศทางด้านอื่นมากนัก แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงพยายามสร้างความเจริญให้แก่ประเทศในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1.  ด้านการปกครอง
ลักษณะการปกครองของกรุงธนบุรี ดำเนินรอยตามแบบแผนของสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยแบ่งการปกครองออกเป็น 2 ส่วน คือ
1.1 การปกครองส่วนกลางหรือราชธานี
อยู่ในความรับผิดชอบของอัครมหาเสนนาบดีทั้ง 2 ตำแหน่ง คือ
สมุหกลาโหม มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้และกิจการฝ่ายทหารและ
สมุหนายก มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือและกิจการฝ่ายพลเรือน กับตำแหน่งเสนาบดีจตุสดมภ์อีก ๔ ตำแหน่ง คือ กรมเวียง กรมวัง กรมคลัง กรมนา กรมทั้ง ๔ นี้ มีหน้าที่ คือ
1) กรมเวียง มีหน้าที่ปกครองท้องที่ บังคับบัญชาบ้านเมือง และรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
2) กรมวัง มีหน้าที่รับเกี่ยวกับราชสำนัก และพิจารณาพิพากษาคดีความของราษฎร
3) กรมคลัง มีหน้าที่รับจ่ายและเก็บรักษาพระราชทรัพย์ที่ได้มาจากส่วยอากร บังคับบัญชากรมท่าซึ่งเกี่ยวข้องกับการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ และมีหน้าที่เกี่ยวกับพระคลังสินค้าการค้าสำเภาของหลวง
4) กรมนา มีหน้าที่ดูแลการทำนา เก็บข้าวขึ้นฉางหลวง และพิจารณาคดีความเกี่ยวกับเรื่องโค กระบือและที่นา
คำว่ากรมในที่นี้หมายความคล้ายกับกระทรวง ในปัจจุบัน
1.2 การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งออกเป็น
1) การปกครองหัวเมืองชั้นในที่อยู่รายรอบราชธานี เรียกว่า เมืองชั้นจัตวา มีผู้ปกครองเรียกว่าผู้รั้งปฏิบัติตามคำสั่งของเสนาบดีจตุสดมภ์ในราชธานี
2) การปกครองหัวเมืองภายในราชอาณาจักร เรียกว่า หัวเมืองชั้นนอก หรือ เมืองพระยามหานคร เป็นเมืองที่อยู่นอกเขตราชธานีออกไป แบ่งออกเป็นเมืองชั้นเอก โท ตรี
3) การปกครองหัวเมืองประเทศราช ที่อยู่ห่างไกลออกไปถึงชายแดน มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศอื่น ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาให้ตามกำหนด ได้แก่ กัมพูชา ลาว เชียงใหม่ และนครศรีอธรรมราช

2.  ด้านกฎหมายและการศาล
กฎหมายและวิธีพิจารณาคดีความในศาลสมัยธนบุรี ใช้ตามแบบสมัยอยุธยาเท่าที่มีหลักฐานปรากฏอยู่มีเพียงฉบับเดียว เกี่ยวกับการสักเลข คือ การลงทะเบียนชายฉกรรจ์เพื่อรับใช้ในราชการ เรียกว่า ไพร่หลวง การสักเลขในสมัยนั้นสำคัญมาก เพราะเป็นระยะเวลาของการป้องกันและแผ่อำนาจเพื่อให้ประเทศชาติมั่นคง ส่วนการศาลมักใช้บ้านของเจ้านาย บ้านของตุลาการ บางครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงเป็นผู้พิพากษาคดีเอง และทรงใช้ศาลทหารและพระบรมราชโองการเป็นกฎหมายใช้ในการตัดสินคดีความด้วย

3.  ด้านเศรษฐกิจ
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าแล้ว สภาพเศรษฐกิจของไทยตกต่ำมากประชาชนยากจนอัตคัดฝืดเคือง อาหารหายากและราคาแพง เนื่องจากในขณะที่เกิดศึกสงครามผู้คนต่างพากันหนีเอาตัวรอด การทำไร่ทำนาต้องหยุดชะงักลง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในระยะที่ตั้งกรุงธนบุรีใหม่ ๆ ด้วยการจ่ายพระราชทรัพย์ซื้อข้าวจากพ่อค้าต่างประเทศในราคาสูงเพื่อแจกจ่ายประชาชน และชักชวนให้ราษฎรกลับมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ทำมาหากินดังแต่ก่อน
นอกจากนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังส่งเสริมทางด้านการค้าขาย มีการส่งเรือสำเภาไปค้าขายยังประเทศ อินเดียและประเทศใกล้เคียง สำหรับสิ่งของที่บรรทุกเรือสำเภาหลวงไปขาย เช่น ดีบุก พริกไทย ครั่ง ขี้ผึ้ง ไม้หอม ฯลฯ และเมื่อขายสินค้าหมดแล้วก็จะซื้อสินค้าต่างประเทศที่ต้องการใช้ในประเทศ เช่น ผ้าลายและถ้วยชามมาขายให้แก่ประชาชนอีกต่อหนึ่ง ซึ่งการค้าขายนี้เป็นแบบเดียวกับสมัยอยุธยา คือ อยู่ภายใต้การดูแลของพระคลังสินค้า มีการส่งเสริมให้ราษฎรทำการเพาะปลูก ทำให้เศรษฐกิจของประเทศค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ

4.  ด้านสังคม
สังคมไทยสมัยกรุงธนบุรีมีการควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เพราะมีการทำศึกกับพม่าบ่อยครั้ง มีการสักเลขบอกชื่อสังกัดมูลนายและเมืองไว้ที่ข้อมือไพร่หลวงทุกคน ซึ่งมีหน้าที่รับใช้ราชการปีละ 6 เดือน โดยการมารับราชการ 1 เดือน แล้วหยุดไปทามาหากินของตนอีก 1 เดือนสลับกันไป เรียกว่าการเข้าเดือนออกเดือนไพร่หลวงอีกพวกหนึ่ง เรียกว่าไพร่ส่วยคือ ไพร่หลวงที่ส่งสิ่งของแทนการใช้แรงงานแก่ราชการ ซึ่งเป็นพวกที่รับใช้แต่เฉพาะเจ้านายที่เป็นขุนนาง

5. ด้านการศึกษา
แม้ว่าบ้านเมืองจะอยู่ในภาวะสงคราม แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงทะนุบำรุงการศึกษาอยู่เสมอ ศูนย์กลางการศึกษาในสมัยธนบุรีอยู่ที่วัด เด็กผู้ชายเมื่อมีอายุพอสมควรพ่อแม่มักเอาไปฝากกับพระ เมื่อมีเวลาว่างพระก็จะสอนให้อ่านเขียน แบบเรียนที่ใช้คือหนังสือจินดามณีเมื่ออ่านออกเขียนได้แล้วก็เรียน
- แต่งร้อยแก้ว โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน
- ศึกษาศัพท์ เขมร บาลี สันสกฤต วิชาเลข
- เรียนมาตราไทย ชั่ง ตวง วัด
- มาตราเงินไทย
- คิดหน้าไม้ (วิธีการคำนวณหาจานวนเนื้อไม้เป็นยก หรือเป็นลูกบาศก์)
- การศึกษาด้านอาชีพ พ่อแม่มีอาชีพอะไรก็มักฝึกให้ลูกหลานมีอาชีพตามตนเอง โดยฝึกฝนตกทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เช่น วิชาช่างและแกะสลัก ช่างปั้น ช่างถม แพทย์แผนโบราณ ฯลฯ
ส่วนสตรี ประเพณีโบราณไม่นิยมให้เรียนหนังสือ มีน้อยคนที่อ่านออกเขียนได้ เด็กผู้หญิงส่วนมากจะถูกฝึกสอนให้ด้านการเย็บปักถักร้อย ทำกับข้าว การจัดบ้านเรือน และมารยาทของกุลสตรี

6.  ด้านศาสนา
เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 สิ่งสำคัญต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนาถูกทำลายเสียหายมาก หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงย้ายเมืองหลวงมายังกรุงธนบุรี พระองค์ได้ฟื้นฟูศาสนาขึ้นใหม่โดยชำระความบริสุทธิ์ของพระสงฆ์ พระสงฆ์รูปใดที่ประพฤติไม่อยู่ในพระวินัยก็ให้สึกออกไปเสีย พระสงฆ์รูปใดประพฤติอยู่ในพระวินัยทรงอาราธนาให้บวชเรียนต่อไป
นอกจากนี้ พระองค์ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างพระอุโบสถ วิหาร เสาสนะ กุฏิสงฆ์และวัดวาอารามต่าง ๆ เช่น วันบางยี่เรือเหนือ (วัดราชคฤห์) วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทาราม) วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม) วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) วัดหงส์ (วัดหงส์รัตนาราม) เป็นต้น
นอกจากนี้เมื่อพระองค์ทราบว่าพระไตรปิฎกมีอยู่ที่ใดก็ทรงให้นำมาคัดลอกเป็นฉบับหลวงไว้ที่กรุงธนบุรีแล้วส่งต้นฉบับกลับไปเก็บไว้ที่เดิม ทรงให้ช่างจารพระไตรปิฎกทั้งจบ ที่สำคัญที่สุดทรงให้อัญเชิญพระแก้วมรกต มาประดิษฐานที่วัดอรุณราชวราราม

7.  ด้านศิลปะและวรรณกรรม
สมัยกรุงธนบุรีด้านศิลปะมีไม่ค่อยมากนักเพราะบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงครามถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงให้มีการละเล่นเพื่อเป็นการบำรุงขวัญประชาชนให้หายจากความหวาดกลัว และลืมความทุกข์ยาก มีขบวนแห่อัญเชิญและสมโภชพระแก้วมรกตเป็นเวลา 7 วัน การประชันละครระหว่างละครผู้หญิงของเจ้านครศรีธรรมราช และละครหลวง
ผลงานทางด้านวรรณกรรมในสมัยนั้นมีน้อยและไม่สู้สมบูรณ์นัก วรรณกรรมที่มีชื่อเสียง ได้แก่
- บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์บางตอน
- หลวงสรวิชิต (หน) ประพันธ์ลิลิตเพชรมงกุฎ และอิเหนาคำฉันท์
- นายสวนมหาดเล็ก ประพันธ์โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี
การไปติดต่อกับจีนในปลายรัชสมัยทำให้มีวรรณกรรมเกิดขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง คือ นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน หรือนิราศเมืองกวางตุ้ง
ส่วนผลงานด้านสถาปัตยกรรมในสมัยธนบุรี ไม่มีผลงานดีเด่นที่พอจะอ้างถึงได้

การติดต่อกับประเทศตะวันตก
ในสมัยธนบุรีประเทศไทยมีการติดต่อกับประเทศตะวันตก ดังนี้
1. ฮอลันดา ใน พ.. 2313 ฮอลันดาจากเมืองปัตตาเวีย (จาการ์ตา) ซึ่งเป็นสถานีการค้าของฮอลันดา และแขกเมืองตรังกานูได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อถวายปืนคาบศิลา จำนวน 2,200 กระบอก และถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองด้วย
2. อังกฤษ ใน พ.. 2319 กัปตันฟรานซิส ไลท์ ได้นำปืนนกสับจำนวน 1,400 กระบอกและสิ่งของอื่น ๆ เข้ามาถวายเพื่อเป็นการสร้างสัมพันธไมตรี
3. โปรตุเกส ใน พ.. 2322 แขกมัวร์จากเมืองสุรัต ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส นำสินค้าเข้ามาค้าขายในกรุงธนบุรี และไทยได้ส่งสำเภาหลวงไปค้าขายยังประเทศอินเดีย

อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่
เหตุการณ์ตอนปลายสมัยธนบุรี
ในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระสติฟั่นเฟือนไป เข้าพระทัยว่าทรงบรรลุโสดาบัน และจะให้พระสงฆ์กราบไหว้พระองค์ซึ่งเป็นคฤหัสถ์ ราษฎรได้รับความเดือดร้อนทั่วแผ่นดินจากข้าราชการที่ทุจริตกดขี่ข่มเหงหาประโยชน์ส่วนตัว เป็นเหตุทำให้เกิดจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี ราษฎรต่างทิ้งบ้านเรือนหนีเข้าป่าไปเป็นอันมาก
ขณะเดียวกันก็เกิดกบฏขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทราบข่าวกบฏ จึงสั่งพระยาสรรค์ขึ้นไปสอบสวน แต่พระยาสรรค์กลับไปเข้าพวกกบฏ ยกพวกเข้าปล้นพระราชวังที่กรุงธนบุรี ในเดือนเมษายน 2324 บังคับให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชออกผนวชและคุมพระองค์ไว้ที่พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม และพระยาสรรค์ก็ตั้งตนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทน
ส่วนสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กำลังจะยกทัพไปตีเมืองเสียมราฐ เมื่อทราบข่าวเกิดจลาจลในกรุงธนบุรี จึงรีบยกทัพกลับขณะนั้นเป็นเดือนเมษายน 2325  เมื่อมาถึงกรุงธนบุรี พระองค์ได้ซักถามเรื่องราวความยุ่งยากที่เกิดขึ้น จึงให้ประชุมข้าราชการ ปรากฏว่าที่ประชุมลงความเห็นว่าให้สำเร็จโทษพระเจ้าตากสินมหาราช ขณะนั้นทรงมีพระชนม์ 48 พรรษา รวมเวลาครองราชย์ 15 ปี
ป้อมวิชัยประสิทธิ์
ป้อมวิชัยประสิทธิ์ สถานที่ตัดพระเศียรพระเจ้าตาก
        ในสมัยรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงตรากตรำในการสู้รบ เพื่อรักษาและขยายของเขตแผ่นดินโดยมิได้ว่างเว้น จนสามารถขยายเป็นอาณาจักรใหญ่ในแหลมทองนี้ได้ พระองค์ทรงเป็นนักรบ มิได้ทรงมีโอกาสแม้แต่จะเสวยสุขสงบในบั้นปลายพระชนม์ชีพ เพราะได้เกิดกบฏพระยาสรรค์ขึ้นก่อน บ้านเมืองวุ่นวาย จนเป็นเหตุให้ทรงถูกสำเร็จโทษดังที่กรมหลวงนรินทรเทวีบันทึกไว้ในจดหมายเหตุความทรงจำของท่านว่าเมื่อต้นแผ่นดินเย็นด้วยพระบารมี ชุ่มพื้นชื่นผลจนมีแท่น ปลายแผ่นดินแสนร้อนรุ่มสุมรากโคนโค่นล้มถมแผ่นดิน ด้วยสิ้นพระบารมีแต่เพียงนั้น


ข้อพิจารณา 

การสวรรคตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

 การสวรรคตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระมหากษัตริย์ไทยเพียงพระองค์เดียวในสมัยกรุงธนบุรี เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2325 เป็นเหตุการณ์ที่ไม่แน่ชัด ในหลักฐานส่วนใหญ่มักถือว่าพระองค์ทรงเสียพระสติ หรือสติฟั่นเฟือน จึงทรงถูกขบถแลสำเร็จโทษโดยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) อันเป็นการสิ้นสุดสมัยธนบุรี พร้อมกับการเริ่มต้นของราชวงศ์จักรี และสมัยรัตนโกสินทร์
อย่างไรก็ตาม ยังปรากฏหลักฐานที่ชี้ว่าพระองค์สวรรคตด้วยสาเหตุอื่น

ทรงถูกสำเร็จโทษเนื่องจากทรงเสียพระสติ

          สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ ซึ่งไปราชการทัพเมืองเขมร และยกกำลังเข้าตีเมืองเสียมราฐ เมื่อทราบข่าวการจลาจลในกรุงธนบุรี จึงได้รีบยกทัพกลับ ขณะนั้นเป็นเดือนเมษายน พ.ศ. 2325 เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมาถึงในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ก็ได้สืบสวนเรื่องราวความวุ่นวายที่เกิดขึ้น และจับกุมผู้ก่อการกบฏมาลงโทษ รวมทั้งให้ข้าราชการปรึกษาพิจารณาความที่มีผู้ฟ้องร้องกล่าวโทษว่าสมเด็จพระ เจ้ากรุงธนบุรีทรงเป็นต้นเหตุเนื่องจากพระองค์ทรงเสียพระสติไป เพื่อมิให้เกิดปัญหายุ่งยากอีกจึงให้สำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย การตัดพระเศียร ณ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ แล้วฝังพระบรมศพที่วัดบางยี่เรือใต้[ เสด็จสวรรคตในวันพุธ แรม 13 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล แต่ยังเป็นตรีศก จ.ศ.1143 หรือตรงกับวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2325

การวิเคราะห์

สำหรับสาเหตุที่พระองค์เสียพระจริตนั้น มีหลักฐานได้อธิบายไว้หลายสาเหตุ สามารถจำแนกได้ดังนี้:
  • พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวินิจฉัยว่า เป็นเพราะความสนพระทัยเรื่องเล่นเบี้ยนี้ทำให้พระองค์มัวเมา
  • กรมหลวงนรินทรเทวี พระน้องนางเธอต่างพระชนนีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงยกเหตุให้ แก่การประหารชีวิตหัวหน้ากลุ่มญวน-จีนกว่า 53 คน และโปรดให้อพยพชาวญวนไปยังชายขอบพระราชอาณาเขตพระสังฆราชปาลเลอกัวซ์ ได้ฟังจากชนชั้นสูงของไทยสมัยนั้นว่าพระองค์ทรงได้รับโอสถขนานหนึ่งทำให้พระสติวิปลาส
  • กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ทรงพระนิพนธ์อธิบายในเชิงจิตวิทยาและแสดงความเห็นใจสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่าพระองค์ทรงงานหนักจนทำให้เกิดความเครียด[
สาเหตุของการเสียพระจริตนั้น ได้เปลี่ยนแปลงไปตามทัศนะของชนชั้นสูงในยุคสมัยที่แตกต่างกัน  แต่ทั้งหมดนี่เป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น เพราะแนวคิดในการพิสูจน์ความจริงนั้นได้ถูกละเลย
นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายใน การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด (หรือ "ดุร้าย") ในสมัยปลายรัชกาลนั้น คงเป็นเพราะพระราชอำนาจที่เสื่อมลง  พระองค์ยังเป็นกษัตริย์ที่ทรงประพฤติไม่เหมือนกับพระมหากษัตริย์อยุธยาแต่ เดิมอีกด้วย จนสูญเสียความศรัทธาจากกลุ่มขุนนางอยุธยาแต่เดิม จนถูกมองว่าเสียสติ[  ทั้งนี้ หลักฐานพงศาวดารซึ่งบันทึกอาการวิกลจริตของพระองค์ล้วนถูกเขียนขึ้นภายหลัง การสวรรคตของพระองค์ทั้งสิ้น เช่นเดียวกับข่าวการเสียสติของพระองค์  ในขณะที่จดหมายโหรร่วมสมัยได้บันทึกว่า พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นปกติจนถึงปี พ.ศ. 2324 การเสียสติของพระองค์จึงไม่ปรากฏในหลักฐานร่วมสมัย แต่บางฉบับก็บอกว่าเป็นวันเดียวกัน ซึ่งยังไม่มีใครทราบเป็นที่แน่ชัด

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก่อรัฐประหาร

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้วิเคราะห์ว่า การที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงประกอบพระราชกรณียกิจแปลกไปจากพระมหา กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ทำให้พระองค์ทรงถูกมองว่าไม่เคารพต่อขนบธรรมเนียมดั้งเดิม และได้รับการต่อต้านจากกลุ่มชนชั้นสูง ข่าวลือการเสียพระสติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกแพร่ออกไปเพื่อสร้าง ประโยชน์ทางการเมืองให้กับกลุ่มผู้ต้องการโค่นล้มพระองค์จากพระราชอำนาจ กลุ่มชนชั้นสูง (ไม่รวมราษฎรสามัญ) ได้รับความเดือดร้อนจากความประพฤติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์ยังได้สร้างความไม่ประทับใจให้กับฝ่ายของพระองค์เองอีกด้วย ท้ายที่สุดแล้วสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ไม่สามารถรักษาพระราชอำนาจต่อไปได้ กลุ่มที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางภายใต้การนำของพระยาจักรีได้ก่อรัฐ ประหาร
ในบทความ "ชำแหละแผนยึดกรุงธนบุรี" เขียนโดยปรามินทร์ เครือทอง ได้ลำดับเหตุการณ์การรัฐประหารไว้ว่า:
แผนรัฐประหารเริ่มขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2324 ระหว่างการปราบปรามจลาจลในเขมร สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทราบข่าวความไม่ปกติในกรุงธนบุรี จึงให้พระยาสุริยอภัยผู้หลานมาคอยฟังเหตุการณ์อยู่ที่เมืองนครราชสีมา เวลาเดียวกัน สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็ลอบทำสัญญากับแม่ทัพญวน ฝ่ายแม่ทัพญวนก็ให้กองทัพญวน-เขมรนั้นล้อมกองทัพกรมขุนอินทรพิทักษ์ไว้
แรมเดือน 4 พ.ศ. 2325 ขุนแก้ว น้องพระยาสรรค์, นายบุนนาค นายบ้านในเขตกรุงเก่า และขุนสุระ นายทองเลกทองนอก ทั้งสามได้คิดก่อการปฏิวัติขึ้น โดยรวบรวมกำลังพลจำนวนหนึ่งไปสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และถวายราชสมบัติให้แก่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ฝ่ายเจ้าเมืองอยุธยา พระอินทรอภัย หนีรอดมาได้ กราบบังคบทูลต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์จึงให้พระยาสรรค์ขึ้นไปปราบ แต่ภายหลังได้กลายเป็นแม่ทัพยกมาตีกรุงธนบุรี
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2325 ทัพพระยาสรรค์ได้เข้าล้อมกำแพงพระนคร รบกับกองทัพซึ่งรักษาเมืองจนถึงเช้า ครั้นรุ่งเช้า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีบัญชาให้หยุดรบ พระยาสรรค์ก็ถวายพระพรให้ผนวช[ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงออกผนวชเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2325 วันรุ่งขึ้น พระยาสรรค์ก็ออกว่าราชการชั่วคราว
แต่มาภายหลัง พระยาสรรค์ได้ปล่อยตัวกรมขุนอนุรักษ์สงครามมาช่วยกันรบป้องกันพระนครจากกองทัพพระยาสุริยอภัย ทั้งสองทัพรบกันเมื่อราว 2-3 เมษายน พ.ศ. 2325 พระยาสรรค์และกรมอนุรักษ์สงครามแตกพ่ายไป จนเมื่อถึงวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็ยกทัพมาถึงกรุงธนบุรี

ทรงสละราชบัลลังก์และออกผนวชที่นครศรีธรรมราช
กุฏิพระเจ้าตาก
กุฏิพระเจ้าตากที่วัดเขาขุนพนม  จังหวัดนครศรีธรรมราช
ที่ชาวไทยบางกลุ่มเชือว่า เป็นสถานที่พักของพระเจ้าตาก

นอกจากนี้ชาวไทยบางกลุ่มยังเชื่อว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้ถูกสำเร็จโทษ แต่ทรงจงใจสละราชบัลลังก์เพื่อจะได้มิต้องชำระเงินกู้จากจีน เมื่อทรงได้รับการปล่อยตัวอย่างลับ ๆ แล้วจึงเสด็จลงเรือสำเภาไปประทับที่วัดเขาขุนพนม จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยผนวชเป็นพระภิกษุและจำพรรษาอยู่ที่นั่นตราบจนเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2368 รวมพระชนมายุได้ 91 ปี 43 พรรษา
ส่วนบุคคลที่ถูกประหารชีวิตนั้น กล่าวกันว่าเป็นบุคคลที่มีใบหน้าบุคลิกลักษณะที่คล้ายพระองค์มากรับอาสาปลอม ตัวแทนพระองค์ ซึ่งอาจเป็นพระญาติหรือมหาดเล็กใกล้ชิด

ธงสมัยรัชกาลที่ 1

ธงสมัยรัชกาลที่ 1
ธงสมัยรัชกาลที่ 1

ธงสมัยรัชกาลที่ 2

ธงสมัยรัชกาลที่ 2
ธงสมัยรัชกาลที่ 2

ธงสมัยรัชกาลที่ 4

ธงสมัยรัชกาลที่ 4
ธงสมัยรัชกาลที่ 4

ธงราชการ ร.ศ. 129

ธงราชการ ร.ศ. 129
ธงราชการ ร.ศ. 129

ธงค้าขาย ร.ศ. 129

ธงค้าขาย ร.ศ. 129
ธงค้าขาย ร.ศ. 129

ธงไตรรงค์ (ปัจจุบัน)

ธงไตรรงค์ (ปัจจุบัน)
ธงไตรรงค์ (ปัจจุบัน)

ที่มา:

การผังเมือง กระทรวงมหาดไทย,กรม. การผังเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. กรุงเทพฯ: เซเว่น พริ้นติ้งกรุ๊ป,(2542).

กำธร กุลชล และคณะ.วิวัฒนาการทางกายภาพของกรุงรัตนโกสินทร์ฝั่งตะวันออก: ตั้งแต่เริ่มสร้างงกรุงจนถึงสมัยเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง. วารสาร ม. ศิลปากร ฉบับ พิเศษ กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี.กรุงเทพฯ: 2525, . 221 – 243.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์. ถิ่นกำเนิดชนชาติไท. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อยุธยา ประวัติศาสตร์และการเมือง.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548.

ชิน อยู่ดี. สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2510.

ชำระประวัติศาสตร์ไทย,กรม. รายพระนามพระมหากษัตริย์อยุธยา.ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : ทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2515.

ณรงค์ พํวงพิศ และคณะ. หนังสือเรียน สาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม วิชา ประวัติศาสตร์ ชั้น ม.2 ( 32101). กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, 2547.

ณรงค์ พํวงพิศ และคณะ. คู่มือครู สาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม วิชา ประวัติศาสตร์ ชั้น ม.2. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, 2551.

ดำรงราชานุภาพ,สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ราชกาลที่ 2. กรุงเทพฯ:ห้างหุ้นส่วนจำกัดไอเดีย สแควร์. 2546.

ถนอม อานามวัฒน์ และคณะ.ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานในดินแดนประเทศไทย.กรุงเทพฯ: วัฒนาพานิช. (2545).

นิธิ เอียวศรีวงศ์.การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ: บริษัท พิฆเนศ พริ้นติ้ง เซ็นเตอร์ จำำกัด, 2536

เนตรนิมิต.ประวัติศาสตร์อีสาน นครราชสีมาและวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์.นครราชสีมา: หจก. มิตรภาพการพิมพ์1995, 2547

บังอร ปิยะพันธ์.ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์.พิมพ์ครั้งแรก, กรุงสยามการพิมพ์,สิงหาคม 1433

พลับพลึง คงชนะ.ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานในดินแดนประเทศไทย.กรุงเทพฯ : เดอะมาสเตอร์กรุ๊ป แมเนจเม้นท์. 2543.

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ศิลปากร,กรม.โบราณคดีประวัติศาสตร์.กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. 2529.

สุด แสงวิเชียร. เรื่องก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรมสารบรรณทหารเรือ, (2517).

เอกรินทร์ สี่มหาศาล และคณะ. ประวัติศาสตร์ ป.5. พิมพ์ครั้งที่ 3.กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, มปป.