รายการ

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในสมัยกรุงธนบุรี (2310-2325)

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในสมัยกรุงธนบุรี (2310-2325)

พ.ศ. 2310
พระยาวชิรปราการ ทรงกอบกู้เอกราชครั้งที่ 2 ให้กับกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ และทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ พระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ขณะมีพระชนมายุได้ 33 พรรษา และสถาปนา กรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่แทนกรุงศรีอยุธยา             
พระเจ้าตากย้ายราชธานี
พระเจ้าตากย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามากสู่กรุงธนบุรี             
พ.ศ. 2311
เริ่มปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก แต่ไม่สำเร็จ ปราบชุมนุมเจ้าพิมายสำเร็จเป็นชุมนุมแรก
พ.ศ. 2312
ปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชสำเร็จ ยกทัพไปตีเขมรครั้งแรกแต่ไม่สำเร็จ
พ.ศ. 2314
ยกทัพไปตีเขมรครั้งที่ 2 และสามารถปราบเขมรไว้ในอำนาจ นายสวนมหาดเล็กแต่งโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี
พ.ศ. 2315
          พม่ายกทัพมาตีเมืองพิชัย ครั้งที่ 1 แต่ไม่สำเร็จ
พ.ศ. 2316
รบชนะพม่าที่มาตีเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 ทำให้เกิดวีรกรรมพระยาพิชัยดาบหัก
พ.ศ. 2317
รบชนะพม่าที่บางแก้ว ราชบุรี พม่าถูกจับและเสียชีวิตไปมายมาก ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 2 ได้สำเร็จ
พ.ศ. 2318
พม่ายกทัพใหญ่มาตีหัวเมืองเหนือแต่ไม่สำเร็จ ถูกจับเป็นเชลยหลายหมื่นคน
พ.ศ. 2319
พม่ายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่แต่ไม่สำเร็จ
พ.ศ. 2321
โปรดเกล้าฯให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กับเจ้าพระยาสุรสีห์ไปตีเวียงจันทน์ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมาไว้ที่ กรุงธนบุรี พระแก้วมรกตประดิษฐ์ไว้ที่วัดอรุณฯ ส่วนพระบางคืนไปในรัชกาลที่ 1
พ.ศ. 2323
เกิดจลาจลในเขมร โปรดฯให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ เจ้าพระยาสุรสีห์ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระองค์เจ้าจุ๊ย ยกทัพไปตีกรุงกัมพูชา แต่ยังไม่ทันสำเร็จก็เกิดจลาจลในกรุงธนบุรีเสียก่อน หลวงสรวิชิต(หน) แต่งอิเหนาคำฉันท์
พ.ศ. 2324
ส่งทัพไปปราบจลาจลในเขมร
พระยาสรรค์เป็นกบฏ
พ.ศ. 2325
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 กรุงธนบุรีสิ้นสุดลง
 
แผนที่กรุงธนบุรี
แผนที่กรุงธนบุรี
เส้นทางเดินทัพของพระเจ้าตาก
พระยาตากพาไพร่พลตีฝ่าวงล้อมของทัพพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยามุ่งตรงไปยังบ้านโพธิ์สามหาร หรือ โพธิ์สาวหาญ รุ่งเช้าได้ต่อสู้กับกองทหารพม่า ทหารไทยฆ่าฟันทหารพม่าล้มตายแตกหนีไปพระยาตาก จึงนำทหารเดินทางต่อ และไปตั้งค่ายพักอยู่บ้านพรานนก  ให้พวกทหารไปเที่ยวหาอาหารมาเลี้ยงกัน ขณะนั้นมีทหารพม่ากองหนึ่ง ซึ่งมีทหารม้าประมาณ 30 คน ทหารเดินเท้าประมาณ 200 คน เดินทางมาจากแขวงเมืองปราจีนบุรี สวนทางมาพบทหารพระยาตากที่เที่ยวหาเสบียงอาหาร ทหารพม่าก็ไล่จับและติดตามมายังบ้านพรานนก พระยาตากจึงให้ทหารแยกออกซุ่มสองทาง ตนเองขึ้นขี่ม้าพร้อมกับทหารอีก 4 คน ควบตรงไปไล่ฟันทหารม้าพม่า ทหารพม่าไม่ทันรู้ตัวตกใจถอยกลับไปปะทะกับทหารเดินเท้าของตนเอง เกิดการอลหม่าน ทหารไทยที่ซุ่มอยู่สองข้างจึงแยกเป็นปีกกาตีโอบทหารพม่าไว้สองข้าง แล้วไล่ฟันทหารพม่าล้มตายและแตกหนีไป พวกราษฎรที่หลบซ่อนพม่าอยู่ ครั้นเห็นพระยาตากรบชนะพม่า ก็ดีใจพากันเข้ามาสมัครเป็นพรรคพวก พระยาตากจึงให้ราษฎรเหล่านั้นไปเกลี้ยกล่อมหัวหน้านายซ่องมาสวามิภักดิ์ นำช้าง ม้าพาหนะและเสบียงอาหารมามอบให้
เส้นทางเดินทางพระเจ้าตาก
เส้นทางเดินทางพระเจ้าตาก
นายซ่องใหญ่ที่ไม่ยอมอ่อนน้อม ก็ถูกปราบปรามจนราบคาบ ริบพาหนะ ผู้คน ช้างม้า และศาสตราวุธ ได้เป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นพระยาตากจึงยกกองทหารไปทาง นาเริง เมืองนครนายก ผ่านด่านกบแจะ ข้ามลำน้ำปราจีนบุรี ไปตั้งพักอยู่ชายดงศรีมหาโพธิ์ ข้างฝั่งตะวันออก พม่าที่ตั้งทัพอยู่ปากน้ำเจ้าโล้ใต้เมืองปราจีนบุรียกพลตามมา พระยาตากก็นำทหารไล่ติดตามฆ่าฟันทหารพม่า ล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ที่เหลือก็หนีแตกกระจัดกระจายไป นับแต่นั้นมาพม่าก็มิได้ติดตามกองทัพพระยาตากอีกต่อไป พระยาตากได้ยกกองทัพผ่านเมืองฉะเชิงเทรา ชลบุรี แล้วจึงเดินทางต่อไปยังบ้านนาเกลือ แขวงเมืองบางละมุง เมื่อถึงเมืองระยอง เจ้าเมืองระยองซึ่งได้ยินกิตติศัพท์ของพระยาตากก็ยอมอ่อนน้อมเชิญให้เข้าเมือง พระยาตากใช้เวลาไม่ถึงเดือนนับจากตีหักออกจากกรุงศรีอยุธยาก็ยึดเมืองระยองเป็นที่มั่นได้ ความสามารถของพระยาตากในการรวบรวมคนไทยได้เป็นจำนวนมากเช่นนี้ แสดงถึงศักยภาพของพระยาตากที่มีเหนือกลุ่มอื่น ๆ ในการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา

บุคคลสำคัญในสมัยกรุงธนบุรี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
           สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นสามัญชนโดยกำเนิดในตระกูลแต้ ทรงพระนามเดิมว่า สิน พระราชบิดาเป็นจีนชื่อ ไหฮอง ออกจากประเทศจีนมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อนางนกเอี้ยง ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นธิดาขุนนาง ครั้งแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือเป็นธิดาของเจ้าเมืองเพชรบุรี
อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก
อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก  จ. จันทบุรี
          สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระราชสมภพ ณ วันอาทิตย์ เดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำ ปีขาล จุลศักราช 1096 ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พุทธศักราช 2277 ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หลักฐานส่วนใหญ่เชื่อว่า ทรงเคยเป็นพ่อค้าเกวียนผู้ทรงปัญญาเฉลียวฉลาด และมีความสามารถพิเศษด้านกฎหมาย ช่วยกรมการเมืองชำระถ้อยความ ของราษฎรทางภาคเหนืออยู่เนือง ๆ มีความชอบในแผ่นดิน ต่อมาได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง ตำแหน่งพระยาตาก       
          ระหว่างเวลา 15 ปีที่ทรงครองราชสมบัติ พระองค์ทรงรวบรวมชุมชนไทย ที่ตั้งตัวเป็นชุมนุมต่าง ๆ เข้าด้วยกันเป็นปึกแผ่น และรวมอาณาใกล้เคียงเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ของพระราชอาณาจักรธนบุรีด้วย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 พระชนม์พรรษาได้ 48 ปี ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว ในประวัติศาสตร์สมัยธนบุรี
จะกล่าวรายละเอียดอีกในตอนว่าด้วยมหาราชของชาติไทย

เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง)

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ มีพระนามเดิมว่า ด้วง ประสูติในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันพุธ แรม 5 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279
ปฐมบรมราชานุสาวรีย์
พระปฐมบรมราชานุสาวรีย์ สะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพฯ
        ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้สถาปนาเมืองธนบุรี ขึ้นเป็นราชธานี จึงได้เข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี โดยได้รับการชักชวนจากน้องชายคือ นายสุจินดา หรือ บุญมา (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) ซึ่งรับราชการใกล้ชิดอยู่กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาแต่ก่อนแล้ว ทำให้ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งที่สูงขึ้น คือ ได้เป็นพระราชวรินทร์ สังกัดในกรมพระตำรวจใน พ.ศ. 2311
        พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเป็นแม่ทัพคู่พระทัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในราชการศึกสงครามหลายครั้งหลายคราว ตลอดสมัยกรุงธนบุรี ราชการทัพสำคัญของพระองค์ใน พ.ศ. 2323 เกิดจลาจลขึ้นในกัมพูชา เสด็จเป็นแม่ทัพไปปราบปรามแต่ยังไม่ทันสำเร็จเรียบร้อย ทางกรุงธนบุรีเกิดการจลาจล จึงต้องรีบยกทัพกลับมาปราบปรามระงับเหตุวุ่นวายในกรุงธนบุรี จนสงบราบคาบ ข้าราชการและราษฎรทั้งปวง พร้อมใจกันอัญเชิญเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชสมบัติ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ขณะมีพระชนมายุได้ 45 พรรษา

พระยาพิชัยดาบหัก

 พระยาพิชัย มีชื่อเดิมว่า จ้อย ต่อมาได้ชื่อว่า "ทองดี" เป็นบุตรชาวนา อยู่บ้านห้วยคา เมืองพิชัย (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์) ได้ศึกษาวิชามวยกับครูที่มีชื่อหลายคน ออกชกมวย จนมีชื่อเสียง และได้หัดฟันดาบที่สวรรคโลกจนเก่งกล้า เมื่อมีโอกาสได้ไปเมืองตาก เป็นช่วงที่มีงานถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และมีมวยฉลองด้วยพอดี นายทองดี หรือที่ได้รับสมญาเรียกว่านายทองดีฟันขาว ก็เข้าเปรียบกับมวยชั้นครูและชกชนะสองคนรวด พระเจ้าตากเห็นฝีมือนายทองดีฟันขาวเช่นนั้น ก็ทรงชวนให้ไปอยู่ด้วย ต่อมาได้รับราชการเป็นหลวงพิชัยอาสา 
อนุสาวรีย์พระยาพิชัย
อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก จ. อุตรดิตถ์
        ในพระราชพงศาวดารได้กล่าวถึงช่วงก่อนสิ้นกรุงศรีอยุธยาว่า เมื่อครั้งพระยาตาก (สิน) ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมา หลวงพิชัยอาสาเป็นกำลังตีฝ่ากองทัพพม่าออกไปด้วย        หลังจากที่ซ่องสุมผู้คน และเตรียมกำลังรบอยู่ที่เมืองจันทบุรี จนพอเหมาะแก่การรุกไล่ทัพพม่าแล้ว พระเจ้าตากจึงยกกองทัพเรือขึ้นมาตีเมืองธนบุรีได้ แล้วให้หลวงพิชัยอาสา เป็นทัพหน้ายกขึ้นไปตีค่ายโพธิ์สามต้นได้สำเร็จ ครั้นเมื่อพระเจ้าตากได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้หลวงพิชัยอาสาเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ ทหารเอกราชองครักษ์  
        ตลอดระยะเวลาที่ทำสงครามปราบชุมนุมต่าง ๆ เพื่อรวมไทยให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น หลวงพิชัยอาสาหรือเจ้าหมื่นไวยวรนาถ ได้ถือดาบออกหน้าทหารอย่างกล้าหาญสู้อย่างเต็มความ สามารถ จนได้เลื่อนเป็นพระยาสีหราชเดโช และเป็นพระยาพิชัยได้ครองเมืองพิชัยในที่สุด       
        เมื่อพระยาพิชัยเป็นเจ้าเมืองพิชัยอยู่นั้น โปสุพลาได้ยกทัพลงมาตีเมืองพิชัย คราวนั้นพระยาพิชัย ได้ถือดาบสองมือ คุมทหารออกต่อสู้ป้องกันพม่าจนดาบหัก เป็นที่เลื่องลือจนได้นามว่า "พระยาพิชัยดาบหัก" ชีวิตราชการของพระยาพิชัยดาบหักน่าจะรุ่งเรือง และเป็นกำลังป้องกันบ้านเมือง ได้เป็นอย่างดีในแผ่นดินต่อมา หากแต่พระยาพิชัยดาบหักเห็นว่าตัวท่าน เป็นข้าหลวงเดิมของพระเจ้าตาก เกรงว่านานไปจะเป็นที่ระแวงของพระเจ้าแผ่นดิน และจะหาความสุขได้ยาก ประกอบกับมีความเศร้าโศกอาลัย ในพระเจ้าตากอย่างมาก จึงได้กราบทูลว่าจะขอตายตามสมเด็จพระเจ้าตาก ดังนั้นจึงได้ถูกประหารชีวิต เมื่ออายุได้ 41 ปี พระยาพิชัยดาบหัก เป็นต้นตระกูล วิชัยขันธะ

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

            กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นนักรบที่สามารถและเป็นกำลังของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในการกอบกู้อิสรภาพ และยังทรงเป็นกำลังสำคัญของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในการปกป้องประเทศ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
กรมพระราชวังบวรฯ

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์  กรุงเทพฯ

           กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท มีพระนามเดิมว่า บุญมา เป็นพระอนุชาร่วมพระราชชนกชนนี กับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติใน พ.ศ. 2286 ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้รับราชการตำแหน่งนายสุจินดามหาดเล็กหุ้มแพร ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวสุริยามรินทร์ ภายหลังกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 แล้ว ได้ไปอยู่ที่เมืองชลบุรี ครั้นได้ทราบข่าวว่าพระยาตาก มาตั้งมั่นรวบรวมผู้คนอยู่ที่เมืองจันทบุรี จึงพาผู้คนไปเป็นพรรคพวก และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระมหามนตรี         
         เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระมหามนตรีได้ตามเสด็จ มารับราชการยังกรุงธนบุรี และได้แสดงความสามารถในราชการสงครามจนเป็นที่ประจักษ์ หลังจากศึกปราบชุมนุมเจ้าพิมายใน พ.ศ. 2311 จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอนุชิตราชา จางวางพระตำรวจฝ่ายซ้าย ต่อมาใน พ.ศ. 2313 ก่อนหน้าการปราบชุมนุมเจ้าพระฝางและหัวเมืองพิษณุโลก พระยายมราชในขณะนั้นได้ถึงแก่กรรม พระยาอนุชิตราชาจึงได้เลื่อนเป็นที่พระยายมราช จากนั้นเมื่อเสร็จศึกหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช อยู่ครองเมืองพิษณุโลก บังคับบัญชาการป้องกันพระราชอาณาจักรทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ ในช่วงหลังได้มีราชการสงครามครั้งสำคัญอีก 2 ครั้งคือ ที่เมืองเวียงจันทน์ ใน พ.ศ. 2321 และที่กัมพูชาอันเป็นศึกในช่วงสุดท้ายที่เกิดขึ้นเวลาเดียวกับที่กรุงธนบุรีเกิดการจลาจล เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกปราบดาภิเษกแล้ว ได้ทรงดำรงตำแหน่งเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และได้ทิวงคต เมื่อ พ.ศ. 2346

เจ้าพระยาจักรี (แขก)
พระยาจักรี (แขก)
ภาพวาด พระยาจักรี (แขก)

  เมื่อกรุงศรีอยุธยาใกล้แตก เจ้าพระยาจักรี (แขก) ข้าราชการชาวมุสลิม ซึ่งขณะนั้นเป็นหลวงนายศักดิ์ ชื่อเดิม "หมุด" ไปราชการที่จันทบุรี หลังจากพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว จึงตกค้างอยู่ ณ เมืองจันทบุรี และได้มาเฝ้าถวายตัว กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รับราชการงานทั้งปวง ด้วยเป็นข้าราชการเก่า รู้ขนบธรรมเนียมอย่างดี นอกจากนั้น ยังเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นแม่ทัพไปตีเมืองต่างๆ ที่ไม่ยอมอ่อนน้อมในคราวปราบชุมนุมต่างๆ รวมทั้งเมืองนครศรีธรรมราชด้วย เจ้าพระยาจักรี (แขก) ถึงแก่อสัญกรรมในปีเถาะ พ.ศ. 2314

ข้อพิจารณา

ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน

          ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน เป็นเรื่องสั้นอิงประวัติศาสตร์ ที่แต่งโดยพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน "เพลินจิตต์รายสัปดาห์" โดยสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ชุด "วิจิตรวรรณกรรม" เมื่อ ประมาณ พ.ศ. 2480 กล่าวถึงประเด็นใหม่ทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับการปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ในช่วงปลายรัชกาลกรุงธนบุรี ว่าแท้ที่จริงสมเด็จพระเจ้าตากสินมิได้ถูกสำเร็จโทษที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ปากคลองบางกอกใหญ่ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2325 ตามหลักฐานในพระราชพงศาวดาร แต่ได้ลักลอบเสด็จออกไปประทับที่อื่น โดยได้สับเปลี่ยนตัวกับพระญาติ ชื่อนายมั่น ซึ่งมีรูปพรรณใกล้เคียงกับพระองค์ เป็นผู้ถูกสำเร็จโทษแทน ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากสินพระองค์จริงได้เสด็จสวรรคตหลังจากนั้นอีก 3 ปี เนื่องจากถูกลอบทำร้าย
หนังสือรวมเรื่องสั้น ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2544
หนังสือรวมเรื่องสั้น ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2544
          หลวงวิจิตรวาทการ เขียนถึงที่มาของเรื่องสั้นเรื่องนี้ไว้ตอนต้นของเรื่องว่า เกิดขึ้นระหว่างที่ท่านทำงานเป็นบรรณารักษ์อยู่ที่หอสมุดแห่งชาติได้ประมาณ 6 เดือน และเกิดเหตุการณ์ลึกลับที่หอเอกสารเก่าเกี่ยวกับช่วงปลายรัชกาลของพระเจ้ากรุงธนบุรี จนทำให้ยามเฝ้าหอสมุดลาออกจากงานหลายคน ท่านตัดสินใจมานอนเฝ้าที่หอสมุดด้วยตนเองเพื่อพิสูจน์ความจริง และคืนหนึ่งท่านก็ได้แรงบันดาลใจจากสิ่งลึกลับ ให้เขียนเรื่องสั้นนี้ขึ้นด้วยลายมือของตัวเอง ตามคำบอกเล่าของสิ่งลึกลับนั้น
          ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธนรวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น ชื่อ "รวมเรื่องสั้น ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน" โดยสำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์ เมื่อ พ.ศ. 2544 โดยเป็นการตีพิมพ์ครั้งที่ 6 ประกอบด้วยเรื่องสั้นอิงประวัติศาสตร์ ของหลวงวิจิตรวาทการ จำนวน 40 เรื่อง แบ่งเป็นสองเล่ม เล่มละ 20 เรื่อง ชื่อชุด "ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน" และ "ครุฑดำ"

การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

          การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์เป็นวิธีการประหารพระราชวงศ์ไทยโดยการใช้ท่อนจันทน์เป็นอุปกรณ์ วิธีการดังกล่าวไม่มีการปฏิบัติอีกต่อมาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้เลิกเสียอย่างเป็นทางการตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ในรัชกาลต่อมา ซึ่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้การประหารชีวิตบุคคลทุกชนชั้นกระทำโดยการตัดศีรษะ

ประวัติ

          การสำเร็จโทษด้วนท่อนจันทน์เป็นการประหารชีวิตพระราชวงศ์ซึ่งมีบัญญัติไว้ในมาตรา 176 แห่งกฎมนเทียรบาล กฎหมายตราสามดวงฉบับชำระในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ว่า
           “ถ้าแลโทษหนักถึงสิ้นชีวิตไซร้ ให้ส่งแก่ทะลวงฟันหลังแลนายแวงหลังเอาไปมล้างในโคกพญา นายแวงนั่งทับตักขุนดาบ ขุนใหญ่ไปนั่งดู หมื่นทะลวงฟันกราบสามคาบ ตีด้วยท่อนจันทน์แล้วเอาลงขุม นายแวงทะลวงฟันผู้ใดเอาผ้าทรงแลแหวนทองโทษถึงตาย เมื่อตีนั้นเสื่อขลิบเบาะรอง”
          กฎมนเทียรบาลเช่นว่านี้จะประกาศใช้เมื่อใดเป็นครั้งแรกยังคงเป็นที่ถกเกียงกันอยู่ในขณะนี้
           อย่างไรก็ดี ในบานแผนกของกฎมนเทียรบาลฉบับที่เก่าที่สุดปรากฏความว่า "ศุกมัสดุ ศักราช 720 วันเสาร์ เดือนห้า ขึ้นหกค่ำ ชวดนักษัตรศก สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีบรมไตรโลกนาถ... (ข้อความต่อไปเกี่ยวกับว่า ทรงประกาศใช้กฎหมายดังต่อไปนี้) " ศักราชดังกล่าวเป็นจุลศักราช
          ปรามินทร์ เครือทอง ผู้เขียนหนังสือ "สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์" ได้ตรวจสอบพระราชพงศาวดารต่าง ๆ ปรากฏปีเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแตกต่างดังต่อไปนี้
  1.  พระราชวงศาวดารฉบับพิมพ์ 2 เล่ม (ฉบับหมอบรัดเล) : เสด็จขึ้นทรงราชย์ จ.ศ. 796 (พ.ศ. 1977)
          2.  พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา : เสด็จขึ้นทรงราชย์เมื่อปีขาล จ.ศ. 796 (พ.ศ. 1977)
          3. พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ : เสด็จขึ้นทรงราชย์เมื่อปีมะโรง จ.ศ. 810 (พ.ศ. 1991)
          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า "ข้าพเจ้าเชื่อว่าศักราชอย่างลงไว้ในฉบับหลวงประเสริฐนั้นถูก..." ในกรณีนี้ ปี จ.ศ. ที่ระบุไว้ในบานแผนกได้แก่ จ.ศ. 720 ก่อนสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นทรงราชย์เก้าสิบปี (จ.ศ. 810) ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแก้ว่า น่าจะเป็นเพราะอาลักษณ์เขียนผิด โดยเขียนเลข 8 เป็นเลข 7 ที่ถูกคือ จ.ศ. 820  ทั้งนี้ หากนับตามปีปฏิทินแล้ว จ.ศ. 720 ตรงกับปีจอ ซึ่งในบานแผนกว่าปีชวด และปีชวดจะตรงกับ จ.ศ. 722
          ส่วนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า น่าจะเป็นเพราะอาลักษณ์เขียนผิดเช่นกัน แต่ที่เขียนผิดคือเลข 0 ที่ถูกต้องเป็น 2 อันได้แก่ จ.ศ. 722 ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง)
          ปรามินทร์ เครือทอง เชื่อว่า ปีที่ระบุในบานแผนกน่าจะเป็นปีรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ไม่น่าใช่ปีรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เนื่องจากการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ได้มีมาก่อนรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแล้ว โดยปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาดังต่อไปนี้
          “ศักราช 744 ปีจอ จัตวาศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ 13 ปี จึงเจ้าทองจันทร์ ราชบุตร พระชนม์ได้ 15 พรรษา ขึ้นเสวยราชสมบัติ 7 วัน สมเด็จพระราเมศวรเสด็จลงมาแต่เมืองลพบุรี เข้าในพระราชวังได้ กุมเอาเจ้าทองจันทร์ได้ให้พิฆาตเสียวัดโคกพระยา แล้วพระองค์ได้เสวยราชสมบัติ”
          หากสรุปเอาตามพระบรมราชวินิจฉัยและความคิดเห็นของปรามินทร์ เครือทองข้างต้น ก็จะได้ว่ากฎมนเทียรบาลอันกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์นั้นประกาศใช้เป็นครั้งแรกในรัชกาลสมเด็จพระราชาธิบดีที่ 1

ความผิดและผู้กระทำความผิดอันระวางโทษนี้

          มาตรา 176 ของกฎมนเทียรบาล ในกฎหมายตราสามดวง บัญญัติไว้ว่า "ถ้าแลโทษหนักถึงสิ้นชีวิตไซร้ ให้ส่งแก่ทะลวงฟันหลังและนายแวงหลังเอาไปมล้างในโคกพญา..." โดยมิได้ระบุรายละเอียดโทษดังกล่าวไว้ ทั้งนี้ ในกฎมนเทียรบาลเองมีบัญญัติข้อปฏิบัติ ข้อห้าม และข้อกำหนดโทษสำหรับพระราชวงศ์ตลอดจนนางสนมกรมในไว้ โดยโทษมีตั้งแต่ระดับโบย จำ เนรเทศ และประหารชีวิต ส่วนข้อปฏิบัติและข้อห้ามนั้นส่วนใหญ่เพื่อป้องกันความไม่เหมาะสมทางเพศ เช่น การพูดจา ไปมาหาสู่ และ/หรือมีสัมพันธ์กับนางสนมกรมใน นอกจากนี้ ในส่วนเฉพาะสำหรับพระราชกุมารยังมีข้อห้ามอื่น ๆ เพื่อป้องกันการกบฏต่อพระราชบัลลังก์อีกด้วย เป็นต้นว่า มาตรา 77 ห้ามมิให้ขุนนางที่มีศักดินาตั้งแต่แปดร้อยถึงหนึ่งหมื่นไร่ไปมาหาสู่กับพระราชโอรสและ/หรือพระราชนัดดา หากขุนนางใดละเมิดฝ่าฝืนต้องระวางโทษประหารชีวิต
           อย่างไรก็ดี ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ผู้รับโทษประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์นี้มักเป็นพระราชวงศ์ที่ต้องโทษทางการเมือง เป็นต้นว่า มีการชิงพระราชบัลลังก์ และผู้กระทำการดังกล่าวสำเร็จจะสั่งให้ประหารพระมหากษัตริย์พระองค์เดิม ตลอดจนพระราชวงศ์ และบุคคลใกล้ชิดทั้งปวงของพระมหากษัตริย์ดังกล่าวอีกด้วย เพื่อป้องกันความสั่นคลอนของพระราชบัลลังก์ในภายหลัง อีกกรณีหนึ่งคือการที่พระมหากษัตริย์สิ้นพระชนม์และมีพระราชบุตรทรงอยู่ในพระราชสถานะที่จะเสด็จขึ้นทรงราชย์ได้ แต่มีบุคคลที่สามต้องการพระราชบัลลังก์เช่นกัน จึงจำเป็นต้องมีการกำจัดพระราชบุตรคนดังกล่าวตลอดจนผู้เกี่ยวข้องไปให้พ้นทาง

กระบวนการสำเร็จโทษ

บุคลากร

          มาตรา 176 ของกฎมนเทียรบาล ในกฎหมายตราสามดวง บัญญัติไว้ว่า "ถ้าแลโทษหนักถึงสิ้นชีวิตไซร้ ให้ส่งแก่ทะลวงฟันหลังและนายแวงหลังเอาไปมล้างในโคกพญา นายแวงนั่งทับตักขุนดาบ ขุนใหญ่ไปนั่งดู..."

ทะลวงฟัน

          มีบัญญัติไว้ในกฎหมายตราสามดวง ส่วนพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร หัวเมืองว่า "หมื่นทะลวงฟัน" มีหน้าที่เป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยและหน่วยจู่โจม ซึ่งในการประหารพระราชวงศ์ด้วยท่อนจันทน์นี้ หมื่นทะลวงฟันมีหน้าที่เป็นเพชฌฆาต

นายแวงและขุนดาบ

          "นายแวง" และ "ขุนดาบ" เป็นชื่อตำแหน่งข้าราชการระดับหนึ่งในสมัยโบราณมีหน้าที่ล้อมวงพระมหากษัตริย์เพื่อถวายการอารักขา และมีหน้าที่ประสานกับชาวพนักงานฝ่ายอื่น ๆ เพื่อให้การดังกล่าวเป็นไปโดยเรียบร้อย ซึ่งนายแวงมียศสูงกว่าขุนดาบ โดยในมาตรา 30 แห่งกฎมนเทียรบาล กฎหมายตราสามดวง บัญญัติว่า "...ถ้าเสด็จขึ้นเขาแลเข้าถ้ำ ขึ้นปรางค์เข้าพระวิหาร ให้ขุนดาบเข้าค้น แล้วให้ตำรวจในเข้าค้น แล้วให้นายแวงเข้าค้น แล้วให้กันยุบาตรค้นเล่าเป็นสี่ท่าจึ่งเชิญเสด็จ เมื่อเสด็จตำรวจในแนมสองข้าง นายแวงถัด ขุนตำรวจขุนดาบอยู่แต่ข้างล่าง ครั้นเสด็จถึงใน ตำรวจในอยู่บานประตูข้างใน นายแวงอยู่บานประตูข้างนอก ขุนดาบอยู่เชิงบันไดเชิงเขา..."
          ทั้งนี้ คำว่า "แวง" พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 บัญญัติความหมายว่า "แวง 1 ว. ยาว, แถว; เรียกเส้นลองจิจูดว่า เส้นแวง. (ข.). แวง 2 น. ดาบ. ...แวง 4 ก. ล้อมวง."
          สำหรับการประหารพระราชวงศ์ด้วยท่อนจันทน์ นายแวงและขุนดาบมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยในมณฑลพระราชพิธีประหาร โดยเฉพาะนายแวงยังมีหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องโทษประหารด้วยท่อนจันทน์ไปยังมณฑลดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งในการควบคุมตัวดังกล่าว มาตรา 175 ยังให้อำนาจนายแวงสามารถจับกุมผู้มีพฤติกรรมต้องสงสัยได้ทันที ทั้งนี้ บัญญัติไว้ว่า "เมื่อไปนั้น ถ้ามีเรือผู้ใดเข้าไปผิดประหลาดอัยการนายแวง ท้าวพระยาห้วเมือง มนตรีมุข ลูกขุนแต่นาหนึ่งหมื่นถึงนาหกร้อยผู้ใดส่งลูกเธอก็ดี ให้ของส่งของฝากก็ดี อัยการนายแวงได้กุมเอาตัวเป็นขบถตามโทษนุโทษ"

ขุนใหญ่

          คำว่า "ขุนใหญ่" หมายถึง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2540 ให้ความหมายของคำว่า "ขุน" ไว้ดังนี้ "ขุน 1 น. ผู้เป็นใหญ่, หัวหน้า, บรรดาศักดิ์ข้าราชการรองจากหลวงลงมา เช่น ขุนวิจิตรมาตรา; เรียกหมากรุกตัวสำคัญที่สุด. ว. ใหญ่ เช่น ขุนเขา.ขุนนาง (โบ) น. ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร ตามปรกติต้องมีศักดินาตั้งแต่ 400 ขึ้นไป."
ขุนใหญ่ในการประหารพระราชวงศ์ด้วยท่อนจันทน์นี้ได้แก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นประธานในพระราชพิธีสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ในกรณีที่ไม่เสด็จพระราชดำเนินไปด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้ ขุนใหญ่มีหน้าที่ไปกำกับการพระราชพิธีต่างพระเนตรพระกรรณเพื่อให้การเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีหน้าที่อ่านประกาศพระบรมราชโองการพระราชทานโทษประหารชีวิตในมณฑลพระราชพิธีก่อนจะเริ่มประหารด้วย

สถานที่

          สถานที่สำเร็จโทษนั้นจะใช้ที่วัดโคกพญา หรือ โคกพระยาซึ่งยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าจะใช้โคกพญาเดียวกันกับในมนเทียรบาล

ขั้นตอน

          วิธีการนั้นถ้าเป็นแบบปรกติจะต้องใส่ถุงแดงให้เรียบร้อยก่อน เจ้าหน้าจึงอัญเชิญไปยังลานพิธี แล้วปลงพระชนม์ตามพระราชอาญา นอกจากนี้ยังมีการสำเร็จโทษด้วยวิธีอื่น ๆ อีกเช่น ใส่หลุมอดอาหาร ฝังทั้งเป็น ถ่วงน้ำ ตัดพระเศียร และวิธีพิสดาร ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้นผู้เขียนเชื่อว่าพระองค์ถูกสำเร็จโทษโดยการตัดพระเศียร

รายพระนามผู้ทรงถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

  • สมเด็จพระเจ้าทองลัน พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 4 แห่งกรุงศรีอยุธยา
  • พระรัษฎาธิราช พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 12 แห่งกรุงศรีอยุธยา
  • พระศรีเสาวภาคย์ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงศรีอยุธยา
  • สมเด็จพระเชษฐาธิราช พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 22 แห่งกรุงศรีอยุธยา
  • สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 23 แห่งกรุงศรีอยุธยา
  • สมเด็จเจ้าฟ้าไชย พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 25 แห่งกรุงศรีอยุธยา
  • สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 26 แห่งกรุงศรีอยุธยา
  • เจ้าพระขวัญ พระราชโอรสในสมเด็จพระเพทราชาที่ประสูติแต่กรมหลวงโยธาทิพ
  • เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
  • พระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิด พระราชบุตรในกรมพระราชวังบวรเสนาพิทักษ์
  • กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี (เจ้าสามกรม) พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
  • สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่าพระองค์ถูกตัดพระเศียร)
  • พระองค์เจ้าชายอรนิกา พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
  • สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าสุพันธวงศ์ กรมขุนกษัตรานุชิต พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (รัชสมัยรัชกาลที่ 2)
  • เจ้าจอมมารดาสำลี พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเป็นพระมเหสีในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ วังหน้าในรัชกาลที่ 2
  • พระองค์เจ้าหญิงกระษัตรี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ (หม่อมไกรสร) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (เป็นพระราชวงศ์องค์สุดท้ายที่ถูกสำเร็จโทษด้วยวิธีนี้)

ความเห็นของนักวิชาการ

  • ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการไทย ให้ความเห็นว่า
1.   "การประหารเจ้านายด้วยพิธีกรรมอันอลังการดังที่กล่าวนี้ไม่รู้จะแปลเป็นภาษาฝรั่งว่าอย่างไร อังกฤษมีคำที่ผูกจากละตินว่า regicide แปลตามตัวก็คือ "สังหารพระเจ้าแผ่นดิน" แล้วฝรั่งก็ใช้คำนี้ในความหมายทื่อ ๆ ตามนั้น เช่น เอามีดจิ้มให้ตายอย่างที่แมคเบธทำ (แม็กเบท (MacBeth) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งสก็อตแลนด์ โดยเป็นตัวละครในอุปรากรเรื่อง "แม็กเบท" ของวิลเลียม เชกสเปียร์ ชื่ออุปรากรนี้ภาษาไทยว่า "แม็คเบธ...ผู้ทรยศ") หรือเอาไปบั่นพระเศียรเสียด้วยกิโยตีน ซึ่งไม่ได้เป็นพระราชกิโยตีนด้วย เพราะกิโยตีนอันนั้นใช้ประหารได้ตั้งแต่โสเภณียันพระราชา หรือเอาไปขังไว้ในหอคอยรอให้ตายโดยดี ครั้นไม่ตายก็เลยเอาหมอนอุดจมูกให้ตายเสีย เป็นต้น ฉะนั้นถ้าพูดถึงการประหารเจ้านายของไทยว่าเป็น regicide จึงทำให้ฝรั่ง (และคนไทยที่ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ไทย) เข้าใจไขว้เขวไปหมด มันไม่ใช่อย่างนั้นครับ ไม่ใช่อย่างนั้น"
2.   "การประหารเจ้านายด้วยพิธีกรรมอันซับซ้อนแสดงให้เห็นว่าคนไทยแต่ก่อนมองพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นสถาบันอย่างชัดแจ๋วเลยทีเดียว จะชิงราชบัลลังก์ขจัดพระเจ้าแผ่นดินออกไปไม่ใช่แค่เอาบุคคลที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินไปฆ่าง่าย ๆ อย่างนั้น เอาไปฆ่านั้นฆ่าแน่ แต่จะฆ่าบุคคลอย่างไรจึงไม่กระทบต่อสถาบัน เพราะเขาแย่งชิงราชบัลลังก์ ไม่ได้พิฆาตราชบัลลังก์ซึ่งต้องสงวนไว้ให้เขาขึ้นไปครองแทน ฉะนั้นเลือดเจ้าจึงตกถึงแผ่นดินไม่ได้ ต้องสวมถุงแดงไม่ให้ใครถูกเนื้อต้องตัวพระบรมศพ ใช้ท่อนจันทน์ในการประหาร ฯลฯ..."
3.   "จุดอ่อนที่สุดอย่างหนึ่งของสถาบันกษัตริย์นับแต่ต้นอยุธยาก็คือ ปัญหาการสืบราชสมบัติ คุณสมบัติเพียงประการเดียวของผู้มีสิทธิจะสืบราชสมบัติได้ก็คือความเป็นเชื้อพระวงศ์"
  • ปรามินทร์ เครือทอง นักวิชาการอิสระ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์" ให้ความเห็นว่า "คงจะเป็นการไม่ยุติธรรมหากเราเอาความรู้สึกปัจจุบันไปตัดสินกระบวนการทางการเมืองดังกล่าว เพราะภาพที่เราเห็นคือพ่อฆ่าลูก อาฆ่าหลาน พี่ฆ่าน้อง เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ในปัจจุบัน แต่หลายเหตุการณ์ในอดีตนั้นกลับชี้ให้เราเห็นว่า ผู้ที่ได้รับการละเว้นมักจะกลับคืนมาพร้อมที่จะ 'ฆ่า' เพื่อทวงบัลลังก์คืนเช่นกัน ดังนั้น จึงไม่มีการครอบครองพระราชอำนาจโดยปราศจากความหวาดระแวง สิ่งนี้เป็นเสมือนคำสาปที่อยู่คู่กับราชบัลลังก์สยามมาจนถึงรัชกาลที่ 7 ในสมัยรัตนโกสินทร์..."