รายการ

ประเทศไทยสมัยอาณาจักรอยุธยา

ประเทศไทยสมัยอาณาจักรอยุธยา

        อาณาจักรอยุธยาเป็นอาณาจักรโบราณของไทยร่วมสมัยกับสุโขทัย ซึ่งก็เป็นคนไทยปกครองเช่นกัน แต่ช่วงที่สุโขทัยรุ่งเรืองอาณาจักรอยุธยามีชื่อเรียกว่า แคว้นอโยธยา  ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปดังนี้
        ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 อาณาจักรไทยได้เกิดขึ้นหลายอาณาจักร เช่น สุโขทัย ล้านนา ล้านช้าง เป็นต้น แต่อาณาจักรเหล่านี้ ยังมีลักษณะเป็น “แว่นแคว้น” หรือ “เมือง” (เป็นกลุ่มเพียงไม่กี่เมือง) ที่รวมกันขึ้นมาตั้งเป็นอิสระ ยังมิได้มีอาณาจักใดอาณาจักรหนึ่ง มีอำนาจหรือมีลักษณะเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง

กำเนิดอาณาจักรอยุธยา

        อยุธยาถือกำเนิดขึ้นมาจากการรวมตัวของแว่นแคว้นสุพรรณบุรีและลพบุรี ทั้ง 2 แว่นแคว้นนี้เป็นศูนย์กลางของอำนาจในวงจำกัดในภาคกลางของประเทศไทย สุพรรณบุรีมีอำนาจทางซึกตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีเมืองเก่าหลายเมืองรวมอยู่ในกลุ่มนี้ เช่น นครชัยศรี ราชบุรี เพชรบุรี และน่าจะมีอิทธิพลลงไปทางใต้บริเวณนครศรีธรรมราช ส่วนลพบุรีมีอำนาจทางซีกตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
        ทั้งสุพรรณบุรีและลพบุรีมีมรดกทางประวัติศาสตร์สืบเนื่องมาจากสมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12 – 17 และอยู่ภายใต้อิทธิพลของขอมจากเมืองพระนครหลวงหรือกรุงศรียโสธรปุระในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 – 19 สมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 พ.ศ. 1545 – 1593 และเมื่ออำนาจขอมอ่อนแอลงหลังสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พ.ศ. 1724 – 1762  จากการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาและความเชื่อจากฮินดู-พราหมณ์ พุทธศาสนาแบบมหายาน กลายมาเป็นพุทธศาสนาแบบหินยาน (ลังกาวงศ์) รวมทั้งความปั่นป่วนทางการเมืองในเอเชีย อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในจีนจากราชวงศ์ซ้องมาสู่ราชวงศ์หยวน ทำให้มีการสถาปนาอาณาจักรในรูปแบบเริ่มแรกเป็นแว่นแคว้นขึ้นหลายอาณาจักร
อนุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทอง
อนุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทอง ผู้ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา
        เมื่อ พ.ศ. 1893 พระเจ้าอู่ทองได้สถาปนาอยุธยาขึ้น โดยตั้งขึ้นในเมืองเก่า “อโยธยา” ที่มีมาก่อน และเป็นเมืองที่อยู่ระหว่างกลางสุพรรณบุรีและลพบุรี ประวิติศาสตร์ช่วงแรกของอยุธยา เป็นเรื่องของการแก่งแย่งอำนาจของ 2 ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์อู่ทอง และราชวงศ์สุพรรณบุรี (อันเป็นฝ่ายของพระเชษฐาหรืออนุชา? ของพระมเหสีของพระเจ้าอู่ทอง) และจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสุพรรณบุรีในปี พ.ศ. 1952 ในสมัยของพระอินทราชาธิราชที่ 1 (พ.ศ. 1952 – 1967) ดังนั้นในครึ่งแรกของประวัติศาสตร์อยุธยา พ.ศ. 1893 – 2112 (ก่อนเสียกรุงให้แก่พม่าครั้งที่ 1) ที่มีกษัตริย์จาก 2 ราชวงศ์รวม 17 พระองค์นั้น จะมีกษัตริย์จากราชวงศ์อู่ทองเพียง 3 พระองค์ คือ พระรามาธิบดีที่ 1 พระราเมศวร และพระรามราชาธิราช
        ในช่วงแรกของอาณาจักรอยุธยา มีความพยายามที่จะขยายอำนาจออกไป โดยพยายามยึดอาณาจักของขอมที่พระนครหลวงหรือกรุงศรียโสธรปุระ ซึ่งทำสงคราม 3 ครั้งใหญ่ (พ.ศ. 1912, 1931 และ 1974) อันเป็นผลให้กัมพูชาอ่อนอำนาจลงและเสียกรุง ต้องย้ายเมืองหลวงให้ไกลออกไปอยู่พนมเป็ญ ในขณะเดียวกัน อยุธยาก็พยายามแผ่อำนาจไปทางเหนือ เข้าครอบครองอาณาจักรสุโขทัยได้สำเร็จ แต่ไม่สามารถจะยึดเชียงใหม่ (ล้านนา) ได้ถาวร ส่วนทางใต้อยุธยาก็สถาปนาอำนาจของตนได้มั่นคงเหนือนครศรีธรรมราชและพยายามมีอำนาจเหนือรัฐมลายู
        การขยายอำนาจของอยุธยา ทำให้เกิดการแข่งขันและขัดแย้งกับพม่า โดยเฉพาะการแย่งชิงกันมีอำนาจเหนือเชียงใหม่และอาณาจักรมอญ (ในพม่าตอนล่าง) ในพุทธศตวรรษที่ 22 อยุธยาต้องพ่ายแพ้แก่พม่า (พ.ศ. 2112) แต่ก็เพียงช่วงระยะเวลาอันสั้น และในพุทธศตวรรษที่ 23 ก็สามารถมีอำนาจเหนือบางส่วนของอาณาจักรมอญ เช่น เมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี อันใช้เป็นเมืองท่าเปิดออกสู่ด้านตะวันตกทางมหาสมุทรอินเดีย แต่ความพยายามของอยุธยาที่จะมีอำนาจเหนือเชียงใหม่และมอญนี้ ก็ทำให้มีการขัดแย้งกับพม่าเป็นประจำ อันทำให้อยุธยาถูกทำลายลงในปี พ.ศ. 2310 (เสียกรุงครั้งที่ 2)
อยุธยาเป็นเกาะซึ่งมีแม่น้ำสามสายล้อมรอบ ได้แก่ แม่น้ำป่าสักทางทิศเหนือ,แม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกและทิศใต้ และแม่น้ำลพบุรีทางทิศตะวันออก เดิมทีบริเวณนี้ไม่ได้มีสภาพเป็นเกาะ แต่สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงดำริให้ขุดคูเชื่อมแม่น้ำทั้งสามสาย เพื่อให้เป็นปราการธรรมชาติป้องกันข้าศึก ที่ตั้งกรุงศรีอยุธยายังอยู่ห่างจากอ่าวไทยไม่มากนัก ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้ากับชาวต่างประเทศ
แผนที่อาณาจักรอยุธยา
แผนที่อาณาจักรอยุธยา
มีการประเมินว่า ราว พ.ศ. 2143 กรุงศรีอยุธยามีประชากรประมาณ 300,000 คน และอาจสูงถึง 1,000,000 คน ราว พ.ศ. 2243 ทำให้เป็นหนึ่งในนครใหญ่ที่สุดของโลกขณะนั้น บางครั้งมีผู้เรียกกรุงศรีอยุธยาว่า "เวนิสแห่งตะวันออก"
ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาพื้นที่ที่เคยเป็นเมืองหลวงของไทยนั้น คือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตัวนครปัจจุบันถูกตั้งขึ้นใหม่ห่างจากกรุงเก่าไปไม่กี่กิโลเมตร
การขยายอาณาเขต
เมื่อถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 อยุธยาก็ถูกพิจารณาว่าเป็น ชาติมหาอำนาจแข็งแกร่งที่สุดในอุษาคเนย์แผ่นดินใหญ่ อยุธยาเริ่มครองความเป็นใหญ่โดยเริ่มจากการพิชิตราชอาณาจักรและนครรัฐทางเหนือ อย่างสุโขทัย กำแพงเพชรและพิษณุโลก ก่อนสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 15 อยุธยาโจมตีเมืองพระนคร (อังกอร์) ซึ่งเป็นมหาอำนาจของภูมิภาคในอดีต อิทธิพลของอังกอร์ค่อย ๆ จางหายไปจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และอยุธยากลายมาเป็นมหาอำนาจใหม่แทน
อย่างไรก็ดี ราชอาณาจักรอยุธยามิได้เป็นรัฐที่รวมเป็นหน่วยเดียวกัน หากเป็นการปะติดปะต่อกันของอาณาเขต (principality) ที่ปกครองตนเอง และประเทศราชที่สวามิภักดิ์ต่อพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาภายใต้ปริมณฑลแห่งอำนาจ (Circle of Power) หรือระบบมณฑล (mandala) ดังที่นักวิชาการบางฝ่ายเสนอ อาณาเขตเหล่านี้อาจปกครองโดยพระบรมวงศานุวงศ์กรุงศรีอยุธยา หรือผู้ปกครองท้องถิ่นที่มีกองทัพอิสระของตนเอง ที่มีหน้าที่ให้การสนับสนุนแก่เมืองหลวงยามสงคราม ก็ได้ อย่างไรก็ดี มีหลักฐานว่า บางครั้งที่เกิดการกบฏท้องถิ่นที่นำโดยเจ้าหรือพระมหากษัตริย์ท้องถิ่นขึ้น อยุธยาก็จำต้องปราบปราม
ด้วยไร้ซึ่งกฎการสืบราชสันติวงศ์และมโนทัศน์คุณธรรมนิยม (meritocracy) อันรุนแรง ทำให้เมื่อใดก็ตามที่การสืบราชสันติวงศ์เป็นที่พิพาท เจ้าปกครองหัวเมืองหรือผู้สูงศักดิ์ (dignitary) ที่ทรงอำนาจจะอ้างคุณความดีของตนรวบรวมไพร่พลและยกทัพมายังเมืองหลวงเพื่อกดดันตามข้อเรียกร้อง จนลงเอยด้วยรัฐประหารอันนองเลือดหลายครั้ง
ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 อยุธยาแสดงความสนใจในคาบสมุทรมลายู ที่ซึ่งมะละกาเมืองท่าสำคัญ ประชันความเป็นใหญ่ อยุธยาพยายามยกทัพไปตีมะละกาหลายครั้ง แต่ไร้ผล มะละกามีความเข้มแข็งทั้งทางการทูตและทางเศรษฐกิจ ด้วยได้รับการสนับสนุนทางทหารจากราชวงศ์หมิงของจีน ในต้นพุทธศตวรรษที่ 2แม่ทัพเรือเจิ้งเหอแห่งราชวงศ์หมิง ได้สถาปนาฐานปฏิบัติการแห่งหนึ่งของเขาขึ้นที่มะละกา เป็นเหตุให้จีนไม่อาจยอมสูญเสียตำแหน่งยุทธศาสตร์นี้แก่คนไทย ภายใต้การคุ้มครองนี้ มะละกาจึงเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นหนึ่งในคู่แข่งทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ของอยุธยา กระทั่งถูกโปรตุเกสพิชิตเมื่อ พ.ศ. 2054
การปกครอง
ช่วงแรกมีการปกครองคล้ายคลึงกับในสมัยสุโขทัย พระมหากษัตริย์มีสิทธิ์ปกครองโดยตรงในราชธานี หากทรงใช้อำนาจผ่านข้าราชการและขุนนางเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีระบบการปกครองภายในราชธานีที่เรียกว่า จัสตุสดมภ์ ตามการเรียกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อันได้แก่ กรมเวียง กรมวัง กรมคลัง และกรมนา
การปกครองนอกราชธานี ประกอบด้วย เมืองหน้าด่าน เมืองชั้นใน เมืองพระยามหานคร และเมืองประเทศราช โดยมีรูปแบบกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลางค่อนข้างมาก เมืองหน้าด่าน ได้แก่ ลพบุรี นครนายก พระประแดง และสุพรรณบุรี ตั้งอยู่รอบราชธานีทั้งสี่ทิศ ระยะเดินทางจากราชธานีสองวัน พระมหากษัตริย์ทรงส่งเชื้อพระวงศ์ที่ไว้วางพระทัยไปปกครอง แต่รูปแบบนี้นำมาซึ่งปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติอยู่บ่อยครั้ง เมืองชั้นในทรงปกครองโดยผู้รั้ง ถัดออกไปเป็นเมืองพระยามหานครหรือหัวเมืองชั้นนอก ปกครองโดยเจ้าเมืองที่สืบเชื้อสายมาแต่เดิม มีหน้าที่จ่ายภาษีและเกณฑ์ผู้คนในราชการสงครามและสุดท้ายคือเมืองประเทศราช พระมหากษัตริย์ปล่อยให้ปกครองกันเอง เพียงแต่ต้องส่งเครื่องบรรณาการมาให้ราชธานีทุกปี
ต่อมา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ พ.ศ. 1991-2031) ทรงยกเลิกระบบเมืองหน้าด่านเพื่อขจัดปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติ และขยายอำนาจของราชธานีโดยการกลืนเมืองรอบข้างเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชธานี สำหรับระบบจตุสดมภ์ ทรงแยกกิจการพลเรือนออกจากกิจการทหารอย่างชัดเจนให้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสมุหนายกและสมุหกลาโหมตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนชื่อกรมและชื่อตำแหน่งเสนาบดี แต่ยังคงไว้ซึ่งหน้าที่ความรับผิดชอบเดิม
ส่วนการปกครองส่วนภูมิภาคมีลักษณะเปลี่ยนไปในทางการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางให้มากที่สุด โดยให้เมืองชั้นนอกเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของราชธานี มีระบบการปกครองที่ลอกมาจากราชธานี มีการลำดับความสำคัญของหัวเมืองออกเป็นชั้นเอก โท ตรี สำหรับหัวเมืองประเทศราชนั้นส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมากนัก หากแต่พระมหากษัตริย์จะมีวิธีการควบคุมความจงรักภักดีต่อราชธานีหลายวิธี เช่น การเรียกเจ้าเมืองประเทศราชมาปรึกษาราชการ หรือมาร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือถวายพระเพลิงพระบรมศพในราชธานี การอภิเษกสมรสโดยการให้ส่งราชธิดามาเป็นสนม และการส่งข้าราชการไปปกครองเมืองใกล้เคียงกับเมืองประเทศราชเพื่อคอยส่งข่าว ซึ่งเมืองที่มีหน้าที่ดังกล่าว เช่น พิษณุโลกและนครศรีธรรมราช
ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา (ครองราชย์ พ.ศ. 2231-2246) ทรงกระจายอำนาจทางทหารซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับสมุหกลาโหมแต่ผู้เดียวออกเป็นสามส่วน โดยให้สมุหกลาโหมเปลี่ยนไปควบคุมกิจการทหารในราชธานี กิจการทหารและพลเรือนของหัวเมืองทางใต้ ให้สมุหนายกควบคุมกิจการพลเรือนในราชธานี กิจการทหารและพลเรือนของหัวเมืองทางเหนือ และพระโกษาธิบดี ให้ดูแลกิจการทหารและพลเรือนของหัวเมืองตะวันออก ต่อมา สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (2275-2301) ทรงลดอำนาจของสมุหกลาโหมเหลือเพียงที่ปรึกษาราชการ และให้หัวเมืองทางใต้ไปขึ้นกับพระโกษาธิบดีด้วย
นอกจากนี้ ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2112-2133) ยังได้จัดกำลังป้องกันราชธานีออกเป็นสามวัง ได้แก่ วังหลวง มีหน้าที่ป้องกันพระนครทางเหนือ วังหน้า มีหน้าที่ป้องกันพระนครทางตะวันออก และวังหลัง มีหน้าที่ป้องกันพระนครทางตะวันตก ระบบดังกล่าวใช้มาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พัฒนาการทางเศรษฐกิจ
คนไทยไม่เคยขาดแคลนเสบียงอาหารอันอุดมสมบูรณ์ ชาวนาปลูกข้าวเพื่อการบริโภคของตนเองและเพื่อจ่ายภาษี ผลผลิตส่วนที่เหลืออยู่ใช้สนับสนุนสถาบันศาสนา อย่างไรก็ดี ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 ถึง 15 มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสังเกตในการปลูกข้าวของไทย บนที่สูง ซึ่งปริมาณฝนไม่เพียงพอ ต้องได้รับน้ำเพิ่มจากระบบชลประทานที่ควบคุมระดับน้ำในที่นาน้ำท่วม คนไทยหว่านเมล็ดข้าวเหนียวที่ยังเป็นสินค้าโภคภัณฑ์หลักในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือปัจจุบัน แต่ในที่ราบน้ำท่วมถึงเจ้าพระยา ชาวนาหันมาปลูกข้าวล้ายชนิด ที่เรียกว่า ข้าวขึ้นน้ำหรือข้าวนาเมือง (floating rice) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ยาวเรียว ไม่เหนียวที่รับมาจากเบงกอล ซึ่งจะเติบโตอย่างรวดเร็วทันพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำในที่ลุ่ม
สายพันธุ์ใหม่นี้เติบโตอย่างง่ายดายและอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีผลผลิตส่วนเกินที่สามารถขายต่างประเทศได้ในราคาถูก ฉะนั้น กรุงศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ใต้สุดของที่ราบน้ำท่วมถึง จึงกลายเป็นศูนย์กลางกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ภายใต้การอุปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ แรงงานกอร์เวขุดคลองซึ่งจะมีการนำข้าวจากนาไปยังเรือของหลวงเพื่อส่งออกไปยังจีน ในขบวนการนี้ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา หาดโคลนระหว่างทะเลและดินแน่นซึ่งถูกมองว่าไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัย ถูกถมและเตรียมดินสำหรับเพาะปลูก ตามประเพณี พระมหากษัตริย์มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อประสาทพรการปลูกข้าว
แม้ข้าวจะอุดมสมบูรณ์ในกรุงศรีอยุธยา แต่การส่งออกข้าวก็ถูกห้ามเป็นบางครั้งเมื่อเกิดทุพภิกขภัย เพราะภัยพิบัติธรรมชาติหรือสงคราม โดยปกติขาวถูกแลกเปลี่ยนกับสินค้าฟุ่มเฟือยและอาวุธยุทธภัณฑ์จากชาวตะวันตก แต่การปลูกข้าวนั้นมีเพื่อตลาดภายในประเทศเป็นหลัก และการส่งออกข้าวนั้นเชื่อถือไม่ได้อย่างชัดเจน การค้ากับชาวยุโรปคึกคักในคริสต์ศตวรรษที่ 17 อันที่จริง พ่อค้ายุโรปขายสินค้าของตน ซึ่งเป็นอาวุธสมัยใหม่ เช่น ไรเฟิลและปืนใหญ่ เป็นหลัก กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากป่าในแผ่นดิน เช่น ไม้สะพาน หนังกวางและข้าว โทเม ปิเรส นักเดินเรือชาวโปรตุเกส กล่าวถึงในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ว่า กรุงศรีอยุธยานั้น "อุดมไปด้วยสินค้าดี ๆ" พ่อค้าต่างชาติส่วนมากที่มายังกรุงศรีอยุธยาเป็นชาวยุโรปและชาวจีน และถูกทางการเก็บภาษี ราชอาณาจักรมีข้าว เกลือ ปลาแห้ง เหล้าโรง (arrack) และพืชผักอยู่ดาษดื่น
การค้ากับชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นชาวฮอลันดาเป็นหลัก ถึงระดับสูงสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 17 กรุงศรีอยุธยากลายมาเป็นจุดหมายปลายทางหลักสำหรับพ่อค้าจากจีนและญี่ปุ่น ชัดเจนว่า ชาวต่างชาติเริ่มเข้ามามีส่วนในการเมืองของราชอาณาจักร พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาวางกำลังทหารรับจ้างต่างด้าวซึ่งบางครั้งก็เข้าร่วมรบกับอริราชศัตรูในศึกสงคราม อย่างไรก็ดี หลังจากการกวาดล้างชาวฝรั่งเศสในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ผู้ค้าหลักของกรุงศรีอยุธยาเป็นชาวจีน ฮอลันดาจากบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ยังมีการค้าขายอยู่ เศรษฐกิจของอาณาจักรเสื่อมลงอย่างรวดเร็วในคริสต์ศตวรรษที่ 18
มาตราเงินที่สำคัญในสมัยอยุธยา
เบี้ย เงินปลีกที่มีค่าน้อยที่สุดในระบบเงินตรา เป็นเปลือกหอยน้ำเค็มชนิดหอยเบี้ยที่มีอยู่หลายชนิด แต่ที่นำมาใช้เป็นเงินตราเป็นหอยเบี้ยชนิดจั่นและเบี้ยนาง มีมากบริเวณหมู่เกาะปะการังมัลดีฟ ทางใต้ของเกาะซีลอน พ่อค้าชาวต่างประเทศเป็นผู้นำมาขายในอัตรา 600 ถึง 1,000 เบี้ยต่อเงินเฟื้องหนึ่ง ขึ้นอยู่กับความต้องการและปริมาณเบี้ยที่มีอยู่
เมื่อเบี้ยเป็นเงินตราที่มีค่าต่ำที่สุด เบี้ยจึงเป็นเงินตราในระบบเศรษฐกิจที่ทุกคนสามารถมีและ เป็นเจ้าของได้ คำว่า เบี้ยจึงปรากฏเป็นสำนวนในภาษาไทยจำนวนมาก และต่างมีความหมายว่าเป็นเงินตราทั้งสิ้น เมื่อเบี้ยเป็นเงินสามัญที่ทุกคนรู้จักและมีได้ กฎหมายจึงกำหนดการ ปรับเบี้ยจากผู้ที่ทำผิด เบี้ยจึงเป็นชนิดของเงินตราที่สำคัญ จำเป็นต้องใช้มากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองที่พึ่งเงินตราชนิดราคาสูงๆ น้อยมาก แต่เบี้ยที่เป็นเปลือกหอย เป็นสิ่งที่ไม่ทนทานมักแตกหักกะเทาะเสียหายได้ง่ายความต้องการหอยเบี้ยจึงมีอยู่เสมอ ดังนั้น ในบางครั้งที่ไม่มีพ่อค้านำหอยเบี้ยเข้ามาขายจนเกิดขาดแคลนเบี้ยขึ้น ทางการจึงต้องจัดทำเงิน ตราชั้วคราวขึ้นใช้แทน โดยทำด้วยดินเผามีขนาดเล็ก ตีตรารูปกินรี ราชสีห์ ไก่ และกระต่ายขึ้น ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ. 2276 - 2301) เรียกว่า ประกับ
พดด้วง เป็นเงินตราที่มีค่าสูง ทำจากโลหะเงิน ซึ่งได้มาจากการค้าต่างประเทศ บางตามมาตราน้ำหนักของไทยที่มีมูลค่าเหมาะสมแก่มาตรฐานการครองชีพในแต่ละรัชกาล ได้แก่ ตำลึง บาท กึ่งบาท สลึง เฟื้อง และไพ สำหรับชนิดหนักตำลึงนั้นเนื่องจากมีมูลค่าสูงเกินไป ส่วนชนิดราคากึ่งบาทนั้นมีมูลค่าไม่เหมาะสมแก่ค่าครองชีพ ไม่สะดวกกับการใช้ จึงผลิตขึ้นน้อยมาก และมีเฉพาะในสมัยอยุธยาตอนต้นเท่านั้น
 
พดด้วง
พดด้วง
 
เบี้ย
เบี้ย
     การผลิตเงินพดด้วงเป็นการดำเนินของทางการทั้งหมดนับตั้งแต่ชั่งน้ำหนักเศษเงิน ตัดแบ่ง นำไปหลอม เป็นรูปทรงกลมยาวเหมือนลูกสมอจีนแล้ว จึงทุบปลายทั้งสองข้างเข้าหากัน ใช้สิ่วบาก ที่ขาทั้งสองข้างให้เห็นเนื้อเงินภายใน ซึ่งต่อมารอยบากนี้จึงค่อยๆ เล็กลงจนหายไป แต่เกิดรอยที่เรียกว่า รอยเม็ดข้าวสารขึ้นมาแทน และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อให้เกิดขึ้นโดยยอมรับเงินพดด้วงว่าเป็น เงินตราในหมู่ประชาชน ทั้งเป็นการแสดงถึงความถูกต้องของน้ำหนักและอำนาจหน้าที่ในการผลิตเงินตรา จึงมีการประทับตราของทางการลงบนพดด้วงทุกเม็ดมาตั้งแต่ต้น
พดด้วงชนิดหนักหนึ่งบาทสมัยอยุธยาประทับตราสองดวง ด้านบนเป็นตราจักรสัญลักษณ์ของพระนารายณ์ ใช้แทนองค์พระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเป็นสมมุติเทพของพระนารายณ์ ส่วนด้านหน้าประทับตรารัชกาลที่ผลิตเงินพดด้วงขึ้น เท่าที่พบนั้นปรากฏว่ามีตราทั้ง 2 ประมาณ 20 แบบ น้อยกว่าพระมหากษัตริย์ที่ครองกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีถึง 33 พระองค์มากเนื่องจากหลายรัชกาลที่ครองราชย์สมบัติในระยะสั้น ๆ หรือมีพระชันษาน้อย ยังไม่ทันโปรดให้ผลิตเงินตราประจำรัชกาลขึ้นก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน นอกจากนี้ยังมีเพียงตราพุ่มข้าวบิณฑ์เพียงตราเดียวที่ทราบจากบันทึกของ เดอ ลา ลูแบร์ ผู้เข้ามากับคณะทูตจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ว่าเป็นตราในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2199 - 2231
พดด้วงชนิดอื่น ๆ นิยมตีตราเพียงตราเดียว ได้แก่ ตราสังข์ ช้าง สังข์กระหนก ที่ออกแบบให้ต่างกัน ออกไปในแต่ละรัชกาล นอกจากนี้ยังมีการผลิตพดด้วงทองคำขึ้นใช้บ้าง ในรัชกาลที่มีการค้าเฟื่องฟูมากแต่ก็เป็นพดด้วงขนาดเฟื้องเท่านั้น และโดยเหตุที่การค้าต่างประเทศผูกผันกับปริมาณเงินพดด้วง โดยตรงอย่างใกล้ชิด เมื่อการค้ารุ่งเรืองมีเงินแท่งเข้ามามาก ทางการก็ผลิตเงินพดด้วงจำนวนมากขึ้น เพื่อใช้ซื้อสินค้าส่งไปขายต่างประเทศ ปริมาณเงินพดด้วงที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจึงมีมากขึ้น ด้วย ในทางกลับกัน เมื่อการค้าต่างประเทศซบเซาลง ปริมาณเงินพดด้วงในท้องตลาดก็ลดลง ด้วยความ เกี่ยวพันกันนี้เองปริมาณเงินพดด้วงที่มีตราประจำรัชกาลเดียวกันจะมีจำนวนมากหรือจำนวนน้อยนอก จากจะเป็นการบอกให้ทราบถึงความสั้นหรือยาวนานในการครองราชย์สมบัติของแต่ละรัชกาลแล้ว ยัง เป็นเครื่องชี้ให้ทราบถึงความเจริญรุ่งเรืองหรือความเสื่อมในระบบเศรษฐกิจและการค้าของรัชกาลนั้นๆ ในสมัยอยุธยาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย นอกจากนี้การที่ในสมัยอยุธยามีพดด้วงขนาดตั้งแต่น้ำหนักสลึงลงไปเป็นจำนวนมากที่สุด ในขณะที่พดด้วงขนาดกึ่งบาทและขนาดตำลึงมีการผลิตขึ้นใช้เฉพาะสมัยอยุธยาตอนต้นเท่านั้น และหลังจากนั้นแล้วไม่มีการผลิตขึ้นอีก ก็ย่อมแสดงให้ทราบถึงระดับค่าครองชีพ ตลอดจนฐานะของผู้คนที่อยู่ในระบบไพร่ตลอดสมัยอยุธยาได้เป็นอย่างดี

ระบบมาตราเงินที่สำคัญในสมัยอยุธยา

1 ชั่ง เท่ากับ 20 ตำลึง

 

1 เฟื้อง เท่ากับ 4 ไพ

1 ตำลึง เท่ากับ 4 บาท

 

1 เฟื้อง เท่ากับ 50 สตางค์

1 บาท เท่ากับ 4 สลึง

 

1 ไพ เท่ากับ 100 เบี้ย

2 สลึง เท่ากับ 1 เฟื้อง

 

2 กล่ำ เท่ากับ 1 ไพ

 

พัฒนาการทางสังคมและการเมือง
       
นับแต่การปฏิรูปของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระมหากษัตริย์อยุธยาทรงอยู่ ณ ศูนย์กลางแห่งลำดับชั้นทางสังคมและการเมืองที่จัดช่วงชั้นอย่างสูง ซึ่งแผ่ไปทั่วราชอาณาจักร ด้วยขาดหลักฐาน จึงเชื่อกันว่า หน่วยพื้นฐานของการจัดระเบียบสังคมในราชอาณาจักรอยุธยา คือ ชุมชนหมู่บ้าน ที่ประกอบด้วยครัวเรือนครอบครัวขยาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่กับผู้นำ ที่ถือไว้ในนามของชุมชน แม้ชาวนาเจ้าของทรัพย์สินจะพอใจการใช้ที่ดินเฉพาะเท่าที่ใช้เพาะปลูกเท่านั้น ขุนนางค่อย ๆ กลายไปเป็นข้าราชสำนัก (หรืออำมาตย์) และผู้ปกครองบรรณาการ (tributary ruler) ในนครที่สำคัญรองลงมา ท้ายที่สุด พระมหากษัตริย์ทรงได้รับการยอมรับว่าเป็นพระศิวะ (หรือพระวิษณุ) ลงมาจุติบนโลก และทรงกลายมาเป็นสิ่งมงคลแก่พิธีปฏิบัติในทางการเมือง-ศาสนา ที่มีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธี ซึ่งเป็นข้าราชบริพารในราชสำนัก ในบริบทศาสนาพุทธ เทวราชาเป็นพระโพธิสัตว์ ความเชื่อในเทวราชย์ (divine kingship) คงอยู่ถึงพุทธศตวรรษที่ 24 แม้ถึงขณะนั้น นัยทางศาสนาของมันจะมีผลกระทบจำกัดก็ตาม
เมื่อมีที่ดินสำรองเพียงพอสำหรับการกสิกรรม ราชอาณาจักรจึงอาศัยการได้มาและการควบคุมกำลังคนอย่างพอเพียงเพื่อเป็นผู้ใช้แรงงานในไร่นาและการป้องกันประเทศ การเติบโตอย่างรวดเร็วของอยุธยานำมาซึ่งการสงครามอย่างต่อเนื่อง และเนื่องจากไม่มีแว่นแคว้นใดในภูมิภาคมีความได้เปรียบทางเทคโนโลยี ผลแห่งยุทธการจึงมักตัดสินด้วยขนาดของกองทัพ หลังจากการทัพที่ได้รับชัยชนะในแต่ละครั้ง อยุธยาได้กวาดต้อนผู้คนที่ถูกพิชิตกลับมายังราชอาณาจักรจำนวนหนึ่ง ที่ซึ่งพวกเขาจะถูกกลืนและเพิ่มเข้าไปในกำลังแรงงาน สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสถาปนาระบบกอร์เว (Corvée) แบบไทยขึ้น ซึ่งเสรีชนทุกคนจำต้องขึ้นทะเบียนเป็นข้า (หรือไพร่) กับเจ้านายท้องถิ่น เป็นการใช้แรงงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ ไพร่ชายต้องถูกเกณฑ์ในยามเกิดศึกสงคราม เหนือกว่าไพร่คือนาย ผู้รับผิดชอบต่อราชการทหาร แรงงานกอร์เวในการโยธาสาธารณะ และบนที่ดินของข้าราชการที่เขาสังกัด ไพร่ส่วยจ่ายภาษีแทนการใช้แรงงาน หากเขาเกลียดการใช้แรงงานแบบบังคับภายใต้นาย เขาสามารถขายตัวเป็นทาสแก่นายหรือเจ้าที่น่าดึงดูดกว่า ผู้จะจ่ายค่าตอบแทนแก่การสูญเสียแรงงานกอร์เว จนถึงพุทธศตวรรษที่ 25 กำลังคนกว่าหนึ่งในสามเป็นไพร่
ระบบไพร่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมากเมื่อเทียบกับสมัยสุโขทัย โดยกำหนดให้ชายทุกคนที่สูงตั้งแต่ 1.25 เมตรขึ้นไปต้องลงทะเบียนไพร่ ระบบไพร่มีความสำคัญต่อการรักษาอำนาจทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ เพราะหากเจ้านายหรือขุนนางเบียดบังไพร่ไว้เป็นจำนวนมากแล้ว ย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพของราชบัลลังก์ ตลอดจนส่งผลให้กำลังในการป้องกันอาณาจักรอ่อนแอ ไม่เป็นปึกแผ่น นอกจากนี้ ระบบไพร่ยังเป็นการเกณฑ์แรงงานเพื่อใช้ประโยชน์ในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานชีวิตและความมั่นคงของอาณาจักร
ความมั่งคั่ง สถานภาพ และอิทธิพลทางการเมืองสัมพันธ์ร่วมกัน พระมหากษัตริย์ทรงแบ่งสรรนาข้าวให้แก่ข้าราชสำนัก ผู้ว่าราชการท้องถิ่น ผู้บัญชาการทหาร เป็นการตอบแทนความดีความชอบที่มีต่อพระองค์ ตามระบบศักดินา ขนาดของการแบ่งสรรแก่ข้าราชการแต่ละคนนั้นตัดสินจากจำนวนไพร่หรือสามัญชนที่เขาสามารถบัญชาให้ทำงานได้ จำนวนกำลังคนที่ผู้นำหรือข้าราชการสามารถบัญชาได้นั้น ขึ้นอยู่กับสถานภาพของผู้นั้นเทียบกับผู้อื่นในลำดับขั้นและความมั่งคั่งของเขา ที่ยอดของลำดับขั้น พระมหากษัตริย์เป็นเสมือนผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ที่สุดในราชอาณาจักร ตามทฤษฎีแล้วทรงบัญชาไพร่จำนวนมากที่สุด เรียกว่า ไพร่หลวง ที่มีหน้าที่จ่ายภาษี รับราชการในกองทัพ และทำงานบนที่ดินของพระมหากษัตริย์
อย่างไรก็ดี การเกณฑ์กองทัพขึ้นอยู่กับมูลนาย ที่บังคับบัญชาไพร่สมของตนเอง มูลนายเหล่านี้จำต้องส่งไพร่สมให้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพระมหากษัตริย์ในยามศึกสงคราม ฉะนั้น มูลนายจึงเป็นบุคคลสำคัญในการเมืองของอยุธยา มีมูลนายอย่างน้อยสองคนก่อรัฐประหารยึดราชบัลลังก์มาเป็นของตน ขณะที่การสู้รบนองเลือดระหว่างพระมหากษัตริย์กับมูลนายหลังจากการกวาดล้างข้าราชสำนัก พบเห็นได้บ่อยครั้ง
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงกำหนดการแบ่งสรรที่ดินและไพร่ที่แน่นอนให้แก่ข้าราชการแต่ละขั้นในลำดับชั้นบังคับบัญชา ซึ่งกำหนดโครงสร้างสังคมของประเทศกระทั่งมีการนำระบบเงินเดือนมาใช้แก่ข้าราชการในสมัยรัตนโกสินทร์
พระสงฆ์อยู่นอกระบบนี้ ซึ่งชายไทยทุกชนชั้นสามารถเข้าสู่ชนชั้นนี้ได้ รวมถึงชาวจีนด้วย วัดกลายมาเป็นศูนย์กลางการศึกษาและวัฒนธรรม ระหว่างช่วงนี้ ชาวจีนเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอยุธยา และไม่นานก็เริ่มควบคุมชีวิตเศรษฐกิจของประเทศ อันเป็นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นช้านานอีกประการหนึ่ง
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงเป็นผู้รวบรวมธรรมศาสตร์ (Dharmashastra) ประมวลกฎหมายที่อิงที่มาในภาษาฮินดูและธรรมเนียมไทยแต่โบราณ ธรรมศาสตรายังเป็นเครื่องมือสำหรับกฎหมายไทยกระทั่งปลายพุทธศตวรรษที่ 25 มีการนำระบบข้าราชการประจำที่อิงลำดับชั้นบังคับบัญชาของข้าราชการที่มีชั้นยศและบรรดาศักดิ์มาใช้ และมีการจัดระเบียบสังคมในแบบที่สอดคล้องกัน แต่ไม่มีการนำระบบวรรณะในศาสนาฮินดูมาใช้
หลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพจากพม่า พระองค์ทรงจัดการรวมการปกครองประเทศอยู่ใต้ราชสำนักที่กรุงศรีอยุธยาโดยตรง เพื่อป้องกันมิให้ซ้ำรอยพระราชบิดาที่แปรพักตร์เข้ากับฝ่ายพม่าเมื่อครั้งการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง พระองค์ทรงยุติการเสนอชื่อเจ้านายไปปกครองหัวเมืองของราชอาณาจักร แต่แต่งตั้งข้าราชสำนักที่คาดว่าจะดำเนินนโยบายที่พระมหากษัตริย์ส่งไป ฉะนั้น เจ้านายทั้งหลายจึงถูกจำกัดอยู่ในพระนคร การช่วงชิงอำนาจยังคงมีต่อไป แต่อยู่ใต้สายพระเนตรที่คอยระวังของพระมหากษัตริย์
เพื่อประกันการควบคุมของพระองค์เหนือชนชั้นผู้ว่าราชการใหม่นี้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีกฤษฎีกาให้เสรีชนทุกคนที่อยู่ในระบบไพร่มาเป็นไพร่หลวง ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์โดยตรง ซึ่งจะเป็นผู้แจกจ่ายการใช้งานแก่ข้าราชการ วิธีการนี้ให้พระมหากษัตริย์ผู้ขาดแรงงานทั้งหมดในทางทฤษฎี และเนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของกำลังของทุกคน พระองค์ก็ทรงครอบครองที่ดินทั้งหมดด้วย ตำแหน่งรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการ และศักดินาที่อยู่กับพวกเขา โดยปกติเป็นตำแหน่งที่ตกทอดถึงทายาทในไม่กี่ตระกูลที่มักมีความสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์โดยการแต่งงาน อันที่จริง พระมหากษัตริย์ไทยใช้การแต่งงานบ่อยครั้งเพื่อเชื่อมพันธมิตรระหว่างพระองค์กับตระกูลที่ทรงอำนาจ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ผลของนโยบายนี้ทำให้พระมเหสีในพระมหากษัตริย์มักมีหลายสิบพระองค์
หากแม้จะมีการปฏิรูปโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ตาม ประสิทธิภาพของรัฐบาลอีก 150 ปีถัดมาก็ยังไม่มั่นคง พระราชอำนาจนอกที่ดินของพระมหากษัตริย์ แม้จะเด็ดขาดในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติถูกจำกัดโดยความหละหลวมของการปกครองพลเรือน อิทธิพลของรัฐบาลกลางและพระมหากษัตริย์อยู่ไม่เกินพระนคร เมื่อเกิดสงครามกับพม่า หัวเมืองต่าง ๆ ทิ้งพระนครอย่างง่ายดาย เนื่องจากกำลังที่บังคับใช้ไม่สามารถเกณฑ์มาป้องกันพระนครได้โดยง่าย กรุงศรีอยุธยาจึงไม่อาจต้านทานพม่าผู้รุกรานได้
ประชากรศาสตร์ กลุ่มชาติพันธุ์
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 อาณาจักรอยุธยามีประชากรประมาณ 1,900,000 คน ซึ่งนับชายหญิงและเด็กอย่างครบถ้วน แต่ลาลูแบร์กล่าวว่า ตังเลขดังกล่าวน่าจะไม่ถูกต้องเนื่องจากมีผู้หนีการเสียภาษีอากรไปอยู่ตามป่าตามดงอีกมาก มีกลุ่มชาติพันธุ์หลักคือไทยสยาม ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาไท-กะได ซึ่งบรรพบุรุษของไทยสยามปรากฏหลักแหล่งของกลุ่มคนที่ใช้ภาษาตระกูลไท-กะไดเก่าแก่ที่สุดอายุกว่า 3,000 ปี ซึ่งมีหลักแหล่งแถบกวางสี คาบเกี่ยวไปถึงกวางตุ้งและแถบลุ่มแม่น้ำดำ-แดงในเวียดนามตอนบน ซึ่งกลุ่มชนนี้มีความเคลื่อนไหวไปมากับดินแดนไทยในปัจจุบันทั้งทางบกและทางทะเลและมีการเคลื่อนไหวไปมาอย่างไม่ขาดสาย ในยุคอาณาจักรทวารวดีในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงหลังปี พ.ศ. 1100 ก็มีประชากรตระกูลไทย-ลาว เป็นประชากรพื้นฐานรวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มชนอพยพลงมาจากบริเวณสองฝั่งโขงลงทางลุ่มน้ำน่านแล้วลงสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตกแถบสุพรรณบุรี ราชบุรี ถึงเพชรบุรีและเกี่ยวข้องไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งในส่วนนี้ลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกเกี่ยวกับชาวสยามว่า ชาวลาวกับชาวสยามเกือบจะเป็นชนชาติเดียวกัน
เอกสารจีนที่บันทึกโดยหม่าฮวนได้กล่าวไว้ว่า ชาวเมืองพระนครศรีอยุธยาพูดจาด้วยภาษาอย่างเดียวกับกลุ่มชนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน คือพวกที่อยู่ในมณฑลกวางตุ้งกับกวางสี และด้วยความที่ดินแดนแถบอุษาคเนย์เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์จึงมีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายตั้งหลักแหล่งอยู่ปะปนกันจึงเกิดการประสมประสานทางเผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม และภาษาจนไม่อาจแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน และด้วยการผลักดันของรัฐละโว้ ทำให้เกิดรัฐอโยธยาศรีรามเทพนคร ภายหลังปี พ.ศ. 1700 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมหลายอย่าง
ด้วยเหตุที่กรุงศรีอยุธยาเป็นอาณาจักรที่มีความเจริญรุ่งเรือง กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ ได้อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เชลยที่ถูกกวาดต้อน ตลอดจนถึงชาวเอเชียและชาวตะวันตกที่เข้ามาเพื่อการค้าขาย ในกฎมนเทียรบาลยุคต้นกรุงศรีอยุธยาได้เรียกชื่อชนพื้นเมืองต่าง ๆ ได้แก่ "แขกขอมลาวพม่าเมงมอญมสุมแสงจีนจามชวา..." ซึ่งมีการเรียกชนพื้นเมืองที่อาศัยปะปนกันโดยไม่จำแนกว่า ชาวสยาม ในจำนวนนี้มีชาวมอญอพยพเข้ามาในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง, สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเนื่องจากชาวมอญไม่สามารถทนการบีบคั้นจากการปกครองของพม่าในช่วงราชวงศ์ตองอู จนในปี พ.ศ. 2295 พม่าได้ปราบชาวมอญอย่างรุนแรง จึงมีการลี้ภัยเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก โดยชาวมอญในกรุงศรีอยุธยาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำ เช่น บ้านขมิ้นริมวัดขุนแสน ตำบลบ้านหลังวัดนก ตำบลสามโคก และวัดท่าหอย ชาวเขมรอยู่วัดค้างคาว ชาวพม่าอยู่ข้างวัดมณเฑียร ส่วนชาวตังเกี๋ยและชาวโคชินไชน่า (ญวน) ก็มีหมู่บ้านเช่นกัน เรียกว่าหมู่บ้านโคชินไชน่า นอกจากนี้ชาวลาวก็มีจำนวนมากเช่นกัน โดยในรัชสมัยของสมเด็จพระราเมศวรครองราชย์ครั้งที่สอง ได้กวาดต้อนครัวลาวเชียงใหม่ส่งไปไว้ยังจังหวัดพัทลุง, สงขลา, นครศรีธรรมราช และจันทบุรี และในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ทรงยกทัพไปตีล้านนาในปี พ.ศ. 2204 ได้เมืองลำปาง, ลำพูน, เชียงใหม่, เชียงแสน และได้กวาดต้อนมาจำนวนหนึ่งเป็นต้น โดยเหตุผลที่กวาดต้อนเข้ามา ก็เพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านเศรษฐกิจและการทหาร และนอกจากกลุ่มประชาชนแล้วกลุ่มเชื้อพระวงศ์ที่เป็นเชลยสงครามและผู้ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร มีทั้งเชื้อพระวงศ์ลาว, เชื้อพระวงศ์เชียงใหม่ (Chiamay), เชื้อพระวงศ์พะโค (Banca), และเชื้อพระวงศ์กัมพูชา
แผนที่เกาะเมืองอยุธยา
ภาพวาดเกาะเมืองอยุธยา โดย อแล็ง มาเนอสซ็อง-มัลเลต์ นักเขียนแผนที่ชาวฝรั่งเศส พิมพ์ที่กรุงปารีส   ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2226 (ค.ศ. 1683) ภาพจาก ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช. กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง. สำนักพิมพ์มติชน.2549
นอกจากชุมชนชาวเอเชียที่ถูกกวาดต้อนมาแล้วก็ยังมีชุมชนของกลุ่มผู้ค้าขายและผู้เผยแผ่ศาสนาทั้งชาวเอเชียจากส่วนอื่นและชาวตะวันตก เช่น ชุมชนชาวฝรั่งเศสที่บ้านปลาเห็ด ปัจจุบันอยู่ทางทิศใต้นอกเกาะอยุธยาใกล้กับวัดพุทไธสวรรย์ ซึ่งภายหลังบ้านปลาเห็ตได้เปลี่ยนชื่อเป็นบ้านเซนต์โยเซฟ หมู่บ้านญี่ปุ่นอยู่ริมแม่น้ำระหว่างหมู่บ้านชาวมอญและโรงกลั่นสุราของชาวจีน ถัดไปเป็นชุมชนชาวฮอลันดา ทางใต้ของชุมชนฮอลันดาเป็นถิ่นพำนักของชาวอังกฤษ, มลายู และมอญจากพะโค นอกจากนี้ก็ยังมีชุมชนของชาวอาหรับ เปอร์เซีย และกลิงก์ (คนจากแคว้นกลิงคราษฎร์จากอินเดีย) ส่วนชุมชนชาวโปรตุเกสตั้งอยู่ตรงข้ามชุมชนญี่ปุ่น ชาวโปรตุเกสส่วนใหญ่มักสมรสข้ามชาติพันธุ์กับชาวสยาม จีน และมอญ ส่วนชุมชนชาวจาม มีหลักแหล่งแถบคลองตะเคียนทางใต้ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาเรียกว่า ปทาคูจาม มีบทบาทสำคัญด้านการค้าทางทะเล และตำแหน่งในกองทัพเรือ เรียกว่า อาษาจาม และเรียกตำแหน่งหัวหน้าว่า พระราชวังสัน
ภาษา
สำเนียงดั้งเดิมของกรุงศรีอยุธยามีความเชื่อมโยงกับชนพื้นเมืองตั้งแต่ลุ่มน้ำยมที่เมืองสุโขทัยลงมาทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกในแถบสุพรรณบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี ซึ่งสำเนียงดังกล่าวมีความใกล้ชิดกับสำเนียงหลวงพระบาง โดยเฉพาะสำเนียงเหน่อของสุพรรณบุรีมีความใกล้เคียงกับสำเนียงหลวงพระบางซึ่งสำเนียงเหน่อดังกล่าวเป็นสำเนียงหลวงของกรุงศรีอยุธยา ประชาชนชาวกรุงศรีอยุธยาทั้งพระเจ้าแผ่นดินจนถึงไพร่ฟ้าราษฏรก็ล้วนตรัสและพูดจาในชีวิตประจำวัน ซึ่งปัจจุบันเป็นขนบอยู่ในการละเล่นโขนที่ต้องใช้สำเนียงเหน่อ โดยหากเปรียบเทียบกับสำเนียงกรุงเทพฯในปัจจุบันนี้ ที่ในสมัยนั้นถือว่าเป็นสำเนียงบ้านนอกถิ่นเล็กๆของราชธานีที่แปร่งและเยื้องจากสำเนียงมาตรฐานของกรุงศรีอยุธยา และถือว่าผิดขนบ
ภาษาดั้งเดิมของกรุงศรีอยุธยาปรากฏอยู่ในโองการแช่งน้ำ ซึ่งเป็นร้อยกรองที่เต็มไปด้วยฉันทลักษณ์ที่แพร่หลายแถบแว่นแคว้นสองฝั่งลุ่มแม่น้ำโขงมาแต่ดึกดำบรรพ์ และภายหลังได้พากันเรียกว่า โคลงมณฑกคติ เนื่องจากเข้าใจว่าได้รับแบบแผนมาจากอินเดีย ซึ่งแท้จริงคือโคลงลาว หรือ โคลงห้า ที่เป็นต้นแบบของโคลงดั้นและโคลงสี่สุภาพ โดยในโองการแช่งน้ำเต็มไปด้วยศัพท์แสงพื้นเมืองของไทย-ลาว ส่วนคำที่มาจากบาลี-สันสกฤต และเขมรอยู่น้อย โดยหากอ่านเปรียบเทียบก็จะพบว่าสำนวนภาษาใกล้เคียงกับข้อความในจารึกสมัยสุโขทัย และพงศาวดารล้านช้าง
ด้วยเหตุที่กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ใกล้ทะเลและเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติทำให้สังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ต่างกับบ้านเมืองแถบสองฝั่งโขงที่ห่างทะเล อันเป็นเหตุที่ทำให้มีลักษณะที่ล้าหลังกว่าจึงสืบทอดสำเนียงและระบบความเชื่อแบบดั้งเดิมไว้ได้เกือบทั้งหมด ส่วนภาษาในกรุงศรีอยุธยาก็ได้รับอิทธิพลของภาษาจากต่างประเทศจึงรับคำในภาษาต่าง ๆ มาใช้ เช่นคำว่า กุหลาบ ที่ยืมมาจากคำว่า กุล้อบ ในภาษาเปอร์เซีย ที่มีความหมายเดิมว่า น้ำดอกไม้ และยืมคำว่า ปาดรื (Padre) จากภาษาโปรตุเกส แล้วออกเสียงเรียกเป็น บาทหลวง เป็นต้น
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
อาณาจักรอยุธยามักส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีนเป็นประจำทุกสามปี เครื่องบรรณาการนี้เรียกว่า "จิ้มก้อง" นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าการส่งเครื่องราชบรรณาการดังกล่าวแฝงจุดประสงค์ทางธุรกิจไว้ด้วย คือ เมื่ออาณาจักรอยุธยาได้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายแล้วก็จะได้เครื่องราชบรรณาการกลับมาเป็นมูลค่าสองเท่า[62] ทั้งยังเป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยง จึงมักจะมีขุนนางและพ่อค้าเดินทางไปพร้อมกับการนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายด้วย
พ.ศ. 2054 ทันทีหลังจากที่ยึดครองมะละกา โปรตุเกสได้ส่งผู้แทนทางการทูต นำโดย ดูอาร์เต เฟอร์นันเดส (Duarte Fernandes) มายังราชสำนักสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 หลังได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างราชอาณาจักรโปรตุเกสและราชอาณาจักรอยุธยาแล้ว ผู้แทนทางการทูตโปรตุเกสก็ได้กลับประเทศแม่ไปพร้อมกับผู้แทนทางทูตของอยุธยา ซึ่งมีของกำนัลและพระราชสาส์นถึงพระเจ้าโปรตุเกสด้วย ผู้แทนทางการทูตโปรตุเกสชุดนี้อาจเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยก็เป็นได้ ห้าปีให้หลังการติดต่อครั้งแรก ทั้งสองได้บรรลุสนธิสัญญาซึ่งอนุญาตให้โปรตุเกสเข้ามาค้าขายในราชอาณาจักรอยุธยา สนธิสัญญาที่คล้ายกันใน พ.ศ. 2135 ได้ให้พวกดัตช์มีฐานะเอกสิทธิ์ในการค้าข้าว
ชาวต่างชาติได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้ทรงมีทัศนะสากลนิยม (cosmopolitan) และทรงตระหนักถึงอิทธิพลจากภายนอก ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ที่สำคัญกับญี่ปุ่น บริษัทการค้าของดัตช์และอังกฤษได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงงาน และมีการส่งคณะผู้แทนทางการทูตของอยุธยาไปยังกรุงปารีสและกรุงเฮก ด้วยการธำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้ ราชสำนักอยุธยาได้ใช้ดัตช์คานอำนาจกับอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างชำนาญ ทำให้สามารถเลี่ยงมิให้ชาติใดชาติหนึ่งเข้ามามีอิทธิพลมากเกินไป
อย่างไรก็ดี ใน พ.ศ. 2207 ดัตช์ใช้กำลังบังคับเพื่อให้ได้สนธิสัญญาที่ให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตเช่นเดียวกับการเข้าถึงการค้าอย่างเสรี คอนสแตนติน ฟอลคอน นักผจญภัยชาวกรีกผู้เข้ามาเป็นเสนาบดีต่างประเทศในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กราบทูลให้พระองค์หันไปพึ่งความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส วิศวกรฝรั่งเศสก่อสร้างป้อมค่ายแก่คนไทย และสร้างพระราชวังแห่งใหม่ที่ลพบุรี นอกเหนือจากนี้ มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทในการศึกษาและการแพทย์ ตลอดจนนำแท่นพิมพ์เครื่องแรกเข้ามาในราชอาณาจักรด้วย พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงสนพระราชหฤทัยในรายงานจากมิชชันนารีที่เสนอว่า สมเด็จพระนารายณ์อาจเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ได้
อาณาจักรอยุธยามีความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกในด้านการค้าขายและการเผยแผ่ศาสนา โดยชาวตะวันตกได้นำเอาวิทยาการใหม่ ๆ เข้ามาด้วย ต่อมา คอนสแตนติน ฟอลคอนได้เข้ามามีอิทธิพลและยัง บรรดาขุนนางจึงประหารฟอลคอนเสีย และลดระดับความสำคัญกับชาติตะวันตกตลอดช่วงเวลาที่เหลือของอาณาจักรอยุธยา
อย่างไรก็ดี การเข้ามาของฝรั่งเศสกระตุ้นให้เกิดความแค้นและความหวาดระแวงแก่หมู่ชนชั้นสูงของไทยและนักบวชในศาสนาพุทธ ทั้งมีหลักฐานว่าคบคิดกับฝรั่งเศสจะยึดกรุงศรีอยุธยา เมื่อข่าวสมเด็จพระนารายณ์กำลังจะเสด็จสวรรคตแพร่ออกไป พระเพทราชา ผู้สำเร็จราชการ ก็ได้สังหารรัชทายาทที่ทรงได้รับแต่งตั้ง คริสเตียนคนหนึ่ง และสั่งประหารชีวิตฟอลคอน และมิชชันนารีอีกจำนวนหนึ่ง การมาถึงของเรือรบอังกฤษยิ่งยั่วยุให้เกิดการสังหารหมู่ชาวยุโรปมากขึ้นไปอีก พระเพทราชาเมื่อปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ทรงขับชาวต่างชาติออกจากราชอาณาจักร รายงานการศึกษาบางส่วนระบุว่า อยุธยาเริ่มต้นสมัยแห่งการตีตัวออกห่างพ่อค้ายุโรป ขณะที่ต้อนรับวาณิชจีนมากขึ้น แต่ในการศึกษาปัจจุบันอื่น ๆ เสนอว่า สงครามและความขัดแย้งในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นเหตุให้พ่อค้ายุโรปลดกิจกรรมในทางตะวันออก อย่างไรก็ดี เป็นที่ประจักษ์ว่า บริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ยังทำธุรกิจกับอยุธยาอยู่ แม้จะประสบกับความยากลำบากทางการเมือง
การเสียกรุงครั้งที่ 1
เริ่มตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 22 ราชอาณาจักรอยุธยาถูกราชวงศ์ตองอูแห่งพม่าโจมตีหลายครั้ง สงครามครั้งแรกคือ สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ เมื่อ พ.ศ. 2091-92 แต่ล้มเหลว การรุกรานครั้งที่สองของพม่า หรือเรียกว่า "สงครามช้างเผือก" เมื่อ พ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนองทรงบังคับให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิยอมจำนน พระบรมวงศานุวงศ์ทรงถูกพาไปยังอังวะ และสมเด็จพระมหิทราพระราชโอรสองค์โต ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าประเทศราช เมื่อ พ.ศ. 2111 พม่ารุกรานอีกเป็นครั้งที่สาม และสามารถยึดกรุงศรีอยุธยาได้ในปีต่อมา หนนี้พระเจ้าบุเรงนองทรงแต่งตั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเป็นเจ้าประเทศราช
การฟื้นตัว
หลังพระเจ้าบุเรงนองเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2124 สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชทรงประกาศเอกราชแก่กรุงศรีอยุธยาอีกสามปีให้หลัง อยุธยาต่อสู้ป้องกันการรุกรานของพม่าหลายครั้ง จนในครั้งสุดท้าย สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงปลงพระชนม์เมงจีสวา (Mingyi Swa) อุปราชาของพม่า ได้ในสงครามยุทธหัตถีเมื่อ พ.ศ. 2136 จากนั้น อยุธยากลับเป็นฝ่ายบุกบ้าง โดยยึดชายฝั่งตะนาวศรีทั้งหมดขึ้นไปจนถึงเมาะตะมะใน พ.ศ. 2138 และล้านนาใน พ.ศ. 2145 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงถึงกับรุกรานเข้าไปในพม่าลึกถึงตองอูใน พ.ศ. 2143 แต่ทรงถูกขับกลับมา หลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2148 ตะนาวศรีตอนเหนือและล้านนาก็ตกเป็นของพม่าอีกใน พ.ศ. 2157 อยุธยาพยายามยึดล้านนาและตะนาวศรีตอนเหนือกลับคืนระหว่าง พ.ศ. 2205-07 แต่ล้มเหลว

แผนที่อยุธยา
แผนที่อาณาจักรอยุธยา สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
การค้าขายกับต่างชาติไม่เพียงแต่ให้อยุธยามีสินค้าฟุ่มเฟือยเท่านั้น แต่ยังได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ ด้วย กลางพุทธศตวรรษที่ 23 ระหว่างรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อยุธยามีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่ในพุทธศตวรรษที่ 24 อยุธยาค่อย ๆ สูญเสียการควบคุมเหนือหัวเมืองรอบนอก ผู้ว่าราชการท้องถิ่นใช้อำนาจของตนอย่างอิสระ และเริ่มเกิดการกบฏต่อเมืองหลวงขึ้น
การล่มสลาย
หลังจากยุคสมัยอันนองเลือดแห่งการต่อสู้ของราชวงศ์ กรุงศรีอยุธยาเข้าสู่ "ยุคทอง" สมัยที่ค่อนข้างสงบในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 24 เมื่อศิลปะ วรรณกรรมและการเรียนรู้เฟื่องฟู ยังมีสงครามกับต่างชาติ กรุงศรีอยุธยาสู้รบกับเจ้าเหงียน (Nguyễn Lords) ซึ่งเป็นผู้ปกครองเวียดนามใต้ เพื่อการควบคุมกัมพูชา เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2258 แต่ภัยคุกคามที่ใหญ่กว่ามาจากพม่า ซึ่งราชวงศ์อลองพญาใหม่ได้ผนวกรัฐฉานเข้ามาอยู่ในอำนาจ
ช่วง 50 ปีสุดท้ายของราชอาณาจักรมีการสู้รบอันนองเลือดระหว่างเจ้านาย โดยมีพระราชบัลลังก์เป็นเป้าหมายหลัก เกิดการกวาดล้างข้าราชสำนักและแม่ทัพนายกองที่มีความสามารถตามมา สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้าย บังคับให้สมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร พระเชษฐา ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ขณะนั้น สละราชสมบัติและขึ้นครองราชย์แทน
พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญา ทรงยกทัพรุกรานอาณาจักรอยุธยา หลังจากอยุธยาว่างเว้นศึกมานานกว่า 150 ปี ซึ่งในขณะนั้น อยุธยาเกิดการแย่งชิงบัลลังก์ระหว่างเจ้าฟ้าเอกทัศกับเจ้าฟ้าอุทุมพร อย่างไรก็ดี พม่าไม่อาจหักเอากรุงศรีอยุธยาได้ในการทัพครั้งนั้น
แต่ใน พ.ศ. 2308 พระเจ้ามังระ พระราชโอรสแห่งพระเจ้าอลองพญา ได้รุกรานอาณาจักรอยุธยาอีกหนหนึ่ง ทรงแบ่งกำลังออกเป็นสองส่วน มุ่งเข้าตีอาณาจักรอยุธยาพร้อมกันทั้งสองด้าน ฝ่ายอยุธยาต้านทานการล้อมของทัพพม่าไว้ได้ 14 เดือน แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งการล่มสลายได้ กองทัพพม่าสามารถหักเข้าพระนครได้ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310
เหตุการณ์สำคัญในสมัยอยุธยา
สงครามช้างเผือก
        สงครามช้างเผือก เป็นสงครามก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง สงครามมีสาเหตุมาจาก ในปีพ.ศ. 2106พระเจ้าบุเรงนอง ทรงส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเพื่อทูลขอ ช้างเผือก 2 ช้าง เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้นมีช้างเผือกอยู่ทั้งหมด 7 ช้าง ฝ่ายขุนนางจึงมีความเห็นเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการให้ส่งช้างเผือกไปถวายแก่พระเจ้าบุเรงนองเพื่อหลีกเลี่ยงสงคราม ส่วนอีกฝ่าย อันได้แก่พระราเมศวรพระยาจักรีพระสุนทรสงครามไม่เห็นด้วยกับการส่งช้างเผือกไป เนื่องจากจะเป็นการอ่อนข้อให้หงสาวดี
        ในที่สุดสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ทรงมีพระบรมราชโองการไม่ประทานช้างเผือก แล้วมีพระราชสาสน์ตอบกลับไปดังนี้
"ช้างเผือกย่อมเกิดสำหรับบุญบารมีของพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นเจ้าของ เมื่อพระเจ้าหงสาวดีได้บำเพ็ญธรรมให้ไพบูรณ์คงจะได้ช้างเผือกมาสู่บารมีเป็นมั่นคงอย่าได้ทรงวิตกเลย"
และรับสั่งให้เตรียมไพร่พลพร้อมรับศึกอย่างเข้มแข็ง ทางฝ่ายพระเจ้าบุเรงนองได้ยกทัพรวมพลที่เมืองเมาะตะมะ จัดทัพใหญ่ออก เป็น 5 ทัพ มีเจ้าเมืองเชียงใหม่ควบคุมกองเรือเสบียง ล่องลงมาถึงเมืองตาก รวมไพล่พลเป็นจำนวนประมาณ 500,000 คน ส่วนทางอยุธยาได้เตรียมพลพร้อมรบและเรือรบจำนวนมาก เพื่อป้องกันการโจมตีจากทัพหลวงของหงสาวดีทางด่านเจดีย์สามองค์ แต่เหตุการณ์ไม่เป็นดังที่คาดไว้ กองทัพพม่ากลับยกทัพมาทางด่านแม่ละเมา และเข้าตีกำแพงเพชรจนชนะ แล้วแยกทัพไปตีสุโขทัย เนื่องด้วยทางสุโขทัยมีกำลังน้อยกว่ามากแต่ก็สู้รบอย่างเต็มความสามารถ แต่ท้ายที่สุดก็ถูกพม่ายึดเมืองได้สำเร็จ จากนั้นพม่าจึงล้อมเมืองพิษณุโลกพระมหาธรรมราชาก็ต่อสู้เป็นสามารถเช่นกัน แต่เกิดไข้ทรพิษขึ้นในเมืองและเสบียงอาหารก็หมดจึงยอมจำนน หลังจากที่พม่าได้หัวเมืองฝ่ายเหนือแล้วจึงบังคับให้พระมหาธรรมราชาและเจ้าเมืองถือน้ำกระทำสัตย์ให้อยู่ใต้บังคับของพม่า พร้อมทั้งสั่งให้ยกทัพตามลงมาเพื่อตีกรุงศรีอยุธยาด้วย
ในเวลาต่อมา กองทัพพม่าก็ยกมาประชิดเขตเมืองใก้ลทุ่งลุมพลีพระมหาจักรพรรดิทรงให้กองทัพบก กองทัพเรือ ระดมยิงใส่พม่าเป็นสามารถ แต่สู่ไม่ได้จึงถอย ทางพม่าจึงยึดได้ป้อมพระยาจักรี (ทุ่งลุมพลี) ป้อมจำปาป้อมพระยามหาเสนา (ทุ่งหันตรา) แล้วล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นาน พระมหาจักรพรรดิทรงเห็นว่าพม่ามีกำลังมาก การที่จะออกไปรบเพื่อเอาชัยคงจะยากนัก จึงทรงสั่งให้เรือรบนำปืนใหญ่ล่องไปยิงทหารพม่าเป็นการถ่วงเวลาให้ เสบียงอาหารหมดหรือเข้าฤดูน้ำหลากพม่าคงจะถอยไปเอง แต่พม่าได้เตรียมเรือรบ และปืนใหญ่มาจำนวนมากยิงใส่เรือรบไทยพังเสียหายหมด แล้วตั้งปืนใหญ่ยิงเข้ามา ในพระนครทุกวัน ถูกชาวบ้านล้มตาย บ้านเรือน วัด เสียหายมาก ทางพระเจ้าบุเรงนองจึงมีพระราชสาสน์มาว่า จะรบต่อไปหรือยอมเป็นไมตรี เนื่องด้วยทางไทยเสียเปรียบมาก พระมหาจักรพรรดิจึงทรงยอมเป็นไมตรี ทำให้ฝ่ายไทยต้องเสียช้างเผือกจาก 2 ช้าง เป็น 4 ช้าง และทุกปีต้องส่งช้างให้ 30 เชือก พร้อมเงิน 300 ชั่ง จับตัวพระยาจักรีไปเป็นตัวประกัน นอกจากนี้ยังจะขอเก็บภาษีอากรจากเมืองมะริดที่ขึ้นกับไทยอีกด้วย ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรทรงพระชมมายุได้ 9 พรรษาถูกนำเสด็จไปประทับที่กรุงหงสาวดีเพื่อเป็นองค์ประกันด้วย
สงครามยุทธหัตถี
ในปี พ.ศ. 2135 พระเจ้านันทบุเรง โปรดให้พระมหาอุปราชา นำกองทัพทหารสองแสนสี่หมื่นคน มาตีกรุงศรีอยุธยาหมายจะชนะศึกในครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงทราบว่า พม่าจะยกทัพใหญ่มาตี จึงทรงเตรียมไพร่พล มีกำลังหนึ่งแสนคนเดินทางออกจากบ้านป่าโมกไปสุพรรณบุรี ข้ามน้ำตรงท่าท้าวอู่ทอง และตั้งค่ายหลวงบริเวณหนองสาหร่าย
เช้าของวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเครื่องพิชัยยุทธ สมเด็จพระนเรศวรทรงช้าง นามว่า เจ้าพระยาไชยานุภาพ ส่วนพระสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงช้างนามว่า เจ้าพระยาปราบไตรจักร ช้างทรงของทั้งสองพระองค์นั้นเป็นช้างชนะงา คือช้างมีงาที่ได้รับการฝึกให้รู้จักการต่อสู้มาแล้วหรือเคยผ่านสงครามชน ช้าง ชนะช้างตัวอื่นมาแล้ว ซึ่งเป็นช้างที่กำลังตกมัน ในระหว่างการรบจึงวิ่งไล่ตามพม่าหลงเข้าไปในแดนพม่า มีเพียงทหารรักษาพระองค์และจาตุรงค์บาทเท่านั้นที่ติดตามไปทัน
สมเด็จ พระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าท้าว พระยา จึงทราบได้ว่าช้างทรงของสองพระองค์หลงถลำเข้ามาถึงกลางกองทัพ และตกอยู่ในวงล้อมข้าศึกแล้ว แต่ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบของสมเด็จพระนเรศวร ทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึกจึงไสช้างเข้าไปใกล้ แล้วตรัสถามด้วยคุ้นเคยมาก่อนแต่วัยเยาว์ว่า "พระเจ้า พี่เราจะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว"
พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น จึงไสช้างนามว่า พลายพัทธกอเข้าชนเจ้าพระยาไชยานุภาพเสียหลัก พระมหาอุปราชาทรงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด จากนั้นเจ้าพระยาไชยานุภาพชนพลายพัทธกอเสียหลัก สมเด็จพระนเรศวรทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง
ภาพวาดสงครามยุทธหัตถี
ภาพวาดสงครามยุทธหัตถีในพระอุโบสถวัดสุวรรณดาราม พระนครศรีอยุธยา
ส่วน สมเด็จพระเอกาทศรถทรงฟันเจ้าเมืองจาปะโรเสียชีวิตเช่นกัน ทหารพม่าเห็นว่าแพ้แน่แล้ว จึงใช้ปืนระดมยิงใส่สมเด็จพระนเรศวรได้รับบาดเจ็บ ทันใดนั้น ทัพหลวงไทยตามมาช่วยทัน จึงรับทั้งสองพระองค์กลับพระนคร พม่าจึงยกทัพกลับกรุงหงสาวดีไป นับแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมากล้ำกรายกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นระยะเวลาอีกยาวนาน

ผลกระทบ

การตีเมืองทะวายและตะนาวศรี

ศึกทะวายและตะนาวศรีนั้น เป็นการรบในระหว่างคนต้องโทษกับคนต้องโทษด้วยกัน กล่าวคือ ทางกรุงศรีอยุธยพาพวกนายทัพที่ตามเสด็จไม่ทันในวันยุทธหัตถีนั้น มีถึง 6 คนคือ พระยาพิชัยสงครามพระยารามกำแหงเจ้าพระยาจักรีพระยาพระคลัง และพระยาศรีไสยณรงค์ สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้ปรึกษาโทษ ลูกขุนปรึกษาโทษให้ประหารชีวิต สมเด็จพระวันรัตสังฆปรินายกมาถวายพระพรบรรยายว่า การที่แม่ทัพเหล่านั้นตามเสด็จไม่ทัน ก็เพราะบุญญาภินิหารของพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรที่จะได้รับเกียรติคุณเป็นวีรบุรุษที่แท้จริง ด้วยเหตุว่าถ้าพวกนั้นตามไปทันแล้วถึงจะชนะก็ไม่เป็นชื่อเสียงใหญ่หลวง เหมือนที่เสด็จไปโดยลำพัง เมื่อเห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงเลื่อมใสในคำบรรยายข้อนี้แล้ว สมเด็จพระวันรัตก็ทูลขอโทษพวกแม่ทัพเหล่านี้ไว้ สมเด็จพระนเรศวรก็โปรดประทานให้ แต่พวกนี้จะต้องไปตีทะวายและตะนาวศรีเป็นการแก้ตัว จึงให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพคุมพลห้าหมื่นไปตีตะนาวศรี พระยาพระคลังคุมกำลังพลหมื่นเหมือนกันไปตีทะวาย ส่วนแม่ทัพอื่นๆ ที่ต้องโทษก็แบ่งกันไปในสองกองทัพนี้คือพระยาพิชัยสงครามกับพระยารามคำแหงไป ตีเมืองทะวายกับพระยาพระคลัง และให้พระยาเทพอรชุนกับพระยาศรีไสยณรงค์ไปตีเมืองตะนาวศรีกับเจ้าพระยาจักรี
ส่วน ทางหงสาวดีนั้น เมื่อพระเจ้าหงสาวดีเสียพระโอรสรัชทายาทแล้วก็โทมนัส ให้ขังแม่ทัพนายกองไว้ทั้งหมด แต่ภายหลังทรงดำริว่าไทยชนะพม่าในครั้งนี้แล้วก็จะต้องมาตีพม่าโดยไม่ต้อง สงสัย ก่อนที่ไทยไปรบพม่าก็จะต้องดำเนินการอย่างเดียวกันกับที่พม่ารบกับไทย กล่าวคือ จะต้องเอามอญไว้ในอำนาจเสียก่อนและเป็นการแน่นอนว่าไทยจะต้องเข้ามาตีทะวาย และตะนาวศรี ด้วยเหตุนี้จึงให้แม่ทัพนายกองที่ไปแพ้สงครามมาครั้งนี้ไปทำการแก้ตัวรักษา เมืองตะนาวศรีและเมืองทะวาย เป็นอันว่าทั้งผู้รบและผู้รับทั้งสองฝ่าย ตกอยู่ในฐานคนผิดที่จะต้องทำการแก้ตัวทั้งสิ้น
ในการรบทะวายและตะนาวศรีครั้ง นี้แม่ทัพทั้งสองคือ เจ้าพระยาจักรีและพระยาคลัง ทำการกลมเกลียวกันเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้สมเด็จพระนเรศวรจะได้แบ่งหน้าที่ให้ตีคนละเมือง ก็ยังมีการติดต่อช่วยเหลือกันและกัน ในที่สุดแม่ทัพทั้งสองก็รบชนะทั้งสองเมืองและบอกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีไสยณรงค์อยู่ครองเมืองตะนาวศรี ส่วนทางเมืองทะวายนั้นให้เจ้าเมืองทะวายคนเก่าครองต่อไป ชัยชนะครั้งนี้เป็นอันทำให้แม่ทัพทั้งหลายพ้นโทษ แต่ทางพม่าแม่ทัพกลับถูกทำโทษประการใดไม่ปรากฏ แต่อย่างไรก็ดี การที่ชัยชนะทะวายและตะนาวศรีครั้งนี้ ทำให้อำนาจของไทยแผ่ลงไปทางใต้เท่ากับในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช 

การจัดลำดับทัพ

กองทัพหงสาวดี
แบ่งออกเป็นสี่กองทัพ คือ
กองทัพเมืองแปร
อุปราชเมืองแปรเป็นนายทัพ
กองทัพเมืองตองอู
อุปราชเมืองตองอูเป็นนายทัพ
กองทัพหงสาวดี
มังกะยอชวาเป็นนายทัพ และเป็นทัพหลวง
กองทัพเมือง
เชียงใหม่

กองทัพอยุธยา พระนเรศวรทรงจัดทัพ

เป็นขบวนเบญจเสนา 5 ทัพ ดังนี้

ทัพที่ 1 เป็นกองหน้า
ทัพที่ 2 เป็นกองเกียกกาย
พระยาสีหราชเดโชชัย เป็นนายทัพ
พระยาเทพอรชุน เป็นนายทัพ
พระยาพิชัยรณฤทธิ์ เป็นปีกขวา
พระยาพิชัยสงคราม เป็นปีกขวา
พระยาวิชิตณรงค์ เป็นปีกซ้าย
พระยารามคำแหง เป็นปีกซ้าย
ทัพที่ 3 เป็นกองหลวง
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นจอมทัพ
สมเด็จพระเอกาทศรถ
เจ้าพระยามหาเสนา เป็นปีกขวา
เจ้าพระยาจักรี เป็นปีกซ้าย
ทัพที่ 4 เป็นกองยกกระบัตร
ทัพที่ 5 เป็นกองหลัง
พระยาพระคลัง เป็นนายทัพ
พระยาท้ายน้ำ เป็นนายทัพ
พระราชสงคราม เป็นปีกขวา
หลวงหฤทัย เป็นปีกขวา
พระรามรณภพ เป็นปีกซ้าย
หลวงอภัยสุรินทร์ เป็นปีกซ้าย

ศึกบางระจัน

        เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ในช่วยที่กรุงศรีอยุธยาใกล้แตก  มีลำดับเหตุการณ์ดังนี้

ชาวบ้านบางระจันเป็นกลุ่มบุคคลที่ถือเป็นตัวอย่างบุคคลสำคัญในภาคกลางซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นกลุ่มบุคคลผู้กล้าหาญและเสียสละชีวิตต่อชาติบ้านเมือง
ประวัติ
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่าได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาโดยได้ยกกองทัพมา 2 ทางคือทางเมืองกาญจนบุรีและทางเมืองตากโดยมีเนเมียวสีหบดีและมังมหานรธาเป็นแม่ทัพโดยทัพแรกให้เนเนียวสีหบดีเป้นแม่ทัพยกมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของกรุงศรีอยุธยาแล้วให้ย้อนกลับมาตีกรุงศรีอยุธยาส่วนทัพที่ 2 มอบให้มหานรธาเป็นแม่ทัพยกมาตีเมืองทวายและกาญจนบุรีแล้วให้ยกกองทัพมาสมทบกับเนเมียวสีหบดีเพื่อล้อมกรุงศรีอยุธยาพร้อมกันทัพของเนเมียวสีหบดีได้มาตั้งค่ายอยู่ที่เมืองวิเศษไชยชาญแล้วให้ทหารออกปล้นสะดมทรัพย์สมบัติเสบียงอาหารและข่มเหงราษฎรไทยจนชาวเมืองวิเศษไชยชาญไม่สามารถถอดทนต่อการข่มเหงของพวกพม่าได้กลุ่มชาวบ้านที่บางระจันประกอบด้วยนายแท่นนายโชตินายอินนายเมืองนายดอกและนายทองแก้วจึงได้รวบรวมชาวบ้านต่อสู้กับพม่าโดยได้อัญเชิญพระอาจารย์ธรรมโชติจากสำนักวัดเขานางบวชแขวงเมืองสุพรรณบุรีซึ่งชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธาให้มาช่วยคุ้มครองและมาร่วมให้กาลังใจและได้มีบุคคลชั้นหัวหน้าเพิ่มขึ้นอีกได้แก่ขุนสวรรค์นายจันหนวดเขี้ยวนายทองเหม็นนายทองแสงใหญ่และพันเรืองเมื่อมีชาวบ้านอพยพเข้ามามากขึ้นจึงช่วยกันตั้งค่ายบางระจันขึ้นเพื่อต่อสู้ขัดขวางการรุกรานของพม่า
วีรกรรมสำคัญ
ชาวบ้านบางระจันรวบรวมชาวบ้านได้จานวนมากจึงตั้งค่ายสู้รบกับพม่าโดยมีกลุ่มผู้นารวม 11 คนพม่าได้พยายามเข้าตีค่ายบางระจันถึง 7 ครั้งแต่ก็ไม่สำาเร็จในที่สุดสุกี้ซึ่งเป็นพระนายกองของพม่าได้อาสาปราบชาวบ้านบางระจันโดยตั้งค่ายประชิดค่ายบางระจันแล้วใช้ปืนใหญ่ยิงเข้าไปในค่ายแทนการสู้รบกันกลางแจ้งทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตไปจำนวนมากชาวบ้านบางระจันไม่มีปืนใหญ่ยิงตอบโต้ฝ่ายพม่าจึงมีใบบอกไปทางกรุงศรีอยุธยาให้ส่งปืนใหญ่มาให้แต่ทางกรุงศรีอยุธยาไม่กล้าส่งมาให้เพราะเกรงว่าจะถูกฝ่ายพม่าดักปล้นระหว่างทางชาวบ้านจึงช่วยกันหล่อปืนใหญ่โดยบริจาคของใช้ทุกอย่างที่ทำด้วยทองเหลืองมาหล่อปืนได้สองกระบอกแต่พอทดลองนำไปยิงปืนก็แตกร้าวจนใช้การไม่ได้ถึงแม้ว่าไม่มีปืนใหญ่ชาวบ้านบางระจันก็ยังคงยืนหยัดต่อสู้กับพม่าต่อไปจนกระทั่งวันแรม 2 ค่าเดือน 8 .. 2309 ค่ายบางระจันก็ถูกพม่าตีแตกและสามารถยึดค่ายไว้ได้หลังจากที่ยืนหยัดต่อสู้กับข้าศึกมานานถึง 5 เดือน
จากวีรกรรมของชาวบ้านบางระจันทำให้ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรกรรมของคนไทยที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในการเสียสละชีวิตให้แก่ชาติบ้านเมืองและแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีและความกล้าหาญของคนไทยในการต่อสู้กับข้าศึกและถือเป็นแบบอย่างที่ดีของอนุชนรุ่นหลังทางราชการจึงได้สร้างอนุสาวรีย์วีรขนค่ายบางระจันเป็นรูปหล่อวีรชนที่เป็นหัวหน้าทั้ง 11 คนขึ้นบริเวณหน้าค่ายบางระจันอ.บางระจันจ.สิงห์บุรีเพื่อเป็นอนุสรณ์สืบต่อไป
อนุสาวรีย์ค่ายบางระจัน
อนุสาวรีย์ค่ายบางระจัน
ประวัติศาสตร์การรบทั้ง 8 ครั้ง

การรบครั้งที่ 1 ทหารพม่าที่เมืองวิเศษชัยชาญยกพลมาประมาณ100เศษมาตามจับพันเรืองเมื่อถึงบ้านบางระจันก็หยุดอยู่ณฝั่งแม่น้ำ (บางระจัน) นายแท่นจัดคนให้รักษาค่ายแล้วนำคน200ข้ามแม่น้ำไปรบกับพม่าทหารพม่าไม่ทันรู้ตัวยิงปืนได้เพียงนัดเดียวชาวไทยซึ่งมีอาวุธสั้นทั้งนั้นก็กรูเข้าไล่ฟันแทงพม่าถึงขั้นตะลุมบอนพลทหารพม่าล้มตายหมดเหลือแต่ตัวนายสองคนขึ้นม้าหนีไปได้ไปแจ้งความให้นายทัพพม่าที่ค่ายแขวงเมืองวิเศษไชยชาญทราบและส่งข่าวให้แม่ทัพใหญ่คือเนเมียวสีหบดีซึ่งตั้งค่ายใหญ่อยู่ณปากน้าพระประสบทราบด้วย

การรบครั้งที่ 2 เนเมียวสีหบดีจึงแต่งให้งาจุนหวุ่นคุมพล500มาตีค่ายบางระจันนายแท่นก็ยกพลออกรบตีทัพพม่าแตกพ่ายล้มตายเป็นอันมากแม่ทัพพม่าได้เกณฑ์ทหารเพิ่มเป็น700คนให้เยกินหวุ่นคุมพลยกมาตีค่ายบางระจันทัพพม่าก็ถูกตีแตกพ่ายอีกเป็นครั้งที่ 2

การรบครั้งที่ 3 เมื่อกองทัพพม่าต้องแตกพ่ายหลายครั้งเนเมียวสีหบดีเห็นว่าจะประมาทกาลังของชาวบ้านบางระจันต่อไปอีกไม่ได้จึงเกณฑ์พลเพิ่มเป็น900คนให้ติงจาโบเป็นผู้คุมทัพครั้งนี้ชาวบ้านบางระจันมีชัยชนะพม่าอีกเช่นครั้งก่อน ๆ        

การรบครั้งที่ 4 การที่พม่าแพ้ไทยหลายครั้งเช่นนี้ทำให้พม่าขยาดฝีมือคนไทยจึงหยุดพักรบประมาณ 2-3 วันแล้วเกณฑ์ทัพใหญ่เพื่อมาตีค่ายบางระจันมีกำลังพลประมาณ 1,000 คนทหารม้า 60 สุรินจอข่องเป็นนายทัพพม่ายกทัพมาตั้งที่บ้านห้วยไผ่ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอแสวงหาจังหวัดอ่างทอง) ฝ่ายค่ายบางระจันได้จัดเตรียมกันเป็นกระบวนทัพสู้พม่าคือนายแท่นเป็นนายทัพคุมพล 200 พันเรืองเป็นปีกซ้ายคุมพล 200 ชาวไทยเหล่านี้มีปืนคาบศิลาบ้างปืนของพม่าและกระสุนดินดำของพม่าซึ่งเก็บได้จากการรบครั้งก่อนๆบ้างนอกจากนั้นก็เป็นอาวุธตามแต่จะหาได้ทัพไทยทั้งสามยกไปตั้งที่คลองสะตือสี่ต้นอยู่คนละฟากคลองกับพม่าต่างฝ่ายต่างยิงตอบโต้กันฝ่ายไทยชำนาญภูมิประเทศกว่าได้ขนไม้และหญ้ามาถมคลองแล้วพากันรุกข้ามรบไล่พม่าถึงขั้นใช้อาวุธสั้นพม่าล้มตายเป็นอันมากตัวสุรินทรจอข้องนายทัพพม่าขี่ม้ากั้นร่มระย้าเร่งให้ตีกองรบอยู่กลางพลถูกพลทหารไทยวิ่งเข้าไปฟันตายณที่นั้น          ส่วนนายแท่นแม่ทัพไทยก็ถูกปืนที่เข่าบาดเจ็บสาหัสต้องหามออกมาจากที่รบทัพไทยกับพม่ารบกันตั้งแต่เช้าจนเที่ยงต่างฝ่ายต่างอิดโรยจึงถอยทัพจากกันอยู่คนละฟากคลองพวกชาวบ้านบางระจันในค่ายก็นาอาหารออกมาเลี้ยงดูพวกทหารขณะพม่าต้องหุงหาอาหารและมัวจัดการศพแม่ทัพไม่ทันระวังตัวกองสอดแนมของไทยมาแจ้งข่าวพวกทหารไทยกินอาหารเสร็จแล้วก็ยกข้ามคลองเข้าโจมตีพม่าพร้อมกันทันทีทหารพม่าแตกพ่ายไม่เป็นกระบวนที่ถูกอาวุธล้มตายประมาณสามส่วนและเสียเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์เป็นอันมากไทยไล่ติดตามจนใกล้ค่าจึงยกกลับมายังค่ายกิตติศัพท์ความเก่งกล้าของชาวบ้านบางระจันแพร่หลายออกไปมีชาวบ้านอื่นๆอพยพครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ในค่ายบางระจันเพื่อขึ้นอีกเป็นลำดับ

การรบครั้งที่ 5 พม่าเว้นระยะไม่ยกมาตีค่ายบางระจันอยู่ประมาณ 10 -11 วันด้วยเกรงฝีมือชาวไทยหลังจากนั้นจึงแต่งทัพยกมาอีกครั้งหนึ่งมีแยจออากาเป็นนายทัพคุมทหารซึ่งเกณฑ์แบ่งมาจากทุกค่ายเป็นคนประมาณ 1,000 คนเศษพร้อมด้วยม้าและอาวุธต่างๆแต่กองทัพพม่านี้ก็ปราชัยชาวบ้านบางระจันแตกพ่ายไป

การรบครั้งที่ 6 นายทัพพม่าครั้งที่6นี้คือจิกแกปลัดเมืองทวายคุมพล 100เศษฝ่ายไทยมีชัยชนะอีกเช่นเคย

การรบครั้งที่ 7 เนเมียวสีหบดีได้แต่งกองทัพให้ยกมาตีค่ายบางระจันอีกให้อากาปันคยีเป็นแม่ทัพคุมพล 1,000 เศษอากาปันคยียกกองทัพไปตั้งณบ้านขุนโลกทางค่ายบางระจันดาเนินกลศึกคือจัดให้ขุนสรรค์ซึ่งมีฝีมือแม่นปืนคุมพลทหารปืนคอยป้องกันกองทัพม้าของพม่านายจันหนวดเขี้ยวเป็นแม่ทัพใหญ่คุมพล 1,000 เศษออกตีทัพพม่าและล้อมค่ายไว้ทหารไทยใช้การรบแบบจู่โจมพม่ายังไม่ทันตั้งค่ายเสร็จก็ถูกโอบตีทางหลังค่ายทหารพม่าถูกฆ่าตายเกือบหมดเหลือรอดตายเป็นส่วนน้อยแม่ทัพก็ตายในที่รบครั้งนี้ทาให้พม่าหยุดพักรบนานถึงครึ่งเดือน        

การรบครั้งที่ 8 การที่พม่าส่งกองทัพมาปราบค่ายบางระจันถึง 7 ครั้งแต่ต้องแตกพ่ายยับเยินทุกครั้งนั้นทำให้แม่ทัพใหญ่ของพม่าวิตกมากเนื่องจากชาวบ้านบางระจันมีกำลังเข้มแข็งขึ้นทุกทีและทหารพม่าก็พากันเกรงกลัวฝีมือไทยไม่มีใครอาสาเป็นนายทัพขณะนั้นมีชาวรามัญผู้หนึ่งเคยอยู่เมืองไทยมานานรู้จักนิสัยคนไทยและภูมิประเทศดีได้เข้าฝากตัวทาราชการอยู่กับพม่าจนได้รัยตำแหน่งสุกี้หรือพระนายกองสุกี้เข้ารับอาสาจะขอไปตีค่ายบางระจันเนเมียวสีหบดีจึงแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพคุมพล 2,000 พร้อมทั้งม้าและสรรพาวุธทั้งปวงสุกี้ดำเนินการศึกอย่างชาญฉลาดเมื่อเวลาเดินทัพไม่ตั้งทัพกลางแปลงอย่างทัพอื่นให้ตั้งค่ายรายไปตามทาง 3 ค่ายและรื้อค่ายหลังผ่อนไปสร้างข้างหน้าเป็นลำดับ (เป็นที่น่าสังเกตว่าการเคลื่อนทัพโดยตั้ง 3 ค่ายของสุกี้นี้เป็นวิธีเดียวกับการเดินทัพของกองทัพเล่าปี่ที่มีขงเบ้งเป็นแม่ทัพในสงครามสามก๊กใช้ตั้งรับทัพที่เชี่ยวชาญการรบในท้องที่นั้นๆน่าจะแสดงให้เห็นว่าสุกี้ชาวรามัญผู้นี้ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในพิชัยสงครามหรืออย่างน้อยต้องศึกษาประวัติศาสตร์สงครามมาอย่างลึกซึ้ง) ใช้เวลาถึงครึ่งเดือนจึงใกล้ค่ายบางระจันสุกี้ใช้วิธีตั้งมั่นรบอยู่ในค่ายด้วยรู้ว่าคนไทยเชี่ยวชาญการรบกลางแปลงพวกหัวหน้าค่ายบางระจันนำกำลังเข้าตีค่ายพม่าหลายครั้งไม่สำเร็จกลับทำให้ไทยเสียไพร่พลไปเป็นจำนวนมากวันหนึ่งนายทองเหม็นดื่มสุราแล้วขี่กระบือนำพลส่วนหนึ่งเข้าตีค่ายพม่าสุกี้นาพลออกรบนอกค่ายนายทองเหม็นถลำเข้าอยู่ท่ามกลางข้าศึกแต่ผู้เดียวแม้ว่าจะมีฝีมือสามารถฆ่าฟันทหารพม่ารามัญล้มตายหลายคนแต่ในที่สุดก็ถูกทหารพม่ารุมล้อมจนสิ้นกำลังและถูกทุบตีตายในที่รบ (เล่าขานกันมาว่านายทองเหม็นเป็นผู้รู้ในวิชาคงกระพันชาตรีและมีของขลังป้องกันภยันตรายฟันแทงไม่เข้าหากจะทำร้ายคนมีวิชาเช่นนี้จะต้องตีด้วยของแข็ง) ทัพชาวบ้านบางระจันเมื่อเสียนายทัพก็แตกพ่ายซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในการรบกับพม่าทัพพม่ายกติดตามมาจนถึงบ้านขุนโลกใกล้ค่ายบางระจันแล้วตั้งค่ายมั่นอยู่ทัพบางระจันพยายามตีค่ายพม่าอีกหลายครั้งไม่สำเร็จก็ท้อถอยสุกี้จึงให้ทหารขุดอุโมงค์เข้าใกล้ค่ายน้อยบางระจันปลูกหอรบขึ้นสูงนำปืนใหญ่ขึ้นยิงเข้าไปในค่ายถูกผู้คนล้มตายเป็นอันมากค่ายน้อยบางระจันก็แตกพ่ายลงนอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ทำให้ชาวบ้านบางระจันเสียกาลังใจลงอีกคือนายแท่นหัวหน้าค่ายที่ถูกปืนที่เข่าบาดเจ็บครั้งที่สุรินทรจอข่องเป็นแม่ทัพยกมาเมื่อการรบครั้งที่4นั้นได้ถึงแก่กรรมลงในเดือน 6 ปีจอ พ.. 2309 หัวหน้าชาวบ้านบางระจันคนอื่นได้พยายามจะนำทัพไทยออกรบกับพม่าอีกหลายครั้งวันหนึ่งทัพพม่าสามารถตีโอบหลังกระหนาบทัพไทยได้ขุนสรรค์และนายจันหนวดเขี้ยวได้ทาการรบจนกระทั่งตัวตายในที่รบยังเหลือแต่พันเรืองและนายทองแสงใหญ่เป็นหัวหน้าสำคัญชาวค่ายบางระจันเห็นว่าตนเสียเปรียบผู้คนล้มตายลงไปมากเหลือกาลังที่จะต่อสู้กับพม่าแล้วจึงมีใบบอกเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยาขอปืนใหญ่ 2 กระบอกพร้อมด้วยกระสุนดินดำเพื่อจะนามายิงค่ายพม่าทางพระนครปรึกษากันแล้วเห็นพร้อมกันว่าไม่ควรให้เนื่องจากกลัวว่าพม่าจะแย่งชิงกลางทางบ้างหรือหากพม่าตีค่ายบางระจันแตกพม่าก็จะได้ปืนใหญ่นั้นมาเป็นกำลังรบพระนครพระยารัตนาธิเบศร์ไม่เห็นด้วยในข้อปรึกษาจึงออกไป ณ ค่ายบางระจันเรี่ยไรเครื่องภาชนะทองเหลืองทองขาวจากพวกชาวบ้านหล่อปืนใหญ่ขึ้นมาสองกระบอกแต่ปืนทั้งสองนั้นร้าวใช้ไม่ได้พระยารัตนาธิเบศร์เห็นว่าการศึกจะไม่เป็นผลสำเร็จจึงกลับพระนครเมื่อขาดที่พึ่งชาวบ้านบางระจันก็เสียกำลังใจมากขึ้นฝีมือการสู้รบกับพม่าก็พลอยอ่อนลงบางพวกก็พาครอบครัวหลบหนีออกจากค่ายผู้คนในค่ายก็เบาบางลงในที่สุดพม่าก็สามารถตีค่ายใหญ่บางระจันได้ในวันจันทร์แรม 2 ค่ำเดือน 8 ปีจอพ.. 2309 รวมเวลาที่ไทยรบกับพม่าตั้งแต่เดือน4ปลายปีระกา พ.. 2308 ถึงเดือน 8 ปีจอ พ.. 2309 เป็นเวลาทั้งสิ้น5เดือนพม่าได้กวาดต้อนชาวไทยในค่ายบรรดาที่รอดตายทั้งหลายกลับไปยังค่ายพม่าส่วนพระอาจารย์ธรรมโชติซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ช่วยให้กำลังใจให้ชาวบ้านบางระจันสู้รบกับพม่าอย่างห้าวหาญนั้นไม่ปรากฏว่าท่านมรณภาพอยู่ในค่ายถูกกวาดต้อนหรือหลบหนีไปได้