ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน
ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน เป็นเรื่องสั้นอิงประวัติศาสตร์ ที่แต่งโดยพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน
"เพลินจิตต์รายสัปดาห์" โดยสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ชุด "วิจิตรวรรณกรรม" เมื่อ ประมาณ พ.ศ. 2480
กล่าวถึงประเด็นใหม่ทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับการปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ในช่วงปลายรัชกาลกรุงธนบุรี
ว่าแท้ที่จริงสมเด็จพระเจ้าตากสินมิได้ถูกสำเร็จโทษที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ปากคลองบางกอกใหญ่ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2325 ตามหลักฐานในพระราชพงศาวดาร
แต่ได้ลักลอบเสด็จออกไปประทับที่อื่น โดยได้สับเปลี่ยนตัวกับพระญาติ ชื่อนายมั่น
ซึ่งมีรูปพรรณใกล้เคียงกับพระองค์ เป็นผู้ถูกสำเร็จโทษแทน
ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากสินพระองค์จริงได้เสด็จสวรรคตหลังจากนั้นอีก 3 ปี
เนื่องจากถูกลอบทำร้าย
|
หนังสือรวมเรื่องสั้น ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2544 |
หลวงวิจิตรวาทการ
เขียนถึงที่มาของเรื่องสั้นเรื่องนี้ไว้ตอนต้นของเรื่องว่า
เกิดขึ้นระหว่างที่ท่านทำงานเป็นบรรณารักษ์อยู่ที่หอสมุดแห่งชาติได้ประมาณ 6 เดือน
และเกิดเหตุการณ์ลึกลับที่หอเอกสารเก่าเกี่ยวกับช่วงปลายรัชกาลของพระเจ้ากรุงธนบุรี
จนทำให้ยามเฝ้าหอสมุดลาออกจากงานหลายคน
ท่านตัดสินใจมานอนเฝ้าที่หอสมุดด้วยตนเองเพื่อพิสูจน์ความจริง
และคืนหนึ่งท่านก็ได้แรงบันดาลใจจากสิ่งลึกลับ ให้เขียนเรื่องสั้นนี้ขึ้นด้วยลายมือของตัวเอง
ตามคำบอกเล่าของสิ่งลึกลับนั้น
ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธนรวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น
ชื่อ "รวมเรื่องสั้น ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน"
โดยสำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์ เมื่อ พ.ศ. 2544 โดยเป็นการตีพิมพ์ครั้งที่ 6
ประกอบด้วยเรื่องสั้นอิงประวัติศาสตร์ ของหลวงวิจิตรวาทการ จำนวน 40 เรื่อง
แบ่งเป็นสองเล่ม เล่มละ 20 เรื่อง ชื่อชุด "ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน" และ
"ครุฑดำ"
การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์เป็นวิธีการประหารพระราชวงศ์ไทยโดยการใช้ท่อนจันทน์เป็นอุปกรณ์
วิธีการดังกล่าวไม่มีการปฏิบัติอีกต่อมาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนมหามงกุฎ
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และได้เลิกเสียอย่างเป็นทางการตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127
ในรัชกาลต่อมา
ซึ่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้การประหารชีวิตบุคคลทุกชนชั้นกระทำโดยการตัดศีรษะ
ประวัติ
การสำเร็จโทษด้วนท่อนจันทน์เป็นการประหารชีวิตพระราชวงศ์ซึ่งมีบัญญัติไว้ในมาตรา
176 แห่งกฎมนเทียรบาล กฎหมายตราสามดวงฉบับชำระในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ว่า
“ถ้าแลโทษหนักถึงสิ้นชีวิตไซร้ ให้ส่งแก่ทะลวงฟันหลังแลนายแวงหลังเอาไปมล้างในโคกพญา
นายแวงนั่งทับตักขุนดาบ ขุนใหญ่ไปนั่งดู หมื่นทะลวงฟันกราบสามคาบ
ตีด้วยท่อนจันทน์แล้วเอาลงขุม นายแวงทะลวงฟันผู้ใดเอาผ้าทรงแลแหวนทองโทษถึงตาย เมื่อตีนั้นเสื่อขลิบเบาะรอง”
กฎมนเทียรบาลเช่นว่านี้จะประกาศใช้เมื่อใดเป็นครั้งแรกยังคงเป็นที่ถกเกียงกันอยู่ในขณะนี้
อย่างไรก็ดี
ในบานแผนกของกฎมนเทียรบาลฉบับที่เก่าที่สุดปรากฏความว่า "ศุกมัสดุ ศักราช
720 วันเสาร์ เดือนห้า ขึ้นหกค่ำ ชวดนักษัตรศก
สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีบรมไตรโลกนาถ... (ข้อความต่อไปเกี่ยวกับว่า
ทรงประกาศใช้กฎหมายดังต่อไปนี้) " ศักราชดังกล่าวเป็นจุลศักราช
ปรามินทร์ เครือทอง ผู้เขียนหนังสือ
"สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์" ได้ตรวจสอบพระราชพงศาวดารต่าง ๆ
ปรากฏปีเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแตกต่างดังต่อไปนี้
1. พระราชวงศาวดารฉบับพิมพ์
2 เล่ม (ฉบับหมอบรัดเล) :
เสด็จขึ้นทรงราชย์ จ.ศ. 796 (พ.ศ. 1977)
2.
พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา :
เสด็จขึ้นทรงราชย์เมื่อปีขาล จ.ศ. 796 (พ.ศ. 1977)
3. พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ : เสด็จขึ้นทรงราชย์เมื่อปีมะโรง จ.ศ. 810 (พ.ศ. 1991)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า
"ข้าพเจ้าเชื่อว่าศักราชอย่างลงไว้ในฉบับหลวงประเสริฐนั้นถูก..."
ในกรณีนี้ ปี จ.ศ. ที่ระบุไว้ในบานแผนกได้แก่ จ.ศ. 720
ก่อนสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นทรงราชย์เก้าสิบปี (จ.ศ. 810) ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแก้ว่า
น่าจะเป็นเพราะอาลักษณ์เขียนผิด โดยเขียนเลข 8 เป็นเลข 7 ที่ถูกคือ จ.ศ. 820 ทั้งนี้ หากนับตามปีปฏิทินแล้ว จ.ศ. 720
ตรงกับปีจอ ซึ่งในบานแผนกว่าปีชวด และปีชวดจะตรงกับ จ.ศ. 722
ส่วนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า
น่าจะเป็นเพราะอาลักษณ์เขียนผิดเช่นกัน แต่ที่เขียนผิดคือเลข 0 ที่ถูกต้องเป็น 2
อันได้แก่ จ.ศ. 722 ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง)
ปรามินทร์ เครือทอง เชื่อว่า
ปีที่ระบุในบานแผนกน่าจะเป็นปีรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
ไม่น่าใช่ปีรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
เนื่องจากการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ได้มีมาก่อนรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแล้ว
โดยปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาดังต่อไปนี้
“ศักราช 744 ปีจอ จัตวาศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ
13 ปี จึงเจ้าทองจันทร์ ราชบุตร พระชนม์ได้ 15 พรรษา
ขึ้นเสวยราชสมบัติ 7 วัน สมเด็จพระราเมศวรเสด็จลงมาแต่เมืองลพบุรี เข้าในพระราชวังได้
กุมเอาเจ้าทองจันทร์ได้ให้พิฆาตเสียวัดโคกพระยา แล้วพระองค์ได้เสวยราชสมบัติ”
หากสรุปเอาตามพระบรมราชวินิจฉัยและความคิดเห็นของปรามินทร์
เครือทองข้างต้น
ก็จะได้ว่ากฎมนเทียรบาลอันกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์นั้นประกาศใช้เป็นครั้งแรกในรัชกาลสมเด็จพระราชาธิบดีที่
1
ความผิดและผู้กระทำความผิดอันระวางโทษนี้
มาตรา 176
ของกฎมนเทียรบาล ในกฎหมายตราสามดวง บัญญัติไว้ว่า
"ถ้าแลโทษหนักถึงสิ้นชีวิตไซร้
ให้ส่งแก่ทะลวงฟันหลังและนายแวงหลังเอาไปมล้างในโคกพญา..."
โดยมิได้ระบุรายละเอียดโทษดังกล่าวไว้ ทั้งนี้
ในกฎมนเทียรบาลเองมีบัญญัติข้อปฏิบัติ ข้อห้าม และข้อกำหนดโทษสำหรับพระราชวงศ์ตลอดจนนางสนมกรมในไว้
โดยโทษมีตั้งแต่ระดับโบย จำ เนรเทศ และประหารชีวิต
ส่วนข้อปฏิบัติและข้อห้ามนั้นส่วนใหญ่เพื่อป้องกันความไม่เหมาะสมทางเพศ เช่น
การพูดจา ไปมาหาสู่ และ/หรือมีสัมพันธ์กับนางสนมกรมใน นอกจากนี้
ในส่วนเฉพาะสำหรับพระราชกุมารยังมีข้อห้ามอื่น ๆ
เพื่อป้องกันการกบฏต่อพระราชบัลลังก์อีกด้วย เป็นต้นว่า มาตรา 77
ห้ามมิให้ขุนนางที่มีศักดินาตั้งแต่แปดร้อยถึงหนึ่งหมื่นไร่ไปมาหาสู่กับพระราชโอรสและ/หรือพระราชนัดดา
หากขุนนางใดละเมิดฝ่าฝืนต้องระวางโทษประหารชีวิต
อย่างไรก็ดี ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ผู้รับโทษประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์นี้มักเป็นพระราชวงศ์ที่ต้องโทษทางการเมือง
เป็นต้นว่า มีการชิงพระราชบัลลังก์
และผู้กระทำการดังกล่าวสำเร็จจะสั่งให้ประหารพระมหากษัตริย์พระองค์เดิม
ตลอดจนพระราชวงศ์ และบุคคลใกล้ชิดทั้งปวงของพระมหากษัตริย์ดังกล่าวอีกด้วย
เพื่อป้องกันความสั่นคลอนของพระราชบัลลังก์ในภายหลัง
อีกกรณีหนึ่งคือการที่พระมหากษัตริย์สิ้นพระชนม์และมีพระราชบุตรทรงอยู่ในพระราชสถานะที่จะเสด็จขึ้นทรงราชย์ได้
แต่มีบุคคลที่สามต้องการพระราชบัลลังก์เช่นกัน
จึงจำเป็นต้องมีการกำจัดพระราชบุตรคนดังกล่าวตลอดจนผู้เกี่ยวข้องไปให้พ้นทาง
กระบวนการสำเร็จโทษ
บุคลากร
มาตรา 176 ของกฎมนเทียรบาล
ในกฎหมายตราสามดวง บัญญัติไว้ว่า "ถ้าแลโทษหนักถึงสิ้นชีวิตไซร้ ให้ส่งแก่ทะลวงฟันหลังและนายแวงหลังเอาไปมล้างในโคกพญา
นายแวงนั่งทับตักขุนดาบ ขุนใหญ่ไปนั่งดู..."
ทะลวงฟัน
มีบัญญัติไว้ในกฎหมายตราสามดวง ส่วนพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร
หัวเมืองว่า
"หมื่นทะลวงฟัน" มีหน้าที่เป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยและหน่วยจู่โจม
ซึ่งในการประหารพระราชวงศ์ด้วยท่อนจันทน์นี้ หมื่นทะลวงฟันมีหน้าที่เป็นเพชฌฆาต
นายแวงและขุนดาบ
"นายแวง" และ
"ขุนดาบ"
เป็นชื่อตำแหน่งข้าราชการระดับหนึ่งในสมัยโบราณมีหน้าที่ล้อมวงพระมหากษัตริย์เพื่อถวายการอารักขา
และมีหน้าที่ประสานกับชาวพนักงานฝ่ายอื่น ๆ
เพื่อให้การดังกล่าวเป็นไปโดยเรียบร้อย ซึ่งนายแวงมียศสูงกว่าขุนดาบ โดยในมาตรา
30 แห่งกฎมนเทียรบาล กฎหมายตราสามดวง บัญญัติว่า
"...ถ้าเสด็จขึ้นเขาแลเข้าถ้ำ ขึ้นปรางค์เข้าพระวิหาร ให้ขุนดาบเข้าค้น
แล้วให้ตำรวจในเข้าค้น แล้วให้นายแวงเข้าค้น
แล้วให้กันยุบาตรค้นเล่าเป็นสี่ท่าจึ่งเชิญเสด็จ เมื่อเสด็จตำรวจในแนมสองข้าง
นายแวงถัด ขุนตำรวจขุนดาบอยู่แต่ข้างล่าง ครั้นเสด็จถึงใน
ตำรวจในอยู่บานประตูข้างใน นายแวงอยู่บานประตูข้างนอก
ขุนดาบอยู่เชิงบันไดเชิงเขา..."
ทั้งนี้ คำว่า "แวง" พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. 2542
บัญญัติความหมายว่า "แวง 1 ว. ยาว,
แถว; เรียกเส้นลองจิจูดว่า เส้นแวง. (ข.).
แวง 2 น. ดาบ. ...แวง 4 ก. ล้อมวง."
สำหรับการประหารพระราชวงศ์ด้วยท่อนจันทน์
นายแวงและขุนดาบมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยในมณฑลพระราชพิธีประหาร
โดยเฉพาะนายแวงยังมีหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องโทษประหารด้วยท่อนจันทน์ไปยังมณฑลดังกล่าวอีกด้วย
ซึ่งในการควบคุมตัวดังกล่าว มาตรา 175
ยังให้อำนาจนายแวงสามารถจับกุมผู้มีพฤติกรรมต้องสงสัยได้ทันที ทั้งนี้
บัญญัติไว้ว่า "เมื่อไปนั้น ถ้ามีเรือผู้ใดเข้าไปผิดประหลาดอัยการนายแวง
ท้าวพระยาห้วเมือง มนตรีมุข ลูกขุนแต่นาหนึ่งหมื่นถึงนาหกร้อยผู้ใดส่งลูกเธอก็ดี
ให้ของส่งของฝากก็ดี อัยการนายแวงได้กุมเอาตัวเป็นขบถตามโทษนุโทษ"
ขุนใหญ่
คำว่า "ขุนใหญ่" หมายถึง
ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. 2540
ให้ความหมายของคำว่า "ขุน" ไว้ดังนี้ "ขุน 1 น. ผู้เป็นใหญ่, หัวหน้า, บรรดาศักดิ์ข้าราชการรองจากหลวงลงมา เช่น ขุนวิจิตรมาตรา; เรียกหมากรุกตัวสำคัญที่สุด. ว. ใหญ่ เช่น ขุนเขา.ขุนนาง (โบ) น.
ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร ตามปรกติต้องมีศักดินาตั้งแต่ 400
ขึ้นไป."
ขุนใหญ่ในการประหารพระราชวงศ์ด้วยท่อนจันทน์นี้ได้แก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
แต่งตั้งให้เป็นประธานในพระราชพิธีสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ในกรณีที่ไม่เสด็จพระราชดำเนินไปด้วยพระองค์เอง
ทั้งนี้
ขุนใหญ่มีหน้าที่ไปกำกับการพระราชพิธีต่างพระเนตรพระกรรณเพื่อให้การเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
และมีหน้าที่อ่านประกาศพระบรมราชโองการพระราชทานโทษประหารชีวิตในมณฑลพระราชพิธีก่อนจะเริ่มประหารด้วย
สถานที่
สถานที่สำเร็จโทษนั้นจะใช้ที่วัดโคกพญา
หรือ
โคกพระยาซึ่งยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าจะใช้โคกพญาเดียวกันกับในมนเทียรบาล
ขั้นตอน
วิธีการนั้นถ้าเป็นแบบปรกติจะต้องใส่ถุงแดงให้เรียบร้อยก่อน
เจ้าหน้าจึงอัญเชิญไปยังลานพิธี แล้วปลงพระชนม์ตามพระราชอาญา
นอกจากนี้ยังมีการสำเร็จโทษด้วยวิธีอื่น ๆ อีกเช่น ใส่หลุมอดอาหาร ฝังทั้งเป็น
ถ่วงน้ำ ตัดพระเศียร และวิธีพิสดาร ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้นผู้เขียนเชื่อว่าพระองค์ถูกสำเร็จโทษโดยการตัดพระเศียร
รายพระนามผู้ทรงถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
- สมเด็จพระเจ้าทองลัน
พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 4 แห่งกรุงศรีอยุธยา
- พระรัษฎาธิราช
พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 12 แห่งกรุงศรีอยุธยา
- พระศรีเสาวภาคย์
พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงศรีอยุธยา
- สมเด็จพระเชษฐาธิราช
พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 22 แห่งกรุงศรีอยุธยา
- สมเด็จพระอาทิตยวงศ์
พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 23 แห่งกรุงศรีอยุธยา
- สมเด็จเจ้าฟ้าไชย
พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 25 แห่งกรุงศรีอยุธยา
- สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา
พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 26 แห่งกรุงศรีอยุธยา
- เจ้าพระขวัญ
พระราชโอรสในสมเด็จพระเพทราชาที่ประสูติแต่กรมหลวงโยธาทิพ
- เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์
พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
- พระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิด
พระราชบุตรในกรมพระราชวังบวรเสนาพิทักษ์
- กรมหมื่นจิตรสุนทร
กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี (เจ้าสามกรม) พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
- สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
(ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่าพระองค์ถูกตัดพระเศียร)
- พระองค์เจ้าชายอรนิกา
พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
- สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ
เจ้าฟ้าสุพันธวงศ์ กรมขุนกษัตรานุชิต พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
(รัชสมัยรัชกาลที่ 2)
- เจ้าจอมมารดาสำลี
พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเป็นพระมเหสีในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์
วังหน้าในรัชกาลที่ 2
- พระองค์เจ้าหญิงกระษัตรี
พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ (หม่อมไกรสร) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
(เป็นพระราชวงศ์องค์สุดท้ายที่ถูกสำเร็จโทษด้วยวิธีนี้)
ความเห็นของนักวิชาการ
- ศาสตราจารย์นิธิ
เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการไทย ให้ความเห็นว่า
1.
"การประหารเจ้านายด้วยพิธีกรรมอันอลังการดังที่กล่าวนี้ไม่รู้จะแปลเป็นภาษาฝรั่งว่าอย่างไร
อังกฤษมีคำที่ผูกจากละตินว่า regicide แปลตามตัวก็คือ
"สังหารพระเจ้าแผ่นดิน" แล้วฝรั่งก็ใช้คำนี้ในความหมายทื่อ ๆ ตามนั้น
เช่น เอามีดจิ้มให้ตายอย่างที่แมคเบธทำ (แม็กเบท (MacBeth) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งสก็อตแลนด์
โดยเป็นตัวละครในอุปรากรเรื่อง "แม็กเบท" ของวิลเลียม เชกสเปียร์
ชื่ออุปรากรนี้ภาษาไทยว่า "แม็คเบธ...ผู้ทรยศ") หรือเอาไปบั่นพระเศียรเสียด้วยกิโยตีน ซึ่งไม่ได้เป็นพระราชกิโยตีนด้วย
เพราะกิโยตีนอันนั้นใช้ประหารได้ตั้งแต่โสเภณียันพระราชา
หรือเอาไปขังไว้ในหอคอยรอให้ตายโดยดี ครั้นไม่ตายก็เลยเอาหมอนอุดจมูกให้ตายเสีย
เป็นต้น ฉะนั้นถ้าพูดถึงการประหารเจ้านายของไทยว่าเป็น regicide จึงทำให้ฝรั่ง (และคนไทยที่ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ไทย)
เข้าใจไขว้เขวไปหมด มันไม่ใช่อย่างนั้นครับ ไม่ใช่อย่างนั้น"
2.
"การประหารเจ้านายด้วยพิธีกรรมอันซับซ้อนแสดงให้เห็นว่าคนไทยแต่ก่อนมองพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นสถาบันอย่างชัดแจ๋วเลยทีเดียว
จะชิงราชบัลลังก์ขจัดพระเจ้าแผ่นดินออกไปไม่ใช่แค่เอาบุคคลที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินไปฆ่าง่าย
ๆ อย่างนั้น เอาไปฆ่านั้นฆ่าแน่ แต่จะฆ่าบุคคลอย่างไรจึงไม่กระทบต่อสถาบัน
เพราะเขาแย่งชิงราชบัลลังก์
ไม่ได้พิฆาตราชบัลลังก์ซึ่งต้องสงวนไว้ให้เขาขึ้นไปครองแทน
ฉะนั้นเลือดเจ้าจึงตกถึงแผ่นดินไม่ได้
ต้องสวมถุงแดงไม่ให้ใครถูกเนื้อต้องตัวพระบรมศพ ใช้ท่อนจันทน์ในการประหาร
ฯลฯ..."
3.
"จุดอ่อนที่สุดอย่างหนึ่งของสถาบันกษัตริย์นับแต่ต้นอยุธยาก็คือ
ปัญหาการสืบราชสมบัติ
คุณสมบัติเพียงประการเดียวของผู้มีสิทธิจะสืบราชสมบัติได้ก็คือความเป็นเชื้อพระวงศ์"
- ปรามินทร์ เครือทอง
นักวิชาการอิสระ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง
"สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์" ให้ความเห็นว่า
"คงจะเป็นการไม่ยุติธรรมหากเราเอาความรู้สึกปัจจุบันไปตัดสินกระบวนการทางการเมืองดังกล่าว
เพราะภาพที่เราเห็นคือพ่อฆ่าลูก อาฆ่าหลาน พี่ฆ่าน้อง เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ในปัจจุบัน
แต่หลายเหตุการณ์ในอดีตนั้นกลับชี้ให้เราเห็นว่า
ผู้ที่ได้รับการละเว้นมักจะกลับคืนมาพร้อมที่จะ 'ฆ่า' เพื่อทวงบัลลังก์คืนเช่นกัน ดังนั้น
จึงไม่มีการครอบครองพระราชอำนาจโดยปราศจากความหวาดระแวง สิ่งนี้เป็นเสมือนคำสาปที่อยู่คู่กับราชบัลลังก์สยามมาจนถึงรัชกาลที่
7 ในสมัยรัตนโกสินทร์..."
|