รายการ

การสร้างกำแพงพระนคร/การสร้างถนน/การขุดคูคลอง/ขุดแม่น้ำเจ้าพระยา

ประวัติการสร้างกำแพงพระนคร
กำแพงด้านใน

     พระบรมมหาราชวังแห่งใหม่ ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลก มหาราช โปรดให้เริ่มลงมือก่อสร้าง เมื่อวันที่  6  พฤษภาคม  พ.ศ.  2325  ในขั้นแรก โปรดให้สร้างพระราชมนเทียร ด้วยเครื่องไม้ และรายรอบพระบรมมหาราชวัง ด้วยเสาระเนียด เป็นการชั่วคราวก่อน  เพื่อให้ทันการพระราชพิธีปราบดาภิเษก เฉลิมพระราชมนเทียรในวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน  พ.ศ.  2325

ปีรุ่งขึ้น พ.ศ. 2326 โปรดให้แก้ไขพระราชมนเทียรสถาน และระเนียด ล้อมรอบพระราชวัง  จากเครื่องไม้ เป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน  สร้างป้อมปราการ และประตูรอบพระราชวัง เช่นเดียวกับป้อมปราการพระนคร  พระบรมมหาราชวัง เมื่อสร้างเสร็จแล้วในช่วงหลัง ๆ  มีป้อมรอบกำแพง 17 ป้อม มีผู้รวบรวบชื่อไว้ดังนี้

พระบรมมหาราชวัง
พระบรมมหาราชวังด้านทิศตะวันออก (ฝั่งวังสราญรมย์) ..ภาพจากวิกิพีเดีย  สารานุกรมเสรี
      1.  ป้อมอินทรรังสรรค์  อยู่มุมกำแพงพระบรมมหาราชวัง ด้านตะวันตกข้างเหนือ ตรงท่าพระ  รื้อทำถนนนอกกำแพงในรัชกาลที่  6
       2.  ป้อมขันธ์เขื่อนเพชร อยู่ด้านเหนือต่อประตูวิเศษไชยศรี ไปทางตะวันออก
       3.  ป้อมเผด็จดัสกร อยู่มุมกำแพงด้านตะวันออกข้างเหนือ (ตรงข้ามศาลหลักเมือง
     4.  ป้อมสัญจรใจวิง  (สร้างเพิ่มในรัชกาลที่  4) อยู่ด้านตะวันออก ตรงถนนบำรุงเมือง ใต้พระที่นั่งชัยชุมพล
       5.  ป้อมสิงขรขันธ์ อยู่ด้านตะวันออก ใต้ประตูสวัสดิโสภา ตรงวังสราญรมย์
      6.  ป้อมขยันยิงยุทธ  (สร้างเพิ่มในรัชกาลที่  4)  อยู่ด้านตะวันออก ริมพระที่นั่งสุทไธสวรรย์  ข้างเหนือ
      7.  ป้อมฤทธิรุดโรมรัน  (สร้างเพิ่มในรัชกาลที่  4)  อยู่ด้านตะวันออก ริมพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ข้างใต้
      8.  ป้อมอนันตคีรี  อยู่ใต้ประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์  เหนือมุมกำแพง ด้านตะวันออก ด้านใต้
      9.  ป้อมมณีปราการ อยู่มุมกำแพง ด้านตะวันออก ข้างใต้
      10.  ป้อมพิศาลสีมา อยู่บนกำแพงด้านใต้  ตรงวัดพระเชตุพน  ระหว่างประตูวิจิตรบรรจง กับประตูอนงคารัก
      11.  ป้อมภูผาสุทัศน  อยู่บนกำแพงด้านใต้  ทิศตะวันตก
     12. ป้อมสัตตบรรพต  อยู่มุมกำแพง ด้านตะวันตก ข้างใต้  ริมประตูพิทักษ์บวร (รื้อทำถนนนอกกำแพงในรัชกาลที่  6)
      13.  ป้อมโสฬสศิลา  อยู่บนกำแพงด้านตะวันตก  เหนือประตูอุดมสุดารักษ์
      14.  ป้อมมหาสัตตโลหะ  อยู่บนกำแพงด้านตะวันตก เหนือประตู อุดมสุดารักษ์
       15.  ป้อมทัศนนิกร  (สร้างเพิ่มในสมัยรัชกาลที่  5)  อยู่บนกำแพง ด้านตะวันตก ข้างเหนือ
      16.  ป้อมพรหมอำนวยศิลป  อยู่ริมลำนำ  เหนือท่าราชวรดิษฐ์  รื้อแล้ว
      17.  ป้อมอินทร์อำนวยศร  อยู่ริมลำน้ำ  ใต้ท่าราชวรดิษฐ์  รื้อแล้ว
(โปรดสังเกต :  ตั้งแต่หมายเลข 1 - 15  ชื่อจะคล้องจองกัน  ตามราชประเพณี  ที่ชอบตั้งชื่อ คล้องจองกัน)
ประตูรอบกำแพงพระบรมมหาราชวังชั้นนอก  มีนามดังนี้
        1.  ประตูรัตนพิศาล  อยู่ทางด้านตะวันตก  ระหว่างศาลาว่าการต่างประเทศ และพระคลังเก็บเงิน  ปัจจุบันคือประตูที่อยู่ทางด้านท่าช้างวังหลวง
2.  ประตูพิมานเทเวศร์ อยู่ระหว่างศาลาว่าการต่างประเทศ และหอรัษฎากรพิพัฒน์ ปัจจุบัน คือ ประตูที่อยู่หน้ามหาวิทยาลัยศิลปากร  ถนนหน้าพระลาน
        3.  ประตูวิเศษไชยศรี  อยู่ระหว่างหอรัษฎากรพิพัฒน์ และจวนกลางศาลาพลชาววัง  ปัจจุบันคือประตูเสด็จพระราชดำเนินเข้าออกพระบรมมหาราชวัง  ถนนหน้าพระลาน
    4.  ประตูมณีนพรัตน  อยู่ถัดประตูวิเศษไชยศรี ไปทางทิศตะวันออก  หรือตรงวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านเหนือ  ปัจจุบันคือประตูตรงกับท้องสนามหลวง ถนนหน้าพระลาน
     5.  ประตูสวัสดิโสภา  อยู่ตรงหน้าศาลาอยุทธนาธิการ  เยื้องถนนบำรุงเมือง (ถนนกัลยาณไมตรี) ข้างเหนือ  ตรงกับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ด้านตะวันออก  ปัจจุบัน คือประตูที่อยู่ตรงกับกระทรวงกลาโหม (ประตูเข้าวัดพระแก้ว)
        6.  ประตูเทวาพิทักษ์  อยู่เหนือพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ใต้ป้อมสิงขรขัณฑ์  ปัจจุบัน คือประตูที่อยู่ตรงกับกระทรวงการต่างประเทศ (วังสราญรมย์)
        7.  ประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์  อยู่ใต้พระที่นั่งสุทไธสวรรย์  ปัจจุบัน คือ ประตูที่อยู่ตรงข้ามกับสนามไชย  วังสราญรมย์
        8.  ประตูวิจิตรบรรจง  อยู่ข้างวัดพระเชตุพน  ส่วนข้างตะวันออก และข้างในตรงกับพระตำหนักเดิมสวนกุหลาบ
        9.  ประตูอนงคารักษ์ อยู่ตรงวัดพระเชตุพน ต่อจากประตู วิจิิตรบรรจง ไปทางทางตะวันตก   
10.  ประตูพิทักษ์บวร อยู่ด้านสกัดทางใต้ตรงกับถนนมหาราช ข้างในตรงกับถนนสกัด  กำแพงพระบรมมหาราชวัง
        11.  ประตูสุนทรทิศา อยู่ด้านสกัดทางเหนือ ตรงกับถนนแปดตำรวจ
        12.  ประตูเทวาภิรมย์ อยู่ตรงท่าราชวรดิษฐ์
        13.  ประตูอุดมสุดารักษ์ เป็นประตูฉนวน ออกตรงพระที่นั่ง ที่ท่าราชวรดิษฐ์ ข้างในตรงประตูยาตราสตรี
ประตูชั้นในพระบรมมหาราชวังมี  25  ประตู  คือ
        ประตูสุวรรณบริบาล  ประตูพิมานไชยศรี  ประตูเทวราชดำรงศร  ประตูทักษิณสิงหาร  ประตูอุดรสิงหรักษ์  ประตูพิศาลทักษิณ  ประตูกัลยาณวดี  ประตูศรีสุดาวงษ์  ประตูอนงคลีลา  ประตูยาตราสตรี  ประตูศรีสุนทร  ประตูพรหมศรีสวัสดิ์  ประตูพรหมโสภา  ประตูสนามราชกิจ  ประตูดุสิตศาสดา  ประตูสีกรลีลาศ  ประตูแถลงราชกิจ  ประตูปริประเวศ  ประตูราชสำราญ  ประตูกมลาศประเวศ  ประตูอมเรศร์สัญจร  พระทวารจักรพรรดิ์ภิรมย์  พระทวารเทวะราชมเหศวร์  พระทวารเทเวศร์รักษา  พระทวารเทวาภิบาล
พร้อมกันนั้น ก็โปรดให้สร้างพระอารามขึ้นในพระราชวัง  เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แก้วมรกต  พะรราชทานนามว่า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เช่นเดียวกับวัด พระศรีสรรเพชญ์ในพระนครศรีอยุธยา  แล้วอัญเชิญพระแก้วมรกต จาก "โรงพระแก้ว"  วัดอรุณ  เมืองธนบุรี ไปประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระแ้วที่สร้างใหม่ เมื่อ   พ.ศ.  2327  หลังสถาปนากรุง  2  ปี 
        พระแก้วมรกต  ประดิษฐานอยู่เมืองต่าง ๆ  นับแต่แรกพบในพระเจดีย์ ที่เมืองเชียงราย  ดังต่อไปนี้
1.   เมืองเชียงราย (ตั้งแต่ พ.ศ. ? ถึง พ.ศ. 1979)
2.   เมืองลำปาง  (32  ปี ตั้งแต่  พ.ศ. 1979 ถึง พ.ศ. 2011)
3.   มืองเชียงใหม่ (85 ปี  ตั้งแต่ พ.ศ. 2011 ถึง พ.ศ. 2096)
4.   เมืองหลวงพระบาง  (ไม่ถึงปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2096)
5.   เมืองเวียงจัน (225 ปี  ตั้งแต่ พ.ศ. 2096 ถึง พ.ศ. 2322)
6.   กรุงธนบุรี (5 ปี  ตั้งแต่ พ.ศ. 2322  ถึง พ.ศ. 2327)
7.   กรุงรัตนโกสินทร  (ตั้งแต่ พ.ศ. 2327 ถึงปัจจุบัน

เขมร (จาม) ขุดคูเมือง    
        งานก่อสร้างพระนคร เริ่มจริง ๆ  เมื่อ พ.ศ. 2326  พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ จดว่า โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองสักเลกไพร่หลวงสมกำลัง และเสกหัวเมืองทั้งปวง แล้วให้เกณฑ์ทำอิฐขึ้นใหม่บ้าง ให้ไปรื้ออิฐกำแพงเมืองกรุงเก่าบ้าง ลงมือก่อสร้างพระนคร  ทั้งพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังบวรสถานมงคง
        โปรดให้รื้อป้อมวิชเยนทร์ และกำแพงเมืองธนบุรี ฟากตะวันออก ตรงที่เรียกว่า คลองคูเมือเดิมออก ขยายพระนครให้กว้างออกไปกว่าเก่า (ถึงตรงที่เป็นคลองบางลำพูปัจจุบัน)
        เกณฑ์เขมรเข้ามาขุดคลองคูพระนครด้านตะวันออก  ตั้งแต่วัดบางลำพู หรือวัดสังเวช ไปออกแม่น้ำข้างใต้ ที่วัดเชิงเลน หรือวัดบพิตรพิมุข  แล้วพระราชทานชื่อว่า คลองรอบกรุง
        ขุดคลองเชื่อมคลองรอบกรุงกับคลองคูเมืองเดิม 2 คลอง  คลองหนึ่ง คือคลองข้างวัดราชบพิธ  อีกคลองหนึ่งข้างวัดราชนัดดา กับวัดเทพธิดา  ทำสะพานช้าง และสะพานน้อย ข้ามคลองภายในพระนครหลายตำบล
        ขุดคลองใหญ่เหนือวัดสะแก หรือวัดสระเกศ  พระราชทานนามว่า คลองมหานาค  เป็นที่สำหรับประชาชนชาวพระนคร จะได้ลงเรือไปประชุมเล่นเพลง และสักวาในเทศกาลฤดูน้ำ  เหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา
        เขมรที่ถูกเกณฑ์มีหลายพวก  แต่พวกหนึ่ง เป็นจาม ที่เข้ารีตอิสลาม อยู่เมืองเขมร เมื่อขุดคลองคูเมือง และคลองมหานาคแล้ว ก็โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่สองฝั่งคลองสืบมาถึงทุกวันนี้  เรียกบ้านครัว หมายถึง ถูกกวาดต้อนมาทั้งครอบครัว  เลยเรียกยกครัว  กลายเป็นบ้านครัวในปัจจุบัน

ผังกำแพงพระนคร
ผังกำแพงพระนคร
ป้อมหรือกำแพงด้านนอก (ตั้งแต่ปากคลองโอ่งอ่างหรือคลองบางลำพู)
        หลังจากสร้างพระราชวัง และขุดคูเมืองแล้ว  พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราช  ทรงโปรดให้เกณฑ์ลาว (คืออีสานทุกวันนี้) เมืองเวียงจัน ่ตลอดจนหัวเมืองลาวริมแม่น้ำโขงฟากตะวันตก  เข้ามาขุดรากก่อกำแพงพระนคร  และสร้างป้อมเป็นระยะ ๆ  รอบพระนคร
        ลาวที่ถูกเกณฑ์ทั้งหมดนี้ ไม่ได้กลับถิ่นเดิม  เพราะการสร้างบ้านแปลงเมือง ไม่ได้เสร็จในคราวเดียว  หากทำต่อเนื่องหลายรัชกาล  พวกที่เกณฑ์มา จึงตั้งหลักแหล่งกระจายทั่วไปตามแต่นายงานจะสั่งให้อยู่ตรงไหน  ทำงานที่ไหน  ที่สุดแล้วก็สืบโคตรตระกูลลูกหลาน ตั้งหลักแหล่งถาวรอยู่ในบางกอก กลายเป็นคนกรุงเทพฯ
ในเอกสารเก่าบอกว่า พระนครเมื่อแรกสร้าง มีกำแพงพระนคร และคูพระนครยาว 175 เส้นเศษ (7 กิโลเมตรเศษ) มีเนื้อที่ในกำแพงพระนคร  2,163  ไร่  กำแพงสูงประมาณ 7 ศอก (3.60 เมตร) หนาประมาณ 5 ศอก (2.70 เมตร)  มีประตู  63  ประตู  เป็นประตูใหญ่  กว้างประมาณ  8  ศอก (4.20 เมตร) สูงประมาณ  5  ศอก (2.70  เมตร)  สูงประมาณ  4  ศอกคืบ (2.40  เมตร)  47  ประตู มีป้อม  14  ป้อม  มีนามดังนี้  
                               
1.   ป้อมพระสุเมรุ  อยู่หัวกำแพงเมืองด้านเหนือ  เป็นป้อมใหญ่  มีหอรบสูง  เลียนแบบป้อมเพชร ที่พระนครศรีอยุธยา
2.   ป้อมยุคนธร  อยู่หน้าวัดบวรนิเวศ
3.   ป้อมมหาปราบ  อยู่ระหว่างสะพานผ่านฟ้าลีลาศ กับสะพานเฉลิมวันชาติ
4.   ป้อมมหากาฬ  อยู่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ  หน้าวัดราชนัดดาราม
5.   ป้อมหมูหลวง  อยู่หน้าลหุโทษเดิม  ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะ
6.   ป้อมเสือทยาน  อยู่ระหว่างป้อมหมูหลวง กับสะพานดำรงสถิตย์ (สะพานเหล็ก) หรือสะพานเหล็กบน ที่ถนนเจริญกรุง
7.   ป้อมมหาไชย  อยู่หน้าวังบูรพาภิรมย์
8.   ป้อมจักรเพชร  อยู่หัวมุมกำแพงเมืองด้านใต้
9.   ป้อมผีเสื้อ  อยู่บริเวณปากคลองตลาด หัวมุมปากคลองคูเมืองเดิม
10. ป้อมมหาฤกษ์  อยู่ตรงโรงเรียนราชินีล่าง ทับรากฐานเดิมของป้อมวิชเยนทร์ สมัยอยุธยา ซึ่งเป็นป้อมป้องกันปากน้ำเมืองบางกอก สมัยกรุงศรีอยุธยา  ตามยุทธวิธีแบบฝรั่งเศส
11. ป้อมมหายักษ์  อยู่ตรงตลดท่าเตียน  เยื้องหน้าวัดโพธิ์  ไม่ถึงหน้าวิหารพระนอน
12. ป้อมพระจันทร์  อยู่บริเวณท่าพระจันทร์ เป็นป้อมมุมวังหน้า  ด้านทิศใต้
13. ป้อมพระอาทิตย์  อยู่ปากคลองท่าช้างวังหน้า  บริเวณที่เป็นรากฐาน สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งพระนคร  ใช้เป็นป้อมมุมวังหน้าด้านทิศเหนือ
14. ป้อมอิสินธร  อยู่ระหว่างป้อมพระอาทิตย์กับป้อมพระสุเมรุ
ถ้านับป้อมรอบวังหลวงโดยเฉพาะป้อมด้านแม่น้ำ  คือ ป้อมพิศาลสีมาตรงมุมวัง ตรงข้ามวิหารพระนอนวัดพระเชตุพน  ป้อมมหาสัตตโลหะ กับป้อมอินทรรังสรรค์ ตรงท่าช้างวังหลวง  ป้อมรอบพระนคร จะมีทั้งหมดรวม 17 ป้อม

 
ป้อมพระสุเมรุ
ป้อมพระสุเมรุ
 
ป้อมมหากาฬ
ป้อมมหากาฬ
 
ป้อมมหาไชย
ป้อมมหาไชย ใกล้ ๆ สะพานหัน หน้าวังบูรพาภิรมย์ (ปัจจุบันรื้อแล้ว - สังเกตมีรางรถรางปรากฏอยู่)
 
ป้อมจักรเพชร
ป้อมจักรเพชร
ปัจจุบันคือบริเวณเชิงสะพานพระปกเกล้า (รื้อแล้ว)



     ทุกวันนี้เหลือซากอยู่  2  ป้อม  คือ ป้อมพระสุเมรุ กับป้อมมหากาฬ
นอกจากนั้น ยังมีประตูเข้าออกอยู่ระหว่างป้อม เช่น ประตูสามยอด  เป็นประตูใหญ่มีสามยอด  กับประตูเล็ก เรียกประตูช่องกุดเป็นระยะ ๆ  แล้ว ยังมีประตูผีเป็นช่องขนศพ จากในเมืองไปเผานอกเมืองด้วย
      กำแพงพระนครด้านแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นวังหลวงกับวังหน้า จะใช้กำแพงวังเป็นกำแพงป้องกันพระนคร เช่นเดียวกับพระนครศรีอยุธยา
ในเวลาเมื่อทำการสร้างกำแพงพระนครนั้น  พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์จดว่า จะสร้างสะพานช้างข้ามคลองรอบกรุง แต่พระผู้ใหญ่สมัยนั้น ถวายพระพรทักท้วง เลยให้งดไว้ไม่สร้าง ดังนี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  กับสมเด็จพระอนุชาธิราช  กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จพระราชดำเนิน ตรวจการก่อสร้าง  ทรงพระราชดำริ จะให้สร้างสะพานข้ามคลอง รอบกรุง ที่ใต้ปากคลองมหานาค
จึงพระพิมลธรรม  วัดโพธาราม  ไปถวายพระพรว่า  ซึ่งจะทรงสร้างสะพานช้างข้ามคูพระนครนั้น อย่างธรรมเนียมแต่โบราณมาไม่เคยมี  แม้มีการสงครามถึงพระนคร ข้าศึกก็จะข้ามมาถึงชานพระนครได้โดยง่าย  อีกประการหนึ่ง แม้นจะแห่กระบวนเรือรอบพระนคร สะพานนั้น ก็จะเป็นที่ขัดขวางอยู่
        ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย  จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้งดสร้างสะพานช้างเสีย  เป็นแต่ให้ทำท่าช้าง สำหรับช้างข้ามคลองรอบกรุง

ประวัติการสร้างถนนในพระนคร

ความจริง  เมืองไทยได้มีถนนมาช้านานแล้ว  ตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น ในสมัยสุโขทัย  คือ เมื่อประมาณหกร้อยกว่าปีมานี้ ก็ได้มีถนนพระร่วง  ใช้เป็นทางคมนาคม  ระหว่างกรุงสุโขทัย กับ เมืองกำแพงเพชรสายหนึ่ง และระหว่างกรุงสุโขทัย กับเมืองศรีสัชนาลัย  อีกสายหนึ่ง  ดังที่ปราฏซากเหลือให้เห็นเป็นบางตอนในปัจจุบัน

สำหรับถนนในกรุงสุโขทัย  ก็คงจะมีหลายสายเช่นเดียวกัน และในสมัยอยุธยา ก็ได้ความว่าในกรุงศรีอยุธยา มีถนนอยู่หลายสายเหมือนกัน ดังมีหลักฐานปรากฏว่า นายแพทย์ เองเกลเบิร์ก  แคมป์เฟอร์ ชาวเยอรมัน ที่เข้ามาเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. 2233 ในรัชสมัย สมเด็จพระเพทราชา บันทึกสภาพกรุงศรีอยุธยา มีความตอนหนึ่งว่า 

     "...ถนนสายกลาง ซึ่งแล่นเหนือขึ้นไปยังพระราชวังนั้น มีผู้คนอยู่อย่างคับคั่งที่สุด แน่นขนัดไปด้วยร้านค้า ร้านช่างศิลปะและหัตถกรรมต่าง ๆ..."

       ส่วนในสมัยของรัตนโกสินทร์ตอนแรก ๆ  คือ ตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างพระนคร จนกระทั่งถึงรัชกาล  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ปรากฏว่า มีถนนในพระนครอยู่หลายสายเหมือนกัน แต่ถนนส่วนใหญ่ เป็นถนนดิน แคบและสั้น  เมื่อถึงฤดูแล้ง ก็เป็นฝุ่น  พอถึงฤดูฝน ก็เฉอะแฉะเป็นโคลนตม ถึงแม้ว่าบางถนน จะใช้อิฐเรียงตะแคง แต่ก็เอาทราย และดินถมเป็นหน้าถนน  ถนนดังกล่าว จึงมีสภาพไม่ต่างกับถนนดินเท่าใดนัก

       ครั้นถึงในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเห็นว่า ถนนหนทางในพระนคร ชำรุดทรุดโทรมมาก พระองค์จึงได้ทรงประกาศแผ่พระราชกุศล ซ่อมแซมถนนเป็นการใหญ่ ตามหมายประกาศ   ดังนี้
ด้วย เจ้าพญายมราชชาติเสนางคนรินทรมหินทราธิบดี รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สั่งว่า  บัดนี้ถนนในพระนคร ชำรุดซุดโซม  ยับย่อยไปมาก สมณชีพราหมณ์ อนาประชาราษฎร เดินไปเดินมาลำบาก จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เจ้าพญายมราชเปนแม่กอง ทำถนนที่ชำรุดลุ่มซุดไปนั้น ทำเสียใหม่ให้เปนปรกติ เปนหลายแห่ง แล้วทรงพระราชดำริห์ว่า การก่อถนนนี้ เปนสาธารณกุศล เปนประโยชน์แก่คนทั่วไป ใคร ๆ ก็จะได้เดินไปมาสบาย   สดวกกันทุก ๆ  คน ควรที่ท่านทั้งปวง จะยินดีทำด้วยกัน เพราะฉะนั้น จึงโปรดเกล้าโปรดกะรหม่อม ให้ประกาษบอกแผ่การพระราชกุศล ต่อพระบรมวงษาณุวงษ์ ข้าราชการผู้ใหญู่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือน ค่างน่าค่างใน ในพระบรมมหาราชวัง ที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด ในจำนวนปีมเสง  นพศกนี้ ให้ได้ส่วนพระราชกุศลด้วยกัน ตามได้ตามมีตามศรัทธาอุสาห
     คือขอให้เอาอิดดีบ้าง อิดหักบ้าง มากแลน้อยตามแต่จะยินดี ช่วยมากแลน้อย ไม่ว่าไม่เกน จงมาเภิ่มในการพระราชกุศลทุก ๆ  คนเทิญ
     เมื่อจะเอาอิดดี ฤๅอิดหักมาส่งนั้น ให้มาส่งกับเจ้าพญายมราช แม่กองแต่ในเดือนอ้ายเดือนยี่ ปีมเส็ง นพสก โปรดให้จดหมายรายวัน ตามผู้ใดมีสัทธา ได้เอาอิดมาส่งมากแลน้อย ให้มหาดเล้กรายงานกราบทูลพระกรุณาทรงทราบ จะทรงอนุโมทนาด้วยท่านทุก ๆ  คน ตามรับสั่ง
     ตีพิมพ์ประกาษ การพระราชกุสล  ณ วันพุทธ เดือนสิบสอง แรมสามค่ำ ปีมเสง นพศก"
        นี่คือ การริเริ่มการบูรณะถนนหนทางเป็นครั้งแรก ในรัชกาลที่ เมื่อตอนต้น ๆ รัชกาล แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ได้ซ่อมแซมถนนอะไรบ้าง
        อย่างไรก็ตาม พอจะสันนิษฐานได้ว่า ถนนที่ซ่อมแซมดังกล่าว คงจะเป็นถนนรอบ ๆ พระบรมมหาราชวังนั่นเอง เพราะเมื่อสมัยต้นรัชกาลที่ มีถนนสำคัญ  เพียงรอบ ๆ  พระบรมมหาราชวังเท่านั้น
        เนื่องจาก การคมนาคมในสมัยนั้น ยังคงใช้ทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้ ความจำเป็นจะสร้างถนนจึงไม่มี  ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ก่อนหน้านั้นขึ้นไป จะไม่มีการสร้างถนนเลย  มีแต่การให้ขุดคลอง แม้ในรัชกาลต่อมา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน แม่น้ำลำคลอง ก็ยังมีบทบาทสำคัญในการคมนาคมอยู่
        ครั้นถึง พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดฯ ให้ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เป็นแม่กองขุดคลอง จากคลองผดุงกรุงเกษม ผ่านทุ่งวัวลำพอง (หัวลำโพง) ตรงออกไปบรรจบกับคลองพระโขนง ที่คลองเตย โดยให้ขุดเอาดินถม ทำเป็นถนนริมฝั่งคลอง  ทางข้างเหนือด้วย รวมเสียค่าจ้างทั้งขุดคลองและทำถนน เป็นเงิน 16,633 บาท เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์โปรดให้เรียกคลองนี้ว่า คลองถนนตรง ด้วย
        เหตุนี้ ถนนดังกล่าว จึงเรียกว่า ถนนตรง ตามชื่อคลองไปด้วย แต่ส่วนใหญ่พากันเรียกว่า ถนนวัวลำพองตามชื่อทุ่ง
        ครั้งเมื่อเปลี่ยนเป็นเรียกหัวลำโพง ถนนก็เรียกว่า ถนนหัวลำโพง   ภายหลัง จึงได้เปลี่ยนชื่อ เป็นถนนพระราม ดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้
        ส่วนสาเหตุที่จะขุดคลองทำถนนตรงนั้น ก็เนื่องมาจากพวกฝรั่ง ที่เข้ามาตั้งห้างร้าน ค้าขายอยู่ตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา ข้าใต้พระนคร คือแถวสี่พระยา บางรัก สาธร วัดพญาไกรในปัจจุบัน ได้ทำเรื่องราว เข้ายื่นต่อกรมท่าว่า พวกพ่อค้าต่างประเทศที่ตั้งห้างร้านค้าขายอยู่นั้น ได้รับความลำบาก และเสียเวลาในการเดินเรือ ค้าขายกับพระนคร จึงคิดจะพากันไปตั้งห้างร้านค้าขาย อยู่ที่ใต้ปากคลองพระโขนง ตลอดลงไปจนถึงบางนา จึงขอให้ทางการช่วยสงเคราะห์ ขุดคลอง ทำถนนให้เป็นทางลัด เพื่อจะได้ไปมาค้าขายกับพระนคร ได้สะดวก แต่ครั้นเมื่อโปรดฯ ให้ขุดคลองถนนตรงแล้ว พวกพ่อค้าต่างประเทศดังกล่าว ก็หาได้ย้ายลงไปตั้งห้างร้าน ตามสถานที่ดังกล่าวไม่ ทั้งนี้ จะเป็นเพราะเหตุใดก็ไม่ทราบ    
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2404  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์  ที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กองกับ พระอินทราธิบดี สีหราชรองเมือง เป็นนายงานตัดถนน ตั้งแต่คลองคูพระนครชั้นใน (คือคลองโอ่งอ่าง ในปัจจุบัน) ที่ริมวังเจ้าเขมร ตรงลงไปต่อกับถนนตรง หรือถนนหัวลำโพง ที่คลองผดุงกรุงเกษม สายหนึ่ง และตัดถนนแยกจากถนนใหม่ ตรงเหนือวัดสามจีน (วัดไตรมิตรฯ) ตรงลงไปหลังบ้านฝรั่ง  จนตกฝั่งแม่น้ำที่ตำบลดาวคนอง อีกสายหนึ่ง ถนนนั้น ก็คือถนนเจริญกรุง หรือถนนตก  แต่เมื่อสร้างเสร็จใหม่ ๆ  ราษฎรพากันเรียกว่า ถนนใหม่ ส่วนฝรั่งก็เรียกตามไทยว่า "นิวโรด" ซึ่งแปลว่า ถนนใหม่เช่นกัน

ถนนเจริญกรุงในอดีต
ถนนเจริญกรุงหรือนิวโรด ตัดเมื่อปี พ.ศ. 2404
        เรื่องการสร้างถนนเจริญกรุงนั้น ก็มีสาเหตุจากพวกฝรั่งอีกเช่นกัน คือกงสุลต่างประเทศ ได้เข้าชื่อทำเรื่องถวายว่า
     "ชาวยุโรปเคยขี่รถ ขี่ม้า เที่ยวตากอากาศได้ตามสาบาย ไม่มีเจ็บไข้ เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพพระมหานคร ไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถขี่ม้า พากันเจ็บไข้เนือง ๆ ได้ทรงทราบหนังสือแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นว่า พวกยุโรป ได้เข้ามาอยู่ในกรุงมากขึ้น ทุกปี ๆ  ด้วยประเทศบ้านเมืองเขา มีถนนหนทางก็เรียบรื่นสะอาดไปทุกบ้านทุกเมือง บ้างเมืองของเรามีแต่รกเรี้ยว หนทางก็เป็นตรอกเล็กซอยน้อย หนทางใหญ่ ก็เปรอะเปื้อน ไม่เป็นที่เจริญตา ขายหน้าแก่ชาวนานาประเทศเขาว่า เข้ามาเป็นการเตือนสติ เพื่อจะให้บ้านเมืองงดงามขึ้น"
        ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงโปรดฯ ให้สร้างถนนเจริญกรุง ตอนนอกกำแพงเมืองขึ้น เพื่อจะให้พวกฝรั่งได้มีถนนสำหรับขีม้าเที่ยวเล่น ตามที่ได้กราบทูลร้องทุกข์ไว้
มีเรื่องว่าเมื่อกะแผนผังจะตัดถนนเจริญกรุงนั้น เดิมได้ขีดเส้นสร้างถนน จากสามแยก ตรงลงมาที่ประตูเมือง (ประตูสามยอด) แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทักท้วงว่า ผิดหลักยุทธศาสตร์ เพราะถ้าข้าศึกเอาปืนใหญ่ตั้งยิงในถนน ก็สามารถจะทำลายประตูเมืองได้อย่างง่ายดายดังนั้น จึงโปรดให้สร้างถนนเลี้ยว ตรงเชิงสะพานเหล็ก (ดำรงสถิตย์)
        อนึ่ง พร้อมกับการสร้างถนนเจริญกรุง ก็โปรดฯ ให้ขุดคลองขวาง ตั้งแต่บางรัก ไปจนถึงถนนตรง (ถนนวัวลำพอง) ตรงศาลาแดง ด้วยการขุดคลองขวางนี้ ก็ทำเช่นเดียวกับการขุดคลองถนนตรง คือ ขุดเอาดินมาถมทำถนน โดยการทิ้งดินทางฝั่งใต้ของคลองถนนนี้ ภายหลังฝรั่งได้มาทำการตั้งโรงสีลม จึงได้ชื่อว่า ถนนสีลม มาตั้งแต่นั้น    
ถนนทั้ง 3 สาย ดังกล่าว สร้างมีขนาดเท่ากัน คือ กว้าง 5 วา 2 ศอก ถมดินสูง 2 ศอกคืบ เป็นระยะทางรวมกันทั้งสิ้น 281 เส้น 5 วา สิ้นค่าก่อสร้างทั้งหมด เป็นเงิน 28,038 บาท ส่วนค่าขุดคลองถนนสีลม เป็นเงิน 8,194 บาท
        ส่วนถนนในกรุงที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง ต่อมาก็ได้แก่ ถนนเจริญกรุง ตอนใน ถนนบำรุงเมือง และถนนเฟื่องนคร
        การสร้างถนนเจริญกรุง ตอนในนั้น โปรดให้ เจ้าพระยายมราช (ครุฑ) เป็นแม่กอง พระพรหมบุรีรักษ์ เป็นนายงาน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2405 ขยายทางเดิมบ้าง ตัดใหม่บ้าง ทำเป็นถนนกว้าง 4 วา เป็นระยะทาง 25 เส้น 10 วา 3 ศอก เริ่มตั้งแต่หน้าวัดพระเชตุพน ไปออกประตูสะพานเหล็ก ต่อกับถนนเจริญกรุง ตอนนอกกำแพงเมือง สิ้นค่าก่อสร้างถมดินทำถนน และทำท่อน้ำ 2 ข้างถนน เป็นเงิน 19,700 บาท และโปรดฯ ให้สร้างตึกแถวขึ้น 2 ฟากถนน พระราชทานพระราชโอรสธิดา สำหรับตึกแถวที่สร้างเป็นตึกชั้นเดียว ว่าถ่ายแบบมาจากสิงคโปร์
        ส่วนการสร้างถนนบำรุงเมือง และถนนเฟื่องนคร โปรดให้ พระพรหมบริรักษ์ เป็นนายงาน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2406 คือถนนบำรุงเมือง ขยายทางตั้งแต่สนามไชย ผ่านเสาชิงช้า ไปจนถึงประตูสำราญราษฎร์ (ประตูผี) เป็นระยะทาง 29 เส้น 14 วา 3 ศอก สิ้นเงินค่าก่อสร้างพูนดิน ถมถนน และก่ออิฐเป็นคัน รวมทั้งทำ่ท่อน้ำ 2 ข้างถนน เป็น 15,092 บาท สำหรับถนนเฟื่องนครขยายทาง ตั้งแต่กำแพงพระนครทางด้านทิศใต้ ที่มุมวัง กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ เป็นถนนขวาง ผ่านบ้านหม้อ ผ่านถนนเจริญกรุง ผ่านถนนบำรุงเมือง ไปจดกำแพงพระนครทางด้านทิศเหนือ ตรงวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นระยะทางยาว 50 เส้น สิ้นค่าก่อสร้าง ถมที่ทำถนน เป็นเงินทั้งสิ้น 20,042 บาท แล้วโปรดฯ ให้สร้างตึกแถว ทรงพระราชอุทิศให้เป็นสมบัติของวัดบวรนิเวศหนึ่งแถว ของวัดราชประดิษฐ์หนึ่งแถว
        ส่วนเงินที่เอามาสร้างถนน ดังกล่าว ปรากฏว่า เป็นเงินพระคลังข้างที่ส่วนหนึ่ง กับเงินปี้จีน ซึ่งชาวจีนต้องเสีย เป็นภาษีอีกส่วนหนึ่ง ตามรายละเอียด "ประกาศเงินปี้จีน ปีชวดทำถนน" ดังนี้
        "มีพระบรมราชโองการ ให้ประกาศแก่จีนทั้งปวง ซึ่งต้องเสียเงินผูกปี้ เข้ามาช่วยราชการแผ่นดินทั้งปวงให้ทราบว่า เงินผู้กปี้รายระกา ตรีศกนั้นได้จ่ายทำถนนเจริญกรุง แลถนนหลวงใหญ่ ตลอดลงไปสำเพ็ง และคอกกระบือ แลออกไปกลางทุ่งทางคลองตรง เป็นทางขึ้นได้แล้ว ยังแต่จะต้องจัดซื้อซายกรวดเพิ่มเติมให้ทางแขงดีขึ้น ยังจะแก้ไขต่อไปอยู่ แต่ถนนบำรุงเมืองนั้น ทรงพระราชศรัทธา บริจาคพระราชทรัพย์ แต่พระคลังในที่ จ้างจีนทำแลซื้อศิลายาวกระหนาบสองข้างถนน แลได้ซื้อซายถม แลจะเพิ่มเติมต่อไป ถนนบำรุงเมืองนี้ ไม่ได้ใช้เงินปี้จีนเลย ใช้เงินในพระราชทรัพย์พระคลังทั้งสิ้น
        เงินปี้จีนปีชวด ฉอศกนี้ ได้โปรดให้จ่ายจ้างจีนทำถนนขวาง ตั้งแต่วัดบวรนิเวศวิหารลงมาจนริมวัง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ การได้เริ่มขึ้นบ้างแล้ว ถ้าทางนี้เสร็จแล้ว จะโปรดให้จ่ายสร้างถนนลงไปแต่หอกลอง แลศาลเจ้าพระกาลไชย์ศรี พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง ลงไปจนตะพานหัน แล้วจะทำถนนสำเพ็ง ลงไปจนถึงวัดสัมพันธวงษาราม แลวัดประทุมคงคา แลแวะออกประจวบทางใหญ่เจริญกรุงในทางที่ควร การทั้งปวงจะใช้ด้วยเงินผูกปี้ ในปีชวด ฉอศกนี้ ให้จีนทั้งปวงบันดาซึ่งได้เสียเงินผูกปี้ เข้ามาในหลวงทั้งปวง จงยินดีว่า ได้เรี่ยไรกันสร้างหนทางเจริญกรุงแลหนทางถนนสำเพ็งขึ้น เปนประโยชน์แก่คนทั้งปวงนั้นเถิด อย่าคิดเสียใจว่า ต้องเสียเงินเข้ามาในหลวงเปล่า ๆ เลย ให้คิดว่า ได้เรี่ยไรกันสร้างถนนใหญ่ แล้วจะสร้างขึ้นทำนุบำรุงบ้านเมือง ซึ่งเป็นที่อยู่ด้วยกัน จีนต้องเสียเงิน เมื่อปีระกา ตรีศก แลปีชวด ฉอศก นี้ คนละสี่บาท ฤๅสองคราว รวมเปนคนละแปดบาท สร้างถนนใหญ่ ในหลวง ก็ได้เสียพระราชทัรพย์ ของพระคลังข้างที่ สร้างถนนบำรุงเมืองขึ้น เหมือนเข้าเรี่ยไรกับจีนฉันนั้น ให้จีนทั้งปวงชื่นชมยินดีเถิด"
        การสร้างถนนทั้งหมด ได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2407 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯ ให้มีการฉลองที่หน้าพระที่นั่งไชยชุมพล ถึง 3 วัน พร้อมทั้งพระราชทานนามถนนใหญ่ ทังตอนในพระนคร และตอนนอกพระนครว่า "ถนนเจริญกรุง" ถนนที่ผ่านเสาชิงช้า พระราชทานนามว่า "ถนนบำรุงเมือง" (ทราบว่าถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนกัลยาณไมตรี ไปเสียแล้ว) และถนนขวาง พระราชทานนามว่า "ถนนเฟื่องนคร"
นี่คือเมื่อแรกมีถนนในกรุงเทพฯ
        ครั้นถึงรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว กรุงเทพฯ ก็ได้มีถนนมากขึ้นเป็นลำดับ
        แต่ถนนเหล่านั้น สร้างขึ้นในสมัย เมื่อใช้การขี่ม้า และรถม้าเป็นพาหนะ ดังนั้น ถนนส่วนใหญ่ จึงสร้างไม่มั่นคงและแข็งแรงเหมือนอย่างเดี๋ยวนี้
        เมื่อมีรถยนต์เข้ามาวิ่ง ในกรุงเทพฯ เมื่อปลายรัชกาลที่ 5 ถนนหนทางจึงได้ทำมั่นคงแข็งแรงขึ้น และปลายรัชกาลนี้เอง ที่ได้มีถนนลาดยางมะตอยเกิดขึ้น
        ปัจจุบัน การสร้างถนน รัฐบาลทุกรัฐบาล ถือเป็นเรื่องสำคัญรีบด่วน เพราะการพัฒนาประเทศนั้น ถนนเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง

การขุดคูคลองในพระนคร

ในอดีต  กรุงเทพฯ ได้ชื่อว่า เป็นเวนิสตะวันออก (เหมือนกรุงศรีอยุธยา) เพราะไม่ว่าจะไปทางไหน ล้วนแต่เต็มไปด้วยแม่น้ำลำคลอง  ซึ่งใช้เป็นทางสัญจรไปมา  ที่คราคร่ำไปด้วยเรือแพนานาชนิด แล่นกันขวักไขว่ในท้องน้ำ เช่นเดียวกับเมืองเวนิสในประเทศอิตาลี

        เมื่อ  100  กว่าปีมาแล้ว  คนกรุงเทพฯ ไปไหน ต้องใช้เรือเป็นพาหนะทั้งสิ้น  เพราะสมัยนั้น กรุงเทพฯ ไม่มีถนน มีแต่คลอง  จึงพูดได้ว่า  คืบก็คลอง ศอกก็คลอง เช่นเดียวกับชาวทะเล ที่ว่า คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล

แต่ปัจจุบัน  สภาพดังกล่าวได้หมดไปแล้ว  เพราะถนนและรถยนต์ ได้เข้ามามีบทบาทแทนคลอง ซึ่งให้ความสะดวก และรวดเร็วกว่าหลายเท่า (แต่ปัจจุบันนี้ พ.ศ. 2552 เรือมีความสำคัญกว่า  เนื่องจากรถมาก  ทำให้ติด  จึงไปได้ช้ากว่าเรือ  คนจึงหันมานิยมใช้เรือกันมากกว่า  กรุงเทพฯ จึงมีนโยบาย จะทำคลองให้เป็นทางสัญจรเหมือนในอดีต เพื่อทำให้น้ำไม่สกปรก  และทุ่นเวลารถติดได้เยอะ) ดังนั้น กรุงเทพฯ จึงไม่ใช่เวนิสแห่งตะวันออกอีกต่อไปแล้ว
        อย่างไรก็ดี  กรุงเทพฯ  ก็ยังคงมีเค้าของเวนิสแห่งตะวันออกอยู่บ้าง  แต่ก็เลือนลางเต็มที  เนื่องจากคลองส่วนใหญ่ ถูกถมขยายถนน และคลองที่มีอยู่ก็นับวันจะหมดไปตามความเจริญของกรุงเทพฯ
        สำหรับคลองที่สำคัญในกรุงเทพฯ ที่ยังคงเหลืออยู่ในเวลานี้  ก็มีคลองหลอด คลองบางลำพู  คลองโอ่งอ่าง  คลองผดุงกรุงเกษม  คลองมหานาค  คลองแสนแสบ  คลองเปรมประชากร  คลองสามเสน  คลองพระโขนง  เป็นต้น

คลองหลอด
คลองหลอด มีสะพานหก ตรงบริเวณหน้าเจ้าพ่อหอกลอง
คลองหลอด
เดิมนั้น เป็นคลองคูเมือง ในสมัยกรุงธนบุรี (กรุงธนบุรี ได้เอาแม่น้ำเจ้าพระยาไว้กลางเมือง เช่นเดียวกันกับเมืองพิษณุโลก  จึงมีทั้ฟากตะวันออก และตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา)
     ครั้นเมื่อ พระยาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างกรุงเทพฯ  เมื่อ พ.ศ. 2326 (จุลศักราช 1145) โปรดฯ ให้รื้อกำแพงเมืองธนบุรี ฟากตะวันออก ริมคลองหลอดเสีย เพื่อขยายพระนครให้กว้างออกไปอีก
        ความจริง แต่เดิมคลองนี้ ไม่ได้เรียกว่า คลองหลอด ทางด้านใต้ ชาวบ้านเรียกว่า คลองตลาด เพราที่ีปากคลอง มีตลาดใหญ่ ทั้งทางบกทางน้ำตั้งอยู่ (คือปากคลองตลาดในปัจจุบัน) ทางด้านเหนือเรียกว่าคลองโรงไหม เพราะมีโรงไหมของหลวงตั้งอยู่ (คือท่าช้างวังหน้า  ซึ่งปัจจุบัน สร้างเป็นสะพานพระปิ่นเกล้า)
        ส่วนคลองหลอดจริง ๆ  ก็คือคลองที่โปรดให้ขุด 2 คลองจากคลองคูเมืองเดิม ออกไปบรรจบกัลคลองรอบกรุง (คลองโอ่งอ่าง) คือขุดคลองหลอด  ที่ข้างวัดบูรณศิริอมาตยาราม (คือวัดบูรณศิริมากันตยาราม) คลองหนึ่ง กับขุดคลองหลอดที่ข้างวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมารามคลองหนึ่ง
        คำว่า คลองหลอด นั้น หมายความว่า เป็นคลองขนาดเล็ก ที่ขุดตรงไปทะลุออกคลองใหญ่ แต่ตามชนบท เวลานี้ถึงจะเป็นคลองที่ขุดคดเคี้ยวไม่ตรง  ชาวนาก็เรียกว่า "คลองหลอด" หรือ "ลำหลอด"  หรือ  "หลอด"  เหมือนกัน
        ปัจจุบัน คลองนี้เรือเข้าออกทางปากคลองตลาดได้เพียงด้านเดียว (ปัจจุบันจริง ๆ  แล้ว  ได้สร้างเขื่อนกั้นไว้หน้าโรงพักพระราชวัง  เรือจึงเข้าไม่ได้ เข้าได้เฉพาะเรือเล็ก ๆ  ทำความสะอาดคลอง) เพราะปากคลองทางด้านทิศเหนือ ได้สร้างสะพานพระปิ่นเกล้า คร่อมปากคลองไว้  ดังได้กล่าวไว้ในตอนแรก  เรือที่วิ่งเข้าออกดังกล่าว ก็มีเฉพาะเรือหางยาวบรรทุกต้นไม้ และผลไม้
คลองบางลำพู หรือ คลองโอ่งอ่าง และคลองมหานาค
คลองทั้งสองนี้  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ขุด คราวสร้างพระนคร เมื่อ พ.ศ. 2326  คลองบางลำพู  กับคลองโอ่งอ่างความจริงเป็นคลองเดียวกัน  คือ  เป็นคลองคูพระนคร ทางด้านนะวันออก  ซึ่งโปรดฯ ให้เกณฑ์เขมรจำนวนหนึ่งหมื่นคน ทำการขุด  โดยขุดทะลุแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบางลำพู มาออกแม่น้ำเจ้าพระยาข้างวัดตีนเลน หรือวัดเชิงเลน(ปัจจุบัน คือ วัดบพิตรพิมุข) ยาว 45 เส้น 13 วา กว้าง 10 วา ลึก 5 ศอก  พระราชทานนามว่า "คลองรอบกรุง"
        ในการขุดคลองคูพระนครดังกล่าวนี้ โปรดให้ขุดคลองหลอด กับคลองที่อยู่เหนือวัดสะแก (วัดสระเกษ) อีกคลองหนึ่ง  เมื่อเสร็จแล้ว  พระราชทานนามว่า "คลองมหานาค" (เนื่องจาก พระมหานาค เป็นแม่กองดำเนินการขุด) และพระราชทานนามวัดสะแก ว่า "วัดสระเกษ" (ปัจจุบัน เขียน วัดสระเกศ)

คลองมหานาค
คลองมหานาค ในภาพเป็นบริเวณตลาดมหานาคใกล้วัดบรมนิวาส
       การที่พระองค์ โปรดให้ขุดคลองมหานาคขึ้น ก็เพื่อจะให้ประชาชนชาวพระนคร ได้ไปลงเรือเล่นเพลงและสักวา ในเวลาหน้าน้ำเหมือนเาื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา  แต่ในเวลานั้น ยังไม่มีภูเขาทอง  เหมือนที่กรุงศรีอยุธยา  ดังนั้น ต่อมา ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงโปรดให้สร้างภูเขาทองขึ้นที่วัดสระเกศ

คลองผดุงกรุงเกษม
เป็นคลองคูพระนครอยู่ชั้นนอก  ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว โปรดให้ขุด เพื่อขยายพระนครให้กว้างออกไปกว่าเดิม
        คลองนี้  ว่าที่สมุหพระกลาโหม  เป็นแม่กอง  เจ้าหมื่นหววรนารถ เป็นกงสี  จ้างจีนทำการขุด  ทางเหนือทะลุแม่น้ำเจ้าพระยา ข้างวัดเทวราชกุญชร  ทางใต้ทะลุแม่น้ำเจ้าพระยา ข้างวัดแ้ก้วฟ้า  โดยลงมือขุด เมื่อวันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม  พ.ศ. 2394 (เดือน 12 ขึ้น 1 ค่ำ ปีกุน ตรีศก) ยาว 137 เส้น กว้าง 10 วา ลึก 6 ศอก  ขุดเสร็จ เมื่อวันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2395 (เดือน 9 แรม 14 ค่ำ) รวมเวลาขุด 10 เดือน ราคาขุด เส้นละ 4 ชั่ง 10 ตำลึง คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 391 ชั่ง 10 ตำลึง 1 บาท 1 เฟื้อง  ทั้งนี้รวมทั้งค่าขุดตอไม้ ตลอดทั้งคลองด้วย เมื่อขุดเสร็จแล้ว ได้ประมาณ 4-5 ปี  จึงโปรดฯ ให้มีการฉลองคลอง  เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2379 (เดือน 1 ขึ้น 14 ค่ำ) โดยทรงขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ให้ปลูกศาลา และโรงตามแถวริมคลอง ฟากละ 50 หลัง ตลอดทั้งคลองรวม 5 ฟาก เป็นศาลา และโรง 100 หลัง แล้วให้เผดีงพระสงฆ์ 500 รูป เจริญพระปริตรหลังละ 5 รูป และมีการละเล่นต่าง ๆ  พอวันรุ่งขึ้น ถวายอาหารบิณฑบาต และถวายไทยทาน ส่วนราษฎร ทำบุญตามศรัทธา พอตกกลางคืนวันอังคาร ให้ชาวบ้านที่อยู่ริมคลอง จุดโคมไฟให้สว่างไสวทั้ง 2 ฟากคลอง ปรากฏว่า มีเจ้านายข้าราชการ และราษฎรลงเรือพากันมาเที่ยวเล่นเป็นจำนวนมาก
        คลองผดุงกรุงเกษม  ขุดผ่านคอลงมหานาคที่สี่แยกมหานาค ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นย่านการค้าทางเรือที่สำคัญตลอดมา  จนกระุทั่งปัจจุบัน  และขุดผ่่านทุ่งวัวลำพอง (บริเวณหัวลำโพง) ซึ่งสมัยนั้นเป็นทุ่งนา และทุ่งหญ้าเลี้ยงวัว  หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คลองนี้ได้รับการขุดลอกและทำเขื่อน ตลอดทั้งสองฟากคลอง พร้อมกับปลูกต้นไม้เป็นที่ร่มรื่น  แม้แต่เมืองเวนิสก็ต้องอาย เพราะของเรามีทั้งคลอง ทั้งถนนขนาน 2 ฟากคลอง  ที่สามารถให้เรือ และรถจอดเทียบกันได้ ส่วนเมืองเวนิส มีแต่คลองอย่างเดียว ไม่มีถนนขยานกับคลองเหมือนเมืองไทย
คลองเปรมประชากร
        เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ขุดเป็นคลองแรก ในรัชกาลของพระองค์  โดยโปรดฯ ให้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ (ช่วง  บุนนาค) เป็นผู้อำนวยการ  เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์  ที่สมุหพระกลาโหม เป็นแม่กอง  พระชลธารวินิจฉัย เป็นผู้ปักหมายกรุย  และจ้างจีนขุด เมื่อ พ.ศ. 2412 (จุลศักราช 1231) เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2413 (จุลศักราช 1232) รวมประมาณ 18 เดือน เป็นเงินประมาณ 1,000 ชั่งเศษ
        คลองนี้ ตั้งต้นที่คลองผดุงกรุงเกษม ตรงหน้าวัดโสมนัสวิหาร ส่วนปลายคลอง ไปทะลุที่ตำบลเกาะใหญ่ แขวงกรุงเก่า (คือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา)   
สถานที่สำคัญ ๆ  ซึ่งตั้งอยู่ที่สองฝั่งคลองนี้ มีพระราชวังดุสิต วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ปัจจุบัน ก็มีพระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐาน (พระราชวังที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน) ทำเนียบรัฐบาล (ตั้งอยู่ปากคลอง) สวนสัตว์ดุสิต โรงเรียนวชิราวุธ และโรงงานปูนซิเมนต์ไทย ที่บางซื่อ เป็นต้น
คลองผดุงกรุงเกษม
ปากคลองผดุงกรุงเกษมตรงวัดเทวราชกุญชร
       คลองเปรมประชากร  มีถนนพระราม 5 ขนานไปจนถึงบางซื่อ และมีถนนนครปฐม ขนานตั้งแต่หน้าทำเนียบรัฐบาลไปจนถึงวัดเบญจมบพิตร
คลองแสนแสบ
        เป็นคลองที่ห่างไกลจากพระนครมาก เมื่อสมัยกว่า 100 ปีมาแล้ว แต่กลายเป็นคลอง ที่เกือบจะพูดได้ว่าอยู่ในใจกลางกรุงเทพฯ
        คลองนี้ แต่เดิมตั้งแต่สี่แยกมหานาค ผ่านสระปทุม ประตูน้ำ วัดมักกะสัน (วัดบางกะสัน) วัดบางกะปิ จนถึงวัดใหม่ช่องลม เรียกว่า คลองบางกะปิ ต่อจากนั้นไปเรียกว่า คลองแสนแสบ
        คลองแสนแสบ เป็นคลองที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ขุด ตั้งแต่หัวหมาก ไปถึงบางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อ พ.ศ. 2380 (จุลศักราช 1199) เพื่อเป็นทางลำเลียงกองทัพครั้งทำสงครามกับญวน
        สองฝั่งคลองแสนแสบ มีสถานที่สำคัญซึ่งสมควรจะกล่าอยู่ 2 แห่ง คือ สระปทุม กับวัดมักกะสัน
        สระปทุม ปัจจุบัน อยู่หลังย่านการค้าราชประสงค์ หลังตึกกองการเงิน กรมตำรวจ (ปัจจุบัน คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) และข้างวัดสระปทุมวนาราม เป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดฯ ให้สร้างขึ้น พร้อมกับวัดสระปทุม โดยให้ขุดสระ เป็นเกาะเล็กเกาะน้อย ปลูกบัวต่าง ๆ  ส่วนบนเกาะ ปลูกไม้ดอกนานาพันธุ์ และสร้างพระที่นั่งประทับแรมพลับพลา โรงละคร ที่เจ้าจอมอยู่ โรงครัวข้างใน โรงครัวเลี้ยงขุนนาง แล้วพระองค์เสด็จทางชลมารค ตามคลองบางกะปิ มาประทับแรม  ณ วังสระปทุม นานถึง 2-3 วัน ทุกปี
        วัดมักกะสัน (วัดบางกะสัน) อยู่ริมคลองกลางทุ่งบางกะปิ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้เป็นที่ตัดคอประหารชีวิตนักโทษ เมื่อประมาณหลาย ปีมาแล้ว ตั้งแต่ประตูน้ำ จนถึงอำเภอบางกะปิ ยังไม่มีถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และถนนคลองตันขนาบ เช่นปัจจุบัน  ปรากฏว่า มีเรือเมล์ขาว บริษัทนายเลิศ วิ่งระหว่างประตูน้ำ กับอำเภอมีนบุรี เป็นประจำ  แม้เวลานี้ ก็ยังมีเรือวิ่งบริการรับส่งผู้โดยสารตามบ้านริมคลองอยู่
        ส่วนทางฝั่งธนบุรี ปัจจุบันมีคลองที่สำคัญอยู่หลายคลอง  อาทิ  คลองบางกอกน้อย  คลองบางกอกใหญ่  คลองมอญ  คลองภาษีเจริญ และคลองดาวคะนอง เป็นต้น
จากหนังสือ "มิตรพลี"  พลตรีพระยาอานุภาพไตรภพ เล่าถึงเรื่องคลองในกรุงเทพฯ เมื่อสมัยต้น ๆ  รัชกาลที่ 5 ว่า สกปรก และตื้นเขินมาก  เพราะคนชอบเทขยะมูลฝอย และสิ่งปฏิกูลลงในคลอง  แม้แต่ส้วมหรือที่สมัยก่อนเรียกว่า "เว็จ" ก็ชอบสร้างไว้ริมคลอง จึงทำให้ขยะมูลฝอย และอุจจาระลอยตามน้ำขึ้นน้ำลงเป็นแพ
        ความจริง  ทางการสมัยนั้น ก็เห็นความสำคัญของคลองเหมือนกัน จึงได้ตราพระราชบัญญัติ รักษาคลองขึ้นเรียกว่า "พระราชบัญญัติรักษาคลอง รัตนโกสินทร์ศก 121" พระราชบัญญัตินี้กล่าวถึงความสำคัญของคลองว่า    
        "มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า การเพาะปลูกก็ดี การค้าขายไปมาก็ดี ในพระราชอาณาเขตนี้ ทางน้ำลำคลองเป็นสำคัญ และในเวลานี้ คลองก็มีอยู่แล้วเป็นอันมาก แต่ชำรุดตื้นเขินไปเสียโดยมาก เหตุเพราะยังมิได้จัดการรักษาให้พอเพียง ทรงพระราชดำริจะบำรุงและรักษาคลองเก่า ที่มีอยู่แล้ว และที่จะขุดขึ้นใหม่ให้เรียบร้อยถาวร เพื่อใช้ประโยชน์และสะดวกแก่ธุระ ของราษฎรยิ่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้"
ข้อห้ามในพระราชบัญญัตินี้ ที่สำคัญก็คือ ห้ามไม่ให้ทิ้งขยะมูลฝอย และสิ่งปฏิกูล ลงในคูคลอง ผู้ที่ทำผิดมาตรนี้ จะถูกปรับไม่เกิน 20 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ กับถ้าปล่อยให้สัตว์พาหนะ และสัตว์เลี้ยง เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ลงคลอง ซึ่งไม่ใช่ท่าข้ามทางการอนุญาต จะต้องถูกปรับ เป็นรายตัว ตัวละไม่เกิน 10 บาทเป็นต้น    
        แต่ก็อย่างว่า  ราษฎรสมัยนั้น ส่วนใหญ่เคยทำอย่างไรก็คงทำอยู่อย่างนั้น  เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เข้มงวด และกวดขันในการห้ามปราม และจับกุมเท่าใดนัก อีกประการหนึ่ง กำลังเจ้าหน้าที่ก็มีน้อย ราษฎรทำอะไร ๆ  ตามอำเภอใจได้ง่าย ๆ  โดยไม่ต้องเกรงกลัวเจ้าหน้าที่
        ต่อมาเมื่อมิสเตอร์ อิริก  เซ็น.เย. ลอซัน  เป็นผู้บังคับการ กรมกองตระเวน (ตำรวย) กรุงเทพฯ ในตอนปลายรัชกาลที่ 5 ก็ได้มีการกวดขันรักษาคลองในกรุงเทพฯ ยิ่งกว่าแต่ก่อน
        ในหนังสือธรรมเนียมราชการ  กรมกองตระเวนซึ่ง มิสเตอร์ ลอซัน ได้เขียนขึ้นไว้ เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมกองตระเวนระบุว่า ถ้าใครทำสะพานท่าน้ำ หรือปลูกบ้านเรือน ยื่นลงไปในคลอง โดยไม่ได้รับอนุญาต ตลอดจนทิ้งของโสโครก และปลูกเว็จในคลอง  ถือว่าเป็นความผิดทั้งสิ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ กรมกองตระเวนจะต้องทำการจับกุมส่งฟ้องศาล
        เพื่อให้ท่านได้ทราบว่ากรุงเทพมหานคร เมื่อก่อนที่จะถมคลอง สร้างถนนในยุคพัฒนานั้น มีคลองอะไรบ้าง จึงขอนำรายชื่อคลอง ซึ่งปรากฏอยู่ในบัญชีคลองแนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ให้ใช้พระราชบัญญัติรักษาคลอง รัตนโกสินทร์ศก 121 พุทธศักราช 2484 ทั้งฝั่งพระนคร และฝั่งธนบุรี ซึ่งประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2484 มาลงไว้ ดังต่อไปนี้

ฝั่งพระนคร
1.   คลองบางซื่อ จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคันคลองประปา
2.   คลองสามเสน จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงปลายคลองบางกระสัน
3.   คลองเปรมประชากร จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงคลองบางซื่อ
4.   คลองผดุงกรุงเกษม จากปากคลองทางเหนือ ถึงปากคลองทางใต้
5.   คลองบางลำพู จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงปากคลองมหานาค
6.   คลองโอ่งอ่าง จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงปากคลองมหานาค
7.   คลองตลาด จากปากคลองทางทิศเหนือ ถึงปากคลองทางให้
8.   คลองวัดเทพธิดา จากคลองตลาด ถึงคอลโอ่งอ่าง
9.   คลองวัดราชบพิธ จากคลองตลาดถึงคลองโอ่งอ่าง
10. คลองมหานาค จากคลองบางลำพู ถึงคลองผดุงกรุงเกษม
11. คลองบางกะปิ จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงเขตเทศบาลนครกรุงเทพฯ (หลักเขตที่ 6)
12. คลองหัวลำโพง จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงคลองเตย
13. คลองสวนหลวง จากคลองนางหงษ์ ถึงคลองหัวลำโพง
14. คลองอรชร จากคลองบางกะปิ ถึงคลองหัวลำโพง
15. คลองราชดำริ จากคลองบางกะปิ ถึงถนนพระราม 4
16. คลองไผ่สิงห์โต จากคลองราชดำริ ถึงคลองหัวลำโพง
17. คลองสีลม จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองหัวลำโพง
18. คลองสาธร จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองหัวลำโพง
19.   คลองขื่อหน้า จากคลองบางกะปิ ถึงคลองสามเสน
20.   คลองวัดใหม่ จากคลองบางซื่อ ถึงวัดใหม่ทองเสน
21.   คลองข้างกรมช่างแสง จากคลองบางซื่อ ถึงโรงเรียนทหารสื่อสาร
22.   คลองบางกระบือ จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงปลายคลองวัดน้อย
23.   คลองวัดน้อย จากคลองเปรมประชากร ถึงปลายคลองบางกระบือ
24.   คลองบางทองหลาง จากคลองสามเสน ถึงถนนองครักษ์
25.   คลองส้มป่อย จากคลองสามเสน คลองบางกะปิ ถึงถนนราชวัตรเก่า ถนนเพชรบุรี
26.   คลองอั้งโล่ จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงโรงพยาบาลวชิระ
27.   คลองวัดส้มเกลี้ยง จากแม้น้ำเจ้าพระยา ถึงถนนขาว
28.   คลองวัดราชาธิวาส จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงถนนสามเสน
29.   คลองบ้านญวน จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงถนนสามเสน
30.   คลองบางขุนพรหม จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ถึงถนนวิสุทธิกษัตริย์ หลังโรงเรียนนายร้อยทหารบก
31.   คลองวัดมงกุฏกษัตริย์ (คือ มกุฏกษัตริยาราม) จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงหลังวัดมงกุฏกษัตริย์
32.   คลองวัดโสมนัสวิหาร จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงถนนจักรพรรดิพงษ์ หลังวัดโสมนัสวิหาร
33.   คลองวัดตรีทศเทพ จากคลองบางลำพู ถึงหลังวัดตรีทศเทพ และจากคลองบางลำพู ถึงข้างวัดตรีทศเทพ
34.   คลองบ้านหล่อ จากคลองบางลำภู ถึงถนนวิสุทธิกษัตริย์
35.   คลองวัดปริณายก จากคลองบางลำพู ถึงหลังวัดปริณายก
36.   คลองจุลนาค จากคลองมหานาค ถึงถนนนครสวรรค์
37.   คลองวัดคอกหมู  จากคลองมหานาค ถึงหลังวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแค)
38.   คลองวัดสมณานัมบริหาร (คือวัดญวน) จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงถนนพิษณุโลก และจากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงหลังวัดสมณานัมฯ
39.   คลองลำปรัก จากคลองวัดสมณานัมฯ ถึงคลองวัดขื่อหน้า
40.   คลองวัดรังษี จากคลองบางลำพู ถึงถนนดินสอ
41.   คลองวัดบวรนิเวศน์ จากคลองบางลำพู ถึงถนนบ้านแขก
42.   คลองนางชี จากคลองมหานาค ถึงสะพานแม้นศรี
43.   คลองวัดเทพศิรินทร์ จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงถนนพลับพลาไชย
44.   คลองศาลเจ้าเก่า จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงถนนทรงวาด
45.   คลองวัดปทุมคงคา จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงวัดปทุมคงคา
46.   คลองวัดสระบัว จากคลองบางกะปิ ถึงถนนพระรามที่ 1
47.   คลองนางหงษ์ จากคลองบางกะปิ ถึงคลองวัดสระบัว
48.   คลองข้าวัดใหม่ จากคลองบางกะปิ ถึงถนนพระรามที่ 1
49.   คลองพญาไท จากคลองบางกะปิ ถึงถนนเพชรบุรี
50.   คลองสวนน้อย จากคลองบางกะปิ ถึงตำบลพญาไท
51.   คลองซุง จากคลองบากะปิ ถึงถนนเพลินจิต
52.   คลองบางกระสัน จากคลองบางกะปิ ถึงคลองสามเสน
53.   คลองเตย จากปากคลองหัวลำโพง ถึงปลายคลอง
54.   คลองหัวลำโพงเก่า จากตรงตรอกสะพานสว่าง ถึงถนนสี่พระยา
55.   คลองช่องนนทรีย์ จากถนนสี่พระยา ถึงเขตเทศบาลนครกรุงเทพฯ ระหว่างหลักเขตที่ 9-10
56.   คลองข้างบ้านหมอเฮย์ จากคลองสีลม ถึงคลองสาธร
57.   คลองข้างป่าช้าจีน จากคลองสาธร ถึงป่าช้าจีน
58.   คลองวัดยานนาวา จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงปลายคลอง
59.   คลองกรวย จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงเขตเทศบาลกรุงเทพฯ ระหว่างหลักเขตที่ 10-11
60.   คลองบางขวาง จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงเขตเทศบาลนครกรุงเทพฯ ระหว่างหลักเขตที่ 10-11
61.   คลองบ้านใหม่ จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงเขตเทศบาลนครกรุงเทพฯ หลักเขตที่ 10-11
62.   คลองสวนหลวง จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงปลายคลอง
63.        คลองวัว จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงสุเหร่าแขก
64.        คลองบางคอแหลม จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงปลายคลอง

คลองบางหลวง
คลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ตรงตลาดพลู สมัยรัชกาลที่ 5
ฝั่งธนบุรี
1.   คลองบางกอกน้อย  จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงสุดเขตเทศบาล
2.   คลองบางขุนเทียน ตั้งแต่สี่แยกคลองมอญ ถึงคลองบางกอกน้อย
3.   คลองลัดบางขุนสี  จากคลองบางขุนศรี ถึงคลองบางกอกน้อย
4.   คลองบางขุนนนท์  จากคลองบางกอกน้อย ถึงคลองลัดบางขันสี
5.   คลองวัดมะ จากคลองบางขุนสี  ถึงคลองบางขุนนนท์
6.   คลองมอญ จากแม่น้เจ้าพระยา ถึงสี่แยกบางกอกใหญ่
7.   คลองบ้านขมิ้น  จากคลองมอญถึงทางรถไฟสายบางกอกน้อย
8.   คลองวัดอรุณ จากคลองอมญ ถึงแม่น้ำเจ้าพระยา
9.   คลองวัดราชสิทธิ  จากคลองบางกอกใหญ่ ถึงคลองวัดอรุณ
10. คลองวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม ปัจจุบัน) จากคลองบางใหญ่ ถึงคลองมอญ
11. คลองบางกอกใหญ่  จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงสี่แยกปากคลองมอญ (แต่ก่อนเรียกว่า คลองบางหลวง)
12.   คลองวัดบุปผาราม จากคลองบางกอกใหญ่ ถึงคลองสาน
13.   คลองกุดีจีน จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองวัดบุปผาราม
14.   คลองสาน จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองบางไส้ไก่
15.   คลองสมเด็จ จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองสาน
16.   คลองบางไสไก่ จากแม่น้ำเจ้าพระยา   ถึงคลองบางกอกใหญ่
17.   คลองบางลำภูล่าง จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองบางไส้ไก่
18.   คลองต้นไทร จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองบางไส้ไก่
19.   คลองบางน้ำชล ตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองบางกอกใหญ่
20.   คลองบางสะแก จากคลองบางกอกใหญ่ ถึงคลองบางค้อ
21.   คลองบางค้อ จากคลองดาวคะนอง ถึงคลองด่าน
22.   คลองด่าน จากคลองบางกอกใหญ่ ถึงสุดเขตเทศบาล
23.   คลองดาวคะนอง จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงสุดเขเทศบาล
24.   คลองบางหว้า จากคลองด่าน ถึงสุดเขตเทศบาล
25.   คลองภาษีเจริญ จากคลองบางกอกใหญ่ ถึงสุดเขตเทศบาล
26.   คลองบางจาก จากคลองบางกอกใหญ่ ถึงสุดเขตเทศบาล
27.   คลองวัดประดู่ จากคลองภาษีเจริญ ถึงคลองบางจาก
28.   คลองวัดปรก จากคลองภาษีเจริญ ถึงคลองด่าน
29.   คลองรางบัว จากคลองภาษีเจริญ ถึรงคลองบางหว้า
30.   คลองวัดเพลง จากคลองภาษีเจริญ ถึงคลองวัดปรก
31.   คลองตาแผลง จากคลองด่าน ถึงคลองรางบัว
        คลองดังกล่าวมานี้ ปัจจุบัน ถูกถมขยายถนนเป็นจำนวนมาก เช่น คลองหัวลำโพง ถูกถมขยายถนนพระราม ตั้งแต่ต้นคลองที่หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง ไปจนถึงคลองเตย คลองสีลม ถูกถมขยายถนนสีลม  เป็นต้น
        ดังนั้น  คลองต่าง ๆ  เหล่านี้ จึงเหลือแต่ชื่อ ซึ่งนับวันจะเลือนหายจากความทรงจำของชาวกรุงเทพฯ ไปทุกที  อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าคลองต่าง ๆ  ในกรุงเทพฯ จะหมดไป แต่แม่น้ำเจ้าพระยา ก็ยังคงเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญต่อกรุงเทพฯ อยู่เหมือนเดิม
        จะต่างกันก็แต่ว่า  กรุงเทพฯ สมัยก่อน ไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แต่สมัยนี้มีสะพานข้าแม่น้ำเจ้าพระยาหลายสะพาน
        ส่วนกรุงเทพฯ สองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งแต่ก่อน มีแต่เรือแพ จอดเรียงกันเป็นแถวเหมือนถนนแพ เวลานี้ ก็เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง แน่นขนัดไปหมด แม่น้ำเจ้าพระยาจึงแปลกตาไปกว่าอดีตมาก
        สำหรับยานพาหนะทางน้ำ เมื่อสมัยรัชกาลที่ นอกจากเรือสำเภา เรือกำปั่นไฟ เรือรบหลวง ที่จอดอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ปรากฏว่า มีเรือกลไฟ โยงเรือต่อบรรทุกข้าว ฯลฯ แล่นอยู่ในแม่น้ำลำคลองด้วย แต่ยานพาหนะทางน้ำส่วนใหญ่ เป็นเรือพาย เรือแจว เรือพาย ก็มีเรือมาด (คือเรือที่ขุดจากซุงไม้ขนาดเล็ก) เรือสำปั้น และเรือบด (มาจากคำว่า "โบ๊ต. ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษที่แปลว่า เรือ)  ส่วนเรือแจว ก็มีเรือแหวด (คือเรือมาด ขนาดใหญ่ มีเก๋งกลางลำเรือ) เรือหางแมงป่อง (เป็นเรือเมืองเหนือ ใช้ขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองเหนือ)
        ส่วนเรือยนต์ และเรือเครื่องติดท้าย เพิ่งจะมีเอาเมื่อปลายรัชกาลที่ ต้นรัชกาลที่ 6 นี้เอง
        ปัจจุบันในแม่น้ำลำคลอง      นอกจากจะเต็มไปด้วยเรือ   ต่าง ๆ แล้ว ยังมีเรือหางยาว ซึ่งเข้ามามีบทบาท เป็นเจ้าแห่งท้องน้ำ อยู่ในขณะนี้อีกด้วย

ขุดคลองลัดเป็นแม่น้ำ

        ด้วยเหตุผลการค้าสำเภาทางทะเลของกรุงศรีอยุธยากับนานาชาติ ที่ต้องแล่นสำเภา จากอ่าวไทยเข้าตามลำน้ำเจ้าพระยา  ขึ้นสู่พระนครศรีอยุธยา  ทำให้พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ต้องทรงทำนุบำรุงเส้นคมนาคมทางน้ำ ให้สะดวก และรวดเร็ว  เห็นได้จากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดให้ซ่อมคลองสำโรง และคลองทับนาง เป็นต้น

แม่น้ำเจ้าพระยา
แม่น้ำเจ้าพระยาสมัยที่ยังไม่ขุดช่วงระหว่างคลองบางกอกน้อย (ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ทะลุคลองบางกอกใหญ่ (ตรงพระราชวังเดิม ตรงข้ามกับปากคลองตลาด)
แม่น้ำเจ้าพระยา
แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ขุดจากวังหน้า (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ถึงปากคลองตลาด
ขุดเมื่อสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. 
2077 - 2089) 
        นับแต่นั้นมา พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาทุกพระองค์  คงโปรดให้พิจารณาวางแผน ขุดคอลงลัดเพื่อขจัดอุปสรรคการเดินทางในแม่น้ำ (เจ้าพระยา) ที่คดโค้งหลายแห่ง  มีแห่งหนึ่งที่ต้องแก้ไข คือบริเวณที่เป็นกรุงเทพฯ  ปัจจุบัน มีคำบอกเล่าสืบกันมาว่า ลงมือขุดคลองลัดแห่งนี้สำเร็จในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช  ในปีใดปีหนึ่ง ระหว่าง พ.ศ. 2077 - 2089 ทำให้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ประการ  คือ
1.   เส้นทางแม่น้ำ (เจ้าพระยา) สายเก่าลดความสำคัญลง  เพราะคดโค้ง เสียเวลาเดินทาง  นานเข้าก็แคบลงเป็นคลอง  ต่อมามีชื่อเรียกคลอง บางกอกน้อย - คลองบางกอกใหญ่  สืบมาทุกวันนี้
2.   มีแม่น้ำเจ้าพระยา (สายใหม่) เกิดขึ้น ตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อย (บริเวณโรงพยาบาลศิริราช กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) จนถึงปากคลองบางกอกใหญ่ (บริเวณพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี กับปากคลองตลาด)
ก่อนขุดคลองลัด  มีคำบอกเล่าเก่าแก่ว่า ครั้งหนึ่ง ผู้จอดเรือแพพักแรมหุงหาอาหารเช้ากิน บริเวณริมฝั่งโค้งน้ำทางเหนือ (คือปากคลองบางกอกน้อย) เมื่อกินเสร็จแล้ว ก็ถ่อพายเรือแพ เข้าแม่น้ำคดโค้งต่อไป ใช้เวลาเต็มวัน ก็จอดพักหุงหาอาหารเย็นกินบริเวณริมฝั่งโค้งน้ำทางใต้ (คือปากคลองบางกอกใหญ่) เมื่อตั้งหม้อข้าว เพื่อหุงข้าวด้วยฟืนเสร็จแล้ว ก็นึกขึ้นได้ว่า ลืมไม้ขัดหม้อ สำหรับฝาหม้อรินน้ำข้าวออกไว้ที่ปากคลองบางกอกน้อย ที่พักหุงข้าวเมื่อตอนข้า จึงรีบเดินลัดเรือกสวนไปเอาไม้ขัดหม้อ ที่ลืมไว้ เมื่อได้กลับมาที่เดิมก็พอดีข้าวเดือดทันใช้ขัดฝาหม้อรินน้ำข้าว
        คำบอกเล่าอย่างนี้ แสดงให้เห็นลักษณะคดโค้งของแม่น้ำ (เจ้าพระยา) สายเก่า ที่เสียเวลาเดินทางเต็มวัน  ถ้าตัดตรงลงช่วงคอคอดคดโค้ง จะใช้เวลาเพียงชั่วหม้อข้าวเดือดเท่านั้น
        ตรงบริเวณคลองบางกอกใหญ่นี่เอง  เมื่อขุดคลองลัดแล้ว จะกลายเป็นชุมชนบ้านเมืองใหม่ต่อไปข้างหน้า  เพราะโค้งแม่น้ำเดิมตรงนี้ เป็นบริเวณเวิ้งน้ำ กว้างใหญ่ตามธรรมชาติ  ที่ได้ชื่อในสมัยหลังว่า บางหลวง  แต่คนทั่วไป เข้าใจเป็นชื่อคลองบางกอกใหญ่
       บางทีอาจมีข้อกังขาว่า แต่ก่อนนั้นขุดคลองกันอย่างไร ? ดังนั้น จึงจะแทรกเรื่องไว้ตรงนี้ก่อน
        สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ มีลายพระหัตถ์ไว้ ตอนหนึ่งว่า "การขุดลัดครั้งแผ่นดินสมเด็จพระชัยราชา เห็นจะไม่ได้ขุดแผ่นดินดอน คงจะมีคลองลัดเล็ก ๆ  ซึ่งเขาเดินเรือกันอยู่แล้วเป็นสิ่งนำทางขุดซ้ำรอย ให้เป็นคลองกว้างขวาง"  (สาส์นสมเด็จ เล่ม 14:  คุรุสภา  2526:  หน้า 226)  และทรงย้ำอีกว่า "คลองลัด น่าจะเป็นชาวบ้านขุดบางประจบกัน
กรณีขุดคลองโคกขาม ให้เป็นคลองมหาชัยสมัยหลัง ๆ   (ครั้งพระเจ้าเสือ) ถ้าหากพิจารณาจากสภาพแวดล้อม ตามธรรมชาติแล้ว จะเห็นว่า บริเวณดังกล่าว เป็นเส้นทางน้ำ คือคูคลองคดเคี้ยวจำนวนมาก  แต่ก็มีทางน้ำลัดตัดตรง ทั้งที่เป็นธรรมชาติ และทั้งที่ชาวบ้านขุดลัดกันเองขึ้นมาก่อน เพื่อความสะดวกในการคมนาคม ต่อมาภายหลังทางราชการ จึงปรับปรุงให้กว้างขวาง และเป็นแนวตรงมากขึ้น
มีตัวอย่างการขุดคลองหมาหอน (สุนัขหอน) ในแผ่นดินรัชกาลที่ โดยเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหกลาโหม (หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ  บุนนาค) ในสมัยรัชกาลที่ 4)  ซึ่งได้รับพระบรมราชโองการ ให้เป็นแม่กอง ไปขุดแต่งซ๋อมคลองนี้ พิจารณาแล้วจึงให้วิธี "จ้างจีนขุดที่น้ำชน แยกเข้าไปริมบ้านโพธิ์หักสายหนึ่ง แล้วขอแรงกระบือราษฎร ชาวบ้านลุยในคลองนั้น น้ำขึ้นลงเชี่ยว ก็ลึกอยู่ได้ไม่ตื้นมาจนทุกวันนี้" (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, เล่ม 1, คุรุสภา 2504. หน้า 95)
        เหล่านี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่อาจจะมีวิธีการอื่น ๆ  นอกเหนือจากนี้อีก
ตลอดลำน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่พระนครศรีอยุธยา จนนออทะเล อ่าวไทย มีช่วงคดโค้งหลายแห่ง ซึ่งเป็นอุปสรรค ต่อการคมนาคมทางน้ำ พระเจ้าแผ่นดิน ในกรุงศรีอยุธยา จึงโปรดให้ขุดคลองลัด เพื่อย่นระระทางหลายแห่งด้วยกัน ถ้านับเฉพาะสมัยกรุงศรีอยุธยา จะมีดังนี้
1.   สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ. 2034 - 2072) ขุดซ่อมคลองสำโรง และคลองทับนาง
2.   สมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. 2077 - 2089) ขุดคลองลัดที่บางกอก
3.   สมเด็จพระมหาจักพรรดิ (พ.ศ. 2091 - 2111) ขุดคลองลัดที่บางกรวย
4.   สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2153 - 2171) ขุดคลองลัด เกร็ดใหญ่ที่สามโคก
5.   สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2172 - 2199) ขุดคลองลัด จากเมืองนนทบุรี มาออกบางกรวย (หรือตั้งแต่ปากคลองแม่น้ำอ้อมเมืองนนทบุรี ลงมาจนถึงวัดเขมาฯ)
6.   สมเด็จพระเจ้าเสือ (พ.ศ. 2245 - 2251) ขุดคลองมหาชัย
7.    สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ (พ.ศ. 2251 - 2275) ขุดคลองที่เรียกว่า ปากเกร็ด
แม่น้ำเจ้าพระยา
แผนที่การขุดแม่น้ำเจ้าพระยา
          1.  ขุดในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. 2077 - 2089)
          2.  
สมเด็จพระมหาจักพรรดิ (พ.ศ. 2091 - 2111)
          3.  
สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2172 - 2199)
   ภาพจากวิกิพีเดีย  สารานุกรมเสรีย
ชื่อ แม่น้ำเจ้าพระยา ได้จาก บางเจ้าพระยา
        ในสมัยโบราณ ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา หรือก่อนหน้านั้น แม่น้ำ (เจ้าพระยา) สมัยแรก ไม่รู้ว่าชื่ออะไรแน่ ? แต่เรียกบริเวณ ที่ไหลออกอ่ายไทยว่า ปากน้ำพระประแดง
        คำว่า "เจ้าพระยา" เพิ่งมีเรียก "ปากน้ำบางเจ้าพระยา" เมื่อแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า ที่ซึ่งเป็นเมืองสมุทรปราการ หรือจังหวัดสมุทรปราการทุกวันนี้นั้น แต่ก่อน คงจะเรียกว่า "บางเจ้าพระยา"
        ไม่มีหลักฐานว่า ยุคแรกเริ่มแม่น้ำสายนี้ชื่ออะไร แม้ชาวยุโรป ที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เช่น ลาลูแบร์ ก็กล่าวถึงชื่อแม่น้ำสายนี้ไว้ว่า
        "ลำน้ำอันสวยงาม ซึ่งคนสยาม เรียกว่า แม่น้ำ ไหลผ่านตั้งแต่เมืองเชียงใหม่ จนกระทั่งตกทะเล กล่าวคือ จากเหนือมาใต้ คำว่า แม่น้ำนี้ มีความหมายเช่นเดียวกับแม่น้ำอันแปลว่าลำน้ำใหญ่"
        ทางภาคเหนือเรียกลำน้ำใหญ่ว่า "แม่" หรือ "น้ำแม่" เช่น แม่ปิง หรือน้ำแม่ปิง แม่วัง หรือน้ำแม่วัง แม่อิง หรือน้ำแม่อิง เป็นต้น ส่วนภาคกลางลงไปเรียก "แม่น้ำ" เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา
        เหตุที่เรียกลำน้ำใหญ่ว่า "แม่" ก็เพราะเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม ของคนในผืนแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคอุษาคเนย์ ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์มาแล้ว ที่มีพื้นฐานมาจากการยกย่อง หรือให้ความสำคัญแก่ฝ่าย "หญิง" หรือฝ่าย "แม่" เช่น ประเพณีการนับถือเครือญาติ หรือให้ความสำคัญต่อการสืบเชื้อสาย ทางข้างแม่ ดังจะเห็นว่า หลังแต่งงาน จะให้ฝ่ายชาย หรือ "บ่าว" ที่หมายถึงขี้ข้า ไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง หรือ "สาว" เพื่อทำงานรับใช้บ้านฝ่ายหญิง ประเพณีนี้ ยังสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ในครอบครัวชนบท
       ประเพณีการเรียกชื่อ เมื่อต้องการให้หมายถึง ผู้เป็นหลัก หรือเป็นประธานของกลุ่ม หรือของสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว มักใช้คำว่า "แม่" นำหน้านามนั้น เช่น แม่น้ำ แม่เตาไฟ แม่ย่านาง แม่ทัพ แม่ยก แม่เหล็ก แม่แรง ฯลฯ
       แผนที่กรุงศรีอยุธยาสมัยแรก ที่ชาวยุโรปทำไว้ ลงชื่อบริเวณที่เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาว่า Menam เฉย ๆ บ้าง Menam River บ้าง แสดงว่า แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก่อนยังไม่มีชื่อเรียกว่า เจ้าพระยา แต่รับรู้กันทั่วไปว่า นี่คือแม่น้ำ
       ต่อมาเรียกชื่อแม่น้ำตามชื่อสถานที่ หรือตำบล หมู่บ้านที่อยู่ปากน้ำ เช่น แม่น้ำบางปะกง ก็ได้ชื่อมาจากหมู่บ้านบางปะกง หรือบางมังกง ที่อยู่ปากน้ำ ส่วนปากน้ำเจ้าพระยาสมัยโบราณ ก็เรียกว่าปากน้ำพระประแดง เพราะมีย่านพระประแดงอยู่ปากน้ำ ภายหลังเมื่อแผ่นดินงอก เป็นเหตุให้ทะเลห่างออกไปไกล เมืองพระประแดง จึงมีชื่อเรียกใหม่
        ราวปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา แม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่งมาได้ชื่อว่า "เจ้าพระยา" ก็เพราะเรียกชื่อตามปากน้ำ ที่มีบางเจ้าพระยาตั้งอยู่ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาไว้ว่า
        "...ที่เราเรียกกันว่า ปากน้ำเจ้าพระยาทุกวันนี้ แต่โบราณ เรียกว่า ปากน้ำพระประแดง ภายหลังเมื่อแผ่นดินงอก ทะเลห่างออกไปไกลเมืองพระประแดง จึงเรียกปากน้ำบางเจ้าพระยา ได้เห็นในจดหมายเหตุ พระอุบาลี ไปเมืองลงกา เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระบรมโกศ ในหนังสือนั้น เรียกว่า ปากน้ำบางเจ้าพระยา ทำนองเรียกปากน้ำบางปะกง เข้าใจว่า ที่ซึ่งตั้งเมืองสมุทรปราการทุกวันนี้ ในเวลานั้นเรียก "บางเจ้าพระยา"..."
        สรุปว่า ตรงที่แม่น้ำสายนี้ไหลออกทะเลนั้นมีบาง บางหนึ่งชื่อ "เจ้าพระยา" ซึ่งก็คือตัวเมืองสมุทรปราการในปัจจุบัน ผู้คนเลยพากันเรียกว่า "ปากน้ำบางเจ้าพระยา" เมื่อนานเข้าจึงเรียก แม่น้ำทั้งสายนี้ว่า "แม่น้ำเจ้าพระยา"
       เรื่องชื่อแม่น้ำ อาจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม เคยตั้งข้อสังเกตว่า แม่น้ำลำคลองที่ไหลผ่านแต่ละแห่ง ก็จะมีชื่อเรียกจากคนในท้องถิ่น นั้น ๆ แตกต่างกัน ซึ่งคนนอกท้องถิ่นมักไม่รู้
        คนภายนอกนั้น มักมองแม่น้ำลำคลองที่สัมพันธ์กับภูมิศาสตร์ การเมืองเป็นสำคัญ เห็นได้จากเอาชื่อเมือง มาตั้งเป็นชื่อแม่น้ำลำคลอง เช่น แม่น้ำท่าจีน ซึ่งมีหลายชื่อ ตามเมืองที่ไหลผ่าน ที่ต้นน้ำ เรียกแม่น้ำมะขามเฒ่า ตามชื่อตำบลมะขามเฒ่า แต่เมื่อผ่านเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ก็เรียกแม่น้ำสุพรรณบุรี พอผ่านเขตเมืองนครชัยศรี ก็เปลี่ยนมาเรียกว่า แม่น้ำนครไชยศรี  พอถึงปากน้ำ ที่เมืองท่าจีน ก็เรียกแม่น้ำท่าจีน โดยเอาบริเวณปากน้ำเป็นชื่อรวมแม่น้ำทั้งสาย
        การตั้งชื่อแม่น้ำ โดยเอาท้องถิ่น และเมืองที่อยู่ตรงปลายน้ำ เป็นชื่อลำน้ำตลอดสายนี้ ได้ถูกนำไปใช้กับแม่น้ำสายอื่น ๆ เหมือนกัน ่คือ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง เป็นต้น
        ชื่อแม่น้ำเจ้าพระยาก็เช่นเดียวกัน คือเอาบริเวณที่เป็นปลายน้ำ มาตั้งชื่อ ตามประเพณีของคนกรุงเทพฯ ในยุคต้น เพราะบริเวณใกล้ปากน้ำนั้น มีบางเจ้าพระยาอยู่
        ชื่อบางเจ้าพระยานี้ น่าจะมาจากบรรดาศักดิ์ "เจ้าพระยา" คนใดคนหนึ่ง ที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมปากน้ำสายนี้ โดยมีกองกำลังไพร่พลตั้งค่ายด่านตรวจตราอยู่ที่ตำบล หรือบางนี้ มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
       แต่กระนั้น ก็ยังไม่มีคำอธิบายที่แน่ชัดว่า เหตุใด บางนี้ จึงชื่อ "เจ้าพระยา แล้วเจ้าพระยาคนนั้นคือใคร?
บางเจ้าพระยาในสมัยรัชกาลที่ 3
ภาพวาดบางเจ้าพระยาในสมัยรัชกาลที่ 3